‘นักวิชาการ’ ตั้งคำถามงานปรับปรุงภูมิทัศน์ ‘คลองช่องนนทรี’ เฟสแรก แค่ 200 เมตร แต่ใช้งบ 79 ล้าน แพงไปหรือไม่ ขณะที่ ‘กทม.’ เตรียมเปิดให้เอกชนยื่นซองประมูลงานช่วง ‘ถนนสุรวงศ์-ถนนสาทร’ ราคากลาง 79.9 ล้าน 3 ธ.ค.นี้
................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ในวันที่ 3 ธ.ค.นี้ กรุงเทพมหานคร (กทม.) จะเปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอการประกวดราคาจ้างก่อสร้างงานปรับปรุงภูมิทัศน์คลองช่องนนทรี ช่วงที่ 1 จากถนนสุรวงศ์-ถนนสาทร ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ราคากลาง 79.9 ล้านบาท ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์และพัฒนาคลองสาธารณะช่องนนทรี ตามแนวถนนนราธิวาสราชนครินทร์ มูลค่าโครงการรวม 980 ล้านบาท
ทั้งนี้ กทม.ได้เปิดให้เอกชนซื้อเอกสารประกวดราคาโครงการฯ ตั้งแต่วันที่ 4 พ.ย.2564-2 ธ.ค.2564 และเปิดให้ผู้สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับสถานที่หรือแบบรูปรายการละเอียดโครงการฯ ผ่านทางอีเมล์ [email protected] หรือช่องทางที่กรมบัญชีกลางกำหนดภายในวันที่ 25 พ.ย.2564 พร้อมทั้งจะชี้แจงรายละเอียดโครงการผ่านทางอีเมล์ [email protected] และเว็บไซต์ www.gprocurement.go.th ในวันที่ 29 พ.ย.นี้
สำหรับโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์คลองช่องนนทรีและการพัฒนาสวนสาธารณะคลองช่องนนทรี มูลค่าโครงการรวม 980 ล้านบาท ระยะทาง 4.5 กม. แบ่งการดำเนินการเป็น 5 ช่วง/สัญญา ได้แก่
1.ช่วงจากถนนสุรวงศ์-ถนนสาทร ระยะทาง 800 เมตร งบประมาณ 80 ล้านบาท
2.ช่วงจากถนนสาทร-ซอยนราธิวาสราชนครินทร์ 7 ระยะทาง 200 เมตร งบประมาณ 80 ล้านบาท
3.ช่วงจากซอยนราธิวาสราชนครินทร์ 7 ถึงถนนจันทน์ ระยะทาง 1.6 กม. งบประมาณ 370 ล้านบาท
4.ช่วงจากถนนจันทน์ถึงถนนรัชดาภิเษก ระยะทาง 1 กม. งบประมาณ 250 ล้านบาท
5.ช่วงจากถนนรัชดาภิเษกถึงถนนพระราม 3 ระยะทาง 900 เมตร งบ 200 ล้านบาท
กทม.ระบุว่า หลังจากโครงการดังกล่าวปรับปรุงแล้วเสร็จ จะทำให้คลองช่องนนทรีกลายเป็นสวนสาธารณะเลียบคลองที่ยาวที่สุดในกรุงเทพฯ
สำนักข่าวอิศรารายงานว่า เมื่อวันที่ 24 มิ.ย.2564 ที่ผ่านมา กทม. ได้เปิดประกวดราคาจ้างก่อสร้างงานปรับปรุงภูมิทัศน์คลองช่องนนทรี ช่วงที่ 2 จากถนนสาทรถึงซอยนราธิวาสราชนครินทร์ 7 ด้วยวิธี e-bidding ระยะทาง 200 เมตร ราคากลาง 79.7 ล้านบาท ซึ่งเป็นการดำเนินการในเฟสแรก ผลปรากฏว่า บริษัท ทริโอ ไบรท์ จำกัด ชนะการประมูลโดยเสนอราคาต่ำสุดที่ 79 ล้านบาท หรือต่ำกว่าราคากลาง 7 แสนบาท โดยปัจจุบัน บริษัท ทริโอ ไบรท์ จำกัด อยู่ระหว่างการก่อสร้างโครงการช่วงดังกล่าว
ขณะที่ล่าสุดเมื่อวันที่ 17 พ.ย.ที่ผ่านมา ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานคร โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว “เอิร์ธ พงศกร ขวัญเมือง - Earth Pongsakorn Kwanmuang” โดยระบุว่า การก่อสร้างงานปรับปรุงภูมิทัศน์คลองช่องนนทรีเฟสแรก (ช่วงที่ 2) จากถนนสาทรถึงซอยนราธิวาสราชนครินทร์ 7 มีความคืบหน้าไปแล้ว 42% และพร้อมเปิดเฟสแรก (ช่วงที่ 2) ให้คนกรุงเทพได้เริ่มใช้ในวันที่ 25 ธ.ค.2564 นี้
(ที่มา : เพจเฟซบุ๊ก “เอิร์ธ พงศกร ขวัญเมือง - Earth Pongsakorn Kwanmuang”)
@ปรับภูมิทัศน์คลองช่องนนทรี ‘เฟสแรก’ 200 ม. 79 ล. แพงไปหรือไม่
อย่างไรก็ตาม มีการตั้งคำถามจาก ผศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) ว่า งานปรับปรุงภูมิทัศน์คลองช่องนนทรีเฟสแรก (ช่วงที่ 2) จากถนนสาทร-ซอยนราธิวาสราชนครินทร์ 7 ซึ่งใช้งบประมาณเกือบ 80 ล้านบาทนั้น แพงไปหรือไม่ สำหรับงานถาดคอนกรีตและงานตกแต่งภูมิทัศน์ที่มีความยาวเพียง 200 เมตร
ทั้งนี้ ผศ.ดร.นิรมล โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว “Daeng Niramon” เมื่อวันที่ 14 พ.ย.ที่ผ่านมา โดยระบุว่า
“เฟสแรก 200 เมตร 80 ล้านบาท (รวมสามเฟส 980 ล้านบาทจากข่าวจะเร่งให้เสร็จปีหน้า)
อ.วิศวกรรมสิ่งแวดล้อมที่นับถือกันมานาน เปรยขึ้นมาว่า
“ต้องไปเข้าใจมาก่อนนะ การปลูกต้นไม้เพื่อให้คนอยู่ใกล้ธรรมชาติ เอาสีเขียวมาอยู่ในสิ่งแวดล้อมเมืองเป็นเรื่องดี แต่มันคนละเรื่องกับการใช้ธรรมชาติแก้ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม เช่น การบำบัดน้ำเสีย ไม่ใช่เราแค่เอาต้นพลูด่าง มาปลูกๆแปะๆแล้วอ้างว่าเป็น NATURE-BASED SOLUTION บำบัดน้ำได้แล้ว
การใช้ธรรมชาติมาแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ต้องมีการคำนวนเชิงวิศวกรรม ประกอบไปกับการออกแบบเชิงสถาปัตย์ เช่น จะใช้พืชอะไร ขนาดพื้นที่เท่าไหร่ น้ำเสียที่จะบำบัดเสียแค่ไหน และต้องการได้ผลลัพธ์เป็นค่า DD, BOD เท่าไหร่ น้ำต้องไหลผ่านหรือแช่ขังนานเท่าไหร่ มันเป็นวิทยาศาสตร์ ต้องความรู้ ต้องมีการคำนวน ต้องมีหลักฐาน ไม่ใช่มาพูดลอยว่านี่ดีไซน์ของฉันเป็น NATURE-BASED SOLUTION แล้วมันจะเป็น
และที่สำคัญใช้เงินเท่าไหร่ในการสร้างระบบทั้งหมดที่ว่า NATURE-BASED SOLUTION รวมการบำรุงรักษา แล้วสุดท้ายมันคุ้มค่าหรือไม่ มีประสิทธิภาพจริงหรือไม่ ไม่ง่ายหรอก โดยเฉพาะในเมือง ที่ข้อจำกัดเยอะ เนื้อที่ก็มีน้อย ปัญหาก็มาก ต้องมีการวิจัยและทดลองอีกมาก”
ว่าแล้วก็ถือโอกาสทำหน้าที่พลเมือง เดินไปดูหน้างานก่อสร้างโครงการคลองช่องนนทรีที่อยู่หน้าบ้าน ขอมีส่วนร่วม เพราะตอนที่โครงการออกแบบวางผังไม่มีการมาสอบถาม และอยากจะดูให้เห็นกับตาว่างานระบบ “NATURE-BASED SOLUTION ระดับโลก” ที่ว่ามันจะวิเศษมหัศจรรย์แค่ไหน
ภาพนี้ถ่ายเช้าวันเสาร์ที่ 13 พ.ย.64 ต้องบอกว่าก่อสร้างเร็วมาก ตามที่ออกข่าวจะเปิดใช้ CHRISTMAS นี้
สิ่งที่เห็นคือ
1.“ถาดคอนกรีตขนาดยักษ์” วางคร่อมคลอง แม้ว่าการปิดหน้าคลองบางส่วนอาจไม่กระทบด้านคุณภาพน้ำโดยตรง แต่สิ่งที่น่ากังวลและไม่เคยมีคำอธิบายคือ การบำรุงรักษา ขยะ การอุดตัน การขุดลอก จะทำอย่างไร ใครจะมุดเข้าไป
2.“RIPARIAN ECOLOGY” หรือ “ระบบนิเวศชายน้ำ” ที่โครงการสัญญาว่าจะเนรมิตให้เป็นต้นแบบของ “NATURE-BASED SOLUTION” นี้ มันจะปลูกและเติบโตเป็นสังคมพืชตรงไหน? อย่างไร? ไปยืนมอง เห็นแต่ PLANTER คอนกรีต ซึ่งมันก็ตื้นเสียจนน่าห่วงว่าความลึกของดินปลูกแค่นี้ กับต้นไม้ที่มาปลูกบนถาดคอนกรีตนี้กลางแดดร้อนๆของกรุงเทพฯ แค่เอาต้วมันให้รอดก็เก่งแล้ว อย่าเพิ่งไปห่วงบำบัดน้ำให้คลองเลย
3.ต้นไม้ที่ปลูกบนถาดคอนกรีตยักษ์นี้ ไม่น่าเกี่ยวข้องกับการปรับปรุงคุณภาพน้ำด้วยวิธี NATURE-BASED หรือเปล่า? เพราะมันลอยอยู่เหนือระดับน้ำของคลอง หรือหากจะแค่นให้พืชบนถาดคอนกรีตทำหน้าที่บำบัดน้ำเสียในคลองจริงๆ ก็ต้องดึงน้ำขึ้นมาจากคลองให้ผ่านต้นไม้ เพื่อให้เกิดการบำบัดน้ำเสีย
ซึ่งก็ต้องมีการคำนวนว่าปริมาณน้ำเท่าไหร่ ต้องแช่/ไหลผ่านใช้ระยะเวลาแค่ไหน (แบบที่ อ.วิศวะสิ่งแวดล้อมฯให้หลักการไว้ข้างบน) และคงต้องใช้ PUMP สูบ ซึ่งคำถามคือ จะพยายามไปขนาดนี้เพื่อประโยชน์อะไร?
5.ย้อนกลับไปโครงการชองเกชอนที่เคยเขียนถึง โครงการนั้นเขาบำบัดน้ำเสียในคลองจากค่า BOD 20 mg/l เป็น 2-3 mg/l โดยการใช้ “ระบบวิศวกรรม” 3 ระบบหลัก คือ
(1) การแยกน้ำเสียออกจากน้ำฝน ด้วยระบบ CSO ซึ่งโครงการช่องนนทรีก็ว่าจะทำ (ดูข้อ 7)
(2) การสูบน้ำจาก น.ฮัน ปริมาตรเท่ากับปริมาตรกักเก็บน้ำที่สวนร้อยปีจุฬาฯกล่าวอ้าง (1,000,000 แกลลอนหรือจริงๆก็แค่ 3,785 ลบ.ม.) ก็ต้องสูบน้ำกันในปริมาณเท่ากับ 37.5 สวนร้อยปีฯต่อ 1 วัน เพื่อมารักษาระดับน้ำให้คลองชองเกชอนสวยงาม) และ (3) สูบน้ำจากแหล่งน้ำใต้ดิน มาช่วยการรักษาระดับน้ำด้วย
6.จากที่เห็นคลองช่องนนทรีมีแต่คอนกรีต ก็ไม่แน่ใจว่าตัวเองเข้าใจถูกหรือไม่ จึงได้ไปสอบถามความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญ LANDSCAPE DESIGN ได้ความเห็นแบบนี้ :
“มองเห็นแต่คอนกรีต ดูแล้วน่าจะเป็น ARTIFICAL LANDSCAPE มากกว่า NATURE-BASED ที่กล่าวอ้าง
ดูแล้ว ต้นไม้ระบบนิเวศชายน้ำในภาพ PERSPECTIVE ที่ประชาสัมพันธ์ น่าจะปลูกบน PLANTER คอนกรีตทั้งหมด ซึ่งหากสัดส่วนมันเป็น ARTIFICIAL มากขนาดนี้แล้วละก็ ก็ไม่ควรจะมาเคลมว่าเป็น REAL ECOLOGY
จริงๆแล้ว การเป็น ARTIFICIAL SOLUTION ไม่ได้แย่ ก็เหมือนทำสวนหลังคา (ROOF GARDEN) ก็ใช้งานวิศวกรรมสนับสนุน ออกแบบดีๆก็สวยได้ แต่ต้องมาถกต่อว่าแพงหรือคุ้มค่าเงินหรือไม่
แต่หากบอกว่าปลูกต้นไม้บนถาดคอนกรีตนี้เป็น REAL ECOLOGY ที่จะมาช่วยบำบัดน้ำละก็ - ผมไม่ซื้อ”
7.สิ่งที่ดิฉัน อ.วิศวกรรมสิ่งแวดล้อม และท่านภูมิสถาปนิกที่ไปขอความรู้ มองหาเหมือนกันคือ ระบบท่อและระบบปั๊ม ที่โครงการประชาสัมพันธ์ว่าจะใช้ระบบ “CSO หรือ COMBINED SEWER OVERFLOW” ซึ่งเป็นระบบเดียวกับ “โครงการชองเกชอน”
มองไม่เห็น หาไม่เจอ เห็นแต่ท่อสีดำๆและท่า PVC คิดว่าคงไม่ใช่ ใครเป็นผู้เชี่ยวชาญช่วยระบุทีว่าตรงไหนในภาพ
โครงการน่าจะเปิดเผยข้อมูล CONSTRUCTION DRAWING ให้ประชาชนหรือนักวิชาการที่เขาติดตามโครงการนี้ แบบโปร่งใสแบบโครงการชองเกชอน
8.โครงการคลองช่องนนทรีควรเปิดเผยข้อมูลที่ชัดเจนและซีเรียส ไม่เอา FICTION ประกอบภาพการ์ตูนเผยแพร่ตามสื่อโซเชียลมีเดียบางเจ้า
เพราะหากโครงการตอบคำถามพื้นฐานเหล่านี้ไม่ได้ งบประมาณ 80 ล้าน ก็น่าจะดูแพงไปสำหรับถาดคอนกรีตและงานตกแต่งภูมิทัศน์ความยาว 200 เมตรที่ดูก็ไม่ได้มีงานอาคารหรืองานระบบอะไรที่ซับซ้อน
โครงการนี้ มีนักวิชาการหลายสาขา จากหลายมหาวิทยาลัยจับตาดูอยู่ ใช้เป็น CASE กรณีศึกษาประกอบการเรียนการสอนได้หลายศาสตร์เลยละค่ะ”
@ไม่ปรากฎข้อมูลทำรายงาน EIA-รับฟังความเห็นปชช.
ผศ.ดร.นิรมล ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศราเพิ่มเติมว่า อยากให้ กทม.เปิดเผยรายละเอียดทั้งหมดของโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์คลองช่องนนทรี มูลค่า 980 ล้านบาท เพราะแม้ว่า กทม.จะเปิดแถลงข่าวโครงการนี้มาแล้ว 3 ครั้ง แต่ประชาชนที่อยู่อาศัยในบริเวณดังกล่าวแทบไม่มีส่วนร่วมเลย เนื่องจาก กทม.ไม่จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่ และไม่ปรากฎข้อมูลว่ามีการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)
สำนักข่าวอิศรารายงานเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้ กทม. ว่าจ้าง บริษัท แลนด์ โปรเซส จำกัด (LAND PROCESS COMPANY LIMITED) เป็นผู้ออกแบบโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์คลองช่องนนทรี มูลค่า 980 ล้านบาท แต่จากการสืบค้นข้อมูลจากระบบเผยแพร่ข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐของหน่วยงานกรุงเทพมหานคร ไม่ปรากฏข้อมูลว่า มีการเปิดประกวดราคาการออกแบบโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์คลองช่องนนทรีแต่อย่างใด และไม่ปรากฎข้อมูลว่าค่าจ้างออกแบบอยู่ที่เท่าไหร่
(ที่มา : กทม.การแถลงเปิดตัวโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์คลองช่องนนทรี เมื่อเดือน ต.ค.2564)
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage