เปิดคําสั่งคณะกรรมการธุรกรรม ปปง. ยึดอายัดที่ดิน เงินฝาก 89 รายการ 130.3 ล้าน ‘ประสิทธิ์ เจียวก๊ก’ กับพวก แฉพฤติกรรมใช้บริษัทในเครือชักชวนร่วมลงทุน ให้ผลตอบแทนสูง ร้อยละ 20 แถมซื้อขายกระเป๋าแบรนด์เนม ก่อนเบี้ยว
........................................
กรณี คณะกรรมการธุรกรรมสํานักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สํานักงาน ปปง.) มีคำสั่งที่ ย. 159 /2564 ลงวันที่ 8 ก.ย.2564 ยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิดไว้ชั่วคราวราย นายประสิทธิ์ เจียวก๊ก กับพวก มีพฤติการณ์กระทําความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน ทรัพย์สิน ที่ดิน บัญชีเงินฝาก รวม 89 รายการ รวม มูลค่า 130,371,449.55 บาท
ในคำสั่ง ยึดและอายัดทรัพย์สินของ คณะกรรมการธุรกรรม ปปง.ระบุความเป็นมาของคดีและพฤติกรรมของ นายประสิทธิ์ เจียวก๊ก อย่างละเอียด
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) เรียบเรียงมารายงาน ณ ที่นี้
คําสั่งคณะกรรมการธุรกรรมที่ ย. 159 /2564 เรื่อง ยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิดไว้ชั่วคราว
ด้วยสํานักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สํานักงาน ปปง.) ได้รับ เรื่องร้องเรียนจากผู้เสียหาย ตามเลขที่รับ สอ 186 ลงวันที่ 23 เมษายน 2564 กรณีนายประสิทธิ์ เจียวก๊ก กับพวก มีพฤติการณ์กระทําความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน ได้รับรายงานจากสถานีตํารวจนครบาลลุมพินี ตามหนังสือที่ ตช 0015 (บก.น.5)10/3098 ลงวันที่ 12 พฤษภาคม 2564 เรื่อง ขอให้มีคําสั่งตรวจสอบและตรวจยึดทรัพย์สินของผู้กระทําผิด และได้รับรายงานจากกองกํากับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทําความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) ตามหนังสือ ที่ ตช 0026.94/329-330 ลงวันที่ 18 พฤษภาคม 2564 เรื่อง รายงานเหตุอันควรเชื่อว่ามีการกระทําความผิดฐานฟอกเงิน รายนายประสิทธิ์ เจียวก๊ก กับพวก ซึ่งเป็นกรณีมีพฤติการณ์แห่งการกระทําความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญาหรือความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงิน ที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน กล่าวคือ
กลุ่มผู้ต้องหา ประกอบด้วย บริษัทเว็บ สวัสดี จํากัด (มหาชน) โดยนายประสิทธิ์ เจียวก๊ก กรรมการผู้มีอํานาจ ผู้ต้องหาที่ 1 นายประสิทธิ์ เจียวก๊ก ผู้ต้องหาที่ 2 บริษัทมัณดาวีต์ ทัวร์ จํากัด โดยนายประสิทธิ์ เจียวก๊ก กรรมการผู้มีอํานาจ ผู้ต้องหาที่ 3 บริษัทเหนือโลก จํากัด โดยนายประสิทธิ์ เจียวก๊ก กรรมการผู้มีอํานาจ ผู้ต้องหาที่ 4 นายวิมกริช วงศ์วิเศษศิริ ผู้ต้องหาที่ 5 สหกรณ์ออมทรัพย์การค้าธุรกิจบริการและผลิตภัณฑ์ผสมผสาน จํากัด โดยนางกุลรภัส คงสัน กรรมการผู้มีอํานาจ ผู้ต้องหาที่ 6 และนางกุลรภัส คงสัน ผู้ต้องหาที่ 7 ได้ร่วมกันหลอกลวงผู้อื่นโดยการโฆษณาชักชวนให้ร่วมลงทุนผ่านสื่อสาธารณะ บริการส่งข้อความสั้นผ่านโทรศัพท์มือถือ (SMS) สื่อออนไลน์ต่าง ๆ และมีการมอบหมายให้พนักงานของบริษัท เป็นตัวแทนติดต่อกับผู้เสียหายเพื่อแนะนําและเสนอแผนการลงทุน โดยเสนอรูปแบบการลงทุนที่หลากหลาย แต่ละรูปแบบมีการกําหนดระยะเวลาการลงทุน ระยะเวลาได้รับผลตอบแทน และตกลงจะให้ผลตอบแทนจํานวนมากซึ่งเป็นผลตอบแทนที่สูงเกินกว่าที่กฎหมายกําหนด เช่น
บริษัทเว็บ สวัสดี จํากัด (มหาชน) มีข้อเสนอการลงทุนซึ่งกําหนดให้ผู้ลงทุนนําเงินสดหรือทรัพย์สินอื่นใดที่สามารถประเมินราคาเป็นเงินสดได้มาลงทุน กับบริษัทตกลงให้ผลตอบแทนร้อยละ 4.75 – 17.14 ของมูลค่าการลงทุน ในระยะเวลา 3 - 5 วัน ภายหลังร่วมลงทุน และมีกําหนดระยะเวลาคืนเงินลงทุน 39 วัน
บริษัท มัณดาวีต์ ทัวร์ จํากัด มีข้อเสนอการลงทุน ซึ่งกําหนดให้ผู้ลงทุนซื้อคูปองทอง ซึ่งบริษัทจําหน่ายในราคาใบละ 1,000 บาท และตกลงให้ผลตอบแทนเป็นรายปี ร้อยละ 20 ของมูลค่าการลงทุน สหกรณ์ออมทรัพย์การค้าธุรกิจบริการและผลิตภัณฑ์ผสมผสาน จํากัด มีข้อเสนอการลงทุนซึ่งกําหนดให้ผู้ลงทุนเปิดบัญชีเงินฝากประจํา 6 เดือน ตกลงให้ผลตอบแทนร้อยละ 44.54 ของมูลค่าการลงทุนในระยะเวลา 3 - 5 วัน ภายหลังร่วมลงทุน และมีกําหนดระยะเวลาคืนเงินลงทุน 6 เดือน โดยแบ่งชําระเป็นงวด จํานวน 6 งวดเท่าๆ กัน
นายประสิทธิ์ เจียวก๊ก ชักชวนให้ลงทุนในกองทุน ชื่อกองทุนประธาน ตกลงให้ผลตอบแทนร้อยละ 9.50 ของมูลค่าการลงทุน มีกําหนดระยะเวลาคืนเงินลงทุน พร้อมผลตอบแทนภายใน 21 วัน ภายหลังร่วมลงทุนเป็นต้น ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงเข้าร่วมลงทุนกับกลุ่มผู้ต้องหา
ต่อมาเมื่อถึงกําหนดระยะเวลาจ่ายผลตอบแทนปรากฏว่าผู้เสียหายกลับไม่ได้รับผลตอบแทนตามที่ตกลงไว้ แต่อย่างใด เมื่อทวงถามผู้ต้องหาได้ปฏิเสธ โดยอ้างว่าต้องนําผลตอบแทนไปลงทุนเพื่อต่อยอดธุรกิจ หรือบางครั้งอ้างว่าถูกอายัดเงินในระบบและภายหลังไม่สามารถติดต่อกลุ่มผู้ต้องหาได้ จึงเชื่อว่าถูกหลอกลวง ทําให้ได้รับความเสียหาย เบื้องต้นรวมเป็นเงินประมาณ 55,608,726.72 บาท จึงได้เข้าพบพนักงานสอบสวน สถานีตํารวจนครบาลลุมพินี เพื่อร้องทุกข์ให้ดําเนินคดีกับนายประสิทธิ์ เจียวก๊ก กับพวก พนักงานสอบสวน รับคําร้องทุกข์ไว้ดําเนินคดีกับกลุ่มผู้ต้องหาในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชนเป็นคดีอาญาที่ 355/2564
และเมื่อประมาณเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2563 นายประสิทธิ์ เจียวก๊ก กับพวก ได้ชักชวนให้ผู้เสียหาย เข้าร่วมฟังการประชุมโครงการการลงทุนเกี่ยวกับการซื้อขาย ปล่อยเช่า และทํากําไร จากกระเป๋าแบรนด์เนม ซึ่งดําเนินการผ่านบริษัทวีเลิฟยัวแบ็ก (ไทยแลนด์) จํากัด โดยมีนางสาวณัฐวรรณ อุตตมะปรากรม และ พันโท แพทย์หญิง อมราภรณ์ วิเศษสุข เป็นผู้บริหาร ต่อมาได้มีการจัดงานเปิดตัวบริษัทดังกล่าวที่โรงแรม ทริปเปิ้ลวาย และพาเข้าเยี่ยมชมหน้าร้าน (ร้าน CRABY BRAND) ซึ่งตั้งอยู่ที่ห้างสรรพสินค้าสามย่านมิตรทาวน์ โดยนางสาวณัฐวรรณ อุตตมะปรากรม อ้างว่าบริษัทวีเลิฟยัวแบ็ก (ไทยแลนด์) จํากัด ทําธุรกิจซื้อขาย ปล่อยเช่า กระเป๋าแบรนด์เนมแก่ลูกค้าทั่วไป ผู้ที่สนใจสามารถลงทุนในธุรกิจของบริษัทตามรูปแบบการลงทุน ซึ่งประกอบด้วย รูปแบบที่ 1 ลงทุนโดยมีกําหนดระยะเวลาคืนเงินลงทุน 10 เดือน แบ่งจ่ายเป็น 10 งวด ตกลงให้ผลตอบแทนร้อยละ 43.475 ของเงินลงทุน
โดยแบ่งจ่ายผลตอบแทนเป็น 2 งวด งวดที่หนึ่ง ร้อยละ 70 ภายใน 7 วันและงวดที่สอง ร้อยละ 40 ภายใน 1 เดือน นับจากวันที่ลงทุน และรูปแบบที่ 2 ลงทุน โดยรับเงินลงทุนคืนพร้อมผลตอบแทนภายในระยะเวลา 35 วัน ตกลงให้ผลตอบแทนร้อยละ 3.885 ของเงินลงทุนหากสนใจเข้าร่วมลงทุนสามารถโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของบริษัทวีเลิฟยัวแบ็ก (ไทยแลนด์) จํากัด หรือชําระผ่านบัตรเครดิต หรือซื้อทองคํากับบริษัทเอ็ม โกลด์ ฟิวเจอร์ จํากัด ซึ่งเป็นบริษัท ในเครือของนายประสิทธิ์ เจียวก๊ก (เครือเอ็มกรุ๊ป) กลุ่มผู้เสียหายหลงเชื่อจึงเข้าร่วมลงทุน
ต่อมาเมื่อประมาณ เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 ได้มีการเลื่อนจ่ายเงินลงทุนและผลตอบแทน โดยอ้างว่ากรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้ตรวจสอบบัญชีและอายัดบัญชีเงินฝากธนาคารไว้ทําให้ไม่สามารถจ่ายให้ได้ และภายหลังไม่สามารถติดต่อ กลุ่มผู้ต้องหาได้อีกจึงเชื่อว่าถูกหลอกลวงทําให้ได้รับความเสียหาย รวมมูลค่าความเสียหายเบื้องต้นประมาณ 21,583,846 บาท จึงได้เข้าพบพนักงานสอบสวน กองกํากับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทํา ความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจเพื่อร้องทุกข์ให้ดําเนินคดีกับนายประสิทธิ์ เจียวก๊ก กับพวก พนักงานสอบสวนรับคําร้องทุกข์ไว้ดําเนินคดีกับกลุ่มผู้ต้องหาในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชน และร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน เป็นคดีอาญาที่ 8-9/2564 อันเข้าลักษณะเป็นความผิด มูลฐานตามมาตรา 3 (3) และมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และกรณีมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่านายประสิทธิ์ เจียวก๊ก กับพวก ได้ไปซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิด ดังกล่าว
ในการนี้ เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปราม การฟอกเงินในการประชุมคณะกรรมการธุรกรรม ครั้งที่ 6/2564 เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2564 ที่ประชุม มีมติมอบหมาย พนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อดําเนินการตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปราม การฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ประกอบกับคําสั่งเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ลับ ที่ ม. 365/2564 ลงวันที่ 15 มิถุนายน 2564 เรื่อง มอบหมายพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบธุรกรรม หรือทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิด รายนายประสิทธิ์ เจียวก๊ก กับพวก พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ ดําเนินการตรวจสอบรายงานการทําธุรกรรมหรือข้อมูลเกี่ยวกับการทําธุรกรรมของบุคคลดังกล่าวแล้ว ปรากฏหลักฐานเป็นที่เชื่อได้ว่านายประสิทธิ์ เจียวก๊ก กับพวก มีพฤติการณ์แห่งการกระทําอันเข้าลักษณะ เป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 (3) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 หรือเป็นผู้ซึ่งเกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทําความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงิน และจากการตรวจสอบข้อมูลการทําธุรกรรมหรือทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิด รวมทั้งจากการ รวบรวมพยานหลักฐานปรากฏว่าบุคคลดังกล่าวได้ไปซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิด จํานวน 89 รายการ พร้อมดอกผล และเนื่องจากทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิดในคดีนี้ประกอบด้วยสังหาริมทรัพย์ ประเภทเงินในบัญชีเงินฝากธนาคาร เงินในบัญชีสลากธนาคาร หลักทรัพย์ อันเป็นทรัพย์สินที่สามารถโอน ยักย้าย ปกปิด หรือซ่อนเร้นได้โดยง่าย และเป็นอสังหาริมทรัพย์ประเภทประเภทที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง อันเป็นทรัพย์สินที่ปรากฏหลักฐานในทางทะเบียน ในการเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์หรือมีสิทธิครอบครองโดยผู้มีชื่อ เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์หรือผู้มีสิทธิครอบครอง อาจดําเนินการทางนิติกรรมโอนเปลี่ยนแปลงชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ หรือผู้มีสิทธิครอบครองในทางทะเบียนได้ หากมิได้มีการออกคําสั่งให้ยึดและอายัดทรัพย์สินดังกล่าวไว้ชั่วคราว เมื่อเจ้าของหรือผู้มีส่วนได้เสียหรือผู้มีสิทธิในทรัพย์สินดําเนินการโอน จําหน่าย ยักย้าย ปกปิด หรือซ่อนเร้น ทรัพย์สินดังกล่าวไปเสีย และหากต่อมาศาลได้มีคําสั่งให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดิน สํานักงาน ปปง. อาจไม่สามารถติดตามทรัพย์สินดังกล่าวกลับคืนมาได้ จึงเป็นกรณีที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่านายประสิทธิ์ เจียวก็ก กับพวก ได้ไปซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิด และอาจมีการโอน จําหน่าย ยักย้าย ปกปิด หรือซ่อน เร้นทรัพย์สินดังกล่าว
อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 34 (3) และมาตรา 48 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติ ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มติคณะกรรมการธุรกรรมในการประชุม ครั้งที่ 9/2564 เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2564 และระเบียบคณะกรรมการธุรกรรม ว่าด้วยการรับเรื่อง การตรวจสอบ การพิจารณาดําเนินการ และการควบคุมตรวจสอบการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2556 ข้อ 25 คณะกรรมการธุรกรรม จึงมีคําสั่งยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิดไว้ชั่วคราว จํานวน 89 รายการ พร้อมดอกผล มีกําหนดไม่เกิน 90 วัน (เก้าสิบวัน) นับตั้งแต่วันที่คณะกรรมการธุรกรรมมีมติ กล่าวคือ นับตั้งแต่วันที่ 7 กันยายน 2564 ถึงวันที่ 5 ธันวาคม 2564 โดยมีรายการทรัพย์สินที่ยึดและอายัดปรากฏตามบัญชี ทรัพย์สินแนบท้ายคําสั่งนี้
ทั้งนี้ ให้รวมถึงเงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาจากการจําหน่าย จ่าย โอนด้วยประการใดๆ ซึ่งทรัพย์สินดังกล่าวหรือสิทธิเรียกร้องหรือผลประโยชน์หรือดอกผลของเงินหรือทรัพย์สินดังกล่าวด้วย
ในกรณีผู้ซึ่งถูกยึดและอายัดทรัพย์สินตามคําสั่งนี้หรือผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์สินดังกล่าว ประสงค์จะขอให้มีการเพิกถอนคําสั่งยึดและอายัดทรัพย์สินดังกล่าวนั้น ให้ยื่นคําขอเป็นหนังสือต่อเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินพร้อมด้วยหลักฐานที่เกี่ยวข้องที่แสดงว่าเงินหรือทรัพย์สินที่ถูกยึดและอายัดดังกล่าวนั้นมิใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิดภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับแจ้ง คําสั่งเป็นหนังสือ
อนึ่ง การยักย้าย ทําให้เสียหาย ทําลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย ทําให้สูญหายหรือทําให้ไร้ประโยชน์ ซึ่งทรัพย์สินที่เจ้าพนักงานยึดหรืออายัดไว้หรือที่ตนรู้หรือควรรู้ว่าจะตกเป็นของแผ่นดินอาจมีความผิดทางอาญา และต้องระวางโทษตามนัยมาตรา 65 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542
สั่ง ณ วันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2564
อ่านข่าวประกอบ
- พลิก 10 ธุรกิจ‘ประสิทธิ์ เจียวก๊ก’กก.-ถือหุ้น ก่อนหลบหนีคดีถูกกล่าวหาฉ้อโกงพันล.
- กองปราบฯปูพรมล่า 'ประสิทธิ์ เจียวก๊ก' ไม่ชัดโยงนักการเมืองดัง
- จนมุม! 'ประสิทธิ์ เจียวก๊ก' ผู้ต้องหาคดีฉ้อโกงพันล. ขอมอบตัวกองปราบฯ 17 พ.ค.นี้
- ปปง.ยึดทรัพย์ ‘ประสิทธิ์ เจียวก๊ก’ กับพวก ที่ดิน เงินฝาก 89 รายการ 130.3 ล้าน
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage