"… ยาต้านโควิดเป็นเครื่องมือที่มีแนวโน้มดีที่สุดที่จะทำงานร่วมกับวัคซีน ในการต่อสู้โรคระบาด โดยยาจะทำหน้าที่เป็นแนวป้องกันที่สอง ซึ่งจะช่วยหยุดการลุกลามของโรคเมื่อมีการติดเชื้อ หากมีราคาไม่แพง ยาจะมีความสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะกลุ่มที่ยังไม่ได้รับวัคซีนจากข้อจำกัดในการเข้าถึงหรือข้อจำกัดทางเศรษฐกิจ หรือกลุ่มผู้ติดเชื้อที่ป่วยไม่มากพอจะเข้ารักษาในโรงพยาบาล แต่มีความเสี่ยงป่วยรุนแรง…"
หลังจากบริษัทไฟเซอร์ ผู้ผลิตยารายใหญ่ของสหรัฐอเมริกา เปิดเผยผลการทดลอง 'ยาเม็ดต้านโควิด' ที่มีชื่อว่า Paxlovid พบสามารถลดอัตราการเข้าโรงพยาบาลหรือเสียชีวิตสูงเกือบ 90%
นับเป็นยาต้านไวรัสโควิโดยเฉพาะตัวที่ 2 ถัดจากการคิดค้น 'ยาโมลนูพิราเวียร์' หรือ Molnupiravir ของบริษัทเมอร์ค บุคลากรการแพทย์หลายคน มองว่ายาต้านไวรัสโควิดนี้ เป็นตัวเปลี่ยนเกม ที่จะเข้ามาเป็นความหวังใหม่ในการสู้โควิด นอกเหนือจากวัคซีน เพราะมีประสิทธิภาพในการรักษาผู้ป่วยโควิดสูง
ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกลาโหม ได้เร่งกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สั่งซื้อยาเม็ดรักษาโควิดแล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 6 พ.ย.ที่ผ่านมา เพื่อให้ประชาชนคนไทยได้ใช้เป็นคิวแรกๆ
อย่างไรก็ตามการมียาต้านไวรัสโควิดที่เพิ่มขึ้นจะช่วยเปลี่ยนเส้นทางของการระบาดใหญ่นี้ได้อย่างไร สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้แปลและเรียบเรียงข้อมูลจากเว็บไซต์ National Geographic เปิดเผยว่า หลายปีก่อนการระบาดของโควิดจะระบาดหนัก นักไวรัสวิทยาได้เริ่มค้นหายาต้านไวรัสอุบัติใหม่ที่สามารถปกป้องผู้คนจากโควิดได้ แต่การค้นหานั้นช้าและล้มเหลวอยู่บ่อยครั้ง
กระทั่งเมื่อวันที่ 4 พ.ย.ที่ผ่านมา ยาโมลนูพิราเวียร์ ตัวใหม่ของบริษัทเมอร์คได้รับการอนุมัติจากสหราชอาณาจักรให้ใช้ภายในประเทศ ทำให้แนวโน้มสำหรับการรักษาโควิดเริ่มสดใสมากขึ้น
ยาต้านไวรัสต่างจากวัคซีนที่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ โดยยาจะทำหน้าที่เป็นแนวป้องกันที่สอง ซึ่งจะช่วยหยุดการลุกลามของโรคเมื่อมีการติดเชื้อ ที่สำคัญยายังมีความสำคัญเมื่อไม่มีวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสำหรับโรคไวรัส เช่นเดียวกับกรณี HIV ไวรัสตับอักเสบซี และเริม
อย่างไรก็ตามการพัฒนายาต้านไวรัสโควิดโดยเฉพาะนั้น เป็นความพยายามที่ราคาและยาก ทำให้นักวิจัยมีการกลับไปดูยาเก่าหรือสารประกอบที่เคยทดสอบกับโรคอื่นๆ ว่าจะใช้รักษาโควิดได้ผลหรือไม่ อย่างยาเรมเดซิเวียร์ ของบริษัท Gilead Sciences ที่พัฒนาขึ้นสำหรับการรักษาการติดเชื้อไวรัสอักเสบซีและอีโบลา เป็นยาต้านไวรัสชนิดเดียวที่ได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา (U.S. FDA)
ยาต้านโควิดเป็นเครื่องมือที่มีแนวโน้มดีที่สุดที่จะทำงานร่วมกับวัคซีนในการต่อสู้โรคระบาด หากมีราคาไม่แพง ยาจะมีความสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะกลุ่มที่ยังไม่ได้รับวัคซีนจากข้อจำกัดในการเข้าถึงหรือข้อจำกัดทางเศรษฐกิจ
เว็บไซต์ National Geographic
การทำงานของยาต้านไวรัส
เว็บไซต์ National Geographic เปิดเผยถึงการทำงานของยาต้านไวรัสว่า ไวรัสไม่สามารถแพร่พันธุ์ได้เอง จึงต้องพึ่งพาเครื่องจักรของเซลล์เจ้าบ้านในการทำซ้ำ ซึ่งหมายความว่า ไวรัสจะต้องแทรกตัวเองเข้าไปในเซลล์ที่มีชีวิตและจี้กลไกของตัวเอง เพื่อสร้างสำเนาของตัวเองออกมาหลายพันชุด จากนั้นลูกหลายไวรัสเหล่านี้จะหลบหนีและแพร่เชื้อไปยังเซลล์เจ้าบ้านที่อยู่ใกล้เคียง แพร่กระจายโรคภายในร่างกายและไปสู่พาหะรายใหม่ต่อไป
ยาต้านไวรัส จึงมักจะทำงานโดยการป้องกันไม่ให้ไวรัสเกาะหรือเข้าไปในเซลล์ของเจ้าบ้านได้ หรือขัดขวางการจำลองแบบเมื่ออยู่ในเซลล์ของเจ้าบ้าน
ยกตัวอย่าง เช่น ยาเรมเดซิเวียร์ จะเลียนแบบหนึ่งในหน่วยการสร้างพันธุกรรมที่จำเป็นสำหรับโควิด จากนั้นจะรวมเข้ากับจีโนมของไวรัส ทำให้การจำลองแบบหยุดชะงัก ส่วนยาโมลนูพิราเวียร์เอง ก็เลียนแบบให้คล้ายกันและทำให้เกิดข้อผิดพลาดระหว่างการจำลองแบบของไวรัส
ขณะที่ยาแพกซ์โลวิด ของบริษัทไฟเซอร์ ได้คิดค้นให้ยาขัดขวางการทำงานของเอ็นไซม์ที่เรียกว่าโปรตีนเอส SARS-CoV-2 และไวรัสอื่นๆ เช่น HIV โดยใช้เอ็นไซม์เหล่านี้แยกโปรตีนขนาดใหญ่ออกเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วรวมกับสารพันธุกรรมของไวรัส เพื่อสร้างสำเนาไวรัสใหม่
อย่างไรก็ตามผู้เชี่ยวชาญหลายคนคิดว่าการสร้างกลไกแย่งชิงไวรัสไปจากเซลล์ของมนุษย์ จะทำให้มีประสิทธิภาพสูง แต่ที่น่ากังวลคือยาต้านไวรัสอาจสร้างความเสียหายต่อเซลล์ปกติได้ ทำให้เกิดผลข้างเคียงหลายอย่าง
“การพัฒนายาต้านไวรัส เพื่อต่อต้านโปรตีนจากไวรัสชนิดหนึ่ง ไวรัสจะมีแรงกดดันจากวิวัฒนาการอย่างรวดเร็วในการกลายพันธุ์ และพัฒนาการดื้อยา ดังนั้นกลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น คือ การใช้ยาต้านไวรัสหลายชนิดร่วมกัน 2-4 ชนิด ซึ่งเป็นแนวทางปฏิบัติมาตรฐานสำหรับการต่อสู้กับ HIV หรือการรักษาโรคไวรัสตับอักเสบซี ที่ทำให้ไวรัสหลบหนีได้ยาก” Tia Tummino เภสัชกรจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานฟราซิสโก กล่าว
การแข่งขันพัฒนายาต้านโควิด
สำหรับเส้นทางการแข่งขันพัฒนายาต้านโควิด เว็บไซต์ National Geographic เปิดเผยว่า โดยปกติการทำยาต้านไวรัสสำหรับไวรัสตัวใหม่จะใช้เวลาอย่างน้อย 10 ปี ดังนั้นนักวิจัยจึงพยายามหายาที่มีอยู่นำกลับมาใช้ใหม่ เพื่อลดเวลาในการรักษาโควิด
นักวิจัยเริ่มคัดกรองยารักษาโควิด จากการทดสอบว่ายาและสารประกอบที่ผ่านการรับรองจาก U.S. FDA มีผลต่อเชื้อโควิดหรือไม่ Laura Riva นักชีววิทยาด้านการคำนวณ ซึ่งก่อนหน้านี้ทำงานอยู่ที่สถาบัน Sanford Burnham Prebys Medical Discovery Institute ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ได้ทำหน้าที่ทดสอบสารประกอบมากกว่า 12 ชนิด ร่วมกับเพื่อนร่วมงาน รวมทั้งยาเรมเดซิเวียร์
การศึกษายาเรมเดซิเวียร์หรือยาต้านไวรัสในลิง เดือน มิ.ย.2563 นักวิจัยเห็นศักยภาพของยาในการต้านโควิด และในการทดลองทางคลินิกครั้งแรกในผู้ป่วยโควิดที่เข้ารักษาตัวอยู่โรงพยาบาล นักวิจัยเห็นว่ายานี้สามารถลดเวลาการพักฟื้นตัวได้ จึงได้รับการอนุมัติจาก U.S. FDA ให้เป็นยารักษาโควิดตัวแรกเมื่อ ต.ค.2563
ส่วนในการทดสอบยาต้านไสรัสอื่นอีกกว่า 33 ชนิด ในการทดลองทางคลินิกมากกว่า 300 รายการ กลับไม่ได้ผลเมื่อนำไปใช้รักษาผู้ป่วยโควิด แสดงให้เห็นว่าไม่มีทางลัดในการพัฒนายาต้านโควิด อย่างไรก็ตามต่อมาในปี 2564 ยาโมลนูพิราเวียร์ ได้ถูกพัฒนาขึ้นจากการใช้รักษาโรคไข้หวัดใหญ่ ให้มีศักยภาพในการต่อสู้กับโควิดโดยเฉพาะ และมีผลการทดลองทางคลินิกออกมามีประสิทธิภาพดี ซึ่งผู้เชี่ยวชาญหลายคนต่างมองว่ายานี้จะเป็นความหวังใหม่ในการสู้โควิด
ผลการทดลองทางคลินิกจุดประกายความหวัง
เว็บไซต์ National Geographic เปิดเผยอีกว่า ยาเรมเดซิเวียร์ เป็นยาต้านไวรัส ที่ต้องฉีดเข้าเส้นเลือดดำ แต่ยาโมลนูพิราเวียร์นั้น เป็นยาเม็ดาสำหรับต้านโควิดโดยเฉพาะที่สามารถกลืนได้ เหมาะสำหรับผู้ป่วยโควิดวัยผู้ใหญ่ที่มีอาการเล็กน้อยไปจนถึงปานกลาง และมีความเสี่ยงต่อการป่วยรุนแรง โดยจะให้กินวันละ 2 ครั้ง ต่อเนื่องกันเป็นเวลา 5 วัน ช่วยลดอัตราการเข้าโรงพยาบาลเสียชีวิต 50%
แม้ว่าสิ่งเหล่านี้จะเป็นข้อค้นพบชั่วคราวที่ยังไม่ได้รับการตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญ แต่บริษัทต่างๆ ได้ร่วมกันยื่นขออนุมัติยาจาก U.S. FDA ในกรณีฉุกเฉินเมื่อวันที่ 11 ต.ค.2564 และสหราชอาณาจักรอนุญาตให้ใช้ ยาโมลนูพิราเวียร์แล้ว เมื่อวันที่ 4 พ.ย.ที่ผ่านมา
ส่วนยาฟาวิพิราเวียร์ ยาต้านไวรัสชนิดแคปซูลที่ได้รับการพัฒนาเป็นครั้งแรกเพื่อป้องกันไข้หวัดใหญ่ในประเทศญี่ปุ่น ในการทดลองขนาดเล็ก พบว่ายาสามารถรักษาผู้ป่วยโควิดในระกับเล็กน้อยไปจนถึงปานกลางได้ โดยสามารถล้างไวรัสโควิดในจมูกและลำคอ ซึ่งตอนนี้ประเทศญี่ปุ่น รัสเซีย และอินเดียก็ได้อนุมัติเพื่อใช้รักษาผู้ป่วยโควิดแล้ว
ขณะที่ยาแพกซ์โลวิด PF-07321332 ของบริษัทไฟเซอร์ ที่ได้รับการพัฒนาจากการใช้รักษาโรค SARS-CoV เมื่อราว 20 ปีที่แล้ว ให้เป็นยาต้านโควิดโดยเฉพาะชนิดแคปซูล เหมาะสำหรับผู้ป่วยวัยผู้ใหญ่ที่เสี่ยงต่อการป่วยรุนแรง โดยให้กินวันละ 2 ครั้ง ต่อเนื่องกันเป็นเวลา 5 วัน ช่วยลดอัตราการเข้าโรงพยาบาลเสียชีวิต 89%
เว็บไซต์ Reuters
เปรียบเทียบคุณสมบัติโมลนูพิราเวียร์-แพกซ์โลวิด
ทั้งนี้ ยาต้านโควิดของบริษัทเมอร์ค และบริษัทไฟเซอร์ ต่างเป็นยาที่คิดค้นขึ้นมาเพื่อต้านโควิดโดยเฉพาะ และมีผลการทดลองทางคลินิกที่มีประสิทธิภาพในการรักษาผู้ป่วยวัยผู้ใหญ่ที่มีความเสี่ยงต่อการป่วยรุนแรงสูง ซึ่งนักวิชาการหลายคนมองว่าจะเป็นตัวเปลี่ยนเกมสู้โควิด โดยเว็บไซต์ Reuters ได้นำเสนอความแตกต่างของยาต้านโควิดทั้ง 2 ยี่ห้อ มีข้อมูลดังนี้
ประสิทธิภาพ
-
ยาโมลนูพิราเวียร์ บริษัทเมอร์ค ผลการทดลองทางคลินิกในกลุ่มผู้เข้าร่วมทดสอบ 775 ราย แสดงให้เห็นว่า ในกลุ่มป่วยที่มีความเสี่ยงต่อการป่วยรุนแรง เมื่อได้รับยา สามารถลดการเข้าโรงพยาบาลหรือเสียชีวิตได้ 50% ภายใน 5 วัน หลังจากเริ่มมีอาการ
-
ยาแพกซ์โลวิด บริษัทไฟเซอร์ ผลการทดลองทางคลินิกในกลุ่มผู้เข้าร่วมทดสอบ 1,219 ราย แสดงให้เห็นว่า ในกลุ่มป่วยที่มีความเสี่ยงต่อการป่วยรุนแรง เมื่อได้รับยา สามารถลดการเข้าโรงพยาบาลหรือเสียชีวิตได้ 89% หากรีบให้ยาภายใน 3 วัน หลังจากเริ่มมีอาการ และสามารถลดการเข้าโรงพยาบาลหรือเสียชีวิตได้ 85% ภายใน 5 วัน
การทำงานของยา
-
ยาโมลนูพิราเวียร์ บริษัทเมอร์ค เป็นอะนาล็อกของนิวคลีโอไซด์ ที่มีกลไกการทำงานเพื่อให้เกิดข้อผิดพลาดในรหัสพันธุกรรมของไวรัส เนื่องจากยาสร้างการกลายพันธุ์แบบสุ่มในไวรัส จึงเป็นเรื่องยากสำหรับไวรัสโควิดที่จะพัฒนาและต้านทานได้ ในการรักษายานี้ต้องกินต่อเนื่อง 5 วัน วันละ 2 ครั้ง คือ ยามเช้า 4 เม็ด และกลางคืน 4 เม็ด
-
ยาแพกซ์โลวิด บริษัทไฟเซอร์ เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม Protease Inhibitors ออกแบบมาเพื่อสกัดกั้นเอ็นไซม์ที่ไวรัสโควิดต้องการเพิ่มจำนวนขึ้น เนื่องจากยามุ่งเป้าไปที่ส่วนหนึ่งของไวรัสที่จำเป็นต่อการจำลองแบบ เชื้อโรคจึงไม่สามารถต้านทานการรักษาได้ ทั้งนี้ยานี้ต้องใช้ร่วมกับยาริโทนาเวียร์ ซึ่งเป็นยาต้านไวรัสรุ่นเก่าที่กระตุ้นการทำงานของสารยับยั้งโปรตีเอส จึงอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงทางเดินอาหาร และรบกวนการใช้ยาอื่นๆ ในการรักษายานี้ต้องกินต่อเนื่อง 5 วัน วันละ 2 ครั้ง คือ ยามเช้า 3 เม็ด และกลางคืน 3 เม็ด
ความปลอดภัย
-
ยาโมลนูพิราเวียร์ บริษัทเมอร์ค ผลการทดลองทางคลินิกแสดงให้เห็นว่า ผู้ป่วยที่ได้รับยาโมลนูพิราเวียร์จริงมีอาการไม่พึงประสงค์ 12% และผู้ป่วยที่ได้รับยาหลอกมีอาการไม่พึงประสงค์ 11%
-
ยาแพกซ์โลวิด บริษัทไฟเซอร์ ผลการทดลองทางคลินิกแสดงให้เห็นว่า ผู้ป่วยประมาณ 20% ที่ได้รับยาแพกซ์โลวิดจริงและยาหลอกมีอาการไม่พึงประสงค์ ซึ่งส่วนใหญ่ไม่รุนแรง แต่ที่ร้ายแรง สำหรับผู้ที่ได้รับยาจริง มีอยู่ 1.7% และผู้ที่ได้รับยาหลอกมีอยู่ 6.6%
ปริมาณการผลิต
-
ยาโมลนูพิราเวียร์ บริษัทเมอร์ค คาดว่าจะผลิตยาได้ 10 ล้านชุดภายในสิ้นปีนี้ อย่างน้อย 20 ล้านชุดในปี 2565
-
ยาแพกซ์โลวิด บริษัทไฟเซอร์ คาดว่าจะผลิตยามากกว่า 180,000 รายการภายในสิ้นปีนี้ และอย่างน้อย 50 ล้านรายการในปี 2565
ราคา
-
ยาโมลนูพิราเวียร์ บริษัทเมอร์ค ราคาอยู่ที่ชุดละ 700 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 23,261 บาท
-
ยาแพกซ์โลวิด บริษัทไฟเซอร์ มีรายงานว่าราคาจะใกล้เคียงกับยาโมลนูพิราเวียร์
แม้ว่าวัคซีนจะมีจำหน่ายไปทั่วโลกเพื่อควบคุมการระบาด แต่ก็ยังมีข้อจำกัดสำหรับผู้ติดเชื้อที่ป่วยไม่มากพอที่จะเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล แต่มีความเสี่ยงที่จะเจ็บป่วยรุนแรง ยาต้านโควิดที่มีประสิทธิภาพสูงนับเป็นอีกความหวังใหม่ ที่จะอุดช่องว่างนี้ ให้การต่อสู้กับโควิดมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
อ้างอิงจาก :
อ่านข่าวประกอบ :
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage