" กระทรวงมหาดไทยได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยอย่างเร่งด่วน ทั้งในส่วนของการสำรวจเส้นทางระบายน้ำ การแจกจ่ายเครื่องใช้ที่จำเป็นสำหรับประชาชน พร้อมทั้งเร่งสำรวจความเสียหาย เพื่อจัดสรรงบประมาณในการเยียวยาช่วยเหลือประชนและฟื้นฟูระบบสาธารณูปโภคได้ทันท่วงที และเนื่องจากการจ่ายเงินเยียวยาถือเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนที่จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้าให้แก่ประชาชน ในการลงพื้นที่น้ำท่วมในหลายจังหวัด"
สถานการณ์อุทกภัยปี 2564 จากอิทธิพลพายุโซนร้อน 'เตี้ยนหมู่' ซึ่งเคลื่อนตามแนวร่องมรสุมเข้าปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลาง ทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนมีฝนเพิ่มมากขึ้น และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ตั้งแต่ 23 ก.ย. - 4 ต.ค. 2564 ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมในพื้น 32 จังหวัด รวม 205 อำเภอ 1,100 ตำบล 7,489 หมู่บ้าน 1 เขตเทศบาล
ประชาชนได้รับผลกระทบ 2.86 แสนครัวเรือน ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง ตาก สุโขทัย พิษณุโลก เพชรบูรณ์ พิจิตร กำแพงเพชร เลย ขอนแก่น ชัยภูมิ ยโสธร นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ปราจีนบุรี สระแก้ว จันทบุรี นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท ลพบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี และนครปฐม.
เมื่อวันที่ 5 ต.ค. 2564 น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ปัจจุบันสถานการณ์น้ำท่วมคลี่คลายแล้วใน 14 จังหวัด คือ จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง ตาก บุรีรัมย์ นครปฐม ยโสธร สุรินทร์ เลย ศรีสะเกษ สระแก้ว จันทบุรี ปราจีนบุรี และกำแพงเพชร อย่างไรก็ตาม ยังคงมีน้ำท่วมในพื้นที่ 18 จังหวัด รวม 80 อำเภอ 447 ตำบล 2,385 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 1.04 แสนครัวเรือน ได้แก่ จังหวัดสุโขทัย พิษณุโลก เพชรบูรณ์ พิจิตร ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา อุบลราชธานี นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท ลพบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา และปทุมธานี
"พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการส่วนราชการในพื้นที่ที่รับผิดชอบ เร่งเข้าไปสำรวจตรวจสอบความเสียหายในพื้นที่หลังสถานการณ์กลับสู่ปกติ เพื่อเร่งฟื้นฟูรวมถึงให้สอบถามความต้องการ ความเป็นอยู่ และการประกอบอาชีพ เพื่อเร่งให้ความช่วยเหลือเยียวยาต่อไป" น.ส.รัชดา กล่าว
หอการค้าประเมินน้ำท่วมทำเสียหาย 1.5 หมื่นล้านบาท
นายวชิร คูณทวีเทพ ผู้อำนวยการสถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจและการประเมินความเสียหาย สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ 31 จังหวัด ปี 2564 ตั้งแต่วันที่ 23 ก.ย. - 1 ต.ค. 2564 ในพื้นที่ 31 จังหวัด โดยผลสำรวจกลุ่มตัวอย่างหอการค้าจังหวัด จำนวน 138 ราย พบว่า พื้นที่ที่ได้รับความเสียหาย ส่วนใหญ่ 65.9% พื้นที่เพาะปลูกทางการเกษตร รองลงมาเป็นพื้นที่เศรษฐกิจต่างจังหวัด 22.0% และ 12.1% ได้รับผลกระทบทั้ง 2 พื้นที่
ขณะที่ความรุนแรงและความเสียหายเมื่อเทียบกับปี 2554 ผลสำรวจพบว่า ส่วนใหญ่ยังมองว่ารุนแรงน้อยกว่าและความเสียหายน้อยกว่า และคาดว่าสถานการณ์น้ำท่วมจะลดลง และกลับสู่ภาวะปกติเฉลี่ย 9 วัน
ส่วนความเสียหายจากน้ำท่วม พบว่า พื้นที่เสียหาย ณ วันที่ 30 ก.ย. 2564 ใน 36 จังหวัด เป็นครัวเรือนเกษตรกร 298,890 ครัวเรือน พื้นที่ทั้งหมดเกษตรพื้นที่ 3,939,515 ไร่ ส่วนใหญ่เป็น ข้าว 2,440,059 ไร่ นอกนั้นเป็นพืชผลและพืชผัก รวมถึง ไม้ผล ไม้ยืนต้น และอื่นๆ ทำให้ เมื่อประเมินมูลค่าความเสียหายจากน้ำท่วมรวมผลกระทบทั้งหมด 15,036.11 ล้านบาท ผลกระทบต่อ GDP (%) ที่ 0.1-0.2%
พลิกวิกฤติเป็นโอกาส กักเก็บน้ำสำหรับการเกษตร
นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยกับ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า สถานการณ์น้ำท่วมครั้งนี้ จะอยู่ที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา จากเขื่อนป่าสัก และทางลุ่มแม่น้ำชี แม่น้ำมูล ในส่วนของการทำงานของคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เป็นหน่วยงานบูรณาการทำงานในภาพร่วม ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมชลประทาน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมทรัพยากรน้ำ เพื่อทำหน้าที่บริหารจัดการน้ำ ให้เป็นไปตามแผนเพื่อให้มีผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด เท่าที่จะสามารถทำได้
นายสุรสีห์ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 6 ต.ค. 2564 ที่ผ่านมา มีการประชุมเกี่ยวกับเรื่องการลดปริมาณการระบายน้ำในเขื่อนป่าสัก โดยยึดหลักการว่า เมื่อระบาดน้ำแล้ว แต่ยังต้องมีปริมาณน้ำในเขื่อนให้มากทื่สุด เพื่อกักเก็บไว้ในในฤดูแล้ง และส่วนของเขื่อนเจ้าพระยา ที่ประชุมได้มีมติให้ไปพิจารณาเพิ่มเติมว่า จะสามารถลดปริมาณการระบายน้ำได้อีกหรือไม่ เพื่อที่จะไม่ให้เกิดผลกระทบทั้งพื้นที่ เหนือน้ำและท้ายน้ำ หรือเกิดผลกระทบน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
"ขณะเดียวกัน ก็พลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส โดยร่วมกันวางแผนว่าจะทำอย่างไร ให้สามารถกักเก็บน้ำให้มากที่สุดเพื่อใช้ในการเกษตรฤดูแล้ง นาปรัง หรือ พืชใช้น้ำน้อย เป็นการบริหารจัดการน้ำท่วมไปสู่น้ำแล้ง" นายสุรสีห์ กล่าว
นายสุรสีห์ กล่าวการเยียวยาและชดเชยค่าเสียหายสำหรับประชาชนที่ประสบภัย ว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ กอนช. มีความห่วงใยประชาชนที่ได้รับผลกระทบต่อสถานการณ์อุทกภัยในหลายพื้นที่ยังคงมีน้ำท่วมขังอยู่ ได้กำชับให้ สทนช. วิเคราะห์และประเมินภาพรวมในการบริหารจัดการน้ำ เพื่อประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งระบายน้ำที่ท่วมขังออกให้เร็วที่สุด โดยพิจารณา พื้นที่เร่งระบายน้ำ พื้นที่รับน้ำ ควบคู่ไปกับการวิเคราะห์และคาดการณ์สภาพอากาศปัจจุบัน รวมทั้งแนวโน้มของอิทธิพลพายุและสภาพอากาศในอนาคต รวมถึงเร่งสำรวจความเสียหายที่เกิดขึ้นด้วย
นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)
เร่งจ่ายเงินเยียวยาผู้ประสบภัยใน 3-4 วัน
เมื่อวันที่ 6 ต.ค. 2564 นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่ากระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า สำหรับการพิจารณาจ่ายเงินเยียวยา ทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและนายอำเภอจะร่วมกันทำการสำรวจว่าในพื้นที่ที่ดูแลมีผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภัยน้ำท่วมจำนวนเท่าไหร่ และได้รับผลกระทบในลักษณะใดบ้าง แล้วนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติอำเภอ (ก.ช.ภ.อ.)
เมื่อ ก.ช.ภ.อ.เห็นชอบก็เสนอไปยังที่ประชุมคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติจังหวัด (ก.ช.ภ.จ.) ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน เพื่อพิจารณาอนุมัติและดำเนินการเบิกจ่ายเงินเยียวยาเพื่อนำไปแจกจ่ายให้แก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบต่อไป ซึ่งหลังจาก ก.ช.ภ.จ.อนุมัติขั้นตอนในการเบิกจ่าย ตลอดจนการจ่ายเงินเยียวยาให้แก่ประชาชนผู้ประสบภัยจะใช้เวลาเพียง 3-4 วันเท่านั้น
"กระทรวงมหาดไทยได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยอย่างเร่งด่วน ทั้งในส่วนของการสำรวจเส้นทางระบายน้ำ การแจกจ่ายเครื่องใช้ที่จำเป็นสำหรับประชาชน พร้อมทั้งเร่งสำรวจความเสียหาย เพื่อจัดสรรงบประมาณในการเยียวยาช่วยเหลือประชนและฟื้นฟูระบบสาธารณูปโภคได้ทันท่วงที และเนื่องจากการจ่ายเงินเยียวยาถือเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนที่จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้าให้แก่ประชาชน ในการลงพื้นที่น้ำท่วมในหลายจังหวัด ที่ผ่านมาเราจึงได้ติดตามและสั่งเร่งรัดให้ ก.ช.ภ.อ.รีบประชุมและพิจารณาอนุมัติ อย่างเช่นที่ จ.เพชรบูรณ์ ก็มีการจ่ายเงินเยียวยาให้แก่ 138 ครอบครัวที่บ้านเรือนได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมไปแล้ว เป็นวงเงินรวมประมาณ 1.6 พันล้านบาท" นายนิพนธ์ กล่าว
นายศิวกร บัวป้อง ผู้อำนวยการกองช่วยเหลือผู้ประสบภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า การช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบอุทกภัยครั้งนี้ เป็นไปตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 โดยยึดหลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2563 โดยจังหวัดจะเป็นผู้รับผิดชอบในการจ่ายเงินเยียวยา และสำหรับเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบ ใช้หลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือ ด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2564 โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบ
สำนักข่าวอิศรา ได้รวบรวมข้อมูล สรุปหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และอัตราเงินที่จะได้รับความช่วยเหลือจากสถานการณ์อุทกภัยในกรณีฉุกเฉิน ปี 2564 มีรายละเอียด ดังนี้
ด้านการดำรงชีพ
ให้ดำเนินการช่วยเหลือเป็นสิ่งของหรือจ่ายเป็นเงิน โดยคำนึงถึงสภาพและเหตุการณ์ตามความเหมาะสม
1. ค่าอาหารจัดเลี้ยง วันละไม่เกิน 3 มื้อ มื้อละไม่เกิน 50 บาท ต่อคน
2. ค่าถุงยังชีพ ชุดละไม่เกิน 700 บาท ต่อครอบครัว
3. ค่าจัดซื้อหรือจัดหาน้ำสำหรับบริโภคและใช้สอยในที่อยู่อาศัย เท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นจนกว่าเหตุการณ์ประสบภัยพิบัติจะเข้าสู่ภาวะปกติ
4. ค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพเบื้องต้น กรณีที่อยู่อาศัยได้รับความเสียหายทั้งหลัง เท่าที่จ่ายจริงครอบครัวละไม่เกิน 3,800 บาท
5. ค่าวัสดุซ่อมแซมที่อยู่อาศัยประจำ ซึ่งผู้ประสบภัยพิบัติเป็นเจ้าของที่ได้รับความเสียหาย เท่าที่จ่ายจริงหลังละไม่เกิน 49,500 บาท
6. ค่าวัสดุซ่อมแซมหรือสร้างยุ้งข้าว โรงเรือนสำหรับเก็บพืชผลและคอกสัตว์ที่ได้รับความเสียหาย เท่าที่จ่ายจริงครอบครัวละไม่เกิน 5,700 บาท
7. กรณีที่ผู้ประสบภัยพิบัติเช่าบ้านเรือนของผู้อื่น และบ้านเช่าเสียหายจากภัยพิบัติทั้งหลังหรือเสียหายบางส่วนจนอยู่อาศัยไม่ได้ ให้ช่วยเหลือเป็นค่าเช่าบ้านแก่ผู้ประสบภัยพิบัติเท่าที่จ่ายจริงในอัตราครอบครัวละไม่เกินเดือนละ 1,800 บาท เป็นเวลาไม่เกิน 2 เดือน
8. ค่าดัดแปลงสถานที่สำหรับเป็นที่พักชั่วคราว เท่าที่จ่ายจริงครอบครัวละไม่เกิน 2,500 บาท หรือค่าผ้าใบหรือผ้าพลาสติกหรือวัสดุอื่น ๆ สำหรับกันแดดกันฝน เท่าที่จ่ายจริง ครอบครัวละไม่เกิน 1,000 บาท
9. ค่าใช้จ่ายที่ส่วนราชการจัดหาสาธารณูปโภคในที่พักชั่วคราว
-
ค่าไฟฟ้า ให้เป็นไปตามที่การไฟฟ้านครหลวงหรือการไฟฟ้า ส่วนภูมิภาคจะเรียกเก็บ สำหรับกรณีที่ท้องที่นั้นไม่มีไฟฟ้า ให้จัดอุปกรณ์แสงสว่างอื่น ๆ ทดแทนได้เท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็น
-
จัดหาน้ำบริโภคและใช้สอยจากหน่วยงานที่จังหวัดและอำเภอมีอยู่ เช่น การประปาส่วนภูมิภาค การประปานครหลวง หน่วยดับเพลิงเทศบาล เป็นต้น หรือจัดซื้ออุปกรณ์บรรจุน้ำ ตามความจำเป็นของจำนวนผู้ประสบภัยพิบัติ รวมทั้งการจัดซื้อเพื่อบริโภคใช้สอย เท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็น
-
จัดสร้างหรือจัดหาห้องน้ำ ห้องส้วม 1 ที่ ต่อ 10 คน เท่าที่จ่ายจริง เฉลี่ยที่ละไม่เกิน 1,700 บาท
-
จัดสร้างที่รองรับ ทำลาย หรือกำจัดขยะมูลฝอย เท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็น
10. ค่าเครื่องนุ่งห่มที่ได้รับความเสียหายและไม่สามารถนำกลับมาใช้ได้อีก หรือมีความจำเป็นต้องใช้ในการดำรงชีพ กรณีไม่มีเครื่องนุ่งห่มในการดำรงชีพขณะเกิดภัย รายละไม่เกิน 1,100 บาท
11. ค่าเครื่องมือประกอบอาชีพ และหรือเงินทุนสำหรับผู้ประสบภัยพิบัติ ที่เป็นอาชีพหลักในการหาเลี้ยงครอบครัวของผู้ประสบภัยพิบัติ เท่าที่จ่ายจริงครอบครัวละไม่เกิน 11,400 บาท
12. ค่าช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ
-
กรณีบาดเจ็บสาหัสที่ต้องรักษาในสถานพยาบาลติดต่อกัน ตั้งแต่ 3 วันขึ้นไป ให้จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นเป็นเงินจำนวน 4,000 บาท
-
กรณีบาดเจ็บจนถึงขั้นพิการไม่สามารถประกอบอาชีพตามปกติได้ให้ช่วยเหลือเบื้องต้นเป็นเงินจำนวน 13,300 บาท
-
กรณีภัยพิบัติที่เป็นสาธารณภัยขนาดใหญ่หรือรุนแรงเป็นที่สะเทือนขวัญของประชาชนทั่วไป ให้จ่ายเงินและหรือสิ่งของปลอบขวัญผู้ที่ได้รับบาดเจ็บที่รักษาตัวในสถานพยาบาล รายละไม่เกิน 2,300 บาท
13. ค่าจัดการศพผู้เสียชีวิต รายละไม่เกิน 29,700 บาท และในกรณีผู้ประสบภัยที่เสียชีวิตเป็นหัวหน้าครอบครัวหรือเป็นผู้หารายได้เลี้ยงดูครอบครัว ให้พิจารณาช่วยเหลือเงินสงเคราะห์ครอบครัวอีกไม่เกิน 29,700 บาท
14. กรณีอากาศหนาวจัดผิดปกติมีอุณหภูมิต่ำกว่า 8 องศาเซลเซียส และมีช่วงเวลาอากาศหนาวยาวนานติดต่อกันเกิน 3 วัน ให้จ่ายค่าจัดซื้อเครื่องกันหนาวสงเคราะห์ประชาชนได้เท่าที่จ่ายจริงคนละไม่เกิน 300 บาท ทั้งนี้ จังหวัดหนึ่งไม่เกินงบประมาณปีละ 1,200,000 บาท
15. ค่าเครื่องครัวและอุปกรณ์ในการประกอบอาหาร ที่สูญหายหรือได้รับความเสียหายและไม่สามารถนำกลับมาใช้ได้อีก เท่าที่จ่ายจริงครอบครัวละไม่เกิน 3,500 บาท
16. ค่าเครื่องนอน ที่สูญหายหรือได้รับความเสียหายและไม่สามารถนำกลับมาใช้ได้อีก หรือมีความจำเป็นต้องใช้ในการดำรงชีพกรณีไม่มีเครื่องนอนในการดำรงชีพขณะเกิดภัย เท่าที่จ่ายจริงคนละไม่เกิน 1,000 บาท
ด้านสังคมสงเคราะห์
ให้ดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ โดยจัดโครงการฝึกอบรมส่งเสริมอาชีพระยะสั้นเฉพาะพื้นที่ประสบภัยพิบัติแก่ผู้ประสบภัยเพื่อให้มีรายได้เลี้ยงดูครอบครัวในภาวะวิกฤต โดยให้เบิกค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ดังนี้
1. ค่าใช้จ่ายสำหรับอุปกรณ์การฝึกอาชีพ เท่าที่จ่ายจริงคนละไม่เกิน 2,000 บาท
2. ค่าใช้จ่ายตอบแทนวิทยากร วันละไม่เกิน 500 บาท ไม่เกิน 10 วัน
3. ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานปฏิบัติการฝึกอบรม เท่าที่จ่ายจริงภายในวงเงินไม่เกิน 10,000 บาท
4. เงินทุนประกอบอาชีพที่ได้รับการฝึกอบรม เท่าที่จ่ายจริงครอบครัวละ ไม่เกิน 4,000 บาท
ด้านการแพทย์และการสาธารณสุข
ให้ดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ ดังนี้
1. จัดหาวัสดุ เคมีภัณฑ์ อาหาร และเวชภัณฑ์ สำหรับแจกจ่ายประชาชน เพื่อให้ประชาชนได้บริโภคน้ำและอาหารที่ปลอดภัย ดังนี้
-
ค่าวัสดุ เคมีภัณฑ์ สำหรับไปทำความสะอาดบ่อน้ำตื้นของประชาชน บ่อน้ำละไม่เกิน 250 บาท
-
ค่าน้ำดื่มแก่ครอบครัวที่ขาดแคลนน้ำสะอาดบริโภค ครอบครัวละ ไม่เกิน 200 บาท
-
ค่าอาหารเสริมโปรตีน และอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายแก่ประชาชนผู้ประสบภัย เพื่อการฟื้นฟูสภาพร่างกายและเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรค ครอบครัวละไม่เกิน 570 บาท
-
ค่าวัสดุ เคมีภัณฑ์ สำหรับแจกจ่ายประชาชน เพื่อการปรับปรุงด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาลครัวเรือน ครัวเรือนละไม่เกิน 250 บาท
-
ค่ายาชุดช่วยเหลือผู้ประสบภัย (8 รายการ) ราคาตามบัญชีราคา สำหรับหน่วยงานราชการ องค์การเภสัชกรรม
2. จัดหาวัสดุ เคมีภัณฑ์ วัสดุวิทยาศาสตร์การแพทย์ สำหรับไปปฏิบัติงานช่วยเหลือประชาชน ปรับปรุงขาภิบาลและอนามัยสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการควบคุมป้องกันโรคได้ เท่าที่จ่ายจริง ตามความจำเป็นและเหมาะสม ดังนี้
-
ค่ายาและเวชภัณฑ์ สำหรับการรักษาพยาบาลหรือป้องกันควบคุมการแพร่ระบาดของโรค
-
ค่าวัสดุทางห้องปฏิบัติการหาเชื้อในคน
-
ค่าวัสดุและชุดทดสอบทางห้องปฏิบัติการในน้ำ อาหาร และอากาศ
-
ค่าตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการหาเชื้อในคน
-
ค่าตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการในน้ำ อาหาร และอากาศ
3. จัดหาวัสดุควบคุมและป้องกันโรคระบาดในภาวะภัยพิบัติ จัดหายาและเวชภัณฑ์สำหรับไปปฏิบัติงาน การควบคุมป้องกันโรคและการปฏิบัติการด้านการแพทย์เพื่อช่วยเหลือประชาชนในภาวะภัยพิบัติ ได้แก่ ค่าวัสดุเก็บตัวอย่าง น้ำยา และสารเคมีในการเก็บตัวอย่างและวิเคราะห์ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ เท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นและเหมาะสม
ด้านการเกษตร
ให้ดำเนินการช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัยพิบัติที่ขึ้นทะเบียน และปรับปรุงทะเบียนกับหน่วยงานที่กำกับดูแลแต่ละด้านของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก่อนเกิดภัยพิบัติแล้วเท่านั้น โดยเบิกจ่ายได้ ดังนี้
ด้านพืช ให้ดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ เป็นเงิน ดังนี้
1. กรณีพื้นที่ทำการเพาะปลูกมีพืชตายหรือเสียหายจนไม่สามารถฟื้นฟู หรือเยียวยาให้กลับสู่สภาพเดิมได้อีก ให้ช่วยเหลือตามจำนวนพื้นที่เพาะปลูกที่เสียหายจริง ไม่เกินครัวเรือนละ 30 ไร่ ในอัตรา ดังนี้
-
ข้าว ไร่ละ 1,340 บาท
-
พืชไร่และพืชผัก ไร่ละ 1,980 บาท
-
ไม้ผลไม้ยืนต้น และอื่น ๆ ไร่ละ 4,048 บาท
2. กรณีพื้นที่ทำการเพาะปลูกได้ถูกหิน ดิน ทราย ไม้ โคลน รวมทั้งซากวัสดุทุกชนิดทับถม จนไม่สามารถใช้เพาะปลูกได้และหน่วยงานของรัฐไม่สามารถเข้าไปให้ความช่วยเหลือ
กรณีดังกล่าวได้ ให้ช่วยเหลือเป็นค่าใช้จ่ายในการขุดลอก ขนย้ายหิน ดิน ทราย ไม้ โคลน รวมทั้งซากวัสดุ ที่ทับถมพื้นที่แปลงเกษตรกรรม เพื่อให้สามารถใช้พื้นที่เพื่อการเพาะปลูกพืชได้ในขนาดพื้นที่ไม่เกิน 5 ไร่ ทั้งนี้ ราคาไม่เกินไร่ละ 7,000 บาท
ด้านประมง ให้ดำเนินการช่วยเหลือผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ประสบภัยพิบัติที่สัตว์ตายหรือสูญหาย ให้ดำเนินการช่วยเหลือเป็นเงิน ดังนี้
1. กุ้งก้ามกราม กุ้งทะเล หรือหอยทะเล ไร่ละ 11,780 บาท ไม่เกินรายละ 5 ไร่
2. ปลาหรือสัตว์น้ำอื่นนอกจากข้อ 1 ที่เลี้ยงในบ่อดิน นาข้าวหรือร่องสวน (คิดเฉพาะพื้นที่เลี้ยง) ไร่ละ 4,682 บาท ไม่เกินรายละ 5 ไร่
3. สัตว์น้ำตามข้อ 1 และข้อ 2 ที่เลี้ยงในกระชัง บ่อซีเมนต์ หรือที่เลี้ยงในลักษณะอื่นที่คล้ายคลึงกัน ตารางเมตรละ 368 บาท ไม่เกินรายละ 80 ตารางเมตร
ทั้งนี้ หากคิดคำนวณพื้นที่เลี้ยงแล้ว ผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ประสบภัยพิบัติรายใดจะได้รับการช่วยเหลือเป็นเงินต่ำกว่า 368 บาท ให้ช่วยเหลือในอัตรารายละ 368 บาท
ด้านปศุสัตว์
1. ให้ดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติในกรณีที่เป็นการจัดหาอาหารสัตว์ วัคซีนและเวชภัณฑ์รักษาสัตว์ เพื่อการฟื้นฟูสุขภาพสัตว์เลี้ยง และการจัดหาอาหารสัตว์ ตามราคาท้องตลาด หรือตามความจำเป็นเหมาะสม
2. การให้ความช่วยเหลือกรณีแปลงหญ้าเลี้ยงสัตว์ของเกษตรกรตายหรือเสียหาย จนไม่สามารถฟื้นฟูหรือเยียวยาให้กลับสู่สภาพเดิมได้ ให้ดำเนินการช่วยเหลือเป็นเงิน ในอัตราไร่ละ 1,980 บาท แต่ไม่เกินรายละ 30 ไร่
3. การให้ความช่วยเหลือกรณีสัตว์ตายหรือสูญหาย ให้ช่วยเหลือตามจำนวนที่เสียหายจริง แต่ไม่เกินเกณฑ์การช่วยเหลือที่กำหนด โดยให้ดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ เป็นเงิน ดังนี้
ด้านการเกษตรอื่น
1. การปรับเกลี่ยพื้นที่ด้านการเกษตรที่เป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประสบภัยพิบัติ ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการปรับเกลี่ยพื้นที่การไถพรวน การก่อสร้างคันดิน เพื่อการเพาะปลูกพืชหรือประกอบกิจกรรมด้านการเกษตรที่เป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประสบภัยพิบัติให้ช่วยเหลือค่าใช้จ่ายโดยเหมาจ่ายโดยช่วยเหลือพื้นที่ที่เสียหายจริง ในอัตราไร่ละ 800 บาท
2. การปรับเกลี่ยพื้นที่นาเกลือทะเลที่เป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประสบภัยพิบัติ ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการปรับพื้นที่ทำนาเกลือทะเล ให้ช่วยเหลือตามจำนวนพื้นที่ที่เสียหายจริง ในอัตราไร่ละ 1,220 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 30 ไร่
3. ค่าซ่อมแซมอาคารชลประทานและระบบชลประทานให้สามารถใช้งานได้ในช่วงฉุกเฉิน โดยให้ดำเนินการได้เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการระบายน้ำในกรณีใช้เครื่องจักรกลของส่วนราชการในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพื่อดำเนินการขุดลอกเปิดทางน้ำ งานกำจัดวัชพืชที่กีดขวางการระบายน้ำ งานขุดลอกดิน ทราย วัสดุที่ทับถมทางระบายน้ำ ให้นำอัตราราคางานตามราคากลางที่ได้รับอนุมัติจากสำนักงบประมาณหรือกระทรวงการคลังมาใช้โดยอนุโลม
4. ค่าจ้างเหมารถยนต์ ค่าระวางบรรทุกรถไฟและเรือบรรทุกของเอกชนเพื่อใช้ในการขนย้ายสัตว์เลี้ยงที่ประสบภัย และที่นำไปสนับสนุนหรือขนส่งพืชหญ้าอาหารสัตว์ หรืออาหารสัตว์ ให้เบิกจ่าย ดังนี้
-
ค่าจ้างเหมารถยนต์และเรือบรรทุกของเอกชน ให้จ่ายเป็นรายวันตามราคาท้องถิ่น
-
ค่าระวางบรรทุกทางรถไฟ ให้เบิกจ่ายได้เท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็น
ทั้งนี้ กรณีมีความจำเป็น หากรายการใดมิได้กำหนดให้จ่ายเป็นเงินให้อยู่ในดุลยพินิจของผู้มีอำนาจอนุมัติให้การช่วยเหลือพิจารณาให้จ่ายเป็นเงินก็ได้ โดยคำนึงถึงสภาพและเหตุการณ์ตามความเหมาะสม
ทั้งหมดนี้ คือรายละเอียดและหลักเกณฑ์การเยียวยาสำหรับประชาชน และเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบประสบภัยน้ำท่วม
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage