แพทยสมาคมฯ ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงนายกฯ ปราม รมว.ดีอีเอสออกหน้าหนุนบุหรี่ไฟฟ้า ชี้ยังอันตรายต่อสุขภาพ สารนิโคตินยากต่อการควบคุม มีสารก่อมะเร็ง ยันหลายประเทศยังแบน ย้ำป้องกัน ดีกว่าแก้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 8 ต.ค. 2564 ศ.นพ.อมร ลีลารัศมี นายกแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับคณะแพทย์จากราชวิทยาลัย 14 แห่ง เครือข่าย วิชาชีพแพทย์ เครือข่ายวิชาชีพสุขภาพ และสมาพันธ์เครือข่ายวิชาชีพสุขภาพ ส่งจดหมายเปืดผนึกถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กรณี นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เสนอในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้พิจารณาบุหรี่ไฟฟ้าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ถูกกฎหมาย เมื่อวันที่ 28 ก.ย. 2564 โดยอ้างเหตุผลว่า อ.ย. สหรัฐ (US FDA) อนุญาตให้ IQOS เป็นผลิตภัณฑ์ยาสูบชนิด Modified Risk Tobacco Products (MRTP) และมีจำหน่ายแล้วใน 67 ประเทศ ระบุว่า
ทางแพทยสมาคมฯ ไม่เห็นด้วยกับประเด็นดังกล่าว พร้อมชี้แจงข้อมูลอันเป็นที่ประจักษ์ดังนี้
1. บุหรี่ไฟฟ้า (E Cigarette) เป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช่สินค้าปกติที่อุตสาหกรรมผู้ผลิตยาสูบผลิตขึ้นมาเพื่อเสริมการตลาด และทดแทนบุหรี่มวนจากใบยาสูบเดิมที่กําลังได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทําลายสุขภาพอย่างชัดเจนด้วยผลการวิจัยที่ดําเนินการอยู่ทั่วโลก
2. บุหรี่ไฟฟ้าเป็นผลิตภัณฑ์ที่นําเอาสารสกัดนิโคติน (Nicotine) จากใบยาสูบมาผสมในน้ำ โดยมีตัวทําละลายเพื่อให้น้ำมันที่ใช้สกัดสามารถกระจายอยู่ในน้ำได้ และเติมกลิ่นจากสารสกัดดอกไม้และผลไม้ทําให้มีกลิ่นหอม เพิ่มความนิยม
3. นิโคติน (Nicotine) เป็นสารเสพติด (Potent Addictive) และมีผลทําให้เกิดการอักเสบและตีบตันของ หลอดเลือดในระบบการไหลเวียนและหัวใจ (Cardio vascular System)
4. ในน้ำยาที่ใช้ควบคู่กับบุหรี่ไฟฟ้า (E juice หรือ E liquid) และกระบวนการเผาไหม้จากขดลวดให้ความร้อน มีสารก่อมะเร็งหลายชนิดเกิดขึ้นด้วย
5. สารนิโคติน (Nicotine) เป็นสารเสพติดที่ทําให้ผู้ใช้เสพติดแล้วจะมีโอกาสเลิกได้ยากมาก และเป็นสาเหตุของการเกิดโรคต่างๆ ที่ต้องการการรักษาที่มีราคาแพงและเรื้อรัง ทําลายสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะเยาวชน และผู้ใช้ผลิตภัณฑ์นี้ รวมทั้งผู้ใกล้ชิดที่จะได้รับไอสารพิษนี้ร่วมด้วย
6. จํานวนความเข้มข้นของสารนิโคติน (Nicotine) ในน้ำยาที่ใช้สูบ (E juice หรือ E Liquid) มีแตกต่างกัน และยากต่อการควบคุม ยิ่งเข้มข้นมากการติดยายิ่งรุนแรง และโรคที่เกิดจากสารนิโคตินนี้ก็จะมีความรุนแรงไปด้วย
7. อุตสาหกรรมผู้ผลิตบุหรี่ไฟฟ้ามีการดําเนินการทางการตลาดเพื่อขยายผลการจําหน่ายในหลายรูปแบบ เช่น
7.1 ให้ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ เช่น ให้ข้อมูลว่าบุหรี่ไฟฟ้าสามารถใช้ทดแทนและทําให้สามารถเลิกบุหรี่มวนได้ แต่ไม่ได้กล่าวต่อให้ครบว่า แล้วเมื่อเปลี่ยนมาติดบุหรี่ไฟฟ้าแล้วจะเลิกอย่างไร?
7.2 โฆษณาสินค้าด้วยการสร้างรูปแบบอุปกรณ์ ทั้งรูปร่าง สีสัน และกลิ่น ให้เป็นที่ดึงดูด เป็นแฟชั่น เป็นการชักนําเยาวชนเข้าเป็นลูกค้า
7.3 ทําการโฆษณาสินค้าในสื่อ Online ที่เย้ายวนให้มีการใช้ในเยาวชน
8. มีข้อมูลที่ชัดเจนจากประเทศที่อนุญาตให้มีการสูบแบบถูกกฎหมาย เช่น สหรัฐอเมริกา ว่าเยาวชนมีการใช้บุหรี่ไฟฟ้ามากขึ้นทั้งในระดับมัธยมต้น และมัธยมปลาย โดยที่เยาวชนเหล่านี้ไม่ใช่นักสูบหน้าเก่า (ผู้เคยสูบบุหรี่มวนมาก่อน) แต่ล้วนเป็นนักสูบหน้าใหม่ อันเป็นผลจากการให้ข้อมูลและการประชาสัมพันธ์ที่มอมเมาเยาวชนทั้งสิ้น นอกจากนั้นในกลุ่มนี้ยังพบว่าส่วนหนึ่งกลายเป็นผู้ที่มีการสูบควบกันทั้ง 2 อย่าง (Dual Smokers) ในที่สุด
9. ผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า มิใช่ผู้ที่สูบบุหรี่มวนอยู่เดิมและต้องการเลิกสูบเท่านั้น แต่ยังมีอีกเป็นจํานวนมากที่ได้รับอิทธิพลจากการตลาดและการที่สามารถเข้าถึงและหาซื้อได้ของบุหรี่ไฟฟ้า และทําให้กลายเป็นผู้ติดยาเสพติดนิโคติน (Nicotine) จากบุหรี่ไฟฟ้า โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชนที่มักได้รับการยั่วยุได้ง่าย
10. บุหรี่ไฟฟ้าไม่เพียงแต่สร้างผลเสียต่อประเทศชาติในทางเศรษฐกิจ (ประชาชนต้องหาซื้อ หรือเจ็บป่วยขาดความสามารถในการทํางาน) ยังสร้างผลร้ายต่อการรักษาสุขภาพของประชาชน และรัฐฯ ต้องมีค่ารักษาพยาบาลจากโรคอันเกิดจากพิษภัยของนิโคติน (Nicotine) ในบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าด้วย
11. ประเทศไทยได้มีการลงนามในความร่วมมือกับอีก 181 ประเทศ ในข้อตกลงความร่วมมือ FTCT ของ WHO ไว้แล้วที่จะร่วมมือกันลดจํานวนคนสูบบุหรี่
แพทยสมาคมฯ ขอขอบพระคุณนายกรัฐมนตรี ที่มีวิสัยทัศน์ในการปกป้องสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะ เยาวชน โดยไม่เปิดโอกาสให้มีการพิจารณาเรื่องที่ รมว.ดิจิทัลฯ เสนอ และขอเรียนเพิ่มเติมว่า คณะแพทย์และบุคลากรด้านสาธารณสุขและสุขภาพมีความภาคภูมิใจที่ประเทศไทยโดย ครม.ได้กรุณาพิจารณาและผ่านกฎหมาย พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 กฎกระทรวง พาณิชย์ และประกาศต่างๆ มาบังคับใช้ เพื่อปกป้องให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดี
ส่วนในกรณีที่ รมว.ดิจิทัลฯ อ้างถึงว่ามี 67 ประเทศอนุญาตให้มีการจําหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าได้นั้น เราขอให้ท่านได้กลับไปทบทวนคําอนุญาตของประเทศเหล่านั้นว่า แต่ละประเทศล้วนมีข้อแม้ และข้อบ่งชี้ในการใช้ทั้งสิ้น มิใช่ขายได้อย่างอิสระ และยังมีประเทศอีกเป็นจํานวนมากที่ไม่อนุญาต (Ban) ให้มีการจําหน่าย ด้วยเหตุผลว่าต้องการปกป้องสุขภาพของประชาชนด้วยกระบวนการ ป้องกัน ดีกว่าแก้
ดังนั้น แพทยสมาคมฯ และองค์กรร่วม จึงขอคัดค้านอย่างเต็มที่ในการที่จะมีการพิจารณาให้มีการยกเลิกประกาศของกระทรวงพาณิชย์ในการห้ามนําเข้า และจําหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย และขอเชิญชวนให้มีการต่อต้านการสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อรักษาสุขภาพให้แข็งแรง เป็นกําลังในการช่วยกันพัฒนาประเทศชาติต่อไป
ส่วนการเลิกสูบบุหรี่นั้นไม่จําเป็นต้องพึ่งหรืออาศัยบุหรี่ไฟฟ้า หากต้องการเลิกสูบจริงๆ ทางเครือข่าย วิชาชีพสุขภาพเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่และเครือข่ายต่างๆ มีวิธีการและกําลังดําเนินการช่วยเหลืออยู่อย่างเต็มกําลัง ทั้งให้คําปรึกษา และการจัดหายาเลิกบุหรี่ให้ ท่านสามารถปรึกษาได้ที่สายด่วนเลิกบุหรี่ โทรศัพท์ 1600 (โทร.ฟรีทุกเครือข่าย) คลินิกฟ้าใส 544 แห่งทั่วประเทศ และที่หน่วยบริการทางการแพทย์ทุกแห่ง ที่ต้องรีบทําก่อนคือ การบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด และต้องให้ความกระจ่างที่ชัดเจนแก่ประชาชนทั้งที่สูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าอยู่แล้ว หรือยังไม่เคยสูบ ตระหนักว่าสิ่งที่ร่างกายต้องการจากลมหายใจเข้าปอดคือ อากาศบริสุทธิ์ เท่านั้น
ท้ายสุดนี้ อยากเรียนฝากนายกรัฐมนตรีให้ช่วยปรามรมว.ดิจิทัลเพื่อ เศรษฐกิจและสังคมในเรื่องการพิจารณาให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ถูกกฎหมาย เนื่องจากรัฐบาลภายใต้การนำของท่าน ทั้ง รมว.พาณิชย์ และ รมว.สาธารณสุขต่างยืนยันนโยบายไม่นาเข้าบุหรี่ไฟฟ้า
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage