"… ยาฟาวิพิราเวียร์รักษาโควิดในระยะแรกเริ่มได้ดี แต่ไม่ได้ช่วยในผู้ป่วยติดเชื้ออาการหนัก และมีผลข้างเคียงที่รุนแรงในผู้ป่วยโรคไต ตับ และหญิงตั้งครรภ์ ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้ควรหลีกเลี่ยง แต่ยาเรมเดซิเวียร์ สามารถนำมาใช้ในกับผู้ป่วยโควิดที่มีอาการรุนแรง และผู้ป่วยที่ไม่สามารถใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ได้ นอกจากนั้นยังช่วยลดอัตราการตายของผู้ป่วยอาการน้อยได้ดี สำหรับไทยที่มีการปรับเปลี่ยนแนวเวชปฏิบัติในการดูแลผู้ป่วยโควิดให้สอดคล้องกับยาต้านโควิด 2 ชนิดนี้ นับว่าเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่จะช่วยให้ชาวไทยได้รับการรักษาที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น…."
ข้อมูลจาก Worldometers เมื่อวันที่ 20 ก.ย.2564 เปิดเผยสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 คร่าชีวิตประชาชนทั่วโลกไปแล้วมากกว่า 4.7 ล้านราย ปัจจุบันแม้จะมีวัคซีนเป็นเครื่องมือสำคัญในการลดอาการป่วยหนักและเสียชีวิตได้ แต่ ‘ยาต้านโควิด’ ก็นับเป็นอีกปัจจัยสำคัญเช่นเดียวกัน ซึ่งหลายประเทศทั่วโลกต่างพยายามค้นหาและทดลองยาต้านไวรัสเพื่อรักษาอาการผู้ป่วยโควิด โดยมียาที่น่าสนใจและประเทศไทยนำมาใช้ คือ ยาเรมเดซิเวียร์ (Remdesivir)
ยาเรมเดซิเวียร์กลายเป็นที่รู้จัก หลังมีการนำเข้ามาในประเทศไทย เพื่อใช้รักษาผู้ป่วยโควิด เนื่องจากปัจจุบันพบว่ายาต้านไวรัสอย่างฟาวิพิราเวียร์ มีผู้ใช้บางส่วน เช่น หญิงตั้งครรภ์ มีอาการแพ้ ดังนั้นยาเรมเดซิเวียร์จึงกลายมาเป็นอีกทางเลือกสำคัญสำหรับคนไทย
ยาเรมเดซิเวียร์ พัฒนาโดย บริษัท ไกลีด ไซเอนซ์ (Gilead Science) ของสหรัฐอเมริกา ในปี 2558 เป็นยาต้านไวรัสเพื่อใช้รักษาผู้ป่วยโรคซาร์ส โรคเมอร์ส โรคไวรัสอีโบลา ซึ่งในหลายประเทศอาทิ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป (EU) อังกฤษ ออสเตรเลีย อินเดีย สิงคโปร์ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ได้นำมาใช้กับผู้ป่วยโควิดที่มีอาการรุนแรง และผู้ป่วยที่ไม่สามารถใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ได้
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 14 ก.ย.2564 วารสาร Lancet เปิดเผยผลการศึกษาทางคลินิกของ Iwein Gyselinck และ Wim Janssens กลับพบว่า จากการสุ่มให้ยาเรมเดซิเวียร์กับผู้ป่วยโควิดรุนแรง 857 ราย พบว่า ผู้ป่วยที่ใส่เครื่องช่วยหายใจและได้รับยาเรมเดซิเวียร์ มีอาการป่วยไม่แตกต่างจากกลุ่มที่ไม่ได้รับยา และยาเรมเดซิเวียร์ไม่ได้ลดอัตราการเสียชีวิต แต่สำหรับผู้ป่วยที่อาการน้อย กลับพบว่าผู้ที่ได้รับยาเรมเดซิเวียร์ มีอัตราการเสียชีวิตที่ต่ำกว่าผู้ที่ไม่ได้รับยา
ผลการศึกษาทางคลินิกจากวารสาร Lancet
ใช้'เรมเดซิเวียร์'รักษาผู้ป่วยโควิดอาการรุนแรง-หญิงท้อง
อย่างไรก็ข้อมูลจากเว็บไซต์ บริษัทไกลีดฯ ซึ่งเป็นผู้ผลิตยาเรมดิซิเวียร์ เปิดเผยผลการทดลองทางคลินิกในระยะที่ 3 เมื่อวันที่ 29 เม.ย.2563 ว่า จากการทดลองกับผู้ป่วยโควิดกว่า 5,600 ราย ผู้ป่วยอาการรุนแรงส่วนใหญ่มีอาการดีขึ้นหลังได้รับยาเรมเดซิเวียร์ต่อเนื่อง 10 วัน ส่วนผู้ป่วยอาการปานกลางราว 1,000 คน มีอาการดีขึ้น หลังได้รับยาต่อเนื่อง 5 วัน หรือคิดเป็น 65% เมื่อเทียบกับผู้ป่วยที่รับการรักษาตามปกติ
นอกจากนั้นยังได้รับการยืนยันจากผู้เชี่ยวชาญระบบทางเดินหายใจจากจีน ในปี 2563 อีกว่า ยาเรมเดซิเวียร์สามมารถออกฤทธิ์ต้านไวรัสโควิดในระดับเซลล์ได้ดี
และเมื่อวันที่ 4 ส.ค.2564 ที่ผ่านมา นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์กล่าวถึงยาเรมเดซิเวียร์ด้วยว่า เป็นยาใช้รักษาโควิด มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อไวรัสและออกฤทธิ์ที่เกี่ยวกับยาฟาวิพิราเวียร์ แต่ใช้สำหรับคนท้อง หรือผู้ที่มีปัญหาด้านระบบการดูดซึม จึงมีความจำเป็นต้องฉีดแทนการรับประทาน ซึ่งไทยก็ได้นำมาใช้กับผู้ป่วยโควิดกลุ่มนี้ด้วย
ยาฟาวิพิราเวียร์ผลข้างเคียงรุนแรงกับหญิงตั้งครรภ์
นอกจากนี้ยาต้านโควิดที่ชาวไทยรู้จักอีกชนิด คือ ‘ยาฟาวิพิราเวียร์’ ซึ่งเป็นยาที่ถูกผลิตโดยบริษัท โตยามะเคมิคอล (Toyama Chemical Co., Ltd) ในประเทศญี่ปุ่น เมื่อเดือน มี.ค.2557 ที่ผ่านมา เป็นยาต้านไวรัส เพื่อใช้รักษาโรคไข้หวัดใหญ่ที่ใช้ยาอื่นไม่ได้ผล และมีการใช้ยานี้ในช่วงที่มีการระบาดอย่างหนักของไวรัสอีโบลา (Ebola virus) ในแถบแอฟริกาตะวันตกปี 2557-2559
ทั้งนี้ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เปิดเผยข้อมูลการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ในอดีตว่า มีผู้ใช้ยานี้ไม่ว่าจะเป็นอาสาสมัครสุขภาพดี ผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่และผู้ป่วยโรคอีโบลากว่า 2,000 คน พบว่ายามีความปลอดภัย
อย่างไรก็ตามในช่วงสถานการณ์การระบาดที่ยังไม่รู้ว่าจะจบลงเมื่อใด และการรักษาโควิดยังไม่มีแนวทางที่ชัดเจน และขณะนี้ยาฟาวิพิราเวียร์ได้รับการอนุมัติให้ใช้ในการรักษาโควิดในหลายประเทศทั่วโลกแล้ว ได้แก่ จีน โปรตุเกส ฮังการี รัสเซีย อินเดีย เซอร์เบีย เกาหลีใต้ ไทย โปแลนด์ และตุรกี
ขณะที่เมื่อวันที่ 26 ส.ค.2564 โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) ได้รวบรวมงานวิจัยทางคลินิกกับผู้ป่วยโควิดจากหลายประเทศ ที่มาจากฐานข้อมูล MEDLINE มีข้อมูล ดังนี้
-
ยาฟาวิพิราเวียร์ช่วยลดอาการป่วยได้ดีในระยะเวลา 7 วัน แต่ในระยะเวลา 14 วัน ยังมีผลการศึกษาออกมาใน 2 รูปแบบ คือ ลดอาการป่วยได้ และไม่สามารถลดอาการป่วยได้
-
ยาฟาวิพิราเวียร์ไม่ได้ลดอัตราการเสียชีวิต การใช้เครื่องช่วยหายใจ ความต้องการออกซิเจน และการใช้เตียง ICU
-
ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนต่อประสิทธิผลการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์เพื่อขจัดไวรัส เนื่องจากบางการศึกษาพบว่ายาฟาวิพิราเวียร์สามารถช่วยขจัดไวรัสได้ดีในช่วงระยะเวลา 7 วัน แต่บางการศึกษากลับพบว่ายานี้ไม่สามารถขจัดไวรัสได้เลย
-
ผลข้างเคียงการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ พบว่า มีไม่มาก แต่รุนแรงในผู้ป่วยโรคไต ตับ และหญิงตั้งครรภ์ ซึ่งต้องติดตามผลการใช้อย่างใกล้ชิด รวมถึงผลกระทบระยะยาวด้วย
สำหรับประเทศไทยที่ได้ออกแนวทางเวชปฏิบัติ ดูแลรักษา และป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล กรณีติดเชื้อโควิด ฉบับใหม่เมื่อวันที่ 9 ก.ย.2564 ให้มีการปรับปรุงแนวทางการให้ยาฟาวิพิราเวียร์ โดยเริ่มให้ยาเร็วที่สุด และให้ยานาน 5 วัน หรืออาจมากกว่าตามดุลยพินิจของแพทย์ รวมถึงมีการปรับให้ยาเรมเดซิเวียร์สำหรับผู้ป่วยโควิดที่ไม่มีอาการปอดอักเสบรุนแรงไม่เกิน 10 วัน และหญิงตั้งครรภ์ที่มีปอดอักเสบ นับว่าเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่จะช่วยให้ชาวไทยได้รับการรักษาที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ภาพจาก: ไทยโพสต์
เรียบเรียงจาก:
https://www.thelancet.com/journals/laninf/article/PIIS1473-3099(21)00559-4/fulltext
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage