"..องค์การอนามัยโลกเตือนวิกฤติโควิด-19 อาจจะลากยาวไปจนถึงปี 2565 เนื่องจากประเทศยากจนยังไม่สามารถเข้าถึงวัคซีนได้อย่างทั่วถึง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการป้องกันโควิด-19 สวนทางกับบางประเทศที่มีวัคซีนเหลือทิ้ง.."
เป็นระยะเวลาเกือบ 2 ปี ที่เชื้อไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาดไปทั่วโลก นอกจากการรักษามาตรการส่วนบุคคลแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการใส่หน้ากากอนามัย เว้นระยะห่างทางสังคม
หลายประเทศฝากความหวังไว้กับ 'วัคซีน' เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ในกลุ่มประชากร ซึ่งถือเป็นวิธีที่จะหยุดยั้งการแพร่ระบาดครั้งนี้
'วัคซีน' จึงถือว่าเป็นอาวุธสำคัญในการต่อสู้พิชิตเชื้อไวรัสร้ายนี้ แต่ปัญหาวัคซีนมีไม่เพียงพอต่อความต้องการที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ สวนทางกลับบางประเทศ ที่มีข้อมูลระบุว่า มีวัคซีนหมดอายุ-เหลือทิ้งโดยไม่ได้ใช้งานเป็นจำนวนมาก
นายสเตฟาน ดูจาริค โฆษกสหประชาชาติ (UN) ระบุว่า ปัญหาวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ใช้งานไม่หมดเกิดจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นการบริหาร การขาดการดูแลที่ดี และความไม่มั่นใจของประชนต่อการฉีดวัคซีน โดยสหประชาชาติพร้อมให้ความช่วยเหลือประเทศที่อาจใช้งานวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ได้ไม่หมด โดยจะให้การสนับสนุนด้านขนส่ง การใช้ระบบห่วงโซ่ความเย็น และช่วยแก้ไขปัญหาความลังเลในการรับวัคซีน
อย่างไรก็ตาม การช่วยเหลือจากสหประชาชาติต้องได้รับการร้องขอจากรัฐบาลของแต่ละชาติก่อน เนื่องจากเป็นกิจการภายในประเทศ
สำหรับปัญหาวัคซีนโควิด-19 เหลือทิ้งส่วนใหญ่เกิดขึ้นในประเทศร่ำรวย เช่น อิสราเอล ที่เตรียมทำลายทิ้งวัคซีนไฟเซอร์ 80,000 โดส ซึ่งหมดอายุเมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา
สหรัฐฯ ทิ้งวัคซีนกว่า 15 ล้านโดสใน 6 เดือน
จากข้อมูลการวิเคราะห์ของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ (CDC) ฉบับหนึ่งระบุว่า ในประมาณช่วง 6 เดือนระหว่าง มี.ค.-ก.ย. สหรัฐฯ มีการทิ้งวัคซีนโควิด-19 อย่างน้อย 15 ล้านโดส จากการตรวจสอบ พบว่า มีปริมาณวัคซีนเหลือทิ้ง 1 ล้านโดสใน 10 รัฐระหว่างเดือน ธ.ค.-ก.ค.
หลายรัฐทั่วสหรัฐฯ ยังคงทิ้งวัคซีนโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าไวรัสยังคงระบาดระลอกที่ 4 ก็ตาม โดยวัคซีนที่ต้องสูญเสียหรือทิ้งไป บางส่วนเกิดจากการเปิดขวดแล้วใช้ไม่หมด และมีบางส่วนที่หมดอายุ
นอกจากนี้ ยังมีเหตุผลอื่นๆ อีก เช่น อุบัติเหตุขวดวัคซีนแตก ขนาดปริมาณไม่ตรงตามกำหนด เข็มฉีดยาทำงานผิดปกติ ตู้แช่แข็งพัง หรือไฟฟ้าดับ หรืออีกเหตุผลที่พบบ่อยครั้ง คือ คนที่จองวัคซีนไว้ไม่มาตามนัด เพราะลังเลในการฉีดวัคซีน เป็นต้น
เฉพาะรัฐหลุยเซียนา ทิ้งวัคซีนโควิด-19 ที่ไม่ได้ใช้ไปแล้วถึง 224,000 โดส ซึ่งเป็นอัตราที่เพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่าตั้งแต่ปลายเดือน ก.ค. แม้ว่าไวรัสโควิด-19 จะระบาดระลอกที่ 4 ก็ตาม สำหรับวัคซีนที่สูญเสียไปบางส่วนมาจากการเปิดขวดแล้วใช้ไม่หมด แต่มีมากกว่า 20,000 โดสที่หมดอายุ
ขณะที่ ในรัฐเทนเนสซีมีการทิ้งวัคซีนไปแล้วเกือบ 200,000 โดส ส่วนในแอละแบมามีการทิ้งวัคซีนมากกว่า 65,000 โดส แต่ทั้งนี้ ปริมาณวัคซีนที่สูญเสียไป คิดเป็นสัดส่วนเพียงเล็กน้อยของจำนวนนัดฉีดงวัคซีนของแต่ละรัฐ เช่น รัฐลุยเซียนา มีการฉีดวัคซีนสำเร็จ 4.4 ล้านโดส
ข่าววัคซีนโควิด-19 ที่เสียเปล่าในสหรัฐฯ นี้ เกิดขึ้นท่ามกลางสถานการณ์ที่ประชาชนในประเทศยากจนหลายประเทศยังคงรอวัคซีนเข็มแรกอยู่ มีเพียง 1% ของประชากรในประเทศที่มีรายได้ต่ำเท่านั้นที่ได้รับวัคซีนเข็มแรก ซึ่งน้อยกว่าอย่างมาก เมื่อเทียบกับประเทศที่มีรายได้สูงไม่กี่ประเทศที่ส่วนใหญ่ประชากรได้รับวัคซีนเข็มแรกเกิน 50% แล้ว
ปริมาณวัคซีนที่ถูกทิ้งจำนวนมากเกิดขึ้นที่ร้านขายยา ในเดือน พ.ค. เครือข่ายร้านขายยา 2 แห่งได้ทิ้งวัคซีนโควิด-19 ไปมากกว่าที่รัฐและหน่วยงานรัฐบาลกลางของสหรัฐฯ ทิ้งรวมกันเสียอีก หรือคิดเป็น 3 ใน 4 ของวัคซีนที่ถูกทิ้งทั้งหมด โดยวัคซีนที่ทิ้งไปอย่างน้อย 7.6 ล้านโดส เกิดขึ้นจากร้านขายยาหลัก 4 เจ้า คือ Walgreens, CVS, Walmart และ Rite Aid
ก่อนเดือน มิ.ย. สำนักข่าว NBC News รายงานว่าสหรัฐฯ เกิดวัคซีนเสียเปล่ามากกว่า 2 ล้านโดส แต่ในช่วงฤดูร้อน ระหว่างเดือน มิ.ย.-ก.ย.ที่ผ่านมา ตัวเลขเหล่านี้เพิ่มขึ้นสูงกว่า 6 เท่า
จากข้อมูลจาก Our World in Data บ่งชี้ว่า ประชากรในทวีปแอฟริกาได้รับวัคซีนครบโดสแล้วเพียง 2.8% เท่านั้น ในทางกลับกันสหรัฐได้ให้วัคซีนแก่ประชาชนไปแล้วราว 440 ล้านโดส โดยมีผู้ได้รับวัคซีนครบโดสแล้วราว 53% ของประชากรทั้งประเทศกว่า 3 ร้อยล้านคน
เมื่อเผชิญกับสถานการณ์ความไม่เท่าเทียมกันในการเข้าถึงวัคซีนเกิดขึ้นทั่วโลก อีกหลายประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญกับวิกฤตขาดแคลนวัคซีน มันไม่ใช้เรื่องง่ายที่แต่ละรัฐจะบริจาควัคซีนที่ไม่ได้ใช้ได้ตามใจชอบ วัคซีนโควิด-19 ที่แจกจ่ายจากส่วนกลางไปยังรัฐต่างๆ แล้วไม่สามารถนำมาใช้ใหม่ได้ในระดับสากล เนื่องจากมีทั้งความกังวลเกี่ยวกับระบบราชการและความปลอดภัยเกี่ยวกับการจัดเก็บวัคซีนอย่างถูกต้อง
ก่อนหน้านี้ นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ให้คำมั่นว่า จะผลักดันให้ประชากรทั่วโลก 70% ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ภายในปีหน้า และมุ่งมั่นที่จะบริจาควัคซีนหลายล้านโดสเพื่อให้ต่างประเทศ
ฮ่องกงเหลือทิ้งวัคซีนโควิด-19 นับล้าน เหตุจากประชาชนฉีดน้อย
ฮ่องกง เป็นเพียงไม่กี่ชาติบนโลกที่สามารถจัดหาวัคซีนได้มากเพียงพอต่อความต้องการของประชากร โดยวัคซีนที่รัฐบาลจัดหามาเพื่อแจกจ่ายสำหรับประชาชน ให้สามารถเลือกได้คือ วัคซีนของไฟเซอร์กับซิโนแวค
แต่ก็เป็นอีกหนึ่งแห่งที่มีทิ้งวัคซีนโควิด-19 หลายล้านโดส เนื่องจากมีประชากรที่ลงทะเบียนแสดงความจำนงค์เข้ารับวัคซีนน้อย ทำให้มีวัคซีนเหลือใช้เป็นจำนวนมาก
เมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ทางการฮ่องกงออกมายอมรับว่า อาจต้องทำลายวัคซีนโควิด-19 นับล้านโดสทิ้งอย่างน่าเสียดาย เนื่องจากใกล้ถึงวันหมดอายุ
สำหรับสาเหตุที่ชาวฮ่องกงไม่ตื่นตัวที่จะเข้ารับการฉีดวัคซีน เกิดจากข้อมูลที่เกี่ยวกับวัคซีนซึ่งถูกบิดเบือนทางสื่อสังคมออนไลน์ และยอดผู้ติดเชื้อใหม่รายวันที่มีจำนวนน้อย ยิ่งทำให้ประชาชนจำนวนมากซึ่งมีทั้งลังเล กังขาในความปลอดภัย ไม่เห็นความจำเป็น ไปจนถึงการต่อต้านมาตรการฉีดวัคซีนของรัฐบาล จากกระแสความไม่พอใจของทางการฮ่องกงที่สืบเนื่องมาตั้งแต่เหตุการณ์ประท้วงเมื่อปี 2562 ต่อเนื่องจนถึงการจับกุมคุมขังนักเคลื่อนไหวและผู้เห็นต่างฝ่ายตรงข้าม
นายโทมัส ชาง (Thomas Tsang) อดีตผู้ตรวจการศูนย์ป้องกันสุขภาพฮ่องกง หนึ่งในคณะทำงานด้านวัคซีนของฮ่องกงออกมาเตือนว่า เหลือเวลาอีกแค่ 3 เดือนเท่านั้น ก่อนที่วัคซีนจากไฟเซอร์ล็อตแรกจะหมดอายุ ซึ่งถ้าหมดอายุแล้ว จะไม่สามารถนำกลับมาใช้งานได้อีก ฉะนั้นตามแผนที่วางไว้ศูนย์ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ในชุมชนจะยุติภารกิจในเดือน ก.ย.
นายโทมัส กล่าวว่า การที่ฮ่องกงสามารถเข้าถึงวัคซีนได้จำนวนมาก แต่นำมาเก็บไว้เฉยๆ โดยไม่ได้นำมาแจกจ่ายประชาชน ขณะที่ทั่วโลกในหลายประเทศยังมีวัคซีนไม่เพียงพอนั้น เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง
"วัคซีนล็อตใหม่ที่เตรียมรับมอบก็มีความเสี่ยงจะล่าช้าเนื่องจากผู้ผลิตจำเป็นต้องทยอยส่งมอบให้อีกหลายชาติ ฉะนั้น วัคซีนที่มีอยู่อาจเป็นทั้งหมดที่จะหาได้สำหรับปีนี้ โดยไม่มีมาเพิ่มอีก" นายโทมัส กล่าว
จนถึงขณะนี้ มีประชากรเพียง 19% ที่ฉีดวัคซีนไปแล้วอย่างน้อย 1 โดส ส่วนที่ฉีดครบ 2 โดสก็มีแค่ 14% จากจำนวนประชากรทั้งหมด 7.5 ล้านคน
โควิด-19 อาจลากยาวถึงปีหน้า หากไม่เร่งฉีดวัคซีนให้ประเทศรายได้น้อย
ดร.บรูซ เอิลเวิร์ด ที่ปรึกษาอาวุโสองค์การอนามัยโลก (WHO) กล่าวว่า วิกฤติโควิด-19 อาจลากยาวถึงปี 2565 เนื่องจากประชากรในแอฟริกาที่ได้วัคซีนแล้วยังมีสัดส่วนน้อยกว่า 5% เทียบกับประเทศอื่นๆ ส่วนใหญ่ผู้ที่ได้รับวัคซีนอยู่ที่ 40%
ขณะเดียวกัน ดร.บรูซ ได้เรียกร้องให้ประเทศร่ำรวยสละตำแหน่งในคิวสำหรับวัคซีน เพื่อให้บริษัทยาสามารถจัดลำดับความสำคัญของประเทศที่มีรายได้ต่ำแทน และกล่าวว่าประเทศที่ร่ำรวยจำเป็นต้องตรวจสอบวัคซีนที่อยู่ในภาระผูกพันในการบริจาคในการประชุมสุดยอด เช่น การประชุม G7 ในฤดูร้อนนี้
“เราจำเป็นต้องเร่งดำเนินการจริงๆ เนื่องจากโรคระบาดครั้งนี้จะดำเนินต่อไปนานกว่า 1 ปี กว่าที่ควรจะเป็น” ดร.บรูซ กล่าว
ขณะที่ พีเพิลส วัคซีน (Peopole's Vaccine) กลุ่มพันธมิตรเพื่อการกุศล รวมถึงอ็อกซแฟม (Oxfam) และยูเอ็นเอดส์ (UNAids) ระบุว่า วัคซีนโควิด-19 ที่ประเทศร่ำรวยได้ประกาศบริจาค และที่บริษัทยาที่ผลิตวัคซีนสามารถผลิตได้ทั้งหมดนั้น มีเพียง 1 ใน 7 โดสเท่านั้น ส่วนใหญ่อยู่ในประเทศที่มีรายได้สูงหรือรายได้ปานกลางระดับสูง แต่ในแอฟริกามีสัดส่วนเพียง 2.6% ของปริมาณวัคซีนทั่วโลก
นอกจากนี้ กลุ่มพันธมิตรเพื่อการกุศล ยังวิพากษ์วิจารณ์แคนาดาและสหราชอาณาจักรในการจัดหาวัคซีนสำหรับประชากรของตัวเองผ่านโครงการโคแว็กซ์ (Covax) ซึ่งเป็นโครงการระดับโลกที่ได้รับการสนับสนุนจากสหประชาชาติเพื่อแจกจ่ายวัคซีนอย่างเป็นธรรม
จากรายงานแสดงให้เห็นว่า เมื่อต้นปีที่ผ่านมา สหราชอาณาจักรได้รับวัคซีนไฟเซอร์ 539,370 โดส ขณะที่แคนาดารับแอสตร้าเซเนก้าน้อยกว่า 1 ล้านโดส แต่ว่าแนวคิดของโครงการโคแว็กซ์ คือการที่ทุกประเทศจะสามารถได้รับวัคซีนจากแหล่งนี้ ซึ่งรวมถึงประเทศร่ำรวยด้วย แต่ประเทศกลุ่ม G7 หรือกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 7 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เยอรมนี แคนาดา อิตาลี และญี่ปุ่น รวมถึงสหภาพยุโรป ส่วนใหญ่ตัดสินใจระงับและมีการทำข้อตกลงแบบตัวต่อกับบริษัทวัคซีน
ทั้งหมดนี้ คือ สถานการณ์ฺปัญหาวัคซีนโควิด-19 เหลือทิ้งนับหลายล้านโดสในบางประเทศ เนื่องจากการปฏิเสธการเข้ารับวัคซีนของประชากร สวนทางกับอีกหลายประเทศที่กำลังดิ้นรนในการจัดหาวัคซีนให้กับประชากรของตัวเอง แต่ทั้งนี้ วัคซีนก็ยังเป็นส่วนสำคัญในการหยุดยั้งการแพร่ระบาดของโรคจากเชื้อไวรัสนี้ จึงจำเป็นต้องอาศัยการฉีดวัคซีนในทั่วทุกมุมโลกเพื่อยับยั้งและเอาชนะวิกฤติครั้งนี้
เรียบเรียงจาก:
US throws out millions of doses of Covid vaccine as world goes wanting
Covid vaccine hesitancy could see Hong Kong throw away doses
Covid: Virus may have killed 80k-180k health workers, WHO says
ภาพประกอบจาก: straitstimes.com, krqe.com, philstar.com
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage