“..หากวันนี้สนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้าให้ถูกกฎหมาย เพื่อเก็บภาษีเพิ่ม ข้อมูลจาก กระทรวงการคลัง การเก็บภาษีบุหรี่ธรรมดา 43,000 กว่าล้านบาท หากเติมบุหรี่ไฟฟ้า 1,800 กว่าล้านบาท รวม 45,000 กว่าล้านบาท หักลบมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจ ค่ารักษาพยาบาลที่หักเอาเฉพาะบุหรี่ปกติ 52,182 ล้านบาท ลบ 45,000 กว่าล้านบาท รัฐยังขาดทุนอยู่กว่า 6,000 กว่าล้านบาท มันจะไม่มีความคุ้มค่า..”
ผลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2564 จากการเก็บข้อมูลทั้งสิ้น 73,654 ครัวเรือนทั่วประเทศ ครอบคลุมประชากรตัวอย่าง 164,406 คน พบว่า
ประชากรไทยที่สูบบุหรี่ไฟฟ้า มีจำนวน 78,742 คน คิดเป็นอัตรา 0.14% ของประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป ที่มีทั้งหมด 57 ล้านคน
แบ่งเป็น คนที่สูบทุกวัน 40,724 คน และสูบแบบไม่ทุกวัน 38,018 คน โดยผู้ที่สูบบุหรี่ไฟฟ้า 24,050 คน อายุระหว่าง 15-24 ปี และส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ กทม. และภาคกลาง 47,753 คน
ขณะที่คนไทยที่รู้จักบุหรี่ไฟฟ้า เชื่อว่าบุหรี่ไฟฟ้าอันตรายมากกว่าบุหรี่ธรรมดา 26.7% เชื่อว่าอันตรายน้อยกว่า 11.3% และเชื่อว่าบุหรี่ไฟฟ้าและบุหรี่ธรรมดามีอันตรายเท่ากัน 62.0%
ทั้งนี้ จำนวนและอัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้า รวมอยู่ในอัตราและจำนวนผู้สูบบุหรี่ทั่วประเทศ ที่เท่ากับ 17.4% และจำนวนคนสูบบุหรี่ 9.9 ล้านคน
ดร.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาการสำรวจเกี่ยวกับการสูบบุหรี่ไฟฟ้า มีพียงไม่กี่การสำรวจ และล้วนเป็นการสำรวจในกลุ่มตัวอย่างขนาดเล็กในประชากรกลุ่มเฉพาะ
ขณะที่เครือข่ายที่รณรงค์สนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย ที่ล่าสุดออกข่าวว่า มีคนไทยที่สูบบุหรี่ไฟฟ้ามากกว่า 2 ล้านคน เป็นตัวเลขที่ประเมินเกินจริงไปเป็นอย่างมาก
ทั้งนี้ มีหลักฐานชัดเจนว่า เครือข่ายรณรงค์สนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย เป็นสมาชิกขององค์กรเครือข่ายผู้บริโภคนิโคตินนานาชาติ (International Network of Nicotine Consumer Organizations : INNCO) ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2559 ก่อนที่บริษัทฟิลลิป มอร์ริส จะวางตลาดบุหรี่ไฟฟ้าชนิดใช้ความร้อนโดยไม่มีการเผาไหม้ยี่ห้อโอคอส ในปี 2560
โดยองค์กรดังกล่าว รับทุนสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อโลกปลอดควันบุหรี่ (Foundation for a Smoke Free World) ตั้งขึ้นและให้ทุนสนับสนุนโดยบริษัทบุหรี่ฟิลลิป มอร์ริส ที่ขายทั้งบุหรี่ธรรมดาและบุหรี่ไฟฟ้าไอคอส และกำลังพยายามวิ่งเต้นที่จะให้ยกเลิกกฏหมายห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทยผ่านฝ่ายต่างๆ
“รายงานความคืบหน้าการระบาดของยาสูบระดับโลก ขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่เปิดเผยเมื่อเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา ที่เจาะลึกเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า ระบุชัดเจนว่า บริษัทผู้ผลิตบุหรี่ไฟฟ้าและเครือข่าย ได้มีการรณรงค์ให้ข้อมูลที่บิดเบือนเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า เช่น อันตรายน้อยกว่าและช่วยให้คนเลิกสูบบุหรี่ธรรมดา เป็นข้ออ้างที่รายงานองค์การอนามัยโลกระบุว่า ยังไม่มีหลักฐานจากฝ่ายที่เป็นกลาง สนับสนุนข้ออ้างของบริษัทบุหรี่และเครือข่ายรณรงค์สนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้า จึงอยากขอให้ประชาชนทั่วไปรวมทั้งผู้กำหนดนโยบายของประเทศ ใช้วิจารณญาณในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร ที่มาจากเครือข่ายที่สนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้า ที่มีความสัมพันธ์กับบริษัทบุหรี่ข้ามชาติที่ผลิดและจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า” ดร.พญ.เริงฤดี กล่าว
ดร.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
เมื่อวันที่ 28 ก.ย. 2564 นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิตัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ได้แสดงความเห็นต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าควรพิจารณาให้บุหรี่ไฟฟ้า บุหรี่ไอคอสถูกกฎหมาย เพราะจะช่วยลดการขาดทุนของโรงงานยาสูบ เป็นการช่วยเกษตรผู้ปลูกใบยาสูบ จะทำให้รัฐจัดเก็บรายได้จากภาษีเพิ่มขึ้น โดยอ้างว่าบุหรี่ไอคอสมีผลกระทบต่อสุขภาพน้อยกว่าบุหรี่มวน
ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสมทั้งในแวดวงวิชาการและสาธารณสุข รวมถึงคนในสังคมเป็นวงกว้าง
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์บุหรี่ไฟฟ้าว่า 'ทำไมถึงไม่ถูกกฎหมายในประเทศไทย' มีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้
'บุหรี่ไฟฟ้า' เป็นสิ่งผิดกฎหมาย โดยมีกฎหมายควบคุมเด็ดขาด ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้บารากู่ และบารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2557 ผู้ที่ฝ่าฝืนลักลอบนำเข้าจะต้องรับโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับเป็นเงิน 5 เท่าของสินค้าหรือทั้งจำทั้งปรับ รวมถึงให้ริบสินค้า และพาหนะที่ใช้ในการบรรทุกสินค้านั้นด้วย
ทั้งนี้ บุหรี่ไฟฟ้า ยังเป็นสินค้าที่ห้ามขายหรือให้บริการ ตามคำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ 9/2558 ซึ่งกำหนดโทษสำหรับผู้ประกอบธุรกิจทั่วไป ให้จำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากผู้ที่กระทำผิดเป็นผู้ประกอบธุรกิจในฐานะผู้ผลิต ผู้สั่ง หรือผู้ที่นำเข้ามาเพื่อขาย ต้องรับโทษเพิ่มสูงขึ้นเป็นจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 1,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
เมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2564 นพ.หทัย ชิตานนท์ ประธานสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ กล่าวว่า กฎหมายไทยห้ามการนำเข้า ห้ามขายและให้บริการบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ (e-cigarette) หากมีการนำเข้ามาจำหน่ายถือว่าเป็นความผิดตามกฎหมาย ซึ่งบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าที่ได้รับการยืนยันในทางการแพทย์แล้วว่า ทำลายสุขภาพของผู้สูบเป็นอย่างมาก และกำลังได้รับความนิยมในกลุ่มเยาวชน กลุ่มคนทำงานบางส่วน จนกลายเป็นสารเสพติดตัวใหม่ที่เข้าถึงกลุ่มนักสูบหน้าใหม่มากขึ้น แต่ก็ยังพบการโฆษณา การขายบุหรี่ไฟฟ้าเกลื่อนสื่อออนไลน์และตลาดนัดทั่วไป
นพ.หทัย กล่าวด้วยว่า ผลิตภัณฑ์ประเภท heat-not-burn products เช่น บุหรี่ไอคอส เป็นสิ่งที่น่ากังวลเช่นกัน เพราะยังไม่มีข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ในเรื่องนี้ว่า บุหรี่ประเภทนี้มีอันตรายน้อยกว่าบุหรี่ทั่วไปและบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ อีกทั้งยังพบว่าบุหรี่ประเภทนี้มีทั้งสารนิโคตินจากใบยาสูบและสารเคมีที่เป็นอันตรายสูงกว่าบุหรี่ทั่วไปด้วย
พร้อมกล่าวไปถึง กรณี รมว.ดิจิทัลฯ สนับสนุนให้พิจารณาบบุหรี่ไฟฟ้าถูกกฤหมาย ว่า ควรฟังข้อมูลความเห็นของกระทรวงสาธารณสุขและนักวิชาการด้านสุขภาพ และควรทำหน้าที่ช่วยแก้ไขปัญหาการโฆษณา การขายบุหรี่ไฟฟ้าทางเว็บไซต์และสื่อออนไลน์กับกรมควบคุมโรค สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อคุ้มครองสุขภาพของเยาวชนและประชาชน จะเหมาะสมกว่า
“บริษัทบุหรี่ข้ามชาติพยายามที่จะแทรกแซงกฎหมายและนโยบายควบคุมยาสูบของไทยมาเป็นเวลานานหลายสิบปี ผ่านนักการเมือง ข้าราชการในหน่วยงานต่างๆ อยู่เสมอ รัฐบาลจึงควรเสนอให้มีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีเพื่อป้องกันในเรื่องนี้ เพราะประเทศไทยยังมิได้ปฏิบัติตามกรอบอนุสัญญาควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก (FCTC) มาตรา 5.3 อย่างครบถ้วน” นพ.หทัย กล่าว
(นพ.หทัย ชิตานนท์ ประธานสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ)
นอกจากนี้ เภสัชกรรมสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับเครือข่ายวิชาชีพเภสัชกรรมเพื่อการควบคุมยาสูบ, มูลนิธิเภสัชกรรมชุมชน, สมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล (ประเทศไทย), สมาคมเภสัชกรรมการตลาด (ประเทศไทย) และชมรมร้านขายยาแห่งประเทศไทย ได้ออกแถลงการณ์คัดค้านแนวคิดที่รัฐจะผลักดันให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ถูกกฎหมาย โดยระบุเหตุผล ดังนี้
1. ในควันบุหรี่ไฟฟ้าบางชนิดมีสารเคมีถึง 56 ชนิด ที่พบในระดับที่สูงกว่าควันบุหรี่ธรรมดา ซึ่งพบมีสารเคมี 22ชนิดที่มีระดับสูงกว่าบุหรี่ธรรมดาถึง 200 % และ 7 ชนิด ที่มีระดับสูงกว่าบุหรี่ธรรมดาถึง 1,000 % โดยที่สารเคมีดังกล่าวบางตัวไม่พบในบุหรี่ธรรมดา ดังนั้น บุหรี่ไฟฟ้ายังคงเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำลายสุขภาพประชาชน ทำให้ประเทศชาติต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาความเจ็บป่วยที่จะตามมา
2. การให้เลิกบุหรี่ในประเทศไทยมีหลายช่องทางที่จะทำให้ผู้ติดบุหรี่สามารถเลิกบุหรี่ได้สำเร็จ ได้แก่ การรับบริการจากเครือข่ายเภสัชกรร้านยาอาสาพาเลิกบุหรี่ที่มีทั่วประเทศ คลินิกฟ้าใสที่มีในโรงพยาบาล บริการ 1600 และเครือข่ายวิชาชีพอื่นๆ อีกมากมาย ประกอบกับการให้บริการเลิกบุหรี่มีการใช้ยาช่วยเลิกบุหรี่ที่ไม่มีพิษภัยช่วยอยู่แล้วและส่วนหนึ่งก็ไม่ต้องใช้ยา โดยไม่จำเป็นต้องใช้บุหรี่ไฟฟ้าในการช่วยเลิกบุหรี่ และจากงานวิจัยมากมายพบว่าบุหรี่ไฟฟ้าไม่สามารถทำให้เลิกบุหรี่ได้สำเร็จอีกทั้งจะติดบุหรี่ไฟฟ้าตามมา ซึ่งการได้รับนิโคตินติดต่อกันนานๆนั้นเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้
3. บุหรี่ไฟฟ้าทำให้เกิดนักสูบหน้าใหม่เพิ่มขึ้น โดยการโฆษณาและการส่งเสริมการขายทางการตลาดที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงเป็นลักษณะของการมอมเมาเยาวชนให้หลงผิดและติดยาเสพติดตามมา และคนที่ติดบุหรี่แล้ว ส่วนใหญ่เลิกไม่ได้ แม้อยากเลิก จึงทำลายสุขภาพของคนไทยมากขึ้นในระยะยาว
4. บุหรี่ไฟฟ้าสามารถเพิ่มการกระจายเชื้อโควิด-19 ไปสู่คนใกล้ชิดได้ จึงส่งผลต่อการเพิ่มการระบาดของเชื้อโควิด-19
และก่อนหน้านี้ แพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับคณะแพทย์จากราชวิทยาลัย 14 แห่ง เครือข่ายวิชาชีพแพทย์ เครือข่ายวิชาชีพสุขภาพ และสมาพันธ์เครือข่ายวิชาชีพสุขภาพ ได้ออกแถลงการณ์คัดค้าน การศึกษาเพื่อผลักดันให้ บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย โดยให้เหตุผลว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพเช่นกัน (อ่านประกอบ: แพทยสมาคมฯ ร่อนจดหมายถึงนายกฯ ยันบุหรี่ไฟฟ้าอันตรายต่อสุขภาพ ย้ำป้องกัน ดีกว่าแก้)
บุหรี่ไฟฟ้ารสหอมหวาน ดึงดูดนักสูบหน้าใหม่มากขึ้น
นายพชรพรรษ์ ประจวบลาภ เลขาธิการสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบัน บุหรี่ไฟฟ้า ถือว่าได้รับความนิยม เนื่องจากไม่มีกลิ่น ไม่เหม็น ตามร้านเหล้า สถานบันเทิง มีการสูบปกติ จากการสำรวจพบว่า ไม่ใช่เพียงแค่เยาวชนผู้ชายเท่านั้นที่สูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า แต่มีเยาวชนผู้หญิงให้ความสนใจมากขึ้น ทั้งนี้ยังพบว่า เยาวชนทดลองใช้บุหรี่ไฟฟ้าเป็ยบุหรี่ชนิดแรกเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย
นายพชรพรรษ์ กล่าวว่า อีกประเด็นเกี่ยวกับ บุหรี่ไฟฟ้า ที่กำลังถกเถียงในขณะนี้ ต้องยอมรับว่า บุหรี่ไฟฟ้าทำลายสุขภาพ และมีแนวคิดว่าอันตรายน้อยกว่า บุหรี่ปกติ ซึ่งในแนวคิดนี้ หากโต้แย้งเถียงกัน ยังไงก็ไม่มีข้อสรุป ดังนั้น ในวันนี้ เรารู้แล้วว่าบุหรี่ไฟฟ้าว่า มันมีอันตรายไม่ว่าจะมากจะน้อย ในทางกลับกัน หากเราพูดถึงการทุจริตคอรัปชัน โกงมาก โกงน้อย ความหมายก็เท่ากับโกง ดังนั้น ในวันนี้หากจะพูดว่าบุหรี่ไฟฟ้าอันตรายน้อยกว่าและควรเป็นสินค้าทางเลือก มันจึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรพูด ถึงเวลาแล้วที่เราอาจจะต้องยอมรับว่าอันตรายมากหรือน้อย ไม่ควรเป็นผลิตภัณฑ์ทางเลือกสำหรับใครเลยก็ตาม
“การเลิกบุหรี่ เป็นเรื่องยาก ต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่าง คนเราอาจจะเลิกยากและง่ายแตกต่างกัน แต่สุดท้ายถ้าเราอยากจะสร้างสุขภาพร่างกายแข็งแรง การเลิกบุหรี่เป็นตัวเลือกแรกที่เราควรจะเลือก มากกว่าการหาอะไรมาทดแทน อีกเรื่องที่สำคัญ คือ วันนี้เห็นการสนับสนุนเรื่องบุหรี่ไฟฟ้า ในขณะที่เราทำงานกันอย่างยากลำบาก ณ เวลานี้สิ่งที่ควรจะสนับสนุนในตอนนี้คือ การปราบปรามสิ่งของผิดกฎหมายอยู่ในโลกสังคมออนไลน์ เช่น พนันออนไลน์ บุหรี่ไฟฟ้าที่ลักลอบจำหน่าย ไม่นับอาวุธปืน มีด ผิดกฎหมายที่ทำให้ก่ออาชญากรรม วันนี้ทำได้ดีหรือยัง” นายพชรพรรษ์ กล่าว
เก็บภาษีบุหรี่เพิ่มขึ้น รายได้ที่ไม่คุ้มเสีย
ในส่วนประเด็นที่ว่าหากอนุญาตให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมายได้ในประเทศไทย จะทำให้สามารถจัดเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้น และประเทศก็จะมีรายได้เพิ่มขึ้น นายพชรพรรษ์ กล่าว ข้อมูลจาก สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ปี 2560 ระบุตัวเลข 52,182 ล้านบาท เป็นค่ารักษาผู้ป่วยที่ป่วยจากการสูบบุหรี่ แบ่งเป็น ค่ารักษา เฉพาะโรคจากการสูบบุหรี่ 21,389 ล้านบาท ในจำนวนนี้ เป็นค่ารักษาโรคปอด 10,000 ล้านบาท คิดเป็นส่วนต่างค่าเสียเวลา ค่าเสียโอกาสทางเศรษฐกิจกว่า 20,000 กว่าล้านบาท สรุปแล้ว ปี 2560 ประเทศไทยสูญเสียเม็ดเงินทางเศรษฐกิจ ภาษีพี่น้องประชาชนกว่า 52,182 ล้านบาท
“หากวันนี้สนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้าให้ถูกกฎหมาย เพื่อเก็บภาษีเพิ่ม ข้อมูลจาก กระทรวงการคลัง การเก็บภาษีบุหรี่ธรรมดา 43,000 กว่าล้านบาท หากเติมบุหรี่ไฟฟ้า 1,800 กว่าล้านบาท รวม 45,000 กว่าล้านบาท หักลบมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจ ค่ารักษาพยาบาลที่หักเอาเฉพาะบุหรี่ปกติ 52,182 ล้านบาท ลบ 45,000 กว่าล้านบาท รัฐยังขาดทุนอยู่กว่า 6,000 กว่าล้านบาท มันจะไม่มีความคุ้มค่าใดๆ เพราะแม้เศรษฐกิจจะดีมากๆ เราก็ต้องเอาเงินวนกลับไปรักษาคนที่ป่วยด้วยการสูบบุหรี่” พชรพรรษ์ กล่าว
นายพชรพรรษ์ กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ ประเทศที่มีกฎหมายควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าเกิน 70 ประเทศ มีเพียงบางประเทศเท่านั้นที่ยอมรับ เช่น ประเทศใกล้บ้านเรา ลาว ก็ห้ามจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า , สิงคโปร์ กฎหมายห้ามนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้าประเภทของเล่น (Toy Cigarettes) ขณะที่ ประเทศที่มีกฎหมายเอื้อต่อการขายบุหรี่ไฟฟ้า หากดูประเทศเหล่านั้นอัตราการใช้ต่ำมาก ต่อให้ขาย แต่การใช้บุหรี่ไฟฟ้าก็น้อย ดังนั้น เราไม่ควรเอาบุหรี่ไฟฟ้ามาเป็นทางเลือก เราไม่สามารถเอางบประมาณ ที่ใช้รณรงเลิกบุหรี่ไปสู้กับการทำการตลาดอุตสาหกรรมยาสูบได้ เพราะเงินเราน้อยมาก แต่เราหยุดและถอยไม่ได้ การปรับพฤติกรรมคนเป็นเรื่องที่ยากมาก
นายพชรพรรษ์ ประจวบลาภ เลขาธิการสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย
สหรัฐฯ อนุมัติบุหรี่ไฟฟ้าเฉพาะรส-กลิ่นยาสูบดั้งเดิมเท่านั้น
นอกจากนี้ เหตุผลที่บุคคลที่สนับสนุนให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย อ้างคือ สำนักงานอาหารและยาสหรัฐอเมริกา (FDA) ได้อนุญาตให้มีการใช้และจำหน่ายได้อย่างถูกกฎหมาย เพราะสามารถทำให้ลดและเลิกบุหรี่ได้
เมื่อวันที่ 12 ต.ค. 2564 สำนักงานอาหารและยาสหรัฐฯ มีคำสั่งอนุมัติการขายบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศเป็นครั้งแรก โดยอนุญาตให้ทำการตลาดผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้า 3 ชนิดของบริษัท อาร์เจ เรย์โนลด์ส (RJ Reynolds) ภายใต้แบรนด์ Vuse Solo เฉพาะน้ำยาที่มีรสชาติหรือกลิ่นของยาสูบ ไม่ใช่รสหวานที่วัยรุ่นสหรัฐฯ นิยม
ตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา บุหรี่ไฟฟ้าถูกจำหน่ายอย่างกว้างขวางในสหรัฐฯ แม้จะไม่ได้รับอนุญาตให้ขายอย่างเป็นทางการก็ตาม แต่ในปัจจุบันมี หลายหน่วยงานออกมาแสดงความกังวลที่เกิดขึ้น เนื่องจากเยาวชนเริ่มหันมาทดลองบุหรี่ไฟฟ้า เป็นชนิดแรกเพิ่มขึ้น
ทำให้ สำนักงานอาหารและยาสหรัฐฯ จำเป็นจะต้องเข้ามาทำการศึกษาข้อดีและข้อเสียต่อสุขภาพของผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้าต่างๆ เป็นระยะเวลากว่า 1 ปี เพื่อตัดสินว่า บุหรี่ไฟฟ้าชนิดใดจะสามารถขายต่อไปได้
และในที่สุด ก็มีคำตัดสินว่า ประโยชน์ของบุหรี่ไฟฟ้าเฉพาะน้ำยาที่มีรสชาติหรือกลิ่นของยาสูบ มีผลต่อผู้ใหญ่ที่ต้องการเลิกบุหรี่ และมีน้ำหนักมากกว่าความเสี่ยงที่เยาวชนจะเสพติด
นาย มิตช์ เซลเลอร์ ผู้อำนวยการฝ่ายผลิตภัณฑ์ยาสูบของ สำนักงานอาหารและยาสหรัฐฯ กล่าวว่า ข้อมูลจากผู้ผลิตแสดงให้เห็นว่า ผลิตภัณฑ์รสชาติยาสูบ อาจเป็นประโยชน์ต่อผู้ใหญ่ที่ติดบุหรี่ ซึ่งต้องการเปลี่ยนมาใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ ไม่ว่าจะแค่ลดหรือหยุดการบริโภคบุหรี่ปกติอย่างสิ้นเชิง ด้วยการลดการสัมผัสกับสารเคมีที่เป็นอันตราย
แต่ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่อาจถอนคำสั่งอนุญาตได้ หากพบสัญญาณว่า กลุ่มคนที่ไม่เคยใช้ผลิตภัณฑ์ยาสูบมาก่อน โดยเฉพาะเยาวชน เริ่มหันมาใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และ บริษัท อาร์เจ เรย์โนลด์ส ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดเรื่องการโฆษณาผลิตภัณฑ์ทางโทรทัศน์และสื่อดิจิตอลอย่างเคร่งครัด
จากผลการตรวจสอบของ สำนักงานอาหารและยาสหรัฐฯ ระบุด้วยว่า กลุ่มประชากรวัยหนุ่มสาวมีโอกาสน้อยกว่าที่จะเริ่มใช้บุหรี่ไฟฟ้าที่มีรสชาติยาสูบ จากนั้นจึงเปลี่ยนไปใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีความเสี่ยงมากกว่า เช่น บุหรี่ที่ต้องใช้การเผาไหม้ นอกจากนี้ ข้อมูลยังชี้ด้วยว่า วัยรุ่นและผู้ใหญ่อายุน้อยส่วนใหญ่ที่ใช้บุหรี่ไฟฟ้า จะเริ่มจากรสหวานอย่างเช่น ผลไม้ ลูกอม หรือรสมินต์ ซึ่งสำนักงานอาหารและยาสหรัฐฯ ไม่อนุญาตผลิตภัณฑ์แต่งกลิ่นของ Vuse Solo อีกนับ 10 ชนิด แต่ไม่ระบุว่าเป็นรสใดบ้าง ซึ่งผลิตภัณฑ์เหล่านี้ควรถูกนำออกจากตลาด (เรียบเรียงจาก: Vaping: FDA approves e-cigarette in US for first time)
นอกจากนี้ บุหรี่ปกติ กว่าเราจะรับรู้ถึงโทษระยะยาวของมันก็กินเวลาหลายสิบปี ส่วนบุหรี่ไฟฟ้า เพิ่งถือกำเนิดขึ้นไม่กี่ปีที่ผ่านมา ยังไม่มีผลการศึกษาในระยะยาว ดังนั้นบุหรี่ไฟฟ้า ถือว่าเป็นสิ่งที่เสี่ยง และอันตรายต่อสุขภาพประชาชน ทำให้หลายประเทศทั่วโลกจึงยังไม่อนุญาต ด้วยเหตุผลที่ว่าต้องการปกป้องสุขภาพของประชากรในชาติ
แต่ทั้งนี้ หากในอนาคตมีการผลการศึกษาในระยะยาว แล้วพบว่ามีข้อดีมากกว่าข้อเสีย ไม่แน่ว่าหลายประเทศอาจจะมีการปรับกฎหมายเพื่อรองรับบุหรี่ไฟฟ้าก็เป็นได้
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage