“…เรื่องที่เอกชนคู่สัญญาไม่สามารถชำระค่าให้สิทธิร่วมทุนในโครงการแอร์พอร์ต เรลลิงก์ ตามสัญญาร่วมทุน ที่จะถึงกำหนดในวันที่ 24 ต.ค.2564 เนื่องจากสถานการณ์โรคระบาดของโควิด-19 นั้น ไม่ถือว่า เป็นเหตุสุดวิสัยหรือเหตุผ่อนผันในการไม่ชำระเงินใดๆตามสัญญาร่วมลงทุนฯ…”
.................................
เป็นประเด็นที่หลายฝ่ายยังคงมี ‘ข้อกังขา’ ว่า เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนยักษ์ใหญ่หรือไม่
เมื่อ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ตั้ง 'ทีมเจรจา' เพื่อหารือกับ บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด ในฐานะผู้รับสัมปทานรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) กรณีขอ ‘แบ่งจ่าย’ ค่าสิทธิร่วมทุนรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ (แอร์พอร์ตลิงค์) จำนวน 10,671 ล้านบาท
ในขณะที่เงื่อนไขสัญญาร่วมทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ระบุว่า ภายในวันที่ 24 ต.ค.2564 เอกชนคู่สัญญา คือ บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด ต้องชำระค่าสิทธิร่วมทุนรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ 'งวดเดียว' 10,671 ล้านบาท ให้ รฟท. และรับมอบสินทรัพย์และสิทธิเดินรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ไปดำเนินการ
“สาเหตุที่ยังไม่มีการโอนทรัพย์สินแอร์พอร์ตลิงค์ให้เอกชน เพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ผู้โดยสารที่เคยอยู่ที่ 7-8 หมื่นคน/วัน ลดเหลือ 1-2 หมื่นคน/วัน บางวันลดลงเหลือแค่ 9,000 คน ซึ่งเป็นเหตุสุดวิสัย เอกชนจึงทำหนังสือขอให้ภาครัฐเยียวยา
ในขณะที่คณะกรรมการกำกับสัญญาฯบอกว่า เรื่องนี้เป็นปัญหาจะต้องเข้าไปแก้ไขสัญญา เพราะมีเหตุที่อยู่นอกเหนือความคาดหมาย” คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) แถลงความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เมื่อวันที่ 26 ต.ค.2564
คณิศ กล่าวด้วยว่า ในระหว่างที่ รฟท.เจรจาหาทางออกและกำหนดมาตรการเยียวยาให้กับ บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อยุติภายใน 3 เดือน นั้น เอเชีย เอรา วัน จะเข้าไปบริหารจัดการการเดินรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ ตั้งแต่วันที่ 24 ต.ค.เป็นต้นไป
ขณะเดียวกัน บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด ได้จ่ายเงินค่ามัดจำ 10% ของค่าสิทธิรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ หรือ 1,067 ล้านบาท เมื่อวันที่ 20 ต.ค.ที่ผ่านมา ส่วนการชำระเงินส่วนที่เหลือนั้น อยู่ระหว่างเจรจาว่า จะ ‘แบ่งจ่าย’ กันอย่างไร (อ่านประกอบ : ยกโควิดเหตุสุดวิสัย! 'รฟท.'เจรจา‘เอเชียเอราวัน’แก้สัญญาฯผ่อนจ่ายค่า'แอร์พอร์ตลิงค์’)
@ย้อนมติครม.เยียวยา ‘เอเชียเอราวัน’ คู่สัญญาไฮสปีด 3 สนามบิน
สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ครม. มีมติเมื่อวันที่ 28 พ.ค.2562 เห็นชอบให้ รฟท. ร่วมลงทุนกับ กลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร หรือ 'กลุ่ม CPH' เพื่อประกอบกิจการการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน
ต่อมาวันที่ 24 ต.ค.2562 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีลงนามสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ระหว่าง รฟท. และ บริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด (เดิมคือกลุ่ม CPH) (อ่านประกอบ : เซ็นเเล้ว! สัญญารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน คาดเปิดบริการปี 66)
(พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีลงนามสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เมื่อวันที่ 24 ต.ค.2562 ที่ทำเนียบรัฐบาล)
ทั้งนี้ ตามสัญญาฯ บริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด ต้องชำระค่าสิทธิรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ 10,671 ล้านบาท โดยจ่ายงวดเดียว ภายใน 24 ต.ค.2564 และให้ รฟท.มอบสิทธิเดินรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ และถ่ายโอนกิจการให้กับเอกชนคู่สัญญา
แต่ปรากฏว่า ก่อนที่จะถึง ‘เส้นตาย’ ไม่กี่เดือน บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด ทำหนังสือหารือไปยัง รฟท. ขอปรับปรุงข้อกำหนดและเงื่อนไขสัญญาร่วมลงทุนโครงการฯ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสภาพเศรษฐกิจตกต่ำ ซึ่งมีสาเหตุจากภาวะการแพร่ระบาดของโควิด-19 อันเป็น ‘เหตุสุดวิสัย’
พร้อมทั้งขอให้ภาครัฐพิจารณากำหนดมาตรการเยียวยา โดยขอขยายเวลาการชำระค่าสิทธิแอร์พอร์ต เรลลิงก์ จนกว่าจะได้ข้อยุติในการแก้สัญญาร่วมลงทุนฯ และ ‘กำหนดมาตรการเยียวยาอื่น’ ได้แก่ การปรับเปลี่ยนวิธีการชำระเงงินร่วมลงทุนโครงการ (PIC) และการขยายระยะเวลาโครงการฯ
@บอร์ดกำกับฯมีความเห็นคัดค้านผ่อนผันจ่าย ‘แอร์พอร์ตลิงก์’
ต่อมาวันที่ 4 ต.ค.2564 ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธาน มีมติรับทราบปัญหาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ในส่วนของการชำระค่าสิทธิร่วมลงทุนในโครงการแอร์พอร์ต เรลลิงก์ เนื่องจากสถานการณ์ผลกระทบโควิด-19
พร้อมทั้งรับทราบมติ ‘คณะกรรมการบริหารสัญญาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน’ หรือ ‘คณะกรรมการบริหารสัญญาฯ’ ที่มีมติเห็นชอบหลักการเยียวยาผลกระทบของโควิด-19 ในส่วนของค่าสิทธิแอร์พอร์ต เรลลิงก์ แก่เอกชนคู่สัญญา และแนวทางดำเนินการระหว่างกระบวนการแก้ไขสัญญา
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุม กพอ.ยังรับทราบ ‘ความเห็น’ ของ ‘คณะกรรมการกำกับดูแลโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน’ หรือ ‘คณะกรรมการกำกับฯ’ ซึ่งมีความเห็น ‘แตกต่าง’ จากคณะกรรมการบริหารสัญญาฯ โดยคณะกรรมการกำกับฯให้ความเห็นว่า
“เรื่องที่เอกชนคู่สัญญาไม่สามารถชำระค่าให้สิทธิร่วมทุนในโครงการแอร์พอร์ต เรลลิงก์ ตามสัญญาร่วมทุน ที่จะถึงกำหนดในวันที่ 24 ต.ค.2564 เนื่องจากสถานการณ์โรคระบาดของโควิด-19 นั้น ไม่ถือว่า เป็นเหตุสุดวิสัยหรือเหตุผ่อนผันในการไม่ชำระเงินใดๆตามสัญญาร่วมลงทุนฯ”
จากนั้นที่ประชุม กพอ. ได้มีมติใน 2 เรื่อง คือ
เรื่องแรก มอบหมายให้ รฟท. สกพอ. และคณะกรรมการกำกับสัญญา พิจารณาดำเนินการแก้ไขปัญหาให้เป็นไปตามขั้นตอนกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนฯ ก็ขอให้ดำเนินการตามกระบวนการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนฯตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วนก่อนเสนอ ครม.
เรื่องที่สอง มอบหมายให้ รฟท. สกพอ. และเอกชนคู่สัญญา เข้าดำเนินการเพื่อแก้ไขการดำเนินการกรณีแอร์พอร์ต เรลลิงก์ เป็นการเร่งด่วน เพื่อให้บริการแอร์พอร์ต เรลลิงก์ ดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง ไม่หยุดชะงัก
“หลังจากการลงนามสัญญาร่วมลงทุนฯ (24 ต.ค.2562) รฟท.ไม่ได้จัดเตรียมงบประมาณ อะไหล่ และอุปกรณ์ สำหรับการเดินรถและซ่อมบำรุงแอร์พอร์ต เรลลิงก์ ประกอบกับ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) จะต้องไปรับภารกิจเดินรถโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ที่จะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในวันที่ 2 พ.ย.2564
จึงไม่มีบุคลากรและทรัพยากรเพียงพอในการเดินรถแอร์พอร์ต เรลลิงก์ นอกจากนี้ รฟท.ยังต้องรับภาระขาดทุนจากการเดินรถแอร์พอร์ต เรลลิงก์ ซึ่งมีผลดำเนินงานขาดทุนต่อเนื่อง (ปีงบ 2563 ขาดทุน 634.95 ล้านบาท ปีงบ 2564 10 เดือนแรกขาดทุน 593 ล้านบาท) และมีแนวโน้มขาดทุนเพิ่มมากขึ้นจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19” รฟท.ระบุ
ที่มา : เอกสารประกอบการประชุมครม.เมื่อวันที่ 19 ต.ค.2564 เรื่อง แนวทางแก้ไขปัญหาผลกระทบโควิด-19 ของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน)
@‘สำนักงบฯ’เสนอให้เยียวยาผลกระทบเท่าที่ ‘จำเป็น’
ต่อมาที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 19 ต.ค.2564 มีมติรับทราบแนวทางแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโควิด-19 ของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ตามมติ กพอ. เมื่อวันที่ 4 ต.ค.2564 และมอบหมายให้ รฟท. และสกพอ. ร่วมกันดำเนินการ เพื่อให้บริการแอร์พอร์ต เรลลิงก์ ดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง ไม่หยุดชะงัก
อย่างไรก็ตาม จากมติ ครม. เมื่อวันที่ 19 ต.ค.2564 ไม่ปรากฏว่า ครม.ได้มีมติชัดเจนในกรณีการขยายระยะเวลาชำระค่าสิทธิแอร์พอร์ต เรลลิงก์ ให้กับ บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด แต่อย่างใด แต่กลับกลายเป็นว่า รฟท.ได้ตั้งทีมเจรจากรณีเอกชนคู่สัญญาขอ ‘แบ่งจ่าย’ ค่าสิทธิร่วมทุนลงโครงการแอร์พอร์ต เรลลิงก์
ในขณะที่สำนักงบประมาณให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า กรณีการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะเป็นเหตุผลในการผ่อนผันที่จะต้องดำเนินการแก้สัญญาร่วมทุนฯหรือไม่นั้น ควรพิจารณาเท่าที่ ‘จำเป็น’ อย่างรอบคอบและโปร่งใส โดยคำนึงถึงต้นทุนค่าเสียโอกาส ภาระการคลัง ความเสี่ยงและความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในทุกมิติ
ส่วนกระทรวงการคลัง ให้ความเห็นว่า รฟท.ควรพิจารณาถึงผลกระทบของการแก้ปัญหาโครงการฯต่อภาระทางการเงินของ รฟท. ทั้งในระยะสั้นและระยะยาวอย่างรอบคอบ รวมถึงผลระทบที่อาจมีต่อภาระทางการคลัง ไม่ทำให้รัฐเสียประโยชน์ และจะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อความเนื่องในการให้บริการ
@‘สพ.รฟ.’ชี้ผ่อนผันจ่าย‘แอร์พอร์ตลิงก์’ รถไฟฯเสียประโยชน์
ด้าน สุวิช คุมานนท์ ประธานสมาพันธ์คนงานรถไฟ (สพ.รฟ.) กล่าวกับสำนักข่าวอิศราว่า เดิม รฟท.ลงทุนโครงการแอร์พอร์ตเรลลิงก์ไปประมาณ 3 หมื่นล้านบาท และชำระหนี้แล้ว 1 หมื่นล้านบาท ยังเหลือหนี้อีก 2 หมื่นล้านบาท หาก รฟท.ได้เงินจากเอกชนคู่สัญญาอีก 10,671 ล้านบาทในคราวเดียว ก็จะช่วยลดภาระดอกเบี้ยของ รฟท.ลงได้มาก
“ถ้าจ่ายเป็นก้อนเดียวตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ใน TOR รฟท.จะเอาเงินตรงนี้ไปชำระหนี้ส่วนที่เหลืออยู่ 2 หมื่นล้านบาทได้ แต่พอถึงเวลา เอกชนมาขอแบ่งจ่าย ทำให้หนี้ยังอยู่เท่าเดิม และรฟท.ก็ต้องรับดอกเบี้ยตรงนี้ ในขณะที่เอกชนแทบไม่เสียอะไรเลย เพราะสามารถนำรายได้จากค่าโดยสารมาผ่อนจ่ายให้ รฟท.เป็นรายปีได้” สุวิช กล่าว
สุวิช กล่าวต่อว่า ในส่วนของข้อเสนอของเอกชนที่เสนอแบ่งจ่ายค่าสิทธิร่วมลงทุนแอร์พอร์ต เรลลิงก์ 5% ในปีแรก จ่าย 7% ในปีสอง จ่าย 5% ในปีที่ 3 และปีสุดท้ายจ่าย 60% ของค่าสิทธิร่วมลงทุนแอร์พอร์ต เรลลิงก์ อีกทั้งเอกชนยังยื่นข้อเสนอว่าจะจ่ายค่าสิทธิฯเมื่อโควิด-19 สิ้นสุดลง ซึ่งไม่รู้ว่าจะเป็นเมื่อใดนั้น เป็นข้อเสนอที่ทำให้ รฟท.เสียเปรียบ
“หลักการในการเยียวยา คือ คุณต้องประกอบกิจการไปแล้ว เมื่อได้รับผลกระทบจึงมาขอเยียวยา แต่นี่สัญญาร่วมทุนฯบอกให้เขา (บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด) รับโอนแอร์พอร์ต เรลลิงก์ ในวันที่ 24 ต.ค.2564 ซึ่งเขายังไม่ได้เริ่มบริหารโครงการเลย ยังไม่ได้เริ่มประกอบกิจการเลย
แต่กลับมีการไปเร่งรัดขอมติ ครม. ให้เยียวยาเขาเนื่องจากได้รับผลกระทบจากโควิด ตั้งแต่ 19 ต.ค.2564 ทั้งๆที่ไม่รู้ว่าเขาได้รับผลกระทบเท่าไหร่ ไม่รู้วงเงินที่เขาเสียหายจริงๆว่าเป็นเท่าไหร่ ขณะเดียวกัน ในเงื่อนไขการเสนอประมูลกำหนดให้ผู้ร่วมประมูลต้องโชว์ว่ามีเงินทุน 1.2 แสนล้านบาท แต่พอถึงเวลา มาบอกว่าไม่มีเงิน ก็คงไม่ใช่” สุวิช ย้ำ
(รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรลลิงก์)
เช่นเดียวกับ พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.แบบบัญชีราย และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่แถลงผ่านสื่อก่อนหน้านี้ว่า กรณีบอร์ด EEC ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธาน เห็นชอบให้การขยายระยะเวลาการชำระค่าสิทธิร่วมลงทุนในโครงการแอร์พอร์ต เรลลิงก์ ให้กับบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด เป็นการกระทำที่เข้าข่ายเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนใหญ่
“มีการลงนามในบันทึกข้อตกลง (MOU) เมื่อวันที่ 20 ต.ค.2564 หรือเพียง 1 วัน หลังจาก ครม.มีมติ เรียกว่ารวดเร็วจริงๆ แล้วก็เป็นการให้ บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด จ่ายค่าสิทธิเพียง 10% หรือ ประมาณ 1,067 ล้านบาท จากเดิมที่ต้องจ่าย 10,671 ล้านบาท ในครั้งเดียว” พิจารณ์ กล่าว
พิจารณ์ ยังระบุว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน มีความผิดปกติตั้งแต่ก่อนเริ่มประมูล และหลังจากสิ้นสุดการประมูลแล้ว ยังมีการลด แลก แจก แถม ให้กับเอกชนด้วย ซึ่งจากนี้ไปคงต้องติดตามว่าผลการพิจารณาของคณะทำงานที่เกี่ยวข้องว่าเงินค่าสิทธิร่วมทุนแอร์พอร์ต เรลลิงก์ที่เหลืออีก 9,600 ล้านบาท จะจ่ายกันอย่างไร
จากนี้จึงต้องติดตามกันต่อไปว่าบทสรุปกรณี บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด ในเครือซีพี ขอผ่อนผัน ‘แบ่งจ่าย’ค่าสิทธิร่วมทุนในโครงการแอร์พอร์ต เรลลิงก์ จะได้ข้อยุติอย่างไร
ท่ามกลางข้อกังขาว่าอาจเป็นการเอื้อกลุ่มทุนหรือไม่?
อ่านประกอบ :
ยกโควิดเหตุสุดวิสัย! 'รฟท.'เจรจา‘เอเชียเอราวัน’แก้สัญญาฯผ่อนจ่ายค่า'แอร์พอร์ตลิงค์’
เซ็นเเล้ว! สัญญารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน คาดเปิดบริการปี 66
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/