"...เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. มิได้จำกัดอยู่เฉพาะผู้ที่เป็นข้าราชการสังกัดสำนักงาน ป.ป.ส. เท่านั้นเพราะสามารถจะแต่งตั้งจากข้าราชการในหน่วยงานอื่นที่มีหน้าที่ในการปราบปรามยาเสพติด เช่น ข้าราชการในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงมหาดไทยกระทรวงกลาโหม ฯลฯ โดยจะต้องมีคุณสมบัติครบถ้วนและดำเนินการตามเงื่อนไขตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้..."
ได้สอบถามเรื่องนี้กับทางสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด(ป.ป.ส.) ได้รับคำชี้แจงว่า เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ที่ได้รับการแต่งตั้งจาก ป.ป.ส. มีประมาณ 14,000 คน ผู้ที่ได้รับคำสั่งยกเลิกการเป็นเจ้าพนักงานกว่า 7,000 คน ด้วยเหตุผลสองประการ
1. เมื่อได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าพนักงานจะต้องมีผลงานและรายงานผลงานทางออนไลน์ให้กับทางสำนักงาน ป.ป.ส. แต่เจ้าพนักงานเหล่านี้ไม่ได้รายงานผลงานหรือไม่มีผลงานตามที่กำหนด
2. มีเจ้าพนักงานจำนวนหนึ่งที่ใช้บัตรเจ้าพนักงานไปในทางที่ไม่เหมาะสม เช่น ในระหว่างการปฎิบัติหน้าที่ไม่แสดงบัตรหรือแสดงบัตรเจ้าพนักงานไม่ชัดเจน
"สำหรับเจ้าพนักงานที่ยังเหลืออีกประมาณครึ่งหนึ่งทางสำนักงาน ป.ป.ส.จะจัดการฝึกอบรมตามประมวลกฏหมายยาเสพติดฉบับใหม่ที่เพิ่งประกาศใช้ไปเมื่อวันที่ 8 พ.ย. และจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 9 ธ.ค.นี้"
คือ คำชี้แจงของ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ที่ให้ต่อสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ต่อกรณีในช่วงปลายเดือนตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา นายวิชัย ไชยมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด(ป.ป.ส.) ได้ลงนามในคำสั่งยกเลิกการแต่งตั้งเจ้าพนักงานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ.2519 จำนวนกว่า 7,000 คน จำแนกตามสังกัด อาทิ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 3,837 ราย กองทัพบก จำนวน 1,439 ราย กรมการปกครอง จำนวน 1,303 ราย เป็นต้น
ทั้งนี้ เพื่อให้สาธารณชนได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับ เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. มากขึ้น ว่าตำแหน่งมีความเป็นมาอย่างไร? มีบทบาทสำคัญแค่ไหน?
สำนักข่าวอิศรา นำข้อมูลรายละเอียดจาก สำนักงาน ป.ป.ส. www.oncb.go.th มาเสนอ ณ ที่นี้
เจ้าพนักงาน ป.ป.ส.หมายถึงผู้ใด ?
หมายถึง ข้าราชการ ผู้ซึ่ง เลขาธิการ ป.ป.ส. แต่งตั้งเป็นเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ให้มีอำนาจปฏิบัติการตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ. 2519 ทั้งนี้โดยจะต้องได้รับการอนุมัติและให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้งจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ก่อน
ทั้งนี้ เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. มิได้จำกัดอยู่เฉพาะผู้ที่เป็นข้าราชการสังกัดสำนักงาน ป.ป.ส. เท่านั้นเพราะสามารถจะแต่งตั้งจากข้าราชการในหน่วยงานอื่นที่มีหน้าที่ในการปราบปรามยาเสพติด เช่น ข้าราชการในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงมหาดไทยกระทรวงกลาโหม ฯลฯ โดยจะต้องมีคุณสมบัติครบถ้วนและดำเนินการตามเงื่อนไขตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้
เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. มีความเป็นมาและความสำคัญอย่างไร ?
เนื่องจากยาเสพติดเป็นปัญหาสำคัญของประเทศ รัฐบาลในสมัยของนายธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาที่จำเป็นอย่างยิ่งจะต้องมีเจ้าพนักงานรับผิดชอบเป็นการเฉพาะและจะต้องอาศัยความร่วมมือจากส่วนราชการหลายฝ่ายในการแก้ไขปัญหา จึงได้ตราพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ. 2519 อันมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 19 พฤศจิกายน 2519 เป็นต้นมาโดยกฎหมายฉบับนี้กำหนดให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดมีอำนาจและหน้าที่ในภาพรวมในการดำเนินการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดของประเทศ และภายใต้บทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว
จึงกำหนดให้มีการแต่งตั้งเจ้าพนักงานเพื่อรับผิดชอบในการปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าวเป็นการเฉพาะ ทั้งนี้เพื่อให้การดำเนินงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดสัมฤทธิผลเกิดประสิทธิภาพในการปฏิบัติโดยเจ้าพนักงานที่ได้รับการแต่งตั้งดังกล่าวเรียกว่า “เจ้าพนักงาน ป.ป.ส.”
การขอรับการแต่งตั้งเป็นเจ้าพนักงาน ป.ป.ส.ผู้ขอต้องดำเนินการอย่างไร?
ผู้ขอรับการแต่งตั้งส่งหลักฐานตามรายการ คือ
1. คำขอแต่งตั้งและคำรับรองของผู้บังคับบัญชาหัวหน้าหน่วยงาน ตามแบบ ป.ป.ส. 8 - 601 ผู้บังคับบัญชาหัวหน้าหน่วยงาน หมายความผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งตั้งแต่ผู้อำนวยการกอง ผู้บังคับการตำรวจ ผู้บังคับการกรมหรือเทียบเท่าขึ้นไป ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรงของเจ้าพนักงาน ป.ป.ส.หรือผู้ซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าพนักงาน ป.ป.ส.ดังนั้นผู้ขอรับการแต่งตั้งต้องยื่นหลักฐาน คำขอแต่งตั้งต่อตัวบุคคล ดังต่อไปนี้
- ข้าราชการสำนักงาน ป.ป.ส. ให้ยื่นต่อผู้อำนวยการกองหรือเทียบเท่าขึ้นไป
- ข้าราชการส่วนราชการอื่นให้ยื่นต่ออธิบดีหรือหัวหน้าส่วนราชการเทียบเท่าอธิบดี
2. คำขออนุมัติออกบัตรประจำตัวเจ้าพนักงานป.ป.ส. ตามแบบ ป.ป.ส. 6 - 603
3. ภาพถ่ายหน้าตรงแต่งเครื่องแบบราชการไม่สวมหมวกขนาด 1 นิ้ว จำนวน 3 ภาพ
4. สำเนาทะเบียนบ้าน 1 ฉบับ
5. สำเนาคำสั่งมอบหมายให้มีหน้าที่ในการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด
คุณสมบัติของเจ้าพนักงานป.ป.ส. มีอย่างไรบ้าง?
1. ต้องเป็นข้าราชการตั้งแต่ระดับสามหรือเทียบเท่าหรือชั้นสัญญาบัตรขึ้นไป
2. ต้องเป็นผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นลายลักษณ์อักษรจากผู้บังคับบัญชาหัวหน้าหน่วยงานให้มีหน้าที่ปราบปรามผู้กระทำความผิดตามกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติด
3. ต้องเป็นผู้ไม่เคยมีประวัติมัวหมอง เช่น มัวหมองเกี่ยวกับยาเสพติด หรือการทุจริตหรือประพฤติมิชอบในวงราชการ
มีกฎหมายและระเบียบอะไรบ้างที่กำหนดอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ?
เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. มีอำนาจตามกฎหมายโดยเป็นเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (16)ดังนั้น สถานะความเป็นเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ในการใช้อำนาจปฏิบัติหน้าที่จะต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติของกฎหมายสองฉบับคือ พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ. 2519 และประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งการปฏิบัติต้องยึดถือหลักเกณฑ์ที่กำหนดในระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดว่าด้วยการแต่งตั้งการปฏิบัติหน้าที่และการกำกับดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. พ.ศ. 2545 และระเบียบสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดว่าด้วยการออกบัตรประจำตัวและการรายงานการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. 2546
ทั้งหมดนี้ คือ ข้อมูลเคียงข่าวตำแหน่ง เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ที่กำลังอยู่ในความสนใจของสาธารณชนในขณะนี้
อย่างไรก็ดี เกี่ยวกับกรณีนี้ สำนักข่าวอิศรา รายงานไปแล้วว่า ล่าสุด ผู้บริหาร สำนักงาน ป.ป.ส. ได้รายงานเหตุผลในการยกเลิกคำสั่งแต่งตั้งเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ต่อนายสมศักดิ์ เป็นทางการแล้ว
ระบุว่า ตามระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดว่าด้วยการแต่งตั้งการปฏิบัติหน้าที่และการกำกับดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. พ.ศ. 2545 มีการกำหนดกระบวนการในการแต่งตั้ง คุณสมบัติของผู้ที่จะได้รับการแต่งตั้ง วิธีการในการปฏิบัติหน้าที่ และการรายงานผลการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ไว้ ซึ่งเมื่อมีการใช้อำนาจจะต้องรายงานผลการใช้อำนาจเข้ามาในระบบเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. เพื่อสำนักงาน ป.ป.ส. รวบรวม วิเคราะห์และสรุปผลการดำเนินงานในแต่ละปี เพื่อนำ เสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา เพื่อเป็นการกำกับดูแลการปฏิบัติงานของเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. นอกจากนี้ ตามระเบียบดังกล่าว กำหนดให้การเป็นเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. สิ้นสุดลง หากเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. กรณีไม่ดำเนินการรายงานผลการใช้อำนาจ
ประกอบกับที่ผ่านมามี เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. จำนวนหนึ่งมีการใช้อำนาจตามบัตรเจ้าพนักงานในทางที่ไม่ชอบ มีการร้องเรียนการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ทำให้สำนักงาน ป.ป.ส. และกระทรวงยุติธรรมเกิดความเสียหาย ซึ่งในวันที่ 9 ธันวาคม 2564 จะมีประมวลกฎหมายยาเสพติดมีผลใช้บังคับ แม้ว่าบทเฉพาะกาลจะกำหนดให้เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ที่ได้รับการแต่งตั้งไว้ยังคงมีอำนาจต่อไป จนกว่าจะมีการแต่งตั้งเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ตามประมวลกฎหมายยาเสพติดก็จะทำให้เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ที่แต่งตั้งไว้เดิมทั้งหมดสิ้นสุดการเป็นเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ไปโดยอัตโนมัติตามบทเฉพาะกาลดังกล่าว
ซึ่งอำนาจเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ตามประมวลกฎหมายยาเสพติดใหม่มีการเปลี่ยนแปลงไปหลายประการ ประกอบกับพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2545 ก็กำหนดให้การแต่งตั้งเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. จะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ป.ป.ส. หรือคณะอนุกรรมการ ป.ป.ส. และจะต้องผ่านการฝึกอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่และการใช้อำนาจตามประมวลกฎหมายยาเสพติด ซึ่งสำนักงาน ป.ป.ส. ได้กำหนดแนวทางการดำเนินการและการฝึกอบรมไว้แล้ว ทั้งนี้ เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ที่ยังคงมีอำนาจมีบัตรเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. อยู่ก็ยังคงสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ต่อไป และสำนักงาน ป.ป.ส. จะแจ้งให้หน่วยงานต้นสังกัดและเสนอให้บุคคลดังกล่าวได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ตามประมวลกฎหมายยาเสพติดใหม่ต่อไป
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage