"…วัดแม้จะไม่ใช่บริบทที่ต้องดูแลด้านสาธารณสุข และพระก็ไม่ได้มีองค์ความรู้เรื่องนี้มาก แต่ในวิกฤตแบบนี้ โดยฐานะของวัดที่เราอยู่กับชุมชนอยู่แล้ว พระสงฆ์ได้รับการอุปถัมภ์ อนุเคราะห์จากญาติโยม อาตมาคิดว่าถึงเวลาแล้วที่วัดจะเข้ามามีบทบาท เข้ามาช่วยเหลือสังคม ซึ่งการที่วัดสุทธิวรารามได้เข้ามามีส่วนช่วยตรงนี้ อาตมาก็คิดว่าในฐานะของพระ ก็เป็นความงดงามของพระสงฆ์และศาสนาในการช่วยเหลือสังคม และเป็นที่พึ่งของประชาชนในความยาก..."
ท่ามกลางสถานการณ์การระบาดของโควิดที่เริ่มลดลง และภายในประเทศเริ่มมีการคลายล็อกกิจการกิจกรรมเพิ่มขึ้น โดยราชกิจจานุเบกษาแพร่ประกาศไว้แล้ว มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.เป็นต้นไป แต่ข้อมูลจากศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด ณ วันที่ 2 ต.ค.2564 หากพิจารณายอดผู้ติดเชื้อที่เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลสนามและระบบบริการอื่นๆ 74,529 ราย และยอดผู้ติดเชื้อในโรงพยาบาล 38,865 ราย พบมีมากกว่า 1 เท่าตัว
-
ราชกิจจาฯ แพร่ประกาศคลายล็อก ผ่อนปรนมาตรการ มีผลบังคับใช้ 1 ต.ค.64
-
ไทยติดเชื้อเพิ่ม 11,375 หายป่วยอีก 13,127 ตาย 87 ราย ฉีดวัคซีนแล้ว 54.58 ล้านโดส
ดังนั้นการวางระบบบริหารจัดการโรงพยาบาลสนามและระบบอื่นๆ ให้มีความพร้อมถือเป็นมาตรการสำคัญ เพื่อดูแลผู้ป่วยโควิดอย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยลดการแพร่ระบาดในครอบครัวและชุมชม
‘ศูนย์พักคอยวัดสุทธิวราราม’ ถือเป็นหนึ่งในโรงพยาบาลสนามที่มีระบบบริหารจัดการที่ดี และไม่ได้จำกัดขีดความสามารถอยู่ที่การรักษาผู้ป่วยเท่านั้น ยังมีการลงพื้นที่ตรวจคัดกรองเชิงรุกชุมชนโดยรอบ รวมถึงมีการเตรียมพร้อมเปิดพื้นที่สำหรับเยียวยาจิตใจผู้ได้รับผลกระทบในพื้นที่อีกด้วย
ศูนย์พักคอยแห่งนี้ จึงได้รับการผลักดันจากมติมหาเถรสมาคมและสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้เป็นตันแบบวัดดูแลผู้ป่วยโควิด พร้อมชูแนวคิดนี้ขยายไปในพื้นที่อื่น ให้เกิดสถานที่ดูแลผู้ติดเชื้อ ‘1 วัด 1 จังหวัด’
โดย พระมหาพร้อมพงศ์ ปภสุสรจิตฺโต ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสุทธิวราราม กรุงเทพมหานคร เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า ศูนย์พักคอยวัดสุทธิวราราม เริ่มมาจากการได้เห็นประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์การระบาดของโควิดในช่วงเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งวิกฤตมาก
ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ละแวกวัดติดโควิดกันเยอะมาก หลายคนไม่มีเตียง และก็ไม่สามารถเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลได้ ทางวัดจึงเกิดไอเดียเปลี่ยนห้องพักที่เคยให้ชาวบ้านอาศัยนอน มาเป็นศูนย์พักคอยผู้ป่วยโควิด ซึ่งเราใช้เวลาสร้างขึ้นมาอยู่ด้วนกัน 5 วัน ตังแต่วันที่ 12 ก.ค. 2564 จนมีเตียงรองรับผู้ป่วยโควิดได้ 108 เตียง และมีอีก 14 เตียงสำรองไว้รองรับผู้ป่วยฉุกเฉิน
วัดสุทธิวรารามเริ่มเปิดภารกิจรับผู้ป่วยโควิดรายแรกในวันที่ 17 ก.ค. 2564 แต่ต่อมาอีก 2-3 วัน เตียงยังคงว่างมาก เนื่องจากขณะนั้นผู้ที่จะเข้ามายังศูนย์พักคอยได้ต้องมีผลตรวจแบบมาตรฐาน RT-PCR ซึ่งการตรวจหาเชื้อด้วย ATK ยังไม่เป็นที่ยอมรับ ทางวัดสุทธิวรารามจึงเริ่มภารกิจคัดกรองชุมชน โดยรวบรวมอาสาสมัครจากบุคลลากรการแพทย์ พยาบาล และหลายๆภาคส่วน เรียกว่า ‘ทีมพระไม่ทิ้งโยม’
หลังจากนั้น วันที่ 20 ก.ค. 2564 ทีมพระไม่ทิ้งโยมจึงได้ลงพื้นที่ไปตรวจคัดกรองเชิงรุกเป็นวันแรก ให้กับชาวบ้านละแวกวัดสุทธิวราราม ซึ่งเป็นวันเดียวกันโดยบังเอิญที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ประกาศนโยบายให้ดำเนินมาตรการ Home Isolation
ดังนั้นเมื่อลงพื้นที่ หากพื้นที่ใดมีผู้ป่วยโควิดเยอะ และชาวบ้านสามารถรักษาตัวที่บ้านได้ ทีมพระไม่ทิ้งโยมจะให้พักรักษาตัวที่บ้าน โดยจะรับหน้าที่เป็นผู้ส่งยา อุปกรณ์ดำรงชีพต่างๆ และอาหารให้ แต่ในกรณีที่ผู้ป่วยโควิดไม่สามารถรักษาตัวที่บ้าน ทางวัดสุทธิวรารามจะผลักดันให้เข้าสู่ศูนย์พักคอย
อย่างไรก็ตามการจะรับผู้ป่วยโควิดเข้าสู่ศูนย์พักคอย ด้วยผลตรวจ ATK ยังไม่เป็นที่ยอมรับ และยังไม่มีมาตรการชัดเจนว่าจะสามารถรับผู้ป่วยนอกพื้นที่ รวมถึงแรงงานข้ามชาติได้ ในวันถัดมา คือ 21 ก.ค.2564 ทางวัดสุทธิวรารามจึงพูดคุยกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และกรุงเทพมหานคร เพื่อขอรับผู้ป่วยที่มีข้อจำกัดดังกล่าว และท้ายที่สุดวัดสุทธิวรารามก็ประสบความสำเร็จในการเจรจา
ในปัจจุบันกลุ่มผู้ป่วยโควิดที่ทางวัดสุทธิวรารามรับจึงมีทั้ง ผู้ติดเชื้อเข้าข่ายจากผลตรวจ ATK ประชาชนทั่วไปที่มีผลหาเชื้อแบบ RT-PCR ผู้ป่วยนอกพื้นที่ พระสงฆ์ และแรงงานข้ามชาติ ซึ่งได้ขยายเตียงเพิ่มอีก 30 เตียงสำหรับกลุ่มแรงงานข้ามชาติโดยเฉพาะ อย่างไรก็ตามยังดูแลผู้ป่วยโควิดควบคู่กับการลงพื้นที่ตรวจคัดกรองเชิงรุก และรับตรวจหาเชื้อโควิดด้วย ATK แบบวอล์กอิน (Walk-in) ด้วย
5 รูปแบบการจัดการ สู่โมเดลต้นแบบ
พระมหาพร้อมพงศ์ ปภสุสรจิตฺโต เปิดเผยถึงจุดเด่นของศูนย์พักคอยวัดสุทธิวรารามอีกว่า วัดสุทธิวรารามมีรูปแบบการจัดการและการวางระบบที่มีความพร้อม 5 ด้าน ดังนี้
-
ด้านสถานที่ รองรับ 152 เตียง
-
ด้านการดูแลรักษาผู้ป่วยที่ผ่านมา มีผู้เข้ารับการรักษากว่า 138 คน ปัจจุบันรักษาผู้ป่วยหายดีกลับบ้านแล้วกว่า 60 คน
-
ด้านอาหาร จัดตั้งโรงครัวทำอาหาร 3 มื้อ
-
ด้านการค้นหาผู้ป่วยและเยี่ยมผู้ป่วยในชุมชน กลุ่ม ‘พระไม่ทิ้งโยม’ ลงพื้นที่เชิงรุกในชุมชนรอบข้าง มียอดรวมสะสมการตรวจหาเชื้อ ณ วันที่ 30 ก.ย.2564 จำนวน 4,448 ราย และในจำนวนนี้เป็นผู้ติดเชื้อ 860 ราย
-
ด้านการสื่อสาร พัฒนานวัตกรรมด้านการสื่อสารรูปแบบรูปภาพเชิงสัญลักษณ์ 4 ภาพ โดยให้ผู้ป่วยสำรวจอาการเบื้องต้นแล้วใช้รูปภาพสื่อสารกับพระสงฆ์ บุคลากรทางการแพทย์ หรือคนในครอบครัว เพื่อลดการแพร่ระบาดจากการสัมผัส และลดปัญหาในการสื่อสาร โดยเฉพาะผู้สูงอายุ เด็ก และแรงงานข้ามชาติ
และขยายการผลิตสื่อในรูปแบบสติกเกอร์ เพื่อส่งมอบให้แก่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) 10,000 แห่งทั่วประเทศ พร้อมเตรียมเปิดพื้นที่การเรียนรู้ Mini-Sandbox ย่านเจริญกรุง เพื่อเยียวยาจิตใจผู้ได้รับผลกระทบในพื้นที่
“วัดแม้จะไม่ใช่บริบทที่ต้องดูแลด้านสาธารณสุข และพระก็ไม่ได้มีองค์ความรู้เรื่องนี้มาก แต่ในวิกฤตแบบนี้ โดยฐานะของวัดที่เราอยู่กับชุมชนอยู่แล้ว พระสงฆ์ได้รับการอุปถัมภ์ อนุเคราะห์จากญาติโยม อาตมาคิดว่าถึงเวลาแล้วที่วัดจะเข้ามามีบทบาท เข้ามาช่วยเหลือสังคม ซึ่งการที่วัดสุทธิวรารามได้เข้ามามีส่วนช่วยตรงนี้ อาตมาก็คิดว่าในฐานะของพระ ก็เป็นความงดงามของพระสงฆ์และศาสนาในการช่วยเหลือสังคม และเป็นที่พึ่งของประชาชนในความยาก” พระมหาพร้อมพงศ์ ปภสุสรจิตฺโต กล่าว
ภารกิจ 80 วันช่วยผู้ป่วยโควิด
สำหรับภารกิจดูแลผู้ป่วยโควิด วัดสุทธิวรารามได้ดำเนินการมาแล้วกว่า 80 วัน พระมหาพร้อมพงศ์ ปภสุสรจิตฺโต เปิดเผยว่า ทั้งประชาชนที่ได้เข้ามาพักรักษาตัวและประชาชนที่ได้รับการตรวจหาเชื้อโควิด ต่างก็รู้สึกขอบคุณ ทุกคนต่างชื่นชมฐานะของพระและวัด และได้เข้ามาช่วยเหลือมากมาย อย่างหลายคนก็ได้เข้ามามอบชุด PPE ข้าวสารอาหารแห้ง และอีกหลายอย่างเข้ามาช่วยอย่างไม่ขาดสาย
“ขณะเดียวกันก็มีวัดและวิทยาลัยสงฆ์ภูมิภาคต่างๆ รวมทั้งชุมชนเขตสาทรทั้ง 24 ชุมชน ที่ได้นำรูปแบบการจัดการและการวางระบบศูนย์พักคอยัดสุทธิวรารามไปใช้ โดยเฉพาะชุมชนเขตสาทรทางวัดสุทธิวรารามได้สร้างกลุ่มไลน์ เพื่อให้ทุกคนสามารถติดต่อสื่อสารยามพบปัญหา และหากขาดเหลือสิ่งใด อาทิ เวชภัณฑ์ อาหารแห้ง ชุด PPE เครื่องวัดออกซิเจน หรือหน้ากากอนามัย เป็นต้น ทางวัดจะช่วยกระจายให้ เพราะถือว่าเราได้รับบริจาคมา เราก็จะแจกไปที่ชุมชนที่เขารับดูแลผู้ป่วยต่อไป ถือว่าได้เป็ทั้งต้นแบบและเป็นหลักให้ชุมชนต่างๆให้เขาไปดูแลต่อได้” พระมหาพร้อมพงศ์ ปภสุสรจิตฺโต กล่าว
อย่างไรก็ตาม แม้สถานการณ์การระบาดในปัจจุบันจะดีขึ้นจนไม่มีผู้ป่วยโควิดรายใหม่เข้ามาแล้ว เหลือเพียงพระสงฆ์ที่อาพาธ 20 รูป แต่ศูนย์พักคอยวัดสุทธิวรารามจะยังคงเปิดให้ดำเนินการต่อไป เพื่อเป็นสถานที่รองรับกรณีพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอีกครั้ง หลังจากประเทศมีการปลดล็อกผ่อนปรนมาตรการต่างๆ
24 วัด นำโมเดลเป็นต้นแบบ
ด้าน นายพงษ์ศักดิ์ ธงรัตนะ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวด้วยว่า สสส.ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการสนับสนุนให้วัดสุทธิวรารามเป็นต้นแบบในการดูแลผู้ป่วยโควิดในวัด เนื่องจากเราได้เห็นการบริหารจัดการและวางระบบดูแลผู้ป่วยโควิดที่ดี
นอกจากนั้นยังมีการนำทีมอาสาสมัครลงพื้นที่ไปตรวจหาเชื้อและดูแลประชาชนโดยรอบวัด ซึ่งเป็นสิ่งที่เราเห็นแล้วเรารู้สึกประทับใจมาก เพราะไม่เพียงดูแลผู้ป่วยโควิดอย่างเดียว ยังดูแลกลุ่มประชาชนที่เข้าไม่ถึงระบบการรักษาด้วย ในฐานะที่ สสส.เราได้ทำงานเพื่อส่งเสริมสุขภาพสงฆ์และชุมชนอยู่แล้ว จึงได้ผสานภาคีธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติผลักดันให้มหาเถรสมาคมเห็นชอบแนวทางการดูแลคนป่วยในวัดได้สำเร็จ เมื่อวันที่ 30 ส.ค. ที่ผ่านมา
โดยให้วัดที่มีศักยภาพจัดตั้งเป็นศูนย์พักคอยเพื่อชุมชนอย่างน้อย 1 วัด 1 จังหวัดทั่วประเทศ ขณะนี้มีวัดและวิทยาลัยสงฆ์ภูมิภาคต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) นำรูปแบบการจัดการของวัดสุทธิวรารามไปปรับใช้แล้วประมาณ 24 แห่ง อาทิ วัดสิงห์ กรุงเทพมหานคร วัดไร่ขิง จ.นครปฐม วัดท่าโรงช้าง จ.สุราษฎร์ธานี วิทยาลัยสงฆ์นครลำปาง จ.ลำปาง และวิทยาลัยสงฆ์ร้อยเอ็ด จ.ร้อยเอ็ด
(นายพงษ์ศักดิ์ ธงรัตนะ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร สสส.)
วัดสุทธิวราราม ศูนย์พักคอยแบบเบ็ดเสร็จ
นายพงษ์ศักดิ์ กล่าวอีกว่า มาตรการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิดที่ศูนย์พักคอยวัดสุทธิวรารามใช้ ที่เรียกว่า ‘Temple Isolation’ แม้ว่าจะใช้แนวปฏิบัติเดียวกันกับกระทรวงสาธารณสุข แต่ต่างบริบทตรงที่เราใช้พื้นที่วัดในการดูแลผู้ป่วย และมีพระสงฆ์เป็นที่พึ่งทางด้านสุขภาวะ ซึ่งเป็นอีกบทบาทใหม่นอกเหนือจากที่พึ่งทางจิตใจและทางศาสนาในช่วงวิกฤตนี้
ทั้งนี้ ยังมีอีกอย่างหนึ่งที่แตกต่าง คือ วัดสุทธิวรารามเป็นศูนย์พักคอยที่มีความเบ็ดเสร็จในที่เดียว กรณีมีผู้ป่วยหนัก ทางวัดจะทำหน้าที่ส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาล แต่หากกรณีมีผู้เสียชีวิต วัดสุทธิวรารามจะรับอนุเคราะห์เผาศพให้ฟรี โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวของโมเดล ‘ศูนย์พักคอยวัดสุทธิวราราม’ ศูนย์พักคอยแบบเบ็ดเสร็จ ที่ไม่ได้ดูแลเฉพาะผู้ป่วยโควิด แต่ยังรวมถึงผู้ที่เข้าไม่ถึงระบบการรักษา ผู้ที่ต้องการเผาศพ และผู้ที่ได้รับผลกระทบหลังเผชิญภาวะวิกฤตนี้ด้วย นับเป็นต้นแบบและเป็นก้าวสำคัญที่พลิกบทบาทของพระสงฆ์ให้เข้ามาเป็นผู้นำช่วยเหลือสังคมมากขึ้น
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage