ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เตรียมนำเข้า ‘แอนติบอดี ค็อกเทล’ ยาที่ถูกพัฒนาให้รักษาโควิดโดยตรง มีความจำเพาะต่อโคโรนาไวรัส รักษาโควิดได้ทุกสายพันธ์ เพื่อลดอาการป่วยหนัก-เสียชีวิตกลุ่มผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงสูง เช่น ผู้สูงอายุ โรคเรื้อรัง
ผู้สื่อจ่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 21 ก.ย.2564 ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์จัดแถลงข่าวออนไลน์ เรื่องการรับมือต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดในปัจจุบันและอนาคต และแผนการใช้ยาแอนติบอดี ค็อกเทลเพื่อรักษาผู้ป่วยโควิดในประเทศไทย โดย ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กล่าวว่า ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เป็นหน่วยงานหนึ่งที่นายกรัฐมนตรี และศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด (ศบค.) ได้กำหนดให้จัดหาวัคซีนและยารักษาโควิดในภาวะฉุกเฉินได้
ที่ผ่านมาราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ได้นำเข้าวัคซีนทางเลือก อย่างวัคซีนซิโนฟาร์ม และยาฟาวิพิราเวียร์แล้ว รวมถึงได้ร่วมกับคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พัฒนายาน้ำเชื่อมฟาวิพิราเวียร์สำหรับผู้ป่วยเด็กและผู้ที่ไม่สามารถกลืนยาเม็ดได้ อย่างไรก็ตามยาฟาวิพิราเวียร์ เป็นยารักษาไข้หวัดใหญ่ที่ออกฤทธิ์กว้าง ที่สามารถใช้ได้กับเชื้อไวรัสอื่นๆ รวมถึงโควิดด้วย แต่ไม่มีความจำเพาะเจาะจง
สิ่งที่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กำลังดำเนินการ คือ การนำเข้า ยาโมโนโคลนอลแอนติบอดี หรือแอนติบอดี ค็อกเทล และจะกระจายให้กับโรงพยาบาลต่างๆ ซึ่งยานี้เป็นยาตัวแรกที่ถูกแบบมาเพื่อรักษาโรคโควิดโดยตรง และมีความจำเพาะต่อโคโรนาไวรัส สามารถยับยั้งไวรัสโควิดสายพันธุ์ต่าง ๆและการติดเชื้อภายในร่างกายได้ทันที นอกจากนี้ยังช่วยลดอัตราการเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลและการเสียชีวิตได้
ยาแอนติบอดี ค็อกเทลนี้ เหมาะสำหรับผู้ป่วยโควิดที่พบว่าติดเชื้อไม่เกิน 10 วัน มีอาการเล็กน้อยไปจนถึงปานกลาง หรือเป็นผู้มีปัจจัยเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ โรคอ้วน โรคหลอดเลือดหัวใจ ความดันโลหิตสูง ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง โรคปอดเรื้อรัง โรคหอบหืด โรคเบาหวาน โรคไต โรคตับ เป็นต้น ซึ่งผู้ป่วยจะไดรับยาผ่านหลอดเลือดดำเพียงครั้งเดียว
ส่วนผลข้างเคียงจากยานั้น อาจเกิดขึ้นได้ภายใน 1 ชั่วโมงหลังจากได้รับยา แต่เกิดขึ้นได้น้อยมา โดยอาจ มีอาการ ได้แก่ ผื่นแพ้ มีอาการคล้ายหวัด คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย และความดันโลหิตต่ำ อย่างไรก็ตามขณะนี้ยังมีข้อมูลจำกัดในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร และเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี
นอกจากนั้นเรายังร่วมกับโรงพยาบาลอีก 2-3 แห่งที่จะวิจัยยาต้านไวรัสตัวใหม่ที่จะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ โดยมองว่าจะถึงเป้าเร็วกว่าคนอื่น และประเทศไทยจะเป็นส่วนหนึ่งในการทดสอบยานั้นด้วย
“ความรู้ใหม่ๆเกิดขึ้นตลอด เพราะตัวไวรัสมีการเปลี่ยนอยู่ทุกวัน มีการกลายพันธุ์อยู่เรื่อยๆ แต่หากไวรัสกลายพันธุ์แข็งแรงขึ้นมา เราก็ต้องสู้กันไป หลายคนจะได้ยินว่าหมอพูดไม่ตรงกันบ้าง แต่ขอให้ทุกคนเข้าใจว่า ทุกคนปรับตัว ปรับความคิดตามไวรัสและสถานการณ์ตลอดเวลา ซึ่งจะเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ จนกว่าเราจะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้อย่างโรคไข้หวัดใหญ่ อย่างวัคซีนนี้วันนี้ที่ว่าดี ต่อไปอาจจะไม่ดีหรือดีขึ้นก็ได้ ยาก็เช่นเดียวกัน ขอให้ทุกคนมั่นใจว่าวิทยาการด้านการแพทย์พัฒนาไปกับโรคนี้ได้อย่างรวดเร็ว และในวันหนึ่งเราจะอยู่ร่วมกับโควิด และกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ” ศ.นพ.นิธิ กล่าว
ด้าน รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล และนายกสมาคมอุชุรเวชช์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมป์ กล่าวด้วยว่า ในช่วงการระบาดระลอกใหม่ที่ผ่านมา ตัวเลขผู้ติดเชื้อที่ต้องเข้าสู่ระบบการรักษาจริงๆ ขึ้นไปเกือบ 3 หมื่นรายต่อวัน ซึ่งยังไม่นับรวมการตรวจด้วยชุดตรวจโควิดแบบแอนติเจน (Antigen Test Kit: ATK) ซึ่งในการระบาดครั้งนี้สายพันธุ์เดลต้า ทำให้มีการติดเชื้อมากและปอดอักเสบรุนแรง ซึ่งมีสัดส่วนผู้ป่วยอาการรุนแรงถึง 5% แตกต่างการการระบาดก่อนหน้านี้มาก
การรักษาผู้ป่วยอาการรุนแรง หากเป็นผู้ป่วยที่ไม่มีโรคแทรกจะใช้เวลาเฉลี่ย 7-10 วัน แต่หากมีโรคแทรกจะใช้เวลานานขึ้นและผลการรักษาไม่ค่อยดี อาจใช้เวลา 10-30 วัน ดังนั้นเราจะต้องหาวิธีต่างๆ เพื่อไม่ให้ยอดผู้ป่วยเพิ่มขึ้น และลดการป่วยในกลุ่มเสี่ยงจะเป็นวิธีที่ดีที่สุด
ขณะเดียวกัน ผศ.นพ.กำธร มาลาธรรม นายกสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย กล่าวอีกว่า ขณะนี้แม้จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่จะลดลง แต่เราเพิ่งมีการเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ คาดว่าในช่วงกลางเดือน ต.ค.นี้ ยอดผู้ป่วยอาจจะเพิ่มสูงขึ้น
“หากเพิ่มทุกวัน วันละกว่า 1 หมื่นราย จะมีผู้ป่วยอาการหนัก 5% ที่ต้องอยู่ไอซียู หมายความว่า จะมีคนเข้าไปอยู่ใน 2 สัปดาห์ข้างหน้า 500 ราย และต้องคูณ 14 ทบไปเรื่อยๆ ดังนั้นเราต้องลดผู้ติดเชื้อรายใหม่ให้ได้มากที่สุด” ผศ.นพ.กำธร กล่าว
สำหรับการควบคุมสถานการณ์โควิดขณะนี้ ส่วนตัวมองว่าวัคซีนอย่างเดียวไม่สามารถตอบโจทย์ได้หมด เพราะผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้วมีโอกาสติดเชื้อโควิดได้ แต่อาการป่วยจะไม่รุนแรง ดังนั้นจะต้องดำเนินมาตรการควบคู่กับ มาตรการป้องกันส่วนบุคคล และยารักษาโรคด้วย
“ขณะนี้ยาต้านไวรัสทุกตัวที่ใช้อยู่ ยังมีคำถามมากมาย ทั้งยาฟาวิพิราเวียร์ เรมเดซิเวียร์ รวมถึงฟ้าทะลายโจรก็ยังมีคำถาม ดังนั้นตอนนี้เลยมีความพยายามหายาต้านไวรัสหลายตัว สำหรับยาแอนติบอดี ค็อกเทล มีความน่าสนใจ เพราะบล็อกเชื้อไวรัสไม่ให้เข้าเซลล์ได้ ผมมองว่าจะเป็นหนึ่งตัวที่มาช่วยคนไข้ความเสี่ยงสูงได้ดีพอสมควร” ผศ.นพ.กำธร กล่าว
ผศ.นพ.โอภาส พุทธเจริญ หัวหน้าศูนย์โรคอุบัติใหม่ทางคลินิก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า หากผู้ป่วยโควิดมีมากขึ้น การบริหารเตียงผู้ป่วยให้ดี จะต้องคัดแยกผู้ป่วยตามกลุ่มสี เพื่อกระจายเข้าไปในสถานที่สามารถดูแลและควบคุมคุณภาพได้
ขณะเดียวกันข้อมูลจากต่างประเทศ พบว่า ต่างประเทศมีการพัฒนายารักษาอยู่หลายตัว เพื่อช่วยป้องกันและลดความรุนแรงของโควิด ยากลุ่มใหม่ที่อยู่ในการศึกษา คือ กลุ่มยาแอนติบอดี ค็อกเทล ที่นำโปรตีนที่สร้างขึ้นจับกับส่วนของไวรัส ไม่ให้เข้าเซลล์มนุษย์ ดังนั้นไวรัสจะไม่สามารถทำร้ายเซลล์ได้ โดยผลจากการวิจัยทางคลินิกระยะที่ 3 ในผู้ป่วยโควิด ที่แสดงอาการของโรคระดับน้อยถึงปานกลางภายใน 7 วันของการติดเชื้อ และไม่เคยได้รับยารักษาโควิดใด ๆ มาก่อน รวมถึงผู้มีปัจจัยเสี่ยงต่อการป่วยหนักหากติดเชื้อ อย่างผู้สูงอายุ น้ำหนักตัวมาก หรือมีโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคไต โรคตับ โรคปอด และภูมิคุ้มกันบกพร่องจากสาเหตุต่าง ๆ จำนวนกว่า 4,000 ราย พบว่ายานี้ เป็นยาชนิดแรกที่มีผลการทดลองรับรองว่า ช่วยลดอัตราการป่วยหนักขั้นนอนโรงพยาบาลหรือห้องไอซียู หรือเสียชีวิตได้ถึง 70% และช่วยลดระยะเวลาที่มีอาการป่วยลงได้ถึง 4 วัน
อย่างไรก็ตามการใช้แอนติบอดี ค็อกเทลต้องใช้ในระยะของการติดเชื้อ จึงไม่แนะนำให้ใช้ในช่วงที่ช้าไปแล้ว หรือเลย 10 วันแล้ว เนื่องจากเป็นระยะของการกระตุ้นภูมิของร่างกาย ซึ่งในประเทศไทยจะใช้ยานี้ในผู้ป่วยกลุ่มสีเหลืองและกลุ่มสีเขียวที่มีความเสี่ยงที่จะมีอาการหนัก แต่ในอนาคตจะมีการขยายข้อบ่งชี้มากขึ้น ไปยังกลุ่มผู้ป่วยโรคระบบประสาท คนท้อง และเด็ก
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage