"...ในการจัดสรรงบประมาณดังกล่าว กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ระบุว่า การดำเนินงานก่อสร้างจะต้องเป็นไปตามแบบแปลนที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นกำหนดเท่านั้น ห้ามมิให้ อปท. นำไปจ่ายเป็นค่าครุภัณฑ์เครื่องเล่นสนามสำเร็จรูป หรือค่าจ้างแรงงานในการสร้างสนาม โดยให้ดำเนินการตามแนวทางปฏิบัติเพื่อการจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 สำหรับรายการงบประมาณตาม พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 ขณะที่ อปท. จะสามารถเบิกจ่ายงบประมาณรายการดังกล่าวได้ ก็ต่อเมื่อ อปท. ดำเนินการจัดซื้อจัดหาวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างสนามจนครบทุกรายการแล้ว..."
ในสองตอนที่ผ่านมา
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำรายละเอียดผลการตรวจสอบโครงการส่งเสริมการเรียนรู้เด็กปฐมวัย ท้องถิ่นไทย ผ่านการเล่น หรือที่เรียกว่า "สนามเด็กเล่นสร้างปัญญา" ของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ในส่วนของพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี จำนวน 53 แห่ง ที่ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคที่ 3 (จังหวัดนครปฐม) เข้าทำการสุ่มตรวจ และพบว่ามีปัญหาในการดำเนินงานสำคัญหลายประการมานำเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบไปแล้ว
อาทิ การดำเนินงานยังไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์หรือแนวทางที่กำหนดไว้พิจารณาได้จากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่ได้รับจัดสรรเงินอุดหนุนเฉพาะกิจตามโครงการ มีการส่งคืนเงินงบประมาณเป็นจำนวนมาก อาจทำให้การใช้จ่ายงบประมาณเกิดความซ้ำซ้อน ไม่คุ้มค่า หรือไม่บรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการจัดสร้างสนามเด็กเล่นรูปแบบอื่นที่ไม่ตรงกับสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา การสร้างสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้แรงงานในชุมชน และดำเนินการสร้างไม่เป็นไปตามคู่มือสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา เป็นต้น
ที่สำคัญคือ สนามเด็กเล่นสร้างปัญญาบางฐานไม่เหมาะสมกับเด็กปฐมวัยจึงทำให้มีการใช้ประโยชน์น้อย นอกจากนี้เด็กปฐมวัยในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กอาจได้รับอันตรายจากการเล่นในสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาหากครูผู้ดูแลมีการควบคุมดูแลการเล่นของเด็กปฐมวัยไม่ทั่วถึงด้วย
ขณะที่จากการสอบถามผู้อำนวยการกองการศึกษาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีการดำเนินโครงการฯ จำนวน 31 แห่ง ถึงเหตุผลในการดำเนินโครงการฯ พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 26 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 83.87 ของจำนวนผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมดให้ข้อมูลว่า ต้องการดำเนินการให้เป็นไปตามนโยบายของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น
- ซ้ำซ้อนไม่คุ้มค่า! สตง.ชำแหละ 'สนามเด็กเล่นสร้างปัญญา' สุพรรณ ละเลงงบ-เสริมพัฒนาการน้อย
- ไม่เหมาะสมกับเด็กปฐมวัย! สตง.ชำแหละ 'สนามเด็กเล่นสร้างปัญญา' สุพรรณ ละเลงงบ (2)
ทั้งนี้ ข้อมูลในส่วนภาพรวมการดำเนินงานโครงการฯ ในรายงานผลการตรวจสอบของ สตง. ระบุว่า กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้จัดสรรงบประมาณงบเงินอุดหนุน เงินอุดหนุนเฉพาะกิจ เงินอุดหนุนสำหรับสนับสนุนงบประมาณโครงการส่งเสริมการเรียนรู้เด็กปฐมวัย ท้องถิ่นไทย ผ่านการเล่น ปีงบประมาณพ.ศ. 2561 ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แห่งละ 100,000 บาท และปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 - 2564 จัดสรรงบประมาณให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แห่งละ 170,000 บาท รวมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณตามโครงการฯ ทั่วประเทศ จำนวน 2,040 แห่ง งบประมาณรวมจำนวน 363.82 ล้านบาท และมีเป้าหมายให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ จำนวน 7,850 แห่ง พิจารณาสร้างสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก (อย่างน้อยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นละ 1 แห่ง) ภายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565
น่าสนใจว่า งบประมาณในการดำเนินงานก่อสร้าง "สนามเด็กเล่นสร้างปัญญา" แห่งละ 170,000 บาท ที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จัดสรรมีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง?
เบื้องต้น สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบข้อมูลการจัดสรรงบประมาณโครงการฯ นี้ ของ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น พบว่า มีการระบุงบประมาณเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ สำหรับสนับสนุนงบประมาณโครงการฯ ประจำปี 2564 ให้กับ อปท. 500 แห่ง ในพื้นที่ 57 จังหวัด รวมวงเงิน 85,000,000 บาท แห่งละ 170,000 บาท เพื่อเป็นการจัดซื้อจัดหาวัสดุที่ใช้ในการสร้างสนามเด็กเล่นสร้างปัญหา จำนวน 4 ฐาน ได้แก่ 1. ฐานสระน้ำอินจัน 2. ฐานสระทารก 3. ฐานค่ายกล Spider Man และ 4. ฐานเรือสลัดลิง
สำหรับประมาณการค่าใช้จ่าย แยกเป็น
- ฐานที่ 1 "สระน้ำอินจัน" งบประมาณ 7,811 บาท
- ฐานที่ 2 สระทารก งบประมาณ 19,617 บาท
- ฐานที่ 3 ฐานค่ายกล Spider Man งบประมาณ 29,626 บาท
- ฐานที่ 4 เรือสลัดลิง งบประมาณ 113,600 บาท
ทั้งนี้ ในการจัดสรรงบประมาณดังกล่าว กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ระบุชัดเจนว่า การดำเนินงานก่อสร้างจะต้องเป็นไปตามแบบแปลนที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นกำหนดเท่านั้น ห้ามมิให้ อปท. นำไปจ่ายเป็นค่าครุภัณฑ์เครื่องเล่นสนามสำเร็จรูป หรือค่าจ้างแรงงานในการสร้างสนาม โดยให้ดำเนินการตามแนวทางปฏิบัติเพื่อการจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 สำหรับรายการงบประมาณตาม พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564
ขณะที่ อปท. จะสามารถเบิกจ่ายงบประมาณรายการดังกล่าวได้ ก็ต่อเมื่อ อปท. ดำเนินการจัดซื้อจัดหาวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างสนามจนครบทุกรายการแล้ว
เมื่อ อปท. จัดซื้อจัดหาวัสดุที่ใช้ในการสร้างสนามเรียบร้อยแล้ว ให้ดำเนินการก่อสร้างสนาม จำนวน 4 ฐาน ตามแบบแปลนที่กำหนด ให้ดำเนินการตามหลัก "บวร" (บ้าน วัด โรงเรียน หรือชุมชน) โดยใช้แรงงานในชุมชนท้องถิ่นร่วมกันสร้างสนามดังกล่าว
อย่างไรก็ดี ข้อกำหนดดังกล่าว ดูเหมือนจะไม่ตรงกับข้อเท็จจริงในทางปฏิบัติโครงการในพื้นที่สุพรรณบุรี ที่ สตง. ตรวจสอบพบปัญหาไปแล้วหลายประการ
ส่วนปัญหาเหล่านี้ จะเกิดขึ้นกับ อปท. ในพื้นที่อื่นด้วยหรือไม่
นับเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องติดตามตรวจสอบเชิงลึกกันต่อไป
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage