"… ยาโมลนูพิราเวียร์นับเป็นยาต้านโควิดที่ปลอดภัย ราคาจับต้องได้ และเป็นวิธีการรักษาที่เหมาะสมที่สุด เนื่องจากสามารถต้านโควิดได้โดยตรง โดยจำกัดความเสียหายต่อร่างกายและระยะเวลาการเจ็บป่วย นอกจากนี้ จากการตรวจสอบสเตียรอยด์และสารเจือจางเลือด ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าช่วยเพิ่มอัตราการรอดชีวิตในผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล…"
ท่ามกลางสถานการณ์การระบาดของโควิดที่ไม่รู้ว่าจะจบลงเมื่อใด และเราอาจอยู่กับไวรัสนี้ไปอีกนาน อาวุธที่สำคัญในการต่อสู้กับโรคระบาดนี้ ไม่ได้มีเพียงวัคซีน แต่ยังรวมถึงยาต้านไวรัสที่มีประสิทธิภาพด้วย ที่จะป้องกันโรคโควิดไม่ให้เกิดความรุนแรง
จากข้อมูล แนวทางเวชปฏิบัติ การวินิจฉัย ดูแลรักษา และป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา สำหรับแพทย์และบุคลากรสาธารณสุข ฉบับปรับปรุงวันที่ 9 ก.ย.2564 พบว่าปัจจุบันประเทศไทยมีการใช้ยารักษาผู้ป่วยโควิดอยู่ด้วยกันหลายตัว อาทิ ยาฟ้าทะลายโจร ยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) ยาเรมเดซิเวียร์ (Remdesivir) ยาคอร์ดิโต สเตียรอยด์ (Corticosteroids) ยาโลปินาเวียร์ (Lopinavir) ยาริโทนาเวีย (Ritonavir) ยาโทซิลิซูแมบ (Tocilizumab) และยาจานัสไคเนส อินฮิบิเตอร์ (Janus kinase inhibitor : JAK inhibitor)
แต่ล่าสุดได้มีการเปิดเผยผลการทดสอบยาต้านโควิด ‘โมลนูพิราเวียร์’ หรือ ‘Molnupiravir’ ระยะที่ 3 ของบริษัทเมอร์คและบริษัทริดจ์แบค ไบโอเทราพิวติกส์ พบว่ายามีประสิทธิภาพรักษาโรคโควิดได้ดี สามารถต้านไวรัสกลายพันธุ์ได้ทุกสายพันธุ์ เมื่อเปรียบเทียบกับยาหลอก ซึ่งบุคคลากรการแพทย์หลายคนต่างพูดว่า ยานี้อาจกลายเป็นตัวเปลี่ยนเกมสู้โควิดภายในประเทศไทย
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับยาโมลนูพิราเวียร์ มีข้อมูลที่น่าสนใจ ดังนี้
เว็บไซต์ The Settle Times เปิดเผยถึงยาโมนูพิราเวียร์ที่พัฒนาจากบริษัทเมอร์ค ร่วมกับบริษัทริดจ์แบค ไบโอเทราพิวติกส์ ว่า ในการทดสอบทางคลินิกระยะที่ 3 ผลการทดลองแสดงให้เห็นว่า ยานี้ช่วยลดความเสี่ยงในการรักษาตัวที่โรงพยาบาล หรือเสียชีวิตในผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง (โรคอ้วน ผู้มีอายุมากกว่า 60 ปี โรคหัวใจ และโรคมะเร็ง) ที่มีอาการโควิดไม่รุนแรงถึงปานกลางได้มากกว่า 50%
ยาโมลนูพิราเวียร์นี้ พัฒนาขึ้นเพื่อให้รับประทานในแบบแคปซูล โดยยาจะเข้าไปช่วยยับยั้งการจำลองตัวเองของเชื้อไวรัสโควิดให้บกพร่อง เพื่อยับยั้งการกลายพันธุ์ที่รุนแรง
จากแถลงการณ์ของบริษัทเมอร์ค เมื่อวันที่ 1 ต.ค. พบว่า ผู้ป่วยที่ได้รับยาโมลนูพิราเวียร์ขนาด 800 มิลลิกรัม วันละ 2 เวลา เช้าและเย็น เป็นเวลา 5 วัน ทั้งหมด 385 ราย มี 28 ราย หรือ 7.3% เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล และเมื่อเทียบกับผู้ป่วยที่ได้รับยาหลอกทั้งหมด 377 ราย มี 53 ราย หรือ 14.1% เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล และในจำนวนนี้มี 8 รายที่เสียชีวิต
สำหรับประสิทธิภาพในการต่อสู้กับเชื้อโควิดกลายพันธุ์ พบว่ายาโมลนูพิราเวียร์นี้สามารถขัดขวางการจำลองแบบไวรัสโควิดสายกลายพันธุ์ที่มีอยู่ตอนนี้ได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์เดลต้า แกมม่า อัลฟ่า และมิว
อย่างไรก็ตาม แม้การศึกษานี้จะมีขนาดค่อนข้างเล็ก และจำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติม แต่ผลลัพธ์ที่ได้นั้นได้ออกมาดีมาก ทำให้บริษัทเมอร์คและบริษัทริดจ์แบค ไบโอเทราพิวติกส์ ระงับการทดลองและดำเนินการขึ้นทะเบียนสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา
เว็บไซต์ The Settle Times
‘โมลนูพิราเวียร์’ยารักษาโควิดที่เหมาะสมที่สุด
เว็บไซต์ The Settle Times เปิดเผยข้อแตกต่างของยาโมลนูพิราเวียร์ว่า หากพูดถึงยาต้านโควิดตัวอื่น อย่างยาเรมเดซิเวียร์ หรือโมโนโคลนัล แอนติบอดี (แอนติบอดี ค็อกเทล) จะต้องฉีดยาเข้าเส้นเลือดดำและต้องทำภายในสถานพยาบาล วิธีการนี้อาจทำให้เสี่ยงต่อการแพร่กระจายเชื้อโควิดไปยังบุคลากรการแพทย์และผู้ป่วยรายอื่นได้ ซึ่งแตกต่างจากยาโมลนูพิราเวียร์ ซึ่งเป็นยาเม็ด ผู้ป่วยโควิดสามารถกินยาได้เองที่บ้าน ช่วยลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อได้
นอกจากนี้ยังมีแนวโน้มที่จะราคาถูกกว่าอีกด้วย เนื่องจากยาโมลนูพิราเวียร์ต่อผู้ป่วย 1 ราย สำหรับการรักษา 5 วัน จะมีราคาประมาณ 700 ดอลลาร์ ซึ่งเป็นราคา 1 ใน 3 ของค่าใช้จ่ายการรักษาด้วยโมโนโคลนัล แอนติบอดีตามรายงานของ New York Times
ยาโมลนูพิราเวียร์นับเป็นยาต้านโควิดที่ปลอดภัย ราคาจับต้องได้ และเป็นวิธีการรักษาที่เหมาะสมที่สุด เนื่องจากสามารถต้านโควิดได้โดยตรง โดยจำกัดความเสียหายต่อร่างกายและระยะเวลาการเจ็บป่วย นอกจากนี้ จากการตรวจสอบสเตียรอยด์และสารเจือจางเลือด ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าช่วยเพิ่มอัตราการรอดชีวิตในผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล
ผลข้างเคียงต่ำมีประสิทธิภาพกับผู้ป่วยอาการน้อย-ปานกลาง
สำหรับวิธีการใช้ยาโมลนูพิราเวียร์ เว็บไซต์ The Settle Times เปิดเผยว่า ยานี้จะต้องกินทุกๆ 12 ชั่วโมง เป็นเวลา 5 วัน และจากแถลงการณ์ของบริษัทเมอร์ค พบว่า ยานี้ให้ประสิทธิภาพการรักษาในผู้ใหญ่ที่มีเชื้อโควิดเล็กน้อยจนถึงระดับปานกลางได้ผลดี แต่มีผลเพียงเล็กน้อยต่อผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลด้วยโรคที่รุนแรงอยู่แล้ว
ทั้งนี้ยังมีอีกงานวิจัยที่เรียกว่า 'MOVe-AHEAD Study'กำลังทดสอบว่ายาโมลนูพิราเวียร์สามารถป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโควิดในครัวเรือนที่มีสมาชิกอย่างน้อย 1 รายที่ติดเชื้อโควิดได้หรือไม่ หากสำเร็จ ยาตัวนี้จะกลายเป็นยาที่เปลี่ยนเกมการต่อสู้กับโควิดได้มากทีเดียว
ส่วนผลข้างเคียงของยานั้น มีผู้ได้รับยาโมลนูพิราเวียร์เพียง 1.3% เท่านั้นที่ออกจากการรักษา ด้วยอาการไม่พึงประสงค์ ซึ่งน้อยกว่าเมื่อเทียบกับผู้ได้รับยาหลอกที่มีอยู่ 3.4% ออกจากการรักษา
อย่างไรก็ตามผลการทดสอบยาโมลโนพิราเวียร์ ถูกจำกัดการใช้ในกลุ่มผู้ทดสอบที่ต้องงดเว้นการมีเพศสัมพันธ์หรือการใช้ยาคุมกำเนิดร่วมด้วย แม้ว่าจะเป็นการปฏิบัติที่เหมือนกับยาตัวอื่นๆ ก็ตาม แต่ยานี้ยังต้องผ่านการประเมินในกลุ่มผู้ป่วยโควิดที่มีขนาดใหญ่มากกว่านี้ เพื่อตรวจสอบความปลอดภัยอย่างเหมาะสม และยานี้ยังไม่แนะนำให้หญิงตั้งครรภ์กิน เนื่องจากอาจทำให้เกิดข้อบกพร่องได้
วัคซีน-มาตรการสาธารณสุข ยังเป็นกุญแจสำคัญสู้โควิด
เว็บไซต์ The Settle Times เปิดเผยอีกว่า การฉีดวัคซีนยังเป็นเกราะป้องกันโควิดที่มีประสิทธิภาพสูงสุด แม้จะมีการระบาดของโควิดเกิดขึ้นอีกในประเทศที่มีประชากรฉีดวัคซีนสูง แต่การรักษาด้วยยาจะมีบทบาทสำคัญในการจำกัดความรุนแรงของโรค โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้สูงอายุและผู้ที่มีระบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ซึ่งการฉีดวัคซีนมีประสิทธิภาพน้อยกว่า
อย่างไรก็ตามแนวทางที่ดีที่สุดในสำหรับโควิด คือ การไม่ติดเชื้อตั้งแต่แรก ดังนั้นมาตรการทางสังคมและสาธารณสุข เช่น การสวมหน้ากากอนามัย การรักษาระยะห่าง ยังเป็นกุญแจสำคัญในการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อไวรัสและยุติการระบาดของโควิด
เว็บไซต์ STAT
‘โมลนูพิราเวียร์’ ความหวังใหม่ที่โลกต้องการ
ขณะที่เว็บไซต์ STAT เปิดเผยถึงการใช้ยาโมลนูพิราเวียร์ในผู้ป่วยที่ยังไม่ได้รับวัคซีนโควิด ว่า จากการทดสอบของบริษัทเมอร์คในกลุ่มผู้ป่วยที่ยังไม่ได้รับวัคซีน แสดงให้เห็นว่ายานี้สามารถลดการรักษาในโรงพยาบาลและการเสียชีวิตได้ แม้ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีความเสี่ยงที่จะเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลหรือเสียชีวิตมากกว่ากลุ่มที่ได้รับวัคซีนแล้ว
ทั้งนี้หากเปรียบเทียบกับยาไอเวอร์เม็กติน ยาอีกชนิดหนึ่งของบริษัทเมอร์คที่เดิมใช้ต่อสู้กับโรคพยาธิ และในช่วงต้นของการระบาดมีการศึกษาเกี่ยวกับการเพาะเลี้ยงเซลล์ที่แสดงให้เห็นว่า ยาไอเวิร์เม็กตินและยาไฮดรอกซีคลอโรควิน อาจคุ้มค่าที่จะใช้รักษาโควิด
แต่การศึกษาหลายชิ้นกลับล้มเหลวในการแสดงประสิทธิภาพของยาไฮดรอกซีคลอโรควิน ส่งผลต่อภาพของยาไอเวอร์เม็กตินไปด้วย และแม้จะมีการศึกษาโปรเจกต์ใหญ่ที่แสดงประสิทธิภาพองยา แต่ก็ถูกเพิกถอนไป เพราะข้อบกพร่องที่แพร่หลาย
จากผลการศึกษายาไอเวอร์เม็กตินที่บราซิล เป็นเวลา 3 วัน เปรียบเทียบกับยาหลอก พบว่ายาไอเวอร์เม็กตินไม่มีผลใดๆ ต่อการรักษาตัวในโรงพยาบาล ตอนนี้จึงไม่น่าเป็นไปได้ที่ยาไอเวอร์เม็กตินจะเป็นยารักษาโควิดชนิดแคปซูลที่โลกต้องการ แต่ในทางกลับกัน ยาโมลนูพิราเวียร์อาจเป็นไปได้
ไทยจองแล้ว 200,000 คอร์ส คาดได้ใช้ พ.ย.-ต้นปี 65
ด้าน นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า กรมการแพทย์ได้เจรจาจองยาโมลนูพิราเวียร์กับบริษัทผู้ผลิตแล้ว สำหรับการรักษาผู้ป่วยโควิดในไทย จำนวน 200,000 ราย ซึ่งมีการเจรมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่มีผลการวิจัยศึกษายานี้ตั้งแต่ช่วงแรกๆ ประมาณ 2-3 เดือนที่ผ่านมาแล้ว โดยมีเงื่อนไขของการลงนามสั่งซื้อคือ ผู้ผลิตต้องเผยแพร่ผลการทดลองว่าใช้ได้ผลจริงและได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สหรัฐอเมริกา
ทั้งนี้มีผลการทดสอบยาต้านไวรัสนี้ ในระยะที่ 3 ออกมามีประสิทธิผลดี และขณะนี้บริษัทเมอร์ค กำลังขอขึ้นทะเบียนใช้ในภาวะฉุกเฉินกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สหรัฐอเมริกา หากสำเร็จยาตัวนี้จะกลายเป็นยาต้านโควิดชนิดแคปซูนตัวแรก ที่จะได้รับการรับรองจากสหรัฐอเมริกา
จากนั้นจะมีการขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ประเทศไทยต่อไป คาดว่าคนไทยจะได้ใช้ยาโมลนูพิราเวียร์นี้อย่างเร็วที่สุดในช่วงปลายเดือน พ.ย. หรือต้นปี 2565
"ที่ผ่านมาบริษัท MSD บริษัทลูกของเมอร์ค ได้เข้ามาหารือกับกรมการแพทย์ ทั้งเรื่องข้อมูลยาและผลการวิจัย มาตั้งแต่ต้นเดือน ก.ค. ที่ผ่านมาแล้ว แต่ไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้จนกว่าจะเซ็นสัญญาเสร็จสิ้น ซึ่งไทยสามารถเปิดเผยได้เพียงว่าสั่งจองไปแล้วในจำนวนหนึ่ง และคาดว่ายาดังกล่าวจะสามารถขึ้นทะเบียนกับ US FDA ได้ภายในเดือน พ.ย.นี้ ส่วนไทยประมาณการว่าจะสามารถขึ้นทะเบียนกับองค์การอาหารและยาในไทยได้ในช่วง พ.ย.2564-ต้นปี 2565" นพ.สมศักดิ์ เปิดเผย
ส่วนเรื่องราคานั้น ไม่สามารถเปิดเผยได้ เพราะเป็นข้อตกลงระหว่างผู้ซื้อและผู้ผลิต แต่โดยหลักการบริษัทเมอร์ค จะคิดราคาแต่ละประเทศต่างกัน ขึ้นอยู่กับฐานรายได้ของประชากรในประเทศนั้นๆ ประเทศไทยจะได้ซื้อได้ราคาถูกกว่าสหรัฐอเมริกา ที่ปรากฏให้เห็นในหน้าสื่อว่ามีราคาประมาณ 700 เหรียญสหรัฐ หรือ 20,000 บาท จะต่ำกว่านั้นแน่นอน แต่อาจจะมีราคาแพงกว่าประเทศที่มีรายได้น้อย นับเป็นการกระจายทุกข์สุขในภาวะวิกฤตนี้
อย่างไรก็ตามหากให้เปรียบเทียบประสิทธิผลของยาโมลนูพิราเวียร์กับยาฟาวิพิราเวียร์ ไม่สามารถเปรียบเทียบได้ เพราะยาฟาวิพิราเวียร์ไม่มีการศึกษาวิจัยเหมือนยาโมลนูพิราเวียร์
"สำหรับแนวทางการใช้รักษาในประเทศไทย จะให้ใช้ในผู้ป่วยที่มีอาการน้อยไปจนถึงปานกลาง และควรจะมีปัจจัยเสี่ยงตามผลการทดสอบที่บริษัทเมอร์คออกแถลงการณ์มา คือ โรคอ้วน ผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี โรคเบาหวาน โรคหัวใจ และโรคมะเร็ง ส่วนหญิงตั้งครรภ์ ขณะนี้ยังไม่มีผลการวิจัยที่ครอบคลุมพอ จึงยังไม่แนะนำให้ใช้" นพ.สมศักดิ์ เปิดเผย
นอกเหนือจากนั้น บริษัทเมอร์คได้ทำความร่วมมือกับหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทยในการทดสอบการใช้ยาโมลนูพิราเวียร์ป้องกันการติดเชื้อในผู้ที่สัมผัสกับผู้ติดเชื้อโควิด ที่เรียกว่า ‘MOVe-AHEAD Study’ กับ 5 สถานพยาบาลภายในประเทศไทย ซึ่งมีโรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ เป็นหนึ่งในสถานพยาบาลที่ร่วมทดสอบด้วย ตอนนี้อยู่ระหว่างการขออนุมัติคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในคม คาดว่าจะเริ่มทำการวิจัยทางคลินิกได้ในต้นเดือน ธ.ค.นี้
นพ.สมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ยังมีอีก 1-2 บริษัทที่กำลังศึกษาวิจัยอื่นๆเกี่ยวกับการรักษาโควิดอยู่ อย่างบริษัทไฟเซอร์เอง ก็รวมอยู่ด้วย ซึ่งทางกรมการแพทย์ได้มีการลงนามสัญญา non-disclosure agreement ร่วมกับบริษัทไฟเซอร์แล้ว และมีการดูข้อมูลผลการศึกษาของบริษัทไฟเซอร์เป็นระยะๆ เช่นเดียวกัน
ยาโมลนูพิราเวียร์ หากได้รับการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สหรัฐอเมริกา ให้ใช้ในภาวะฉุกเฉินได้สำเร็จ จะกลายเป็นยาต้านโควิดชนิดแคปซูลแรกของโลก และที่สำคัญหากมีผลการทดสอบ ‘MOVe-AHEAD Study’ ออกมาว่าสามารถป้องกันการติดเชื้อโควิดได้อีก จะถือเป็นการเปลี่ยนเกมการรักษาโควิดครั้งใหญ่ทั้งในไทยและทั่วโลก
เรียบเรียงจาก:
อ่านข่าวประกอบ :
-
ทำความรู้จัก 'ยาเรมเดซิเวียร์' ไทยใช้รักษาผู้ป่วยโควิดอาการรุนแรง-หญิงท้อง
-
ราชวิทยาลัยฯเตรียมนำเข้า ‘ยาแอนติบอดี ค็อกเทล’ รักษาผู้ป่วยโควิดกลุ่มเสี่ยงสูง
-
'ฟ้าทะลายโจร' สมุนไพรไทย-แพทย์ทางเลือก แนวรักษาคู่ขนานสำหรับผู้ป่วยโควิด
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage