"...จากการสอบถามผู้อำนวยการกองการศึกษาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีการดำเนินโครงการฯ จำนวน 31 แห่ง ถึงเหตุผลในการดำเนินโครงการฯ พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 26 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 83.87 ของจำนวนผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมดให้ข้อมูลว่า ต้องการดำเนินการให้เป็นไปตามนโยบายของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ..."
โครงการส่งเสริมการเรียนรู้เด็กปฐมวัย ท้องถิ่นไทย ผ่านการเล่น หรือที่เรียกว่า "สนามเด็กเล่นสร้างปัญญา" ที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นับตั้งแต่ปี 2561 -2564 รวมวงเงินกว่า 363.82 ล้านบาท ซึ่งมีเป้าหมายให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ จำนวน 7,850 แห่ง สร้างสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก อย่างน้อยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นละ 1 แห่ง
กำลังถูกจับตามอง!
เมื่อถูกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) สุ่มตรวจการดำเนินงานสร้างสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี พบปัญหาสำคัญหลายประการที่อาจจะทำให้การใช้จ่ายงบประมาณตามโครงการฯ เกิดความซ้ำซ้อน ไม่คุ้มค่า หรือไม่บรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ พร้อมทำหนังสือแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาทางแก้ไขปัญหาโดยด่วน
สตง. ระบุในรายงานผลการตรวจสอบ ว่า เด็กเป็นทรัพยากรบุคคลที่สำคัญของประเทศชาติเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาชาติบ้านเมืองให้เจริญก้าวหน้าและมั่นคงในอนาคต รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 54 กำหนดให้รัฐต้องดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลาสิบสองปี ตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับอย่างมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย การจัดการด้านการศึกษาเพื่อให้เด็กปฐมวัยมีคุณภาพสูงสุด เป็นหนึ่งในภารกิจที่สำคัญของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น
ดังนั้น เพื่อให้ภารกิจด้านการศึกษาของเด็กปฐมวัยมีคุณภาพ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจึงได้จัดทำโครงการส่งเสริมการเรียนรู้เด็กปฐมวัย ท้องถิ่นไทย ผ่านการเล่น (สนามเด็กเล่นสร้างปัญญา) เพื่อส่งเสริมพัฒนาการของเด็กปฐมวัยทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ ร่างกาย อารมณ์ - จิตใจ สังคม และสติปัญญา โดยอาศัยความร่วมมือของคนในท้องถิ่นในการร่วมกันพัฒนาเด็กปฐมวัย ตามหลักแนวคิดให้เด็กได้เล่นเรียนรู้อย่างมีความสุขผ่านการสัมผัสธรรมชาติที่สร้างตามหลักวิชาการสากล
โดยกรมส่งเสริมการ ปกครองท้องถิ่นได้จัดสรรงบประมาณงบเงินอุดหนุน เงินอุดหนุนเฉพาะกิจ เงินอุดหนุนสำหรับสนับสนุนงบประมาณโครงการส่งเสริมการเรียนรู้เด็กปฐมวัย ท้องถิ่นไทย ผ่านการเล่น ปีงบประมาณพ.ศ. 2561 ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แห่งละ 100,000.00 บาท และปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 - 2564 จัดสรรงบประมาณให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แห่งละ 170,000.00 บาท รวมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณตามโครงการฯ ทั่วประเทศ จำนวน 2,040 แห่ง งบประมาณรวมจำนวน 363.82 ล้านบาท และมีเป้าหมายให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ จำนวน 7,850 แห่ง พิจารณาสร้างสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก (อย่างน้อยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นละ 1 แห่ง) ภายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565
สตง. โดยสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคที่ 3 (จังหวัดนครปฐม) เห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาเด็กปฐมวัย เพราะเป็นช่วงวัยที่สมองพัฒนาสูงสุดและเรียนรู้ได้เร็วที่สุด หากได้รับการส่งเสริมพัฒนาการอย่างรอบด้านและเหมาะสม จะเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของชาติให้เติบโตไปอย่างมีคุณภาพ ซึ่งการดำเนินโครงการส่งเสริมการเรียนรู้เด็กปฐมวัย ท้องถิ่นไทย ผ่านการเล่น เป็นโครงการที่มีวัตถุประสงค์สำคัญในการเสริมสร้างพัฒนาการของเด็กปฐมวัย และมีเป้าหมายให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการทั่วประเทศโดยมีการใช้จ่ายงบประมาณเป็นจำนวนมาก ประกอบกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นส่วนใหญ่มีการใช้จ่ายงบประมาณในการจัดหาเครื่องเล่นเด็ก ซึ่งมีลักษณะการเล่นใกล้เคียงกับสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาที่สามารถเสริมสร้างพัฒนาการของเด็กปฐมวัยเพียงพออยู่แล้ว การสร้างสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาอาจทำให้การใช้จ่ายงบประมาณตามโครงการฯ เกิดความซ้ำซ้อน ไม่คุ้มค่า หรือไม่บรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ จึงเป็นที่มาของการเลือกตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการดำเนินงานโครงการส่งเสริมการเรียนรู้เด็กปฐมวัย ท้องถิ่นไทย ผ่านการเล่น ในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อเป็นการติดตามประเมินผล (Monitoring) ซึ่งจะชี้ให้เห็นสภาพปัญหาของการดำเนินงาน อันจะเป็นประโยชน์ต่อการปรับปรุงแก้ไขการดำเนินโครงการฯ ให้มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และเกิดประโยชน์คุ้มค่าในการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดิน
โดยจากการตรวจสอบพบว่า การดำเนินโครงการฯ ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์หรือแนวทางที่กำหนดไว้โครงการส่งเสริมการเรียนรู้เด็กปฐมวัย ท้องถิ่นไทย ผ่านการเล่น (สนามเด็กเล่นสร้างปัญญา) มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมให้เด็กปฐมวัยในท้องถิ่นมีพัฒนาการที่สมบูรณ์ตามวัยผ่านการเล่น ทั้งทางด้านร่างกาย อารมณ์ - จิตใจ สังคม และสติปัญญา ให้เด็กได้เรียนในห้องเรียนธรรมชาติ ที่ประกอบด้วยวัสดุที่มีในธรรมชาติ ได้แก่ ทราย น้ำ ต้นไม้ รวมทั้งวัสดุที่เหลือใช้ในพื้นที่ โดยตามคู่มือสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา (คู่มือสร้างการเล่นตามพ่อวิธีสร้างลูกจากทารก) มีการแบ่งการเล่นออกเป็นรูปแบบฐานต่าง ๆ จำนวน 5 ฐาน ได้แก่ ฐานที่ 1 สระน้ำอิน - จัน ฐานที่ 2 สระทารก ฐานที่ 3 ค่ายกลสไปเดอร์แมน ฐานที่ 4 เรือสลัดลิง และฐานที่ 5 หัดว่ายน้ำ ทั้งนี้ให้ดำเนินการโดยสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนภายใต้หลัก “บวร” (บ้าน วัด โรงเรียน) โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในสังกัดที่จะขอรับเงินอุดหนุนเฉพาะกิจจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น หรือจะใช้งบประมาณเงินรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการดำเนินโครงการฯ จะต้องมีพื้นที่สร้างสนามเด็กเล่นไม่น้อยกว่า 100 ตารางวา มีต้นไม้ใหญ่ในพื้นที่ และต้องเป็นพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตให้สร้างอย่างถูกต้องตามกฎหมาย งบประมาณเงินอุดหนุนเฉพาะกิจตามโครงการฯ ที่จัดสรรให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือเงินรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ใช้ดำเนินโครงการฯ ในปีงบประมาณพ.ศ. 2562 กำหนดให้เป็นงบประมาณสำหรับการจัดหาวัสดุที่ใช้ในการสร้างสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาเท่านั้นโดยต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 รวมทั้งระเบียบ หนังสือสั่งการที่เกี่ยวข้อง และมาตรฐานของทางราชการให้ถูกต้องครบถ้วน โดยเคร่งครัด การดำเนินโครงการฯในปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 – 2562 ให้สร้างสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาในฐานที่ 1 – 3 สำหรับฐานที่ 4 ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพิจารณาดำเนินการตามศักยภาพ สำหรับปีงบประมาณพ.ศ. 2563 – 2564 จะเป็นงบประมาณที่ใช้สำหรับการจัดซื้อและจัดหาวัสดุที่ใช้ในการสร้างสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาในฐานที่ 1 – 4 ตามแบบฐานการเล่นของสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นกำหนดเท่านั้น ส่วนฐานที่ 5 ฐานหัดว่ายน้ำ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นไม่ได้กำหนดชัดเจนให้ดำเนินการ
จากการตรวจสอบผลการดำเนินโครงการฯ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี จำนวน 53 แห่ง โดยเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้รับจัดสรรงบประมาณเงินอุดหนุนเฉพาะกิจปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 และ พ.ศ. 2563 – 2564 จำนวน 23 แห่ง รวมเป็นเงินงบประมาณจำนวน 3.56 ล้านบาท และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ใช้งบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเองหรืองบประมาณจากแหล่งอื่น ๆ ในการดำเนินโครงการฯ จำนวน 30 แห่งรวมเป็นเงินจำนวน 1.52 ล้านบาท พบว่า การดำเนินโครงการฯ ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์หรือแนวทางที่กำหนดไว้พิจารณาได้จากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้รับจัดสรรเงินอุดหนุนเฉพาะกิจตามโครงการฯ มีการส่งคืนเงินงบประมาณเป็นจำนวนมาก และมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการจัดสร้างสนามเด็กเล่นรูปแบบอื่นที่ไม่ตรงกับสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา การสร้างสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้แรงงานในชุมชน และดำเนินการสร้างไม่เป็นไปตามคู่มือสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา
มีรายละเอียด ดังนี้
1) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีการส่งคืนงบประมาณเงินอุดหนุนเฉพาะกิจที่ได้รับจัดสรรตามโครงการฯ เป็นจำนวนมาก จากการตรวจสอบพบว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้รับจัดสรรงบประมาณเงินอุดหนุนเฉพาะกิจตามโครงการฯ จำนวน 23 แห่ง มีการใช้งบประมาณที่ได้รับจัดสรรในการจัดสร้างสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาเพียงจำนวน 9 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 39.13 ของจำนวนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้รับจัดสรรงบประมาณทั้งหมด ที่เหลืออีกจำนวน 14 แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 60.87 มีการส่งคืนงบประมาณรวมเป็นเงินจำนวน 2.17 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 60.95 ของงบประมาณทั้งหมด
ซึ่งในจำนวนนี้มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวน 6 แห่งมีการใช้เงินงบประมาณรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการสร้างสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาเป็นเงินรวมจำนวน 0.59 ล้านบาท และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวน 8 แห่ง ที่ไม่ดำเนินการสร้างสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาตามโครงการฯ แต่อย่างใด
2) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีการสร้างสนามเด็กเล่นรูปแบบอื่นที่ไม่ตรงกับรูปแบบสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา จากการตรวจสอบองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ดำเนินการสร้างสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาโดยใช้งบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเองและงบประมาณจากแหล่งอื่นจำนวน 30 แห่ง
พบว่า มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ดำเนินการสร้างสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาตามรูปแบบที่กำหนดเพียงจำนวน 16 แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 53.33 ของจำนวนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งหมด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เหลืออีกจำนวน 14 แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 46.67 ไม่มีการสร้างหรือมีการสร้างสนามเด็กเล่นแต่ไม่ตรงตามรูปแบบสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาซึ่งในจำนวนนี้มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวน 2 แห่ง ไม่ได้ดำเนินการสร้างสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาแต่อย่างใด
3) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้แรงงานในชุมชนตามหลัก “บวร” จากการสอบถามผู้อำนวยการกองการศึกษาและหัวหน้าศูนย์พัฒนาเด็กเล็กขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวน 31 แห่ง ถึงปัญหาในการสร้างสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา
มีผู้อำนวยการกองการศึกษาและหัวหน้าศูนย์พัฒนาเด็กเล็กขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวน 18 แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 58.06 ของจำนวนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่สอบถาม ให้ข้อมูลว่าการสร้างสนามเด็กเล่นสร้างปัญญามีปัญหาไม่สามารถหาแรงงานในชุมชนได้ ต้องใช้แรงงานจากเจ้าหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการดำเนินการเป็นหลัก เนื่องจากแรงงานในชุมชนมีไม่เพียงพอ หรือไม่มีเวลาว่างจะมาช่วยสร้างฐานการเล่น เพราะต้องประกอบอาชีพเลี้ยงครอบครัว
4) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีการจัดสร้างสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาส่วนใหญ่ดำเนินการไม่เป็นไปตามคู่มือสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา จากการตรวจสอบ พบว่า มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวน 22 แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 70.07 มีการสร้างสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาไม่ครบทั้ง 4 ฐาน และจากการตรวจวัดขนาดของฐานการเล่นของสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาแต่ละฐานจำนวน 71 ฐาน พบว่า มีฐานการเล่นที่มีขนาดไม่เป็นไปตามรูปแบบที่กำหนดไว้ในคู่มือสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา จำนวน 57 ฐาน หรือคิดเป็นร้อยละ 80.28 ของฐานการเล่นที่ตรวจวัดทั้งหมดนอกจากนี้ยังพบว่า บริเวณพื้นที่สร้างสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กจำนวน 28 แห่งหรือคิดเป็นร้อยละ 70.00 ของจำนวนศูนย์พัฒนาเด็กเล็กทั้งหมด มีพื้นที่น้อยกว่า 100 ตารางวาและเป็นพื้นที่ที่ไม่มีต้นไม้ หรือมีต้นไม้ขนาดเล็กไม่สามารถให้ร่มเงาได้ตลอดเวลาจำนวน 34 แห่งหรือคิดเป็นร้อยละ 85.00 ของจำนวนศูนย์พัฒนาเด็กเล็กทั้งหมด
จากการดำเนินโครงการส่งเสริมการเรียนรู้เด็กปฐมวัย ท้องถิ่นไทย ผ่านการเล่น ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์หรือแนวทางที่กำหนดไว้
ส่งผลกระทบทำให้เกิดการเสียโอกาสที่จะนำงบประมาณของรัฐไปใช้ในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในเรื่องที่มีความจำเป็นเร่งด่วนมากกว่าจากกรณีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้รับการสนับสนุนงบประมาณเงินอุดหนุนเฉพาะกิจแล้วแต่มีการส่งคืนเงินที่ได้รับจัดสรรโดยไม่มีการเบิกจ่ายเพื่อดำเนินโครงการฯ รวมเป็นเงินสูงถึง 2.17 ล้านบาทหรือคิดเป็นร้อยละ 60.95 ของงบประมาณทั้งหมดจำนวน 3.56 ล้านบาท และการสร้างสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาไม่ครบทั้ง 4 ฐาน อาจส่งผลต่อการบรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการฯ ในการเสริมสร้างพัฒนาการของเด็กปฐมวัยทั้งทางด้านร่างกาย อารมณ์ - จิตใจ สังคม และสติปัญญา เนื่องจากฐานการเล่นแต่ละฐานจะมีเป้าหมายในการเสริมสร้างพัฒนาการที่แตกต่างกัน นอกจากนี้ปัญหาการขาดการมีส่วนร่วมของชุมชนในการสร้างสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา ยังเป็นการสร้างภาระต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ต้องนำบุคลากรของหน่วยงานมาดำเนินการสร้างสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาอีกด้วย
สาเหตุสำคัญที่ทำให้การดำเนินโครงการฯ ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์หรือแนวทางที่กำหนดไว้มีดังนี้
1. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขาดการวางแผนและเตรียมความพร้อมในการดำเนินโครงการฯ ทำให้เกิดความซ้ำซ้อน และไม่สามารถดำเนินการได้ทันตามระยะเวลาที่กำหนดจึงต้องส่งคืนงบประมาณเงินอุดหนุนเฉพาะกิจที่ได้รับจัดสรร จากการตรวจสอบ พบว่า มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวน 3 แห่ง ขาดการวางแผนการดำเนินโครงการฯ ที่ชัดเจน โดยมีการใช้งบประมาณเงินรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการสร้างสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาในระหว่างรอการอนุมัติงบประมาณเงินอุดหนุนเฉพาะกิจตามโครงการฯ เพราะไม่แน่ใจว่าจะได้รับจัดสรรงบประมาณหรือไม่ เมื่อได้รับงบประมาณจึงต้องส่งคืน และมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขาดการเตรียมความพร้อมในการดำเนินโครงการฯ จำนวน 2 แห่ง พิจารณาได้จากเหตุผลในการส่งคืนงบประมาณเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ เนื่องจากมีปัญหาในการจัดหาวัสดุ และไม่ได้รับอนุมัติให้กันเงินไว้เบิกจ่ายเหลื่อมปีในขณะที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้รับจัดสรรงบประมาณในช่วงเวลาเดียวกันสามารถดำเนินการได้แล้วเสร็จ
2. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ขอรับจัดสรรงบประมาณตามโครงการฯ ไม่ได้สำรวจสภาพพื้นที่ที่จะใช้สร้าง และไม่ได้ศึกษารูปแบบฐานการเล่นของสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาตามแนวทางที่กำหนดไว้อย่างชัดเจน ทำให้เมื่อได้รับจัดสรรงบประมาณตามโครงการฯ และต้องดำเนินการสร้างสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา จึงพบปัญหาพื้นที่ดำเนินการไม่เพียงพอที่จะสร้างสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาได้ครบทั้ง 4 ฐาน
3. ข้อจำกัดของพื้นที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กซึ่งส่วนใหญ่มีพื้นที่ไม่มากนักทำให้ไม่สามารถสร้างฐานการเล่นได้ครบทั้ง 4 ฐาน โดยจากการสอบถามผู้อำนวยการกองการศึกษาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีการสร้างสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา จำนวน 22 แห่ง ถึงสาเหตุที่ไม่ดำเนินการสร้างสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาให้ครบทั้ง 4 ฐาน ผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 21 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ95.45 ของจำนวนผู้สอบถามทั้งหมดให้ข้อมูลว่า มีปัญหาข้อจำกัดในเรื่องพื้นที่ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กมีพื้นที่ไม่เพียงพอสำหรับใช้สร้างสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาได้ครบทั้ง 4 ฐาน ตามแนวทางที่กำหนดไว้
4. การดำเนินโครงการฯ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่ได้เกิดจากความต้องการหรือเห็นความสำคัญของโครงการฯ อย่างแท้จริง ส่วนใหญ่มีการดำเนินการให้เป็นไปตามนโยบายของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นเท่านั้น จากการสอบถามผู้อำนวยการกองการศึกษาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวน 52 แห่ง ถึงปัญหาของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กด้านเครื่องเล่น หรืออุปกรณ์ในการเสริมสร้างพัฒนาการของเด็กปฐมวัย ส่วนใหญ่ให้ข้อมูลว่า ก่อนดำเนินโครงการฯศูนย์พัฒนาเด็กเล็กมีอุปกรณ์ เครื่องเล่น เพียงพอสำหรับเสริมสร้างพัฒนาการของเด็กปฐมวัยอยู่แล้วไม่ได้มีปัญหาแต่อย่างใด และจากการสอบถามผู้อำนวยการกองการศึกษาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีการดำเนินโครงการฯ จำนวน 31 แห่ง ถึงเหตุผลในการดำเนินโครงการฯ พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 26 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 83.87 ของจำนวนผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมดให้ข้อมูลว่า ต้องการดำเนินการให้เป็นไปตามนโยบายของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น
5. รูปแบบของสนามเด็กเล่นตามโครงการฯ ไม่ชัดเจน โดยรูปแบบของสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาที่กำหนดไว้ตามคู่มือฯ มีลักษณะเป็นภาพวาดที่ระบุขนาดความกว้าง ความยาว และรายการวัสดุที่ใช้ในการสร้างอย่างคร่าว ๆ เท่านั้น แตกต่างจากแบบก่อสร้างทางสถาปัตย์หรือแบบโครงสร้าง ซึ่งจะกำหนดรายละเอียดต่าง ๆ ในการก่อสร้างไว้ เพื่อให้ช่างทำตามแบบที่กำหนดได้ เช่นแบบแปลนรูปด้าน รูปตัด ระยะความกว้าง ความยาว รายละเอียดวัสดุที่ใช้ในแต่ละส่วน เป็นต้นแบบที่กำหนดตามคู่มือฯ จึงไม่ละเอียดชัดเจนเพียงพอสำหรับบุคคลทั่วไปที่ไม่มีความรู้หรือประสบการณ์ในด้านการก่อสร้างจะสามารถดำเนินการได้ โดยเฉพาะฐานการเล่นที่มีรูปแบบซับซ้อนเช่น ฐานเรือสลัดลิง ฐานหัดว่ายน้ำ เป็นต้น
จากการสอบถามผู้อำนวยการกองการศึกษาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีการสร้างสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาไม่ครบทั้ง 4 ฐาน จำนวน 22 แห่งถึงเหตุผลที่ไม่ดำเนินการสร้างสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาให้ครบตามจำนวนฐานการเล่นที่กำหนดผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน13 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 59.09 ของจำนวนผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด ให้ข้อมูลว่า รูปแบบที่กำหนดตามคู่มือฯ ไม่ละเอียดชัดเจนจึงเลือกก่อสร้างเฉพาะฐานการเล่นที่มีรูปแบบการสร้างแบบง่าย ๆ ไม่ซับซ้อน
6. ขนาดของฐานการเล่นของสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาที่กำหนดไว้ตามคู่มือฯ ไม่เหมาะสมกับการเล่นของเด็กปฐมวัยในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ทำให้ต้องมีการปรับขนาดการสร้างให้เหมาะสมกับเด็กปฐมวัย โดยจากการสอบถามผู้อำนวยการกองการศึกษาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่สร้างสนามเด็กเล่นสร้างปัญญามีขนาดไม่เป็นไปตามแบบที่กำหนดจำนวน 27 แห่ง มีผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 11 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 40.73 ของจำนวนผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด ให้ข้อมูลว่า ขนาดของสนามเด็กเล่นที่กำหนดตามคู่มือฯ ไม่เหมาะสมกับเด็กปฐมวัยในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในการสร้างสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาจึงได้มีการปรับขนาดความสูง หรือความลึกให้เหมาะสมกับเด็กปฐมวัย
7. การนำแนวคิดของการสร้างสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา มาเป็นแนวทางในการดำเนินโครงการส่งเสริมการเรียนรู้เด็กปฐมวัย ท้องถิ่นไทย ผ่านการเล่น ของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นอาจไม่ได้มีการศึกษาความเหมาะสม หรือความเป็นไปได้ที่จะนำแนวคิดดังกล่าวมาใช้ดำเนินการในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งในส่วนของพื้นที่ของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กซึ่งส่วนใหญ่มีพื้นที่ไม่มากนัก ความพร้อมของชุมชนในการมีส่วนร่วมในการสร้างและบริหารจัดการสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา ซึ่งสภาพสังคมปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นชุมชนเมือง แตกต่างจากชุมชนในอดีตที่มีลักษณะเป็นชุมชนชนบท และความสอดคล้องของขนาดฐานการเล่นแต่ละฐานกับขนาดร่างกาย
ของเด็กปฐมวัย ซึ่งอยู่ในช่วงวัย2 – 4 ปี เท่านั้น การเล่นสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาอาจช่วยเสริมสร้างพัฒนาการของเด็กปฐมวัยในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น
เพื่อให้การดำเนินโครงการฯ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เบื้องต้น มีข้อเสนอแนะให้ท้องถิ่นจังหวัดสุพรรณบุรีพิจารณาดำเนินการดังนี้
1. สั่งการให้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบตรวจสอบความถูกต้องครบถ้วนของเอกสารประกอบการขอรับสนับสนุนงบประมาณเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ เพื่อดำเนินโครงการส่งเสริมการเรียนรู้เด็กปฐมวัยท้องถิ่นไทย ผ่านการเล่น (สนามเด็กเล่นสร้างปัญญา) ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่จะดำเนินการในโอกาสต่อไป โดยเฉพาะในส่วนของสถานที่จะต้องหาสถานที่ที่เหมาะสม สามารถสร้างสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาได้ตามวัตถุประสงค์ของโครงการฯ โดยไม่เกิดปัญหาการส่งคืนเงินงบประมาณ
2. สั่งการให้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบสำรวจว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ขอรับงบประมาณเงินอุดหนุนเฉพาะกิจเพื่อสร้างสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา มีอุปกรณ์เครื่องเล่นอื่นเพียงพอและเหมาะสมต่อการเล่นของเด็กปฐมวัยอยู่แล้วหรือไม่ เพื่อให้การจัดสรรงบประมาณเกิดประโยชน์สูงสูดและเป็นไปตามความต้องการของท้องถิ่นอย่างแท้จริง
3. ซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับรายละเอียดของการดำเนินโครงการฯ ที่ชัดเจนให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจขอรับการสนับสนุนงบประมาณตามโครงการฯ โดยคำนึงถึงความครบถ้วน ถูกต้อง ของจำนวนฐานการเล่นและขนาดของฐานการเล่นที่ต้องสร้างให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในคู่มือฯ
4. แจ้งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีการสร้างสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา ตรวจสอบสภาพการใช้งานของฐานการเล่นต่าง ๆ ของสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา และมีการดูแลบำรุงรักษาอย่างสม่ำเสมอ ให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายกับเด็กปฐมวัย
******************************
ข้อมูลทั้งหมด นับเป็นการเปิดเผยปัญหาการดำเนินงานโครงการส่งเสริมการเรียนรู้เด็กปฐมวัย ท้องถิ่นไทย ผ่านการเล่น หรือที่เรียกว่า "สนามเด็กเล่นสร้างปัญญา" ต่อสาธาธารณชนอย่างเป็นทางการครั้งแรก
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/