เปิดเส้นทาง อัยการสั่งไม่ฟ้อง 'เลขาฯ พจมาน-สามี' พบขอความเป็นธรรม ยุค 'ฐาปนา ใจกลม' นั่งอธิบดีสำนักงานคดีพิเศษ ส่งเรื่องต่อผ่าน 'สุหัฐ ช. สรพงษ์' อธิบดีสำนักคดีกิจการพิจารณา ก่อนทำความเห็นเสนอ 'ไชยา เปรมประเสริฐ' รอง อสส. ปฏิบัติหน้าที่แทน 'วงศ์สกุล'
ประเด็นตรวจสอบกรณี พนักงานอัยการกลับความเห็นสั่งไม่ฟ้อง นางกาญจนาภา หงษ์เหิน เลขานุการส่วนตัวของคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร และนายวันชัย หงษ์เหิน สามี ในคดีฟอกเงินกู้ธนาคารกรุงไทย กรณีแคชเชียร์เช็คธนาคารไทยธนาคาร 26 ล้านบาทนั้น
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานไปแล้วว่า เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2564 ที่สำนักงานอัยการสูงสุด นายอิทธิพร แก้วทิพย์ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด และนายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดแถลงข่าวกรณีเป็นทางการ ยืนยันว่า พนักงานอัยการ กลับความเห็นสั่งไม่ฟ้อง นางกาญจนาภา และนายวันชัย จริง เนื่องจากคดีมีข้อเท็จจริงใหม่ตามที่ผู้ต้องหาทั้งสอง ร้องขอความเป็นธรรมเพราะคดีที่ฟ้องนาย ทักษิณ ชินวัตร และนายพานทองแท้ ชินวัตร ซึ่งศาลต่างยกฟ้องและคดีถึงที่สุดแล้ว อีกทั้ง ตามระเบียบสํานักงานอัยการสูงสุด ว่าด้วยการดําเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ พ.ศ. 2547 (ซึ่งเป็นระเบียบที่บังคับใช้ในขณะนั้น) ข้อ 58 ก็วางหลักเกณฑ์ให้เป็นแนวทางปฏิบัติของพนักงานอัยการทั่วประเทศในการดําเนินคดีอาญาไว้ด้วยว่า ในคดีที่มีผู้ต้องหาหลายคนกระทําความผิดในคดีเดียวกันและได้ฟ้องผู้ต้องหาบางคนไว้แล้ว แต่ต่อมาศาลยกฟ้อง ในเหตุลักษณะคดีและคดีเสร็จเด็ดขาดในความผิดที่ฟ้องแล้วให้พนักงานอัยการทบทวนความเห็นหรือคําสั่ง สําหรับผู้ต้องหาที่สั่งฟ้องและยังจับตัวไม่ได้ไว้ด้วย
นอกจากนี้ พนักงานอัยการยังเห็นว่า ทางคดีไม่มีพยานหรือข้อเท็จจริงใด ๆ ว่าผู้ต้องหา ทั้งสองเข้าไปเกี่ยวข้องกับการปล่อยกู้ของธนาคารกรุงไทย หรือมีบทบาทหรืออํานาจใด ๆ ในการบีบบังคับธนาคาร ตลอดจนไม่มีส่วนรู้เห็นถึงกระบวนการปล่อยกู้ของธนาคารกรุงไทย ให้กับกลุ่มนายวิชัย กฤษดาธานนท์กับพวกดังกล่าว พนักงานอัยการ เห็นว่า การร้องขอความเป็นธรรม มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงความเห็นและคําสั่ง จึงมีคําสั่งกลับความเห็นเดิมที่สั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้งสอง เป็นสั่งไม่ฟ้อง นางกาญจนาภา หงษ์เหิน ผู้ต้องหาที่ 2 นายวันชัย หงษ์เหิน ผู้ต้องหาที่ 3 ในข้อหาร่วมกัน ฟอกเงินและสมคบกันฟอกเงิน
- หวั่นซ้ำรอย บอส ! อัยการสั่งไม่ฟ้องคดีฟอกเงินกรุงไทย 'เลขาฯ พจมาน-สามี' หลังหลบหนี 3 ปี
- เบื้องลึก! อัยการสั่งไม่ฟ้อง 'เลขาฯ พจมาน-สามี' ใช้โอกาส 'เนตร' ชี้ขาดคดีพานทองแท้
- โฆษก อสส. แจงเหตุไม่สั่งฟ้อง 'เลขาฯ พจมาน-สามี' ยึดคำวินิจฉัยศาลยกคดี 'ทักษิณ-โอ๊ค'!
ทั้งนี้ ในการเปิดแถลงข่าวชี้แจงข้อเท็จจริงเรื่องนี้ของทีมโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา ได้มีการจัดทำข้อมูลลำดับเหตุการณ์เกี่ยวกับการสั่งคดีไว้เป็นลำดับขั้นตอน
ปรากฏรายละเอียดดังต่อไปนี้
1. คดีนี้ สำนักงานอัยการคดีพิเศษ โดยสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 4 ได้รับสำนวนจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2561 คดีระหว่าง สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน โดยนายสุนทรา พลไตร ผู้กล่าวหา นางเกศินี จิปิภพ ผู้ต้องหาที่ 1 นางกาญจนาภา หงษ์เหิน ผู้ต้องหาที่ 2 นายวันชัย หงษ์เหิน ผู้ต้องหาที่ 3 นายพานทองแท้ ชินวัตร ผู้ต้องหาที่ 4 ข้อหา ร่วมกันฟอกเงิน และสมคบกันฟอกเงิน เหตุเกิดระหว่างวันที่ 30 ธันวาคม 2546 ถึงวันที่ 17 พฤษภาคม 2547 ต่อเนื่องกัน
2. คดีนี้มีมูลเหตุเกี่ยวพันกับคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คดีหมายเลขดำที่ อม. 3/2555 คดีหมายเลขแดงที่ อม. 55/2558 ซึ่งอัยการสูงสุด ฟ้องพันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร เป็นจำเลยที่ 1 กับพวกอีกหลายคน ในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ยักยอก ความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ ความผิดต่อพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ โดยมูลคดีสืบเนื่องจากธนาคารกรุงไทยปล่อยเงินกู้ให้กับบริษัทกฤษดานครมหานคร จำกัด (มหาชน) นายวิชัย กฤษดาธานนท์ และนายรัชฎา กฤษดาธานนท์ กับพวก คดีดังกล่าว ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คดีหมายเลขดำที่ อม. 3/2555 คดีหมายเลขแดงที่ อม. 55/2558 ตัดสินเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2562 โดยพิพากษายกฟ้อง พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร จำเลยที่ 1 โดยวินิจฉัยว่า พยานหลักฐานของโจทก์ที่ไต่สวนมายังไม่มีน้ำหนักรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ได้กระทำความผิดตามฟ้อง จึงมีคำพิพากษายกฟ้อง พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร จำเลยที่ 1
3. สำหรับคดีที่กล่าวหานางกาญจนาภา หงษ์เหิน และนายวันชัย หงษ์เหิน ตามที่สื่อมวลชนได้เสนอข่าวในครั้งนี้ พนักงานอัยการสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 4 พิจารณาแล้ว มีคำสั่งไม่ฟ้อง นางเกศินี จิปิภพ ผู้ต้องหาที่ 1 ซึ่งอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เห็นพ้องกับการสั่งไม่ฟ้องดังกล่าว คดีในส่วนนางเกศินี จิปิภพ เสร็จเด็ดขาดแล้ว
4. สำหรับนางกาญจนาภา หงษ์เหิน ผู้ต้องหาที่ 2 นายวันชัย หงษ์เหิน ผู้ต้องหาที่ 3 และนายพานทองแท้ ชินวัตร ผู้ต้องหาที่ 4 พนักงานอัยการมีคำสั่งฟ้องในข้อหาร่วมกันฟอกเงิน และสมคบกันฟอกเงินตามข้อกล่าวหา แต่ยังไม่ได้ยื่นฟ้อง นางกาญจนาภา หงษ์เหิน ผู้ต้องหาที่ 2 นายวันชัย หงษ์เหิน ผู้ต้องหาที่ 3 เพราะหลบหนี
5. สำหรับนายพานทองแท้ ชินวัตร ผู้ต้องหาที่ 4 พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 4 ได้ยื่นฟ้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ในข้อหาร่วมกันฟอกเงิน และสมคบกันฟอกเงิน เรียบร้อยแล้ว ต่อมาศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่อุทธรณ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษเห็นพ้องด้วย คดีถึงที่สุดแล้ว
6. ต่อมาในวันที่ 30 กรกฎาคม 2563 นางกาญจนาภา หงษ์เหิน ผู้ต้องหาที่ 2 นายวันชัย หงษ์เหิน ผู้ต้องหาที่ 3 ได้ร้องขอความเป็นธรรมต่อพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 4 ขอให้ทบทวนคำสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้งสอง โดยอ้างว่าข้อเท็จจริง รูปแบบพฤติการณ์ที่กล่าวหาตนเป็นกรณีเดียวกันกับที่กล่าวหา นายพานทองแท้ ชินวัตร ซึ่งศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุด ยกฟ้องไปแล้ว อีกทั้งมูลเหตุก็เป็นกรณีสืบเนื่องจากการกล่าวหา พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร และเป็นเหตุให้พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร ถูกฟ้อง ที่ศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งศาลฎีกาก็วินิจฉัยว่า พยานหลักฐานโจทก์ที่ไต่สวนฟังไม่ได้ว่า พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร กระทำความผิดตามฟ้อง และพิพากษายกฟ้อง และคดีถึงที่สุดแล้วเช่นกัน
นอกจากนี้ ยังมีการกล่าวอ้างว่าเช็คที่นายวิชัย กฤษดาธานนท์ สั่งจ่ายเงิน 26 ล้านบาท ที่เป็นเหตุให้ผู้ต้องหาทั้งสองถูกกล่าวหาคดีนี้ก็เป็นเรื่องธุรกรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหุ้นของบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) ในตลาดหลักทรัพย์ผ่านบริษัท หลักทรัพย์ธนชาติ จำกัด และต่อมามีการขายหุ้นและได้คืนเงินลงทุนพร้อมกำไร รวมแล้วประมาณ 27 ล้านบาทเศษไปแล้ว ข้อเท็จจริงนี้มีทั้งพยานบุคคล และพยานเอกสารสนับสนุน
7. พนักงานอัยการได้พิจารณาข้อเท็จจริงที่ได้จากการร้องขอความเป็นธรรม เห็นว่า คดีมีข้อเท็จจริงใหม่ตามที่ผู้ต้องหาทั้งสอง ร้องขอความเป็นธรรมเพราะคดีที่ฟ้องพันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร และนายพานทองแท้ ชินวัตร ซึ่งศาลต่างยกฟ้องและคดีถึงที่สุดแล้ว อีกทั้ง ตามระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุด ว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ พ.ศ. 2547 (ซึ่งเป็นระเบียบที่บังคับใช้ในขณะนั้น) ข้อ 58 ก็วางหลักเกณฑ์ให้เป็นแนวทางปฏิบัติของพนักงานอัยการทั่วประเทศในการดำเนินคดีอาญาไว้ด้วยว่า ในคดีที่มีผู้ต้องหาหลายคนกระทำความผิดในคดีเดียวกันและได้ฟ้องผู้ต้องหาบางคนไว้แล้ว แต่ต่อมาศาลยกฟ้องในเหตุลักษณะคดีและคดีเสร็จเด็ดขาดในความผิดที่ฟ้องแล้วให้พนักงานอัยการทบทวนความเห็นหรือคำสั่งสำหรับผู้ต้องหาที่สั่งฟ้องและยังจับตัวไม่ได้ไว้ด้วย
นอกจากนี้ พนักงานอัยการยังเห็นว่า ทางคดีไม่มีพยานหรือข้อเท็จจริงใด ๆ ว่าผู้ต้องหาทั้งสองเข้าไปเกี่ยวข้องกับการปล่อยกู้ของธนาคารกรุงไทย หรือมีบทบาทหรืออำนาจใด ๆ ในการบีบบังคับธนาคาร ตลอดจนไม่มีส่วนรู้เห็นถึงกระบวนการปล่อยกู้ของธนาคารกรุงไทยให้กับกลุ่มนายวิชัย กฤษดาธานนท์กับพวกดังกล่าว พนักงานอัยการ เห็นว่า การร้องขอความเป็นธรรมมีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงความเห็นและคำสั่ง จึงมีคำสั่งกลับความเห็นเดิมที่สั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้งสอง เป็นสั่งไม่ฟ้อง นางกาญจนาภา หงษ์เหิน ผู้ต้องหาที่ 2 นายวันชัย หงษ์เหิน ผู้ต้องหาที่ 3 ในข้อหาร่วมกันฟอกเงินและสมคบกันฟอกเงิน
ขณะนี้ สำนวนคดีพร้อมความเห็นและคำสั่งดังกล่าว ได้ส่งไปยังอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อพิจารณาตามขั้นตอนของกฎหมายว่าจะเห็นพ้องหรือแย้งคำสั่งของพนักงานอัยการ หากเห็นพ้องคำสั่งไม่ฟ้องเป็นอันเสร็จเด็ดขาด แต่ถ้าอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษเห็นแย้งก็จะนำเสนออัยการสูงสุดเพี่อพิจารณาชี้ขาดตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป
สำนักข่าวอิศรารายงาน ว่า เกี่ยวกับขั้นตอนการพิจารณาข้อเท็จจริงที่ได้จากการร้องขอความเป็นธรรมของอัยการ นั้น แหล่งข่าวจากสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยสำนักข่าวอิศราว่า นางกาญจนาและสามี ได้ร้องขอความเป็นธรรมต่อพนักงานอัยการ ซึ่งขณะนั้นมี นายฐาปนา ใจกลม เป็นอธิบดีสำนักงานคดีพิเศษ นายธนวรรษ ว่องไวทวีวงศ์ เป็นรองอธิบดี และ นายกรุณา พันธุ์เพ็ชร พนักงานอัยการ ร่วมกันพิจารณาและมีความเห็นกลับคำสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาทั้งสอง
จากนั้น ส่งเรื่องผ่านให้นายสุหัฐ ช. สรพงษ์ อธิบดีสำนักคดีกิจการอัยการสูงสุดพิจารณา ซึ่งใช้เวลาพิจารณาเรื่องนี้อยู่จนถึงปลายปี 2563 จึงทำความเห็นเสนอ ร้อยโทไชยา เปรมประเสริฐ รองอัยการสูงสุด ปฎิบัติหน้าที่แทน นายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อัยการสูงสุด
จนกระทั่งมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องในที่สุด
@ ร้อยโทไชยา เปรมประเสริฐ
อย่างไรก็ดี ปัจจุบันคดีนี้ ยังไม่สิ้นสุด เพราะภายหลังจากที่พนักงานอัยการกลับคำสั่งไม่ฟ้องคดีและตีคืนสำนวนกลับไปให้อธิบดีดีเอสไอพิจารณาแล้ว ถ้าอธิบดีดีเอสไอมีความเห็นแย้งก็จะมีการส่งเรื่องให้อัยการสูงสุด (อสส.) พิจารณาชี้ขาด แต่ถ้าไม่ทำความเห็นแย้งคดีนี้ก็ถือเป็นอันยุติไป
ผลการพิจารณาของ อธิบดีดีเอสไอ จะออกมาเป็นอย่างไร ต้องติดตามดูกันต่อไปแบบห้ามกระพริบตาโดยเด็ดขาด
อ่านประกอบ :
- EXCLUSIVE:เส้นทางเช็ค26ล.คดีฟอกเงินกู้กรุงไทย ก่อน อัยการ-DSI สั่งไม่ฟ้อง ‘โอ๊ค-แม่เลขาฯพจมาน’
- ดีเอสไอ ส่งสำนวนฟ้อง 'พานทองแท้' กับพวกฟอกเงินกรุงไทย
- คณะทำงานดีเอสไอสอบเพิ่ม‘โอ๊ค-พวก’ คดีฟอกเงินหลังถูกร้อง-ทั้งที่สรุปสั่งฟ้องแล้ว
- ก่อน ปปง.กล่าวโทษคดีฟอกเงินกรุงไทย ขุมธุรกิจพันล.‘พานทองแท้’ ปี’59ฟัน198 ล.ขาดทุนยับ
- คำวินิจฉัยผู้พิพากษาฯชำแหละเส้นทางเงินคดีกรุงไทยโยง'พานทองแท้-มานพ'
- เฉลยชื่อผู้รับเช็คจาก'เสี่ยวิชัย’คดีกรุงไทย-‘พานทองแท้-มานพ’อยู่ในข่าย?
- ย้อนเส้นทางคดีฟอกเงินกรุงไทย!ชื่อ‘พานทองแท้-พวก’โผล่รับเช็ค-ไม่เอ่ยถึงมูลนิธิรัฐบุรุษฯ
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage