“…โครงการนี้ (ปรับปรุงภูมิทัศน์คลองช่องนนทรี) ไม่เข้าข่ายต้องทำ EIA และก่อนที่จะทำโครงการฯก็ได้มีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนแล้ว แต่ถามว่าถูกต้อง 100% ตามประกาศสำนักนายกฯหรือไม่ อาจจะไม่ใช่แบบนั้น แต่มีการลงพื้นที่ มีการนำเสนอ การสอบถามความคิดเห็นผ่านช่องทางต่างๆ และเสียงคัดค้านก็ไม่มี ไม่มีคนคัดค้าน…”
.............................
เป็นโครงการที่ ผู้ว่าฯกรุงเทพฯ 'พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง' วาดหวังให้เป็น ‘แลนด์มาร์ค’ แห่งใหม่ของ กทม.
สำหรับ 'โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์คลองช่องนนทรี' ระยะทาง 4.5 กิโลเมตร มูลค่าโครงการรวม 980 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้ ‘ผู้รับเหมา’ กำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการงานปรับปรุงภูมิทัศน์คลองช่องนนทรี ‘เฟสแรก’ (ช่วงที่ 2) จากถนนสาทร-ซอยนราธิวาสราชนครินทร์ 7 ระยะทาง 200 เมตร มูลค่างาน 79 ล้านบาท
แต่ทว่ากลับมีคำถามว่า การดำเนินงานปรับปรุงภูมิทัศน์คลองช่องนนทรี ‘เฟสแรก’ ที่มีระยะทางเพียง 200 เมตร แต่กลับใช้งบประมาณสูงถึง 79 ล้านบาท ‘แพงไปหรือไม่’ (อ่านประกอบ : แพงไปหรือไม่! 'กทม.' ปรับภูมิทัศน์ ‘คลองช่องนนทรี’ เฟสแรก 200 เมตร แต่ใช้งบ 79 ล้าน)
“งบ 80 ล้าน ก็น่าจะดูแพงไปสำหรับถาดคอนกรีตและงานตกแต่งภูมิทัศน์ความยาว 200 เมตรที่ดูก็ไม่ได้มีงานอาคารหรืองานระบบอะไรที่ซับซ้อน” ผศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ UddC-CEUS โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว “Daeng Niramon” ตั้งคำถามเกี่ยวกับงานปรับปรุงภูมิทัศน์คลองช่องนนทรี 'เฟสแรก'
@แจงราคาปรับปรุง ‘คลองช่องนนทรี’ เหมาะสม-ไม่เข้าข่ายทำ EIA
ล่าสุด ไทวุฒิ ขันแก้ว ผู้อำนวยการสำนักการโยธา กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) กรณีที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่างานปรับปรุงภูมิทัศน์คลองช่องนนทรี ‘เฟสแรก’ (ช่วงที่ 2) ระยะทางเพียง 200 เมตร แต่ใช้งบ 79 ล้านบาท นั้น แพงไปหรือไม่ ว่า ราคาดังกล่าวเหมาะสมแล้ว และกระบวนทุกอย่างถูกต้อง
“เรื่องนี้คงไม่ต้องชี้แจงอะไร เพราะมีคณะกรรมการกำหนดราคากลางฯ และเป็นราคาจากกรมบัญชีกลางทั้งหมด วัสดุทุกอย่างมีราคาเป็นมาตรฐาน พวกนี้ผ่านกระบวนการที่ถูกต้องมาหมดแล้ว ราคาที่ได้จึงไม่แพง ไม่ถูก และเราก็ประมูลมา ไม่ได้ไปจ้างคนใดคนหนึ่ง เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่มีคนมาประมูล และเป็นราคาที่เหมาะสมแล้ว” ไทวุฒิ ระบุ
ส่วนกรณีที่มีการระบุว่า โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์คลองช่องนนทรี มูลค่า 980 ล้านบาท ไม่มีการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) นั้น ไทวุฒิ ยืนยันว่า โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์คลองช่องนนทรี ไม่เข้าข่ายต้องจัดทำ EIA และจากการลงพื้นที่ รวมถึงสอบถามความเห็นชอบประชาชนผ่านช่องทางต่างๆ พบว่าไม่มีเสียงคัดค้าน
“โครงการนี้ (ปรับปรุงภูมิทัศน์คลองช่องนนทรี) ไม่เข้าข่ายต้องทำ EIA และก่อนที่จะทำโครงการฯก็ได้มีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนแล้ว แต่ถามว่าถูกต้อง 100% ตามประกาศสำนักนายกฯหรือไม่ อาจจะไม่ใช่แบบนั้น แต่มีการลงพื้นที่ มีการนำเสนอ การสอบถามความคิดเห็นผ่านช่องทางต่างๆ และเสียงคัดค้านก็ไม่มี ไม่มีคนคัดค้าน” ไทวุฒิ ย้ำ
(ไทวุฒิ ขันแก้ว)
ไทวุฒิ กล่าวต่อว่า โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์คลองช่องนนทรีดังล่าว นอกจากจะเป็นโครงการสร้างสวนฯในเมือง ซึ่งจะทำให้ กทม.มีพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้น และเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจให้คนมาเดินแล้ว เมื่อโครงการแล้วเสร็จฯคลองช่องนนทรีจะเป็นส่วนหนึ่งของการปรับเปลี่ยนระบบบำบัดน้ำเสียครั้งใหญ่ในกรุงเทพฯ
“เมื่อโครงการแล้วเสร็จ เรื่องของระบบบำบัดน้ำ จะเปลี่ยนใหม่ทั้งหมด โดยเขาจะเอาน้ำที่บำบัดแล้วจากโรงบำบัดน้ำเสียวันละ 1.2 แสนลบ.ม. ซึ่งเดิมจะผันลงแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งหมด แต่ต่อไปเราจะผันน้ำที่บำบัดแล้วเข้ามาในคลองช่องนนทรีทั้งหมด จากเดิมที่ในบางช่วงที่มีน้ำเค็มหนุนเข้ามาในช่วงหน้าแล้ง ทำให้เอาน้ำเข้ามาในคลองไม่ได้
ขณะที่น้ำที่ไหลผ่านเข้ามาที่คลองช่องนนทรีนั้น ส่วนหนึ่งจะถูกนำบำบัดที่โรงบำบัดที่ถนนสุรวงศ์ ส่วนหนึ่งจะเอาไปใช้รดน้ำต้นไม้ที่สวนลุมพินีที่ไม่สามารถต่อน้ำบาดาลได้ และอีกส่วนหนึ่งจะผ่านท่อลอดถนนวิทยุไปผลักดันน้ำเสียที่คลองไผ่สิงห์โต ซึ่งเป็นคลองตันและมีน้ำเสียออกไป
รวมทั้งสามารถนำน้ำไปเติมในบึงน้ำที่สวนเบญจกิติได้อีกด้วย เพราะวันนี้สวนเบญจกิติไม่มีแหล่งน้ำดิบเข้าไปเลี้ยงเลยในช่วงหน้าแล้ว ดังนั้น เมื่อโครงการนี้เสร็จแล้ว ตรงนี้จะเป็นระบบใหญ่” ไทวุฒิ กล่าว
ไทวุฒิ ยังระบุว่า ภายใต้โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์คลองช่องนนทรี กทม.ได้วางระบบที่ตัดไม่ให้น้ำเสียที่ปนมาน้ำฝน ไหลลงลงมาคลองช่องนนทรี ซึ่งจะทำให้น้ำในคลองสะอาดขึ้น รวมถึงมีการลอกคลองลงไปอีก 2 เมตร ดังนั้น ปริมาตรน้ำจะไม่หายไปจากที่เคยมีอยู่ หลังจากโครงการเสร็จแล้ว
@‘บ.ทริโอ ไบรท์’ 5 ปีคว้างาน กทม. 92 สัญญา 1,876.4 ล้าน
สำนักข่าวอิศรารายงานว่า ในส่วนของงานปรับปรุงภูมิทัศน์คลองช่องนนทรี ‘เฟสแรก’ (ช่วงที่ 2) จากถนนสาทร-ซอยนราธิวาสราชนครินทร์ ซึ่งเปิดประมูลด้วยวิธี e-bidding นั้น บริษัท ทริโอ ไบรท์ จำกัด เป็นชนะการประมูลไปด้วยราคา 79 ล้านบาท จากราคากลาง 79.7 ล้านบาท หรือต่ำกว่าราคากลาง 7 แสนบาท
ทั้งนี้ จากฐานข้อมูลกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า บริษัท ทริโอ ไบรท์ จำกัด (TRIO BRIGHT COMPANY LIMITED) จดทะเบียนเมื่อวันที่ 18 ต.ค.2542 ปัจจุบันมีทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท แจ้งลักษณะธุรกิจ ‘รับเหมาก่อสร้าง’ และล่าสุดเมื่อปี 2563 แจ้งประเภทธุรกิจว่า ‘การก่อสร้างอาคารที่ไม่ใช่ที่พักอาศัย’
ข้อมูล ณ วันที่ 1 ก.ค.2564 บริษัท ทริโอ ไบรท์ จำกัด มีผู้ถือหุ้น 4 ราย ได้แก่ 1.น.ส.อัมพวรรน์ โอบอ้อม ถือหุ้นในสัดส่วน 67% ของทุนจดทะเบียน 2.นายวัชรพงษ์ อำนวยรักษ์สกุล ถือหุ้นในสัดส่วน 14% 3.น.ส.นนทพร โอบอ้อม ถือหุ้นในสัดส่วน 9.5% และนายวุฒิพงษ์ สุขเย็น ถือหุ้นในสัดส่วน 9.5%
ส่วนกรรมการบริษัทฯ มี 3 ราย ได้แก่ น.ส.อัมพวรรน์ โอบอ้อม ,นายวัชรพงษ์ อำนวยรักษ์สกุล และนายพจนารถ สุทธิชัยมงคล
จากการสืบค้นฐานข้อมูล ระบบข้อมูลการใช้จ่ายภาครัฐ ‘ภาษีไปไหน?’ ในช่วง 5 ปีงบประมาณที่ผ่านมา (ปีงบ 2560-2564) พบว่า บริษัท ทริโอ ไบรท์ จำกัด เป็นคู่สัญญากับ กรุงเทพมหานคร อย่างน้อย 92 สัญญา ราคาที่ตกลงซื้อ/จ้างรวม 1,876.4 ล้านบาท (ไม่รวมปรับปรุงภูมิทัศน์คลองช่องนนทรี) ประกอบด้วย
ปีงบ 2560 จำนวน 21 สัญญา ราคาที่ตกลงซื้อ/จ้างรวม 133.95 ล้านบาท เช่น โครงการก่อสร้างอาคารโภชนาการ เวชภัณฑ์กลาง ซักฟอก พัสดุ ศูนย์ผู้สูงอายุ และศูนย์เด็กเล็กน่าอยู่คู่นมแม่โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ราคาที่ตกลงซื้อ/จ้าง 108.76 ล้านบาท
งานจัดซ่อมผิวจราจรและทางเท้า ในพื้นที่ความรับผิดชอบของศูนย์ก่อสร้างและบูรณะถนน 1 ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ราคาที่ตกลงซื้อ/จ้าง 8.24 ล้านบาท และจ้างเหมาปรับปรุงสวนจตุจักร ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ราคาที่ตกลงซื้อ/จ้าง 2.84 ล้านบาท เป็นต้น
ปีงบ 2561 จำนวน 22 สัญญา ราคาที่ตกลงซื้อ/จ้างรวม 342.31 ล้านบาท เช่น จ้างก่อสร้างโครงการก่อสร้างปรับปรุงถนนศาลาธรรมสพน์ จากถนนพุทธมณฑลสาย 2 ถึงถนนทวีวัฒนา ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ราคาที่ตกลงซื้อ/จ้าง 204.40 ล้านบาท
จ้างก่อสร้างงานปรับปรุงถนนฉิมพลี ช่วงจากถนนบรมราชชนนีถึงถนนเลียบทางรถไฟสายใต้และถนนราชพฤกษ์ พื้นที่เขตตลิ่งชัน ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ราคาที่ตกลงซื้อ/จ้าง 72.60 ล้านบาท
และโครงการบูรณะทางหลวงชนบทสายหลักสะพานพระราม 7 อ.บางกรวย จ.นนทบุรี, เขตบางซื่อ กรุงเทพมหานคร ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ราคาที่ตกลงซื้อ/จ้าง 37.21 ล้านบาท เป็นต้น
(คนงาน บริษัท ทริโอ ไบรท์ จำกัด กำลังปรับปรุงภูมิทัศน์คลองช่องนนทรี ‘เฟสแรก’ (ช่วงที่ 2) จากถนนสาทร-ซอยนราธิวาสราชนครินทร์ 7 เมื่อวันที่ 13 พ.ย.2564)
ปีงบ 2562 จำนวน 12 สัญญา ราคาที่ตกลงซื้อ/จ้างรวม 319.27 ล้านบาท เช่น ก่อสร้างวางท่อประธานและงานที่เกี่ยวข้อง สัญญา PITB-905 พร้อมโครงการก่อสร้างปรับปรุงถนนศาลาธรรมสพน์ จากถนนพุทธมณฑลสาย 2 ถึงถนนทวีวัฒนา ของสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร โดยวิธีเฉพาะเจาะจง ราคาที่ตกลงซื้อ/จ้าง 232.30 ล้านบาท
จ้างก่อสร้างโครงการปรับปรุงป้อมมหากาฬและกำแพงเมืองเก่า ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ราคาที่ตกลงซื้อ/จ้าง 68.61 ล้านบาท และซื้อแอสฟัลต์ เอ.ซี.เกรด 60/70 (บัลค์) จำนวน 600 ตัน พร้อมสารผสมเพิ่ม (Additive) จำนวน 30,000 กิโลกรัม โดยวิธีคัดเลือก ราคาที่ตกลงซื้อ/จ้าง 14.21 ล้านบาท เป็นต้น
ปีงบ 2563 จำนวน 20 สัญญา ราคาที่ตกลงซื้อ/จ้างรวม 449.09 ล้านบาท เช่น งานก่อสร้างก่อสร้างบ่อหน่วงน้ำใต้ดินบริเวณสวนสาธารณะใต้สะพานข้ามแยกถนนรัชดาภิเษกตัดถนนวิภาวดี ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ราคาที่ตกลงซื้อ/จ้าง 149.5 ล้านบาท
ก่อสร้างก่อสร้างบ่อหน่วงน้ำใต้ดินบริเวณสวนสาธารณะใต้สะพานข้ามแยกถนนรัชดาภิเษกตัดถนนวิภาวดี ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ราคาที่ตกลงซื้อ/จ้าง 149.5 ล้านบาท และโครงการปรับปรุงถนนทวีวัฒนา-กาญจนาภิเษก ช่วงจากถนนพุทธมณฑลสาย 3 ถึงซอยทวีวัฒนา-กาญจนาภิเษก 30 พื้นที่เขตทวีวัฒนา ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ราคาที่ตกลงซื้อ/จ้าง 78.25 ล้านบาท เป็นต้น
ปีงบ 2564 จำนวน 17 สัญญา ราคาที่ตกลงซื้อ/จ้างรวม 633.78 ล้านบาท เช่น งานก่อสร้างโครงการปรับปรุงและเสริมกำลังสะพานข้ามคลองในพื้นที่ความรับผิดชอบของศูนย์ก่อสร้างและบูรณะถนน 3 ส่วนก่อสร้างและบูรณะ 1 ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ราคาที่ตกลงซื้อ/จ้าง 172.4 ล้านบาท
โครงการก่อสร้างอาคารจอดรถยนต์ 10 ชั้น โรงพยาบาลสิรินธร ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ราคาที่ตกลงซื้อ/จ้าง 145.8 ล้านบาท และจ้างเหมาโครงการก่อสร้างสวนจากภูผาสู่มหานทีในสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ราคาที่ตกลงซื้อ/จ้าง 144.75 ล้านบาท เป็นต้น
นอกจากนี้ ในปีงบ 2564 บริษัท ทริโอ ไบรท์ จำกัด เป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐอีก 2 แห่ง ได้แก่ งานก่อสร้างวางท่อประปา และงานที่เกี่ยวข้อง สัญญา รทป.168 โดยวิธีเฉพาะเจาะจง กับการประปานครหลวง (กปน.) ราคาที่ตกลงซื้อ/จ้าง 27.84 ล้านบาท
และจ้างก่อสร้างปรับปรุงรั้วคอนกรีตบล็อกด้านทิศใต้ สนามเทนนิสกองทัพอากาศ เขต 6 ทุ่งสีกัน จำนวน 1 งาน ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) กับกองทัพอากาศ (ทอ.) ราคาที่ตกลงซื้อ/จ้าง 20.60 ล้านบาท
(ตัวอย่างโครงการที่ บริษัท ทริโอ ไบรท์ จำกัด เป็นคู่สัญญากับ กทม. ที่มา : ระบบข้อมูลการใช้จ่ายภาครัฐ ‘ภาษีไปไหน?’)
@เปิดตัว ‘บ.แลนด์ โปรเซส’ คว้างาน ‘กทม.’ 1 สัญญา 49 ล้าน
ส่วน บริษัท แลนด์ โปรเซส จำกัด (LAND PROCESS COMPANY LIMITED) ซึ่งเป็นผู้ออกแบบโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์คลองช่องนนทรี นั้น จากฐานข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าพบว่า บริษัท แลนด์ โปรเซส จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 27 เม.ย.2554 ปัจจุบันมีทุนจดทะเบียนล่าสุด 5 ล้านบาท
ล่าสุดบริษัทฯแจ้งประเภทธุรกิจว่า “กิจกรรมงานสถาปัตยกรรมและการให้คำปรึกษาที่เกี่ยวข้อง” และแจ้งลักษณะธุรกิจว่า “บริการออกแบบและจัดทำงานเอกสาร งานออกแบบ (ภูมิสถาปัตยกรรม)”
ข้อมูล ณ วันที่ 31 พ.ค.2564 บริษัท แลนด์ โปรเซส จำกัด มีผู้ถือหุ้น 3 ราย ได้แก่ 1.น.สงกชกร วรอาคม ถือหุ้นในสัดส่วน 95.2% ,นายนรุตม์ วรอาคม ถือหุ้นในสัดส่วน 4% และนายจักรดาว นาวาเจริญ ถือหุ้นในสัดส่วน 0.8% แจ้งชื่อกรรมการเพียง 1 ราย คือ น.ส.กชกร วรอาคม
จากการสืบค้นฐานข้อมูล ระบบข้อมูลการใช้จ่ายภาครัฐ ‘ภาษีไปไหน?’ พบว่า ในช่วง 5 ปีงบประมาณที่ผ่านมา (ปีงบ 2560-2564) พบว่า บริษัท ทริโอ ไบรท์ จำกัด เป็นคู่สัญญากับ กรุงเทพมหานคร (กทม.) อย่างน้อย 1 สัญญา ราคาที่ตกลงซื้อ/จ้างรวม 49 ล้านบาท ได้แก่
ปีงบ 2564 งานจ้างออกแบบปรับปรุงสวนลุมพินีในวาระครบรอบ 100 ปี โดยวิธีคัดเลือก ราคาที่ตกลงซื้อ/จ้าง 49 ล้านบาท จากราคากลาง 50 ล้านบาท
ขณะที่ในปีงบ 2563 บริษัท ทริโอ ไบรท์ จำกัด ได้งานจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต 2 สัญญา ราคาที่ตกลงซื้อ/จ้างรวม 3.37 แสนบาท ได้แก่
งานจ้างจัดทำนิทรรศการต้นแบบเมืองมหาวิทยาลัยฯ โดยวิธีเฉพาะเจาะจง สัญญา ราคาที่ตกลงซื้อ/จ้าง 1.76 แสนบาท และงานจ้างออกแบบและจัดนิทรรศการในพิธีเปิดอุทยานเรียนรู้ ป๋วย 100 ปีฯ โดยวิธีเฉพาะเจาะจง ราคาที่ตกลงซื้อ/จ้าง 1.6 แสนบาท
เหล่านี้เป็นคำชี้แจงของกรุงเทพฯเกี่ยวกับงานปรับปรุงภูมิทัศน์คลองช่องนนทรี (ช่วงที่ 2) จากถนนสาทร-ซอยนราธิวาสราชนครินทร์ 7 ระยะทาง 200 เมตร มูลค่างาน 79 ล้านบาท รวมถึง ‘โปรไฟล์ธุรกิจ’ ของ 2 บริษัทที่มีส่วนในการออกแบบและก่อสร้างโครงการฯนี้
อ่านประกอบ :
แพงไปหรือไม่! 'กทม.' ปรับภูมิทัศน์ ‘คลองช่องนนทรี’ เฟสแรก 200 เมตร แต่ใช้งบ 79 ล้าน
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage