“… หากดูรายงานจากสหรัฐอเมริกาที่ประสบปัญหาหญิงตั้งครรภ์ภายในประเทศฉีดวัคซีนโควิดได้น้อยเช่นเดียวกับประเทศไทย พบว่าส่วนใหญ่เกิดจากความกังวลเรื่องความปลอดภัยของวัคซีน ผลข้างเคียงของวัคซีนที่อาจเกิดขึ้นในหญิงตั้งครรภ์ได้มากกว่าหญิงวัยเจริญพันธุ์ทั่วไป นอกจากนี้อาจเป็นเพราะเข้าไม่ถึงวัคซีน ทั้งในกรณียังไม่เคยได้รับวัคซีน หรือต้องการนัดคิวใหม่ แต่ไม่รู้จะลงทะเบียนใหม่ หรือต้องติดต่อใคร…”
‘หญิงตั้งครรภ์’ ถือเป็นอีกกลุ่มเสี่ยงสำคัญของการแพร่ระบาดโควิด เพราะหากติดเชื้อจะมีโอกาสเข้าห้องไอซียูสูงกว่าคนปกติถึง 5 เท่า และมีโอกาสเสียชีวิตสูงกว่าหญิงตั้งครรภ์แล้วไม่ติดเชื้อ นอกจากนั้นยังส่งผลให้ทารกมีโอกาสคลอดก่อนกำหนดได้
แต่เชื้อโควิด เราไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตา จึงไม่สามารถรับรู้ได้ว่าตัวเองได้รับเชื้อเมื่อไร และไม่เลือกว่าจะแพร่เข้าสู่หญิงตั้งครรภ์หรือไม่ตั้งครรภ์ โดยเฉพาะในสถานการณ์การระบาดปัจจุบันที่พบทั้งสายพันธุ์โอไมครอน และสายพันธุ์เดลต้า ที่สามารถแพร่ได้เร็ว
หลายประเทศต่างออกคำแนะนำว่า ทุกคนในโลกคงจะมีโอกาสติดเชื้อแน่นอนในวันใดวันหนึ่ง โควิดจะเป็นโรคที่จะอยู่กับเราไปอีกนาน แต่วิธีเดียวที่จะลดอาการป่วยหนักและเสียชีวิตได้ คือจะต้องสร้างภูมิต้านทาน วิธีที่ดีที่สุดคือการฉีดวัคซีน
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขเปิดเผยว่า ยอดการฉีดวัคซีนของหญิงตั้งครรภ์ภายในประเทศไทยตั้งแต่ 28 ก.พ.-29 พ.ย.2564 มีผู้ฉีดวัคซีนเข็มแรกเพียง 94,346 ราย คิดเป็น 18.9% เข็มสอง 75,360 ราย คิดเป็น 15.1% และเข็มสาม 1,395 ราย คิดเป็น 0.3% จากจำนวนหญิงตั้งครรภ์ทั้งหมด 500,000 ราย
แม้ว่าที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขจะมีโครงการรณรงค์ ‘1 เดือน 1 แสนราย’ ให้หญิงตั้งครรภ์ฉีดวัคซีนป้องกันโควิดแล้ว เมื่อ 13 ก.ย.-13 ต.ค.ที่ผ่านมา แต่ตัวเลขการเข้ารับวัคซีนสะสมยังน้อยอยู่ ซึ่งหญิงตั้งครรภ์ยังเป็นกลุ่มเดียวที่มีอัตราการฉีดเข็มแรกและเข็มสองครอบคลุมไม่ถึง 50% ในขณะที่กลุ่มบุคลากรการแพทย์และสาธารณสุข กลุ่มเจ้าหน้าที่ด่านหน้า กลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง กลุ่มผู้สูงอายุ และกลุ่มนักเรียน/นักศึกษา ฉีดวัคซีนเข็มแรกแล้วครอบคลุมกว่า 64% เป็นเข็มสองครอบคลุมกว่า 53%
ผศ.พญ.อรวิน วัลลิภากร อาจารย์ประจำภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า หากดูรายงานจากสหรัฐอเมริกาที่ประสบปัญหาหญิงตั้งครรภ์ภายในประเทศฉีดวัคซีนโควิดได้น้อยเช่นเดียวกับประเทศไทย พบว่าส่วนใหญ่เกิดจากความกังวลเรื่องความปลอดภัยของวัคซีน ผลข้างเคียงของวัคซีนที่อาจเกิดขึ้นในหญิงตั้งครรภ์ได้มากกว่าหญิงวัยเจริญพันธุ์ทั่วไป เช่น ไข้ขึ้น หรือปวดตามเนื้อตัว ซึ่งหลายคนไม่กล้ากินยาเพราะกลัวจะเป็นอันตรายกับลูก
นอกจากนี้อาจเป็นเพราะเข้าไม่ถึงวัคซีน ทั้งในกรณียังไม่เคยได้รับวัคซีน หรือต้องการนัดคิวใหม่ แต่ไม่รู้จะลงทะเบียนใหม่ หรือต้องติดต่อใคร เช่น กรณีรับเข็มแรกแล้ว แต่ตั้งครรภ์ในระหว่างรอฉีดเข็มสองพอดี ทำให้ต้องรอการตั้งครรภ์ให้ครบ 12 สัปดาห์ก่อนถึงจะฉีดวัคซีนได้ ซึ่งเลยเวลานัดหมายมาแล้ว 3 เดือน จึงไม่รู้จะลงทะเบียนใหม่อย่างไร
ชี้วัคซีนไม่เพิ่มความเสี่ยงแท้งบุตร-ความพิการในทารก
ตามผลการศึกษาจากสหรัฐอเมริกา ที่ ผศ.พญ.อรวิน นำมาเปิดเผยนั้น พบว่าวัคซีนโควิดส่วนใหญ่ที่คนอเมริกาฉีด คือ วัคซีนชนิด mRNA เช่น วัคซีนไฟเซอร์ และวัคซีนโมเดอร์นา กับวัคซีนชนิดไวรัลเวกเตอร์ เช่น วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า วัคซีนยังคงเป็นเครื่องมือสำคัญในการลดการป่วยหนักและเสียชีวิตในหญิงตั้งครรภ์
“วัคซีนไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงในการแท้งบุตร ไม่ได้เพิ่มความพิการในทารก และไม่ได้เพิ่มภาวะแทรกซ้อนต่อแม่และลูก ข้อมูลที่มีอยู่ในขณะนี้ชี้ให้เห็นว่าวัคซีนมีความปลอดภัย คุณแม่ตั้งครรภ์สามารถฉีดวัคซีนได้” ผศ.พญ.อรวิน กล่าว
ผศ.พญ.อรวิน กล่าวอีกว่า อยากให้หญิงตั้งครรภ์ทุกคนเข้ามารับวัคซีนให้ได้มากที่สุด ใครที่กังวลยืนยันว่าวัคซีนที่ไทยมีอยู่ขณะนี้ทุกยี่ห้อปลอดภัย สามารถฉีดยี่ห้อใดก็ได้ อย่างไรก็ตามวัคซีนโควิดไม่ได้ป้องกันการติดเชื้อ 100% หากคนในครอบครัวเราฉีดหมดแล้ว แต่ก็ยังสามารถแพร่เชื้อมาสู่เราได้ ดังนั้นวัคซีนเป็นวิธีที่ดีที่สุด ที่สำคัญการฉีดวัคซีนยังสามารถส่งต่อภูมิต้านทานไปยังลูกผ่านทางรกได้ด้วย
‘หญิงตั้งครรภ์’กลุ่มเสี่ยงสำคัญที่ควรได้รับวัคซีน
หากพิจารณาสัดส่วนของหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อโควิด จะมีโอกาสติดเชื้อโควิดได้มากกว่าหญิงวัยเจริญพันธุ์ทั่วไป และหากติดโควิด จะมีอาการป่วยที่รุนแรง เนื่องจากเมื่อครรภ์โตขึ้น มีเด็กเข้ามาเบียดจากช่องท้องไปสู่กระบังลม ดังนั้นจะมีภูมิคุ้มกันจะต่ำลงและปอดของหญิงตั้งครรภ์จะแย่ลงตามธรรมชาติ
ขณะเดียวกัน อาจทำให้เสี่ยงแท้งบุตร คลอดก่อนกำหนด มีภาวะครรภ์เป็นพิษ และเพิ่มความเสี่ยงในการผ่าตัดคลอด ตรงนี้ถือว่าอัตราย จึงเป็นเหตุผลให้กลุ่มหญิงตั้งครรภ์ถูกจัดให้เป็น ‘กลุ่มเสี่ยง’ สำคัญที่ควรได้รับวัคซีนโควิด
ส่วนกรณีหญิงตั้งครรภ์ติดโควิดแล้วลูกจะติดเชื้อด้วยหรือไม่นั้น พญ.อรวิน กล่าวว่า ขณะนี้ยังมีงานวิจัยออกมาไม่มาก จึงยังไม่สามารถสรุปได้ชัดเจนว่าหญิงตั้งครรภ์ติดโควิดแล้วลูกจะติดเชื้อตามด้วย จะต้องรอติดตามข้อมูลกันต่อไป
ผศ.พญ.อรวิน วัลลิภากร อาจารย์ประจำภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี
แคมเปญกระตุ้นฉีดวัคซีนในไทย
สำหรับการประชาสัมพันธ์หรือการรณรงค์การฉีดวัคซีนโควิดที่ผ่านมา สูตินารีแพทย์หลายคน รวมถึงราชวิทยาลัยสูตินารีแพทย์แห่งประเทศไทยต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าอยากให้หญิงตั้งครรภ์เข้ามาฉีดวัคซีนโควิด แต่ไม่ทราบว่าสามารถเข้าถึงหญิงตั้งครรภ์ได้มากน้อยเพียงใด
ขณะเดียวกันในสัปดาห์นี้ก็มีการจัดสัปดาห์เร่งฉีดวัคซีนของกระทรวงสาธารณสุขในช่วง 27 พ.ย.-5 ธ.ค.นี้ เพื่อให้ประชาชน 50 ล้านคนได้รับวัคซีนอย่างทั่วถึง ซึ่งหญิงตั้งครรภ์เป็นกลุ่มหนึ่งที่รณรงค์ให้เข้ารับวัคซีนด้วย ผศ.พญ.อรวิน เห็นด้วยกับการแคมเปญนี้อย่างมาก
แต่หากจะเพิ่มอัตราการฉีดวัคซีนของหญิงตั้งครรภ์ให้มากกว่านี้ ผศ.พญ.อรวิน แนะนำด้วยว่า จะต้องทำให้หญิงตั้งครรภ์ได้รับวัคซีนง่ายที่สุดด้วย เช่น การจัดบริการฉีดวัคซีนให้หญิงตั้งครรภ์ที่คลินิกฝากครรภ์เพราะหญิงตั้งครรภ์ก็กลัวการติดโควิด เขาจะไม่อยากเดินทางเข้าไปในพื้นที่ชุมชนหรือพื้นที่แออัด
“ถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้มีการกันวัคซีนส่วนหนึ่งให้หญิงตั้งครรภ์ที่คลินิกฝากครรภ์ ตรงนี้จะง่ายกว่าเพราะเขาจะต้องเข้ามาฝากครรภ์อยู่แล้ว หากทำได้จะเพิ่มอัตราการฉีดวัคซีนของคุณแม่ได้แน่นอน” ผศ.พญ.อรวิน กล่าว
บทความวิจัย Covid-19 and pregnancy: vaccine hesitancy and how to overcome it
เว็บไซต์ newindianexpress
อังกฤษจัดฉีดวัคซีนในคลินิกฝากท้อง-อินเดียดึงครอบครัวช่วยรณรงค์
นอกจากประเทศไทย ประเทศอื่น เช่น สหราชอาณาจักร และอินเดีย เป็นต้น ก็ประสบปัญหาหญิงตั้งครรภ์ฉีดวัคซีนสะสมได้น้อยเช่นเดียวกัน แต่ละประเทศมีแนวทางการแก้ไขปัญหาที่น่าสนใจดังนี้
สหราชอาณาจักร ข้อมูลจากบทความวิจัย Covid-19 and pregnancy: vaccine hesitancy and how to overcome it เผยแพร่เมื่อวันที่ 22 พ.ย.2564 พบว่าในอังกฤษมีหญิงตั้งครรภ์ได้รับวัคซีนครบสองเข็มประมาณ 80,000 ราย ขณะที่สก็อตแลนด์มีจำนวนหญิงตั้งครรภ์ที่คลอดบุตรและได้รับวัคซีนครบถ้วน เมื่อเดือน ส.ค.2564 เพียง 15% แตกต่างกันมากกับอัตราการฉีดวัคซีนของผู้ใหญ่วัย 30-39 ปีในประชากรทั่วไปที่มีถึง 71%
ปัจจัยสำคัญที่ทำหญิงตั้งครรภ์ฉีดวัคซีนได้น้อย เพราะส่วนใหญ่กลัวว่าจะเป็นอัตรายกับทารก และความกังวลต่อความปลอดภัยของตนเอง หลังเกิดการผสมกันของข้อมูลที่มีก่อนหน้านี้ว่านักวิชาการเคยแนะนำให้หญิงตั้งครรภ์หลีกเลี่ยงวัคซีน เว้นแต่จะมีความจำเป็นเท่านั้น กับข้อมูลที่มีขณะนี้ว่าวัคซีนปลอดภัยสำหรับหญิงตั้งครรภ์
ทำให้สหราชอาณาจักรจัดบริการฉีดวัคซีนโควิดที่คลินิกฝากครรภ์ เพื่อให้ผู้หญิงสามารถพูดคุยกับแพทย์ถึงความต้องการหรือข้อกังวลใจต่างๆ ได้ ซึ่งผลของการเปิดบริการฉีดวัคซีนแบบดังกล่าวในเมืองแมนเซลเตอร์ พบว่าช่วยเพิ่มอัตราการฉีดวัคซีนโควิดได้ถึง 60%
นอกจากนี้ระบบบริการสุขภาพแห่งชาติ สหราชอาณาจักร (National Health Service: NHS) ยังแนะนำว่าการทำให้หญิงตั้งครรภ์ได้รับวัคซีนได้ง่ายที่สุดเป็นสิ่งสำคัญในการแก้ปัญหา อาจมีการใช้ร้านขายยาได้ในระยะยาว
อินเดีย เว็บไซต์ Dailypioneer เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้อินเดียเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีหญิงตั้งครรภ์ฉีดวัคซีนน้อย เพราะหลายคนลังเลใจ ยังรู้สึกไม่มั่นใจในประสิทธิภาพและความปลอดภัยของวัคซีน ขณะเดียวกันในการตัดสินใจของหญิงตั้งครรภ์ว่าจะเข้ารับวัคซีนหรือไม่รับ ส่วนใหญ่ไม่ได้เกิดขึ้นจากผู้หญิงคนเดียว หรือคู่สมรส แต่คือทุกคนภายในครอบครัว
ทำให้เมื่อเดือน ก.ค.2564 เริ่มทำแคมเปญให้ทุกภาคส่วนในสังคมช่วยกันรณรงค์การฉีดวัคซีนให้ โดยใช้หลักการให้ความรู้ความเข้าใจว่า ฉีดวัคซีนเพื่อช่วยชีวิตแม่และเด็กในครรภ์ ดังนั้นแผนปฏิบัติระดับชาติจึงถูกเผยแพร่ออกไปอย่างกว้างขวาง ในวันที่ 16 พ.ย.2564 มีหญิงตั้งครรภ์ฉีดเข็มแรกมากกว่า 3.30 แสนราย
นอกจากนี้เว็บไซต์ newindianexpress เปิดเผยด้วยว่า ในรัฐอุตราขัณฑ์ ประเทศอินเดีย ยังมีการจัดทีมเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเชิงรุกเข้าฉีดวัคซีนหญิงตั้งครรภ์ตามบ้านด้วย เช่นเดียวกับเว็บไซต์ indiaaheadnews เปิดเผยอีกว่า ในรัฐธีรุวนันทปุมรัม ประเทศอินเดีย ก็มีจัดทีมฉีดวัคซีนเชิงรุก พร้อมกับตั้งศูนย์ฉีดวัคซีนเฉพาะหญิงตั้งครรภ์ เพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับกลุ่มอื่นเดินทางมาฉีดวัคซีนโควิด
ทั้งหมดนี้เป็นแผนการรณรงค์การฉีดวัคซีนของต่างประเทศ ส่วนไทยนั้นกำลังมีแคมเปญ ‘สัปดาห์เร่งฉีดวัคซีน’ ของกระทรวงสาธารณสุข ที่กำลังดำเนินการขณะนี้ไปจนถึงวันที่ 5 ธ.ค.2564 หญิงตั้งครรภ์เป็นหนึ่งในกลุ่มหนึ่งที่มีการรณรงค์ให้เข้ารับวัคซีนด้วย นับเป็นอีกความหวังที่กลุ่มดังกล่าวจะได้รับวัคซีนมากขึ้น ช่วยลดอัตราการป่วยหนักและเสียชีวิต รวมถึงบุตรในครรภ์ให้ปลอดภัยจากโควิด แต่หากจัดฉีดวัคซีนที่คลินิกฝากครรภ์อาจจะเพิ่มอัตราเข้ารับวัคซีนได้มากขึ้นอีก
อ้างอิงจาก :
-
Covid-19 and pregnancy: vaccine hesitancy and how to overcome it
-
Uttarakhand launches door to door campaign to achieve full vaccination
-
Covid-19: Kerala To Start ‘Mathru Kavacham’ Campaign To Vaccinate Pregnant Women
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage