‘เลขาฯสกพอ.’ แจงความคืบหน้ารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ชี้ส่งมอบพื้นที่ได้แล้ว 98% เผย ‘รฟท.’ อยู่ระหว่างเจรจากับ ‘เอเชียเอราวัน’ แบ่งจ่ายค่าสิทธิร่วมทุน ‘แอร์พอร์ตเรลลิงก์’ 1.1 หมื่นล้านบาท เหตุโควิดทำให้ผู้โดยสารลดฮวบ
..............................
เมื่อวันที่ 26 ต.ค. นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ว่า ตั้งแต่วันที่ 24 ต.ค.ที่ผ่านมา บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด ซึ่งมีกลุ่มซีพีเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ในฐานะผู้รับสัมปทานรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ได้เข้าไปบริหารจัดการการเดินรถไฟแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ (แอร์พอร์ตลิงค์) ตามสัญญาร่วมทุนฯ แล้ว
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ รฟท.ยังไม่ได้โอนทรัพย์สินรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ ให้กับบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด เพราะยังอยู่ระหว่างการเจรจาเกี่ยวกับการชำระเงินค่าสิทธิร่วมทุนรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ จำนวน 10,671 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปใน 3 เดือน ดังนั้น รายได้ค่าโดยสารทั้งหมดยังเป็นของ รฟท. และบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด จะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการเดินรถ
ทั้งนี้ รฟท.จะนำรายได้ค่าโดยสารที่เก็บได้ไปจ่ายเป็นค่าเดินรถให้กับบริษัทฯ แต่หากการเดินรถมีกำไร กำไรดังกล่าวจะตกเป็นของ รฟท. แต่หากรายได้ค่าโดยสารไม่เพียงพอกับต้นทุนเดินรถของ บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด ทางบริษัทฯจะต้องรับภาระขาดทุนดังกล่าวเอง ขณะที่ก่อนหน้านี้ บริษัทฯได้ลงทุนระบบต่างๆ เช่น การปรับปรุงระบบอาณัติสัญญาณ ระบบสื่อสารทางวิทยุ กล้อง CCTV และป้ายบอกทาง ซึ่งรวมถึงการอบรมบุคลากร เป็นเงินกว่า 1,100 ล้านบาท
“สาเหตุที่ยังไม่มีการโอนทรัพย์สินแอร์พอร์ตลิงค์ให้เอกชน เพราะการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ผู้โดยสารที่เคยอยู่ที่ 7-8 หมื่นคน/วัน ลดเหลือ 1-2 หมื่นคน/วัน บางวันเหลือแค่ 9,000 คน ซึ่งเป็นเหตุสุดวิสัย เอกชนจึงทำหนังสือขอให้ภาครัฐเยียวยา ขณะที่คณะกรรมการกำกับสัญญาฯบอกว่า เรื่องนี้เป็นปัญหาจะต้องเข้าไปแก้ไขสัญญา เพราะมีเหตุที่อยู่นอกเหนือความคาดหมาย ส่วนการเจรจาหาทางออกนั้น รัฐและเอกชนจะต้องไม่มีใครเสียเปรียบ” นายคณิศกล่าว
นายคณิศ ยังระบุว่า จากข้อตกลง (MOU) ที่ รฟท.ได้ลงนามกับบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด เมื่อวันที่ 20 ต.ค.ที่ผ่านมา บริษัทฯได้จ่ายเงินมัดจำ 10% ของค่าสิทธิร่วมลงทุนรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ หรือ 1,067 ล้านบาท จากทั้งหมด 10,671 ล้านบาท ให้กับ รฟท.แล้ว ส่วนการจ่ายเงินที่เหลือนั้น ผู้ว่าฯรฟท. ได้ตั้งทีมเจรจากับรายละเอียดกับบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด ว่า การชำระเงินจะเป็นอย่างไร และหากบริษัทฯขอแบ่งจ่ายเป็นงวดๆจะต้องจ่ายดอกเบี้ยให้ รฟท.ด้วย
ส่วนกรณีที่เอกชนเสนอแบ่งชำระค่าสิทธิร่วมทุนรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์เป็น 10 งวด นาน 10 ปี แต่ รฟท.เห็นว่าควรแบ่งจ่าย 6 งวด นาน 6 ปีนั้น นายคณิศ ย้ำว่า เรื่องนี้ยังไม่มีข้อสรุปแต่อย่างใด และหากได้ข้อสรุปแล้ว จะต้องเสนอให้คณะกรรมการกำกับสัญญาฯพิจารณา ก่อนเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบต่อไป และหากเป็นการผ่อนจ่ายภาครัฐจะต้องได้ไม่เสียประโยชน์ โดยต้องมีรายได้กลับมา 1.1 หมื่นล้านบาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย
นายคณิศ กล่าวต่อว่า หลังจาก บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด ได้รับโอนภารกิจเดินรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์แล้ว บริษัทฯมีแผนลงทุนเพิ่มอีก 3,000 ล้านบาท เช่น การเพิ่มขบวนรถ การลงทุนสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ และทำทางลอดใต้ดิน เป็นต้น
นายคณิศ กล่าวถึงกรณีมีกระแสข่าวว่าสถาบันการเงินปฏิเสธปล่อยเงินกู้ให้กับ บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด ในการลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ว่า ขณะนี้ยังไม่ถึงเวลาที่เอกชนต้องการใช้สินเชื่อแต่อย่างใด ในขณะที่การจัดหาสินเชื่อดังกล่าวจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 240 วัน นับตั้งแต่ รฟท.มีหนังสือแจ้งเริ่มงานก่อสร้างอย่างเป็นทางการ (NTP) ในเดือน มี.ค.2565 หรือเท่ากับว่าต้องหาสินเชื่อให้ได้ภายในเดือน พ.ย.2565
สำหรับการส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ให้กับ บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด นั้น ล่าสุดมีการส่งมอบพื้นที่แล้ว 98.11% และพื้นที่ที่เหลืออีก 1.89% จะส่งมอบให้แล้วเสร็จภายในเดือน ม.ค.2565
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/