“…สิ่งที่เราต้องเฝ้าระวังในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คือ ขณะนี้มวลน้ำที่ จ.ชัยภูมิ จะไปลงที่แม่น้ำชี และมวลน้ำจากอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร จ.นครราชสีมา จะไปลงที่แม่น้ำมูล แล้วจะไปบรรจบกันที่ จ.อุบลราชธานี ซึ่งอาจก่อให้เกิดน้ำล้นตลิ่ง นอกจากนั้นยังต้องจับตามองพายุดีเปรสชันที่กำลังจะเข้าไทยในอีก 3-4 วันนี้ ว่ายังมีกำลังแรงอยู่หรือไม่ เพราะหากเข้ามาจะทำให้เกิดฝนตกหนักซ้ำเติมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ…”
จากอิทธิพลพายุโซนร้อน ‘เตี้ยนหมู่’ ทำให้เกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่ ข้อมูลจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ณ วันที่ 7 ต.ค.2564 เปิดเผยว่า พายุดังกล่าวส่งผลกระทบกว่า 32 จังหวัด มีประชาชนได้รับผลกระทบ 299,704 ครัวเรือน และมีผู้เสียชีวิต 9 ราย
ผ่านมาแล้วกว่า 2 สัปดาห์ ยังคงมี 16 จังหวัดมีน้ำท่วมขัง อาทิ สุโขทัย พิษณุโลก ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา อุบลราชธานี นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท ลพบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา และปทุมธานี
ศ.ดร.ชัยยุทธ ชินณะราศรี อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ ที่ปรึกษาอธิการบดีด้านการบริหารการจัดการน้ำ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เปิดเผย สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า สาเหตุที่ปัจจุบันเราเริ่มวิตกกังวลเรื่องสถานการณ์น้ำ เพราะว่าในช่วงเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา มีพายุโกนเซินและเตี้ยนหมู่เข้ามา นอกจากนั้นยังมีหย่อมความกดอากาศต่ำเข้ามาเป็นระยะๆ จึงเกิดการสะสมของน้ำผิวดินจำนวนมาก ทำให้บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือตอนบนมีปริมาณน้ำเยอะ
อย่างไรก็ตามสถานการณ์ภาคตะวันเฉียงเหนือในตอนนี้ที่ดูหนักมาก เนื่องจากปีนี้มีความแตกต่างกว่าทุกปี ฝนตกไม่ตามร่องมรสุมเดิม คือ พายุเข้าไปในร่องบริเวณ จ.ชัยภูมิ และ จ.นครราชสีมาตอนบน ทำให้เกิดฝนตกหนัก จึงไม่ทันได้เตรียมตัว ยกตัวอย่างบริเวณอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นพื้นที่ค่อนข้างแห้งแล้ง และขณะนั้นกำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง เมื่อขาดความพร้อม เจอน้ำปริมาณมากกัดเซาะทำนบดินจนชำรุดเป็นช่องโหว่ขนาดใหญ่ จึงเกิดน้ำท่วมไปในพื้นที่อย่างที่เป็นข่าว
ส่วนที่ จ.ชัยภูมิ ปีนี้ถือว่าได้รับอิทธิพลจากพายุเข้ามาเต็มๆ เพราะตำแหน่งของพายุต่างๆ ที่เข้ามา ล้วนเข้ามาเยี่ยมเยียนจังหวัดดังกล่าว จึงได้รับผลกระทบน้ำท่วมหนักแทบทั้งจังหวัด เหตุการณ์ครั้งนี้นับเป็นความรุนแรงที่ศัพท์ทางวิชาการเรียกว่า ‘คาบการเกิดย้อนกลับ’ (Return Period) หรือความน่าจะเป็นที่จะเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ จะมีโอกาสเกิดซ้ำในรอบหลายสิบปี นั่นหมายความว่าเป็นความรุนแรงที่เราจะเจอได้น้อยมาก ตลอดชีวิตอาจเจอได้ 1-2 ครั้ง
"ดังนั้นสิ่งที่เราต้องเฝ้าระวังในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คือ ขณะนี้มวลน้ำที่ จ.ชัยภูมิ จะไปลงที่แม่น้ำชี และมวลน้ำจากอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร จ.นครราชสีมา จะไปลงที่แม่น้ำมูล แล้วจะไปบรรจบกันที่ จ.อุบลราชธานี ซึ่งอาจก่อให้เกิดน้ำล้นตลิ่ง นอกจากนั้นยังต้องจับตามองพายุดีเปรสชันที่กำลังจะเข้าไทยในอีก 3-4 วันนี้ ว่ายังมีกำลังแรงอยู่หรือไม่ เพราะหากเข้ามาจะทำให้เกิดฝนตกหนักซ้ำเติมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ" ศ.ดร.ชัยยุทธ กล่าว
จับตามรสุมตะวันตกเฉียงใต้เข้าเพชรบุรี-ประจวบฯ
นอกจากสถานการณ์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือแล้ว ศ.ดร.ชัยยุทธ กล่าวอีกว่า ในช่วงนี้จะต้องจับตา จ.เพชรบุรี และ จ.ประจวบคีรีขันธ์ด้วย ซึ่งเป็นพื้นที่ติดกับฝั่งทะเลอันดามันและมักจะเจอกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ในช่วงเวลานี้
สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงใต้นี้ ถือเป็นเรื่องปกติของลม เนื่องมาจากอุณหภูมิของน้ำทะเลและผิวดินที่แตกต่างกัน ทำให้เกิดการเคลื่อนที่ของมวลอากาศ นำมวลอากาศชื้นเข้าสู่ประเทศไทย ต่อมาเมื่อลมมีกำลังแรง ไอน้ำในเมฆจึงรวมตัวกันเป็นฝนตกลงมา ก็เป็นลักษณะของมรสุม ทั้งนี้มรสุมไม่ใช่ลมพายุใดๆ ก็คือฝนที่ตกลงมาตามปกติ แต่ปัญหาจะเกิดเมื่อมีลมมรสุมเข้ามาทุกสัปดาห์ จะเกิดการสะสมของน้ำผิวดิน เมื่อสะสมมากๆเข้าเราจะระบายน้ำไม่ทัน และขณะนี้น้ำในเขื่อนบริเวณนี้ก็มีปริมาณค่อนข้างสูงแล้ว บริเวณดังกล่าวนี้จึงควรให้ความสนใจเป็นพิเศษด้วย
ส่วนสถานการณ์ภาคกลาง หากดูพื้นที่รอบๆ จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ อาทิ อ.บางบาล และ อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง โดยเฉพาะ อ.บางบาลตอนนี้มีประมาณน้ำเยอะมาก แต่หากเทียบกับปี 2554 แล้วนั้น ระดับน้ำท่วมตอนนี้ยังน้อยกว่าราว 1 เมตร เพียงแต่สาเหตุที่มีกระแสบอกว่าน้ำท่วมหนักมาก เพราะว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่รับน้ำ อาจเจอปัญหาน้ำท่วมได้เกือบจะปีเว้นปี สถานการณ์ตอนนี้เราอาจเห็นภาพระดับน้ำบางแห่งอยู่ที่ประมาณหน้าอก แต่ในปี 2554 ที่ผ่านมา ระดับน้ำนั้นเลยความสูงของตัวเราไปอีก
(ศ.ดร.ชัยยุทธ ชินณะราศรี)
คาด กทม.น้ำไม่ท่วมหนัก
ส่วนความกังวลกรณีการระบายน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เมื่อมารวมกับน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา จะทำให้ กทม.น้ำท่วมหรือไม่ ศ.ดร.ชัยยุทธ กล่าวยืนยันว่า กทม.จะเจอน้ำท่วมอย่างที่เคยเผชิญ ยืนยันจะไม่ถึงกับน้ำท่วมหนัก เนื่องจาก กทม.มีระบบป้องกันน้ำล้อมรอบอยู่แล้ว เพราะพื้นที่ส่วนใหญ่มีระดับต่ำกว่าน้ำทะเลปานกลาง 1.5 เมตร จึงมีการสร้างคันกั้นน้ำเอาไว้ป้องกัน โดยมีคันกั้นน้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยาสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 2.8-3.5 เมตร และมีคันกั้นน้ำฝั่งตะวันออก สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 2.5 เมตร นับว่าสูงเพียงพอสำหรับสถานการณ์ปัจจุบัน
แต่สำหรับระบบป้องกันน้ำภายใน กทม. แม้จะมีทั้งหนอง บึง คูคลอง ทะเลสาบในหมู่บ้าน มีท่อระบายน้ำ มีอุโมงค์ใต้ดิน และมีเครื่องสูบน้ำ แต่สิ่งเหล่านี้ยังไม่เพียงพอต่อการระบายน้ำในกรณีที่ฝนตกหนัก ยกตัวอย่างเหตุการณ์ฝนตกในพื้นที่ กทม.ชั้นในนาน 1 ชั่วโมง และอาจทำให้มีปริมาณน้ำฝนตกค้างอยู่ประมาณ 9 ล้านลูกบาศก์เมตร
ความสามารถของการสูบน้ำของกทม.ในระบบคลอง หนอง หรือบึง มีกำลังการสูบอยู่ที่ 1,800 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ขณะที่กำลังในการสูบน้ำลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ปัจจุบันทำได้ 750 ลูกบาศก์เมตร/วินาที และอุโมงค์ใต้ดินตามแนวคลอง อาทิ คลองแสนแสบ คลองบางซื่อ คลองเปรมประชากร มีกำลังการสูบน้ำลงแม่น้ำเจ้าพระยาได้เพียง 195 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ดังนั้นในการระบายน้ำตกค้างนี้ อาจต้องใช้ระยะเวลานานประมาณ 3 ชั่วโมงทีเดียว
ขณะเดียวกันในเดือน ต.ค.-พ.ย. จะเป็นช่วงที่ระดับน้ำทะเลหนุนสูง ดังนั้นโจทย์ใหญ่ของ กทม. คือ หากมีฝนตกหนักในช่วงนี้ และไม่สามารถบริหารจัดการน้ำได้ดี ก็อาจเกิดน้ำท่วมขังรอการระบายน้ำอย่างที่เราเคยเจอเป็นประจำ นี่จึงเป็นสาเหตุที่ยืนยันว่า กทม.จะไม่ถึงกับน้ำท่วมหนัก ทั้งนี้ขณะนี้ก็ยังไม่มีการพยากรณ์หรือคาดการณ์ว่าจะมีอิทธิพลใดๆ จะทำให้เกิดเหตุการณ์รุนแรงด้วย
ดังนั้นแนวทางในการบริหารจัดการน้ำท่วมในเมืองจะต้องใช้แนวคิด ‘เมืองฟองน้ำ’ หรือ ‘Sponge City’ โดยใช้หลักการพร่องน้ำในคูคลอง หนอง บึง และการหาแหล่งสะสมน้ำชั่วคราวทั้งบนดินและใต้ดินเพิ่มเติม ให้เป็นเสมือนฟองน้ำที่สามารถรับน้ำได้อีก เพื่อให้สามารถเก็บกักน้ำได้ชั่วคราวเมื่อเกิดฝนตกหนัก และมีการระบายน้ำออกในภายหลัง เพื่อลดปัญหาน้ำท่วมขังหรือน้ำรอการระบายอย่างที่ผ่านมา
“สิ่งที่กทม.มีอยู่ในการบริหารจัดการน้ำในเมืองตอนนี้ยังไม่เพียงพอ และหนอง บึง คูคลอง จะต้องทำหน้าที่เป็นฟองน้ำให้เราด้วยเหมือนกัน เพราะหากฟองน้ำอิ่มน้ำ ฟองน้ำนี้ก็คงจะรับน้ำเพิ่มอีกไม่ไหว” ศ.ดร.ชัยยุทธ กล่าว
เร่งระบายน้ำเขื่อนภาคอีสาน-กลาง
ศ.ดร.ชัยยุทธ กล่าวถึงสถานการณ์การรองรับน้ำในเขื่อนภายในประเทศไทยด้วยว่า ในเขื่อนขนาดใหญ่ ซึ่งอยู่ในภาคเหนือ คือ เขื่อนภูมิพล จ.ตาก และเขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีฝนตกหนักในหลายพื้นที่ของภาคเหนือ แต่กลับพบว่าปัจจุบันมีการกักเก็บน้ำได้เพียงครึ่งอ่าง จึงอยากมีความหวังว่าจะมีน้ำมาเติมอีกเพื่อให้มีน้ำใช้ประโยชน์ในปีหน้า
ขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ผ่านมาเจอฝนตกหนักในหลายพื้นที่เช่นเดียวกัน แต่ขนาดของเขื่อนในพื้นที่นั้นเล็กกว่าเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ข้างต้น เมื่อเจอปริมาณน้ำฝนที่เยอะ ทำให้เขื่อนบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมถึงภาคกลาง อาทิ เขื่อนจุฬาภรณ์ จ.ชัยภูมิ เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี มีปริมาณน้ำในเขื่อนเยอะตามไปด้วย
อย่างไรก็ตามหากระดับน้ำในเขื่อนมีปริมาณมากหรือกักเก็บน้ำในปริมาณที่เยอะเกินระดับเก็บกักนานหลายวัน เขื่อนอาจชำรุดเสียหายได้ จึงต้องมีการระบายน้ำ แต่จะระบายน้ำมากเกินไปก็อาจเป็นการซ้ำเติมชาวบ้านบริเวณท้ายเขื่อน ดังนั้นในตอนนี้ตนเองจึงแนะนำว่า ในจังหวะที่ยังไม่มีพายุ ต้องมีการปล่อยน้ำออกไปบ้างในอัตราที่เหมาะสม
“โดยต้องดูทั้งความเดือดร้อนของชาวบ้านและความปลอดภัยของเขื่อน ฝาย หรือประตูน้ำ ควบคู่กัน อาจระบายน้ำออกให้เยอะกว่าจำนวนน้ำที่เข้ามา และในจำนวนน้ำที่จะระบายออก ต้องดูความสามารถของขนาดหน้าตัดแม่น้ำด้วยว่าสามารถรับน้ำได้ปริมาณเท่าใดที่จะไม่ทำให้เกิดน้ำล้นตลิ่งในพื้นที่อยู่อาศัยของชาวบ้านบริเวณท้ายเขื่อน” ศ.ดร.ชัยยุทธ กล่าว
แนะการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน
ศ.ดร.ชัยยุทธ กล่าวแนะนำแนวทางการบริหารจัดการน้ำด้วยว่า การจะบริหารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนจะต้องมีองค์กรที่มีความเป็นเอกภาพเป็นศูนย์กลางในการบริหารจัดการเรื่องน้ำ และองค์กรดังกล่าวควรจะมีจะมีข้อมูลที่ครบถ้วนและทันเหตุการณ์อยู่ในมือ ขณะเดียวกันผู้บริหารองค์กรควรรับฟัง และสร้างการมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วนเปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็น เพื่อให้เกิดการตัดสินใจร่วมกันและผู้บริหารสามารถวางแผนการบริหารจัดการได้อย่างเหมาะสมและครอบคลุม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์วิกฤติ
ส่วนเรื่องการช่วยเหลือและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ก็ควรจะมีระบบประกันและการชดเชยที่เหมาะสมและเป็นธรรม ที่สำคัญควรจะส่งเสริมให้มีการวิจัยศึกษาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) เพื่อการรู้เท่าทันและการออกกฏระเบียบแนวทางการบริหารจัดการน้ำให้ทันสมัย
ทั้งนี้สำหรับประชาชน ขอให้มีการเฝ้าระวังและติดตามข่าวสารจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถืออย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยวันละครั้ง เพราะในการพยากรณ์อากาศล่วงหน้ามากกว่า 3 วัน อาจคลาดเคลื่อนได้ ด้วยเหตุปัจจัยทางภูมิอากาศที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด
กอนช.ประกาศพื้นที่เฝ้าระวังน้ำหลาก-น้ำท่วมฉับพลัน 6-10 ต.ค.นี้
ด้านกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้ประเมินสถานการณ์น้ำจากฝนคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ ในช่วงวันที่ 6 – 10 ต.ค.2564 ระบุด้วยว่า จะมีพื้นที่เสี่ยงฝนตกหนัก ต้องเฝ้าระวังน้ำไหลหลากและน้ำท่วมฉับพลัน ดังนี้
1. เฝ้าระวังน้ำหลาก ดินถล่ม และน้ำท่วมฉับพลัน ในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี ราชบุรี จันทบุรี ตราด เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล
2. เฝ้าระวังระดับน้ำล้นตลิ่ง บริเวณที่ลุ่มต่ำริมลำน้ำ บริเวณแม่น้ำเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี ลำตะเพิน จังหวัดกาญจนบุรี และแม่น้ำตาปี จังหวัดสุราษฎร์ธานี
3. เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำมากกว่า 80% ของความจุ เสี่ยงน้ำล้นทางระบายน้ำล้น อาจส่งผลต่อพื้นที่บริเวณท้ายน้ำ ได้แก่ อ่างเก็บน้ำลำตะเพิน อ่างเก็บน้ำพุตะเคียน จังหวัดกาญจนบุรี อ่างเก็บน้ำห้วยมะหาด จังหวัดราชบุรี อ่างเก็บน้ำห้วยไทรงาม จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ อ่างเก็บน้ำคลองหยา และอ่างเก็บน้ำคลองแห้ง จังหวัดกระบี่
เตือนภาคอีสานริมน้ำมูล เฝ้าระวังน้ำเอ่อล้นตลิ่ง
ขณะเดียวกัน กอนช. ได้คาดการณ์ปริมาณฝนตก และประเมินมวลน้ำหลากสูงสุดจากลำตะคอง ลำจักราช จังหวัดนครราชสีมา และลำน้ำสาขาลุ่มน้ำมูลตอนบน คาดการณ์มวลน้ำสูงสุดจะไหล ผ่านจังหวัดอุบลราชธานี ในช่วงวันที่ 8 - 11 ต.ค.2564 ส่งผลให้แม่น้ำมูลมีระดับน้ำเพิ่มขึ้นจากเดิมประมาณ 0.50 – 1.00 เมตร โดยมีพื้นที่เฝ้าระวังระดับน้ำเอ่อล้นตลิ่งบริเวณพื้นที่ริมแม่น้ำมูล ดังนี้
-
จังหวัดบุรีรัมย์ อำเภอสตึก
-
จังหวัดสุรินทร์ อำเภอชุมพลบุรี อำเภอท่าตูม และอำเภอรัตนบุรี
-
จังหวัดร้อยเอ็ด อำเภอโพนทราย และอำเภอสุวรรณภูมิ
-
จังหวัดศรีสะเกษ อำเภอเมืองศรีสะเกษ อำเภอโพธิ์ศรีสุวรรณ อำเภอบึงบูรพ์ อำเภอยางชุมน้อย อำเภอราษีไศล อำเภอศิลาลาด อำเภออุทุมพรพิสัย และอำเภอกันทรารมย์
ประกอบกับมีมวลน้ำหลากจากแม่น้ำชี จะไหลมารวมกับแม่น้ำมูลที่จังหวัดอุบลราชธานี และไหลลงแม่น้ำโขงตามลำดับ คาดการณ์ว่ามวลน้ำสูงสุดจะไหลผ่านจังหวัดอุบลราชธานี ในช่วงวันที่ 16 - 20 ต.ค.2564 โดยมีพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังระดับน้ำเอ่อล้นตลิ่งบริเวณพื้นที่ริมแม่น้ำมูล บริเวณอำเภอเขื่องใน อำเภอเมือง อำเภอดอนมดแดง อำเภอม่วงสามสิบ อำเภอวารินชำราบ และอำเภอสว่างวีระวงศ์ จังหวัดอุบลราชธานี
6-12 ต.ค. มีฝนตกหนักมากในภาคใต้ฝั่งตะวันตก
ด้าน กรมอุตุนิยมวิทยา ได้สรุปการเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ ระหว่างวันที่ 6-12 ต.ค.2564 ว่า ร่องมรสุมจะเลื่อนขึ้นไปพาดผ่านบริเวณภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย จะมีกำลังแรง ตลอดช่วง ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ โดยมีฝนตกหนักมากบริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันตก
ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนบริเวณพื้นที่เสี่ยงภัยของภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ ระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก
10-11 ต.ค. จับตาพายุดีเปรสชันลูกใหม่ ขึ้นเวียดนามตอนบน
ขณะเดียวกัน กรมอุตุนิยมวิทยา ได้ออกประกาศเรื่องพายุดีเปรสชัน บริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง ฉบับที่ 5 ณ วันที่ 7 ต.ค.2564 ระบุว่า พายุดีเปรสชันบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง มีศูนย์กลางอยู่ที่ละติจูด 16.0 องศาเหนือ ลองจิจูด 111.5 องศาตะวันออก ความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 55 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พายุนี้กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกค่อนทางเหนือเล็กน้อยด้วยความเร็วประมาณ 10 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามตอนบน ในช่วงวันที่ 10-11 ต.ค.2564
ทั้งนี้พายุดีเปรสชันเกือบไม่เคลื่อนที่ และมีแนวโน้มจะทวีกำลังแรงขึ้นในระยะต่อไป ส่งผลทำให้มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยมีกำลังแรง ในช่วงวันที่ 7-11 ต.ค.2564
ส่วนร่องมรสุมพาดผ่าน ภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกและภาคใต้ตอนบน ทำให้ภาคกลาง รวม กทม.และปริมณฑล ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออก ภาคใต้มีฝนตกหนักบางแห่ง และฝนตกหนักมากบริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันตก
ขอให้ระวังอันตรายจากฝนที่ตกสะสม น้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก ลักษณะเช่นนี้จะทำให้คลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ส่วนอ่าวไทยคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร และบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่ง
สถานการณ์น้ำในปัจจุบัน ยังหนักอยู่ที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นส่วนใหญ่ โดยยังมีน้ำท่วมขังอยู่ในหลายพื้นที่ ขณะเดียวกันยังต้องจับตาพายุดีเปรสชันที่กำลังขึ้นฝั่งเวียดนามในช่วงสุดสัปดาห์นี้ และใน จ.เพชรบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ที่อยู่ติดทะเลฝั่งอันดามัน ในช่วงนี้จะต้องเผชิญกับลมมรสุมตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งจะมีปริมาณน้ำฝนเข้ามาส่งผลกระทบต่อเรามากน้อยเพียงใด เราจะต้องเฝ้าระวังกันอย่างใกล้ชิดต่อไป
อ่านข่าวประกอบ:
สรุปหลักเกณฑ์เงื่อนไขเยียวยาประชาชน-เกษตรกรประสบภัย 'น้ำท่วม' ปี 2564
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage