"..นับตั้งแต่ปี 2562 จนถึงปัจจุบัน กมธ.ป.ป.ช. มีเรื่องร้องเรียนเข้ามาให้ตรวจสอบไม่ต่ำกว่า 500 เรื่อง หลายประเด็นตรวจสอบจนได้ข้อยุติ แต่ก็มีอีกหลายเรื่องที่ยังคงเดินหน้าตรวจสอบรายละเอียดเช่นเดียวกัน สำหรับโค้งสุดท้ายมีประเด็นใดบ้างที่ต้องจับตา ? สำนักข่าวอิศราสัมภาษณ์พิเศษ ‘ประเดิมชัย บุญช่วยเหลือ’ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย และ ‘ธีรัจชัย พันธุมาศ’ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล 2 ขุนศึก - ประธานอนุกรรมาธิการ ป.ป.ช. เปิดโผเรื่องร้องเรียนทุจริตที่ต้องติดตามในปีนี้..."
ราชกิจจานุเบกษา แพร่พระราชกฤษฎีกา เรียกประชุมรัฐสภาสมัยประชุมสามาญประจำปีครั้งที่สอง พ.ศ.2564 โดยมีกำหนดวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564
นับเป็นช่วงโค้งสุดท้ายในการทำหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ที่หลายฝ่ายยังคงปฏิบัติหน้าที่กันอย่างเข้มข้น
โดยเฉพาะคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ หรือ กมธ.ป.ป.ช. ที่พลตำรวจเอกเสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย เป็นประธาน ที่ยังเรียกบุคคล-เอกสาร ลุยสอบทุจริตกันอย่างต่อเนื่อง
นับตั้งแต่ปี 2562 จนถึงปัจจุบัน กมธ.มีเรื่องร้องเรียนเข้ามาให้ตรวจสอบไม่ต่ำกว่า 500 เรื่อง หลายประเด็นตรวจสอบจนได้ข้อยุติ แต่ก็มีอีกหลายเรื่องที่ยังคงเดินหน้าตรวจสอบรายละเอียดเช่นเดียวกัน
สำหรับโค้งสุดท้ายมีประเด็นใดบ้างที่ต้องจับตา ?
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สัมภาษณ์พิเศษ ‘ประเดิมชัย บุญช่วยเหลือ’ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย และ ‘ธีรัจชัย พันธุมาศ’ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล 2 ขุนศึก - ประธานอนุกรรมาธิการ ป.ป.ช. เปิดโผเรื่องร้องเรียนทุจริตที่ต้องติดตามในปีนี้
3 เรื่องเก่าต้องได้ข้อสรุป
ประสาน กต.ขอซีเรียลนัมเบอร์นาฬิกาหรู ‘บิ๊กป้อม’
กรณีการครอบครองนาฬิกาหรูของ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่แม้ว่าก่อนหน้านี้ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จะตีตกคดีนี้ไปแล้ว
แต่ นายประเดิมชัย กล่าวว่า ที่ประชุมได้มีมติขอให้ประธานทำหนังสือถึงกระทรวงการต่างประเทศ ขอให้ทำหนังสือถึงบริษัทผู้จัดจำหน่ายนาฬิกา เพื่อร้องขอซีเรียลนัมเบอร์นาฬิกาหรูทุกเรือนของพลเอกประวิตร เพื่อนำมาตรวจสอบและยืนยันความเป็นเจ้าของ โดยคาดว่า หากได้ข้อมูลจากต่างประเทศ จะทำให้การตรวจสอบค้นพบประเด็นใหม่เกี่ยวกับเรื่องนี้
’บิ๊กตู่’กับบ้านพักทหาร ค่าน้ำ-ค่าไฟเกิน 3 พันบาทหรือไม่
แม้ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยว่า การอาศัยในบ้านพักทหาร ของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
แต่นายธีรัจชัย บอกว่า กมธ.ยังมีประเด็นที่ต้องตรวจสอบต่อ เนื่องจากมีคำร้องเข้ามาเกี่ยวกับการใช้งบประมาณของกองทัพ ในการจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ว่ามีมูลค่าเกิน 3,000 หรือไม่
“เรื่องนี้ เราค่อนข้างมีความชัดเจนพอสมควรว่าเกิน 3,000 บาทหรือไม่ ขอให้ติดตามกันอย่างใกล้ชิด ตอนนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบระเบียบและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง” นายธีรัจชัย กล่าว
สินบน ‘โตโยต้า’ หมื่นล้าน
อีกเรื่องที่อยู่ในความสนใจของประชาชน คือกรณีเว็บไซต์ต่างประเทศ เผยแพร่ข้อมูลลับกรณีบริษัท โตโยต้า คอร์ปฯ รายงานต่อคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (SEC) รวมถึงกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ (DOJ) เมื่อ เม.ย. 2563 ว่า มีความเป็นไปได้ว่าบริษัทลูกแห่งหนึ่งของโตโยต้าในไทย อาจกระทำการละเมิดกฎหมายต่อต้านการติดสินบน (Anti-Bribery Laws) ของสหรัฐฯ ที่มีการนำเสนอผ่านสื่อมาอย่างต่อเนื่อง
นายธีรัจชัย กล่าวว่า กรณีนี้ กมธ.ได้แถลงข่าวล่าสุดเมื่อเดือนกันยายน 2564 ซึ่งได้เชิญกรรมการผู้จัดการใหญ่ของบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด มาให้ข้อมูล จากนั้นยังได้เชิญผู้เกี่ยวข้องจากหลายฝ่ายมาให้ข้อมูล ขระนี้อยู่ระหว่างขอเอกสารมาประกอบการพิจารณา พร้อมยืนยันว่า การพิจารณาในชั้น กมธ.พร้อมให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย
“เรื่องนี้กระทบต่อกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย เรื่องนี้จริงหรือไม่ ผมไม่ทราบ แต่หากไม่จริง ผมเชื่อว่าฝ่ายสหรัฐฯต้องรับผิดชอบในสิ่งที่กล่าวหานี้เหมือนกัน แต่ถ้าจริงก็ต้องดำเนินการอย่างตรงไปตรงมาให้หลักบ้านเมืองมีขึ้นมา ขอยืนยันว่า กมธ.ไม่ได้มีธง แต่ต้องการทำความจริงให้ปรากฏเท่านั้น” นายธีรัจชัย กล่าว
-
isra-Why? ทรงพล อันนานนท์ : ค่าจ้างคดีพรีอุส 360 ล. ไม่ใช่เงินส่วนที่จ่ายผมเจ้าเดียวแน่
-
ผู้บริหาร'โตโยต้า'พบ กมธ.แจงคดีสินบนหมื่นล.รับจ่าย 18 ล้านเหรียญฯให้ สนง.กฎหมายจริง
6 เรื่องใหม่ลุยสอบตั้งแต่เปิดสภา
พิรุธจัดซื้อเทคโนโลยีสืบสวนเครือข่ายนักค้ายาเสพติด
นายประเดิมชัย กล่าวว่า อีกหนึ่งประเด็นใหม่ที่จะเริ่มดำเนินการตรวจสอบในปีนี้ คือเรื่องร้องเรียนขอให้ตรวจสอบเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) กรณีจัดตั้งศูนย์ป้องกันและปราบปรามยาเสพติดทางไซเบอร์ ที่มีการจัดซื้อจัดจ้างเครื่องมือเพื่อดำเนินโคตรงการจัดหาระบบเทคโนโลยีการสืบสวนนักค้ายาเสพติด โดยวิธีพิเศษส่อไปในทางทุจริต ซึ่งมีมูลค่ากว่า 200 ล้านบาท
นายประเดิมชัย ตนได้รับมอบหมายจากประธานให้รับผิดชอบเรื่องนี้ และเป็นหนึ่งในเรื่องสำคัญที่ตั้งใจจะสืบสวนขยายผลตั้งแต่เปิดสมัยประชุมสภาประจำปีนี้ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างประมวลรายละเอียดเพื่อเสนอรายชื่อบุคคลที่ กมธ.จะเรียกมาให้ข้อมูลต่อไป
แกะรอยงบ ‘มหาดไทย’ แก้ท่วม-แล้ง 4 หมื่นล้านต่อปี
อีกหนึ่งประเด็นที่ นายประเดิมชัย จะลุยตรวจสอบในปีนี้ ว่าด้วยเรื่องโครงการแก้ปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้ง ที่มีเรื่องเกี่ยวพันกับ 3 กรมในกระทรวงมหาดไทย คือ กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กรมการพัฒนาชุมชน และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.)
นายประเดิมชัย กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ กมธ.ได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาจัดซื้อจัดจ้างในโครงการแก้ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งเข้ามาเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นการร้องเรียนเกี่ยวกับการขออนุมัติงบประมาณขุดลอกคูคลอง วงเงินไม่เกิน 5 แสนบาท ล่าสุด กมธ.จะหยิบเรื่องร้องเรียนที่ จ.เพชรบูรณ์ มาเริ่มต้นแสวงหาข้อเท็จจริงด้วยการเชิญผู้ร้องมาให้ข้อมูล และเมื่อฟังข้อมูลจากผุ้ร้องแล้ว ก็จะเชิญหน่วยงานทีเกี่ยวข้องมาชี้แจง ก่อนที่จะขยายผลไปถึงการชี้แจงภาพรวมการใช้จ่ายงบประมาณลักษณะเดียวกันใน 3 กรมของกระทรวงมหาดไทยต่อไป
“เรื่องที่ร้องเรียนมาแบบนี้ ไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่ถ้าดูภาพรวมจะพบว่ามีโครงการลักษณะนี้อยู่ทั่วประเทศ ที่เฉพาะหน่วยงานในกระทรวงมหาดไทย พบว่ามีการใช้งบประมาณเฉลี่ยปีละ 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งผมตั้งใจว่าจะตรวจสอบการใช้โครงการแบบนี้ใน 3 ปีงบประมาณคือ ปี 2562-2564” นายประเดิมชัย กล่าว
ลุยสอบ วธ.โครงการจ้างทำหีบ โกศ ฉัตรตั้ง
อีกประเด็นที่ กมธ.ให้ความสนใจ คือ กรณีจัดซื้อจัดจ้างงานตามโครงการทำเครื่องเกียรติยศประกอบศพ และจัดทำโต๊ะหมู่พร้อมอุปกรณ์ในภารกิจพิธีการศพที่ได้รีบพระราชทานประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ส่อไปในทางทุจริต ซึ่งเป็นประเด็นที่สำนักข่าวอิศรา ได้นำเสนอมาอย่างต่อเนื่อง
นายประเดิมชัย กล่าวว่า ที่ประชุมได้ทำหนังสือถึงกรมพัฒนาธุรกิจการค้าไปเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน เพื่อขอเอกสารที่เกี่ยวข้องกับ 6 บริษัทที่เป็นคู่เทียบในโครงการดังกล่าว คาดว่าจะใช้เวลาดำเนินการประมาณ 30 วัน จากนั้นจะขอมติเพื่อเชิญอดีตปลัดกระทรวงวัฒนธรรมมาให้ข้อมูลต่อไป
-
วธ.จ้างทำหีบ โกศ ฉัตรตั้ง พระราชทาน 479 ล.- บ.ป้ายแดง ตั้งใหม่ 2 ด.เศษคว้างาน!
-
'สิริประดิษฐ์' คัมแบ็ก! วธ. จ้างทำหีบ โกศ ฉัตรตั้ง พระราชทาน 108 ล.
ประเดิมชัย บุญช่วยเหลือ ส.ส.กทม. เพื่อไทย
เตรียมเรียก รฟท.-กรมที่ดิน แจงปม ‘เขากระโดง’
เมื่อเดือน ก.ย.2564 มีผู้ยื่นหนังสือร้องเรียนเข้ามาที่ กมธ.ขอให้ตรวจสอบการไม่ดำเนินการของการรถไฟแห่งประเทศไทย กรณีที่ดินเขากระโดง อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ ที่ศาลมีคำพิพากษาว่าเป็นกรรมสิทธิ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย
เรื่องนี้ นายประเดิมชัย เปิดเผย หลังจากรับเรื่องเดือน ก.ย.2564 ขณะนี้ได้บรรจุระเบียบวาระในที่ประชุมแล้ว อยู่ระหว่างการประมวลเรื่องว่าจะเชิญใครมาให้ข้อมูลบ้าง ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าอาจจะเริ่มต้นที่ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และ กรมที่ดิน
ตั้งเรื่องสอบแผนบริหารจัดการวัคซีนโควิด
นายธีรัจชัย เปิดเผยว่า เรื่องใหม่ที่ กมธ.จะดำเนินการตรวจสอบในสมัยประชุมนี้ คือ เรื่องขอให้ตรวจสอบเจ้าพนักงานของรัฐ กรณีจัดหา การจัดซื้อ การฉีด และการบริหารจัดการเกี่ยวกับวัคซีนป้องกันโควิด อาจเข้าข่ายการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งเป็นการขยายผลจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งก่อน
นาธีรัจชัย กล่าวด้วยว่า เบื้องต้น กมธ.วางแผนที่จะเชิญ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล , นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และอาจรวมถึง นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้ามาให้ข้อมูลด้วย ทั้งนี้อาจมีแผนเชิญนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลต่อไป
ลุยสอบแจกเงิน ส.ส. 5 ล้านบาท
อีกเรื่องที่เป็นผลสืบเนื่องจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจ คือ กรณีที่ฝ่ายค้านขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงข้อกล่าวหา ส.ส.รับเงิน 5 ล้านบาทจากนายกรัฐมนตรี
นายธีรัจชัย เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาได้เชิญ นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทยมาให้ข้อมูลแล้ว และมีการนำคลิปวีดีโอที่เกี่ยวกับการพุดคุยของ ส.ส.ในพรรคการเมืองใหญ่ มาแสดงต่อ กมธ.ด้วย
จากนี้ กมธ.จะนำหลักฐานที่ได้มาไปพิสูจน์ตามกระบวนการนิติวิทยาศาสตร์ เพื่อยืนยันหลักฐานต่อไป อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ กมธ.กำชับให้ดำเนินการเป็นความลับ เพราะเป็นเรื่องสำคัญ
8 เรื่อง รอเผยแพร่รายงานสรุปฉบับเต็ม
สำหรับเรื่องที่อนุ กมธ. อยู่ระหว่างการจัดทำรายงาน พร้อมนำเสนอต่อสาธารณะในสมัยประชุมสภา มีหลายประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้
ทุจริตงบบัตรทอง 600 ล้านบาท
กรณีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ตรวจพบว่าปี 2562 มีกระบวนการทุจริตการเบิกจ่ายค่าคัดกรองโรคกลุ่มเมตาบอลิกจากจากบัตรทอง โดยมีคลินิกและโรงพยาบาลกว่า 190 แห่งเข้าไปเกี่ยวข้อง ที่ สปสช.จะต้องมีการเรียกคืนเงิน 300 กว่าล้านบาท นอกจากนี้ยังมีค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบกระบวนการดังกล่าวอีก 300 กว่าล้านบาท ที่ สปสช.จะเรียกเก็บกับคลินิกและโรงพยาบาลที่เกี่ยวข้องต่อไป
นายประเดิมชัย กล่าวว่า กรณีนี้ กมธ.ได้ติดตามมาตั้งแต่เริ่มต้น จนนำไปสู่ผลลัพธ์ในปัจจุบัน อย่างไรก็ตามยังไม่ได้เสนอให้มีการยุติเรื่อง เพราะยังต้องติดตามกระบวนการตรวจสอบอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะ กรณีค่าเสียหายรวม 600 กว่าล้านบาท รวมถึงกระบวนการเอาผิดกับผู้เกี่ยวข้อง 9 คน เป็น อดีตบอร์ด สปสช. 3 คน และคณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพระดับเขตพื้นที่ (อปสข.) เขต 13 กทม. จำนวน 6 คน ที่บอร์ด สปสช.อยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะเสนอเรื่องให้ ป.ป.ช.พิจารณาตรวจสอบหรือไม่
สอบจริยธรรม ‘ธรรมนัส’
ประเด็น ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า อดีต รมช.เกษตรและสหกรณ์ ที่เป็น ส.ส.พะเยา และเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยว่า ไม่พ้นสภาพความเป็น ส.ส.และรัฐมนตรี กรณีต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติด ในความผิดฐานเป็นผู้ผลิต นำเข้า ส่งออก หรือผู้ค้าตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์รัฐนิวเซาท์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย ลงโทษจำคุกเป็นเวลา 6 ปี
แม้กระบวนการจะจบลงแล้ว แต่ กมธ.ป.ป.ช. ยังอยู่ระหว่างการจัดทำรายงานสรุปอีกประเด็นสำคัญ ว่าด้วยเรื่องมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 234 (1)
อย่างไรก็ตาม นายธีรัจชัย ยอมรับว่า ความสนใจเกี่ยวกับเรื่องนี้อาจถูกลดทอนลงไป หลังจาก ร.อ.ธรรมนัส พ้นจากความเป็นรัฐมนตรีไปแล้ว
“หากวันนึงประเทศเราเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริงโดยไม่มีอำนาจแฝง สิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวยืนยันว่าใครเหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่งทางการเมืองในระดับสูงได้ ใครไม่ควรจะเป็นได้ ก็จะเป็นการสร้างบรรทัดฐานทางการเมืองที่ดีต่อไป” นายธีรัจชัย กล่าว
ธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล
ต้นปี 65 สรุปปมสอบสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ
นายธีรัจชัย เล่าว่า อยู่ระหว่างศึกษาประมวลเรื่อง ซึ่งเหลือเรียกบุคคลที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลอีกไม่กี่ปากก็จะจบกระบวนการ ขณะเดียวกันได้มอบหมายให้คณะทำงานเขียนรายงานสรุปไว้แล้วบางส่วน คาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงต้นปี 2565
“เรื่องนี้มีประเด็นหลายอย่างชัดเจนและล่อแหลมมาก แต่เราไม่ค่อยได้ออกข่าวเท่านั้นเอง ค่อนข้างมีประเด็นที่แหลมคม เชื่อว่าเปิดเผยออกมาน่าจะมีอะไรที่ฮือฮาพอสมควร” นายธีรัจชัย กล่าว
ตรวจสอบการกักตุน-ลักลอบขายหน้ากากอนามัย
เป็นอีกเรื่องที่สังคมให้ความสนใจในช่วงที่หน้ากากอนามัยขาดแคลน ที่แม้ว่ารัฐจะออกมากำกับดูแล แต่พบว่ามีกระบวนการกักตุนและลักลอบนำหน้ากากอนามัยไปขายต่างประเทศ
นายธีรัจชัย ระบุว่า กมธ.ได้เชิญผู้เกี่ยวข้องตั้งแต่รัฐมนตรี จนถึงข้าราชการมาให้ข้อมูลเป็นจำนวน จนได้พิจารณาจนเสร็จสิ้น และอยู่ระหว่างเขียนรายงานสรุป ซึ่งสุดท้ายจะชี้ให้เห็นว่า ความผิดปกติของราคาหน้ากากอนามัยที่สูงขึ้นเป็นอย่างไร มีการนำเข้า ส่งออกในช่วงเวลานั้นอย่างไร
ทุจริต 400 ล้านบาทสหกรณ์ออมทรัพย์ครูขอนแก่น
นายธีรัจชัย เปิดเผยว่า เป็นเรื่องที่ กมธ.ติดตามมาเป็นปี และทราบว่ามีเรื่องส่งฟ้องศาลด้วย ขณะนี้อยู่ระหว่างขอหนังสือยืนยันจากตำรวจว่ามีการฟ้องร้องกันข้อหาอะไร และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ก็อยู่ระหว่างดำเนินการตรวจสอบ ซึ่งเรื่องนี้ กมธ.อยู่ระหว่างสรุปรายงานเสนอต่อสาธารณะเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม กมธ.จะยังไม่ยุติเรื่อง แต่จะใช้กลไกในสภา เพื่อกำกับติดตามการตรวจสอบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
เกาะติด-เอาผิดสั่งไม่ฟ้อง ‘คดีบอส’
กรณีอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้อง คดีที่นายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือ บอส ขับรถชนตำรวจเสียชีวิตเมื่อปี 2555 ที่แม้ว่าเรื่องจะเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปแล้วนั้น
อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ กมธ.จะยังไม่ยุติเรื่อง แต่จะใช้กลไกในสภา เพื่อกำกับติดตามการตรวจสอบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขณะเดียวกันหลังจากเปิดสภา 1 พฤศจิกายน 2562 นายธีรัจชัย ได้ยื่นกระทู้ถามนายกรัฐมนตรี ซึ่งปัจจุบันได้บรรจุระเบียบวาระ และนายกรัฐมนตรีมอบหมายให้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้มาตอบคำถาม
แกนนำม็อบราษฎรถูกย้ายยามวิกาล
สืบเนื่องจากช่วงมีนาคม 2564 แกนนำม็อบราษฎรที่ถูกคุมขังในเรือนจำ 11 คน แต่ต่อมามีเหตุการณ์ควบคุมตัวผู้ต้องขังออกนอกแดนคุมขังในยามวิกาล โดยอ้างว่าเป็นการนำตัวไปตรวจหาเชื้อโควิด
นายธีรัจชัย เปิดเผยว่า ช่วงที่ผ่านมาคณะทำงานได้ศึกษาระเบียบและข้อกฎหมายได้ค่อนข้างชัดเจน และอยู่ระหว่างรวบรวมประมวลผล โดยคาดว่าจะสรุปเป็นรายงานนำเสนอต่อสาธารณะได้ก่อนสิ้นปี 2564
ถกข้อกฎหมาย-ธรรมาภิบาล ป.ป.ช.
ประเด็นตรวจสอบระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ข้อ 35 แตกต่างจาก พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ 2561 มาตรา 158 วรรคสอง ประกอบมาตรา 43 เป็นการออกระเบียบที่ทำให้ ป.ป.ช.มีอำนาจเหนือเจ้าหน้าที่ซึ่งขัดต่อหลักธรรมาภิบาล
นายธีรัจชัย กล่าวว่า เรื่องนี้มีการถกเถีงกันอย่างกว้างขวาง ความเห็นของแต่ละฝ่ายไม่ว่าจะสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา อัยการ รวมถึง ป.ป.ช. รวมถึงฝ่ายผู้ร้อง ต่างถกเถียงโต้แย้งกันอย่างแหลมคม เป็นปัญหาที่ต้องพิจารณาในเชิงข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง โดยขณะนี้อยู่ระหว่างเขียนรายงาน เพื่อเสนอให้ที่ประชุม กมธ.ลงมติต่อไป
เป็น 17 เรื่องเด่นที่ กมธ.ปราบโกงจะลุยสอบตั้งแต่เปิดสมัยประชุมสภานี้ ผลสอบจะนำไปสู่ผลลัพธ์อย่างไร ยังเป็นเรื่องที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด!
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage