“…ขั้นตอนแรกขอให้ประเมินความเสี่ยงให้เรียบร้อย โดยกดไปที่ ‘ฟรี ชุดตรวจโควิด’ พร้อมให้ระบุที่อยู่ จังหวัด และตอบคำถาม 3 ข้อ เมื่อเสร็จแล้ว หากได้รับการประเมินว่าเป็นกลุ่มเสี่ยง ระบบจะให้เลือกหน่วยบริการที่ต้องการไปรับ ATK ต่อไป จากนั้นเมื่อเดินทางไปถึงหน่วยบริการแล้ว หน่วยบริการจะเปิด QR Code จากแอปพลิเคชันถุงเงินให้สแกน เมื่อทำรายงานเสร็จประชาชนจะได้รับคำแนะนำการใช้งานและชุดตรวจ 2 ชุด กลับมาทดสอบด้วยตัวเองที่บ้าน…”
ตามที่ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กำหนดกระจายชุดตรวจโควิด (Antigen Test Kit : ATK) จำนวน 8.5 ล้านชุด ให้ประชาชนสามารถตรวจหาเชื้อด้วยตนเองได้ที่บ้าน ที่จะเริ่มแจกตั้งแต่วันที่ 16 ก.ย.นี้ ผ่าน 2 ช่องทาง คือ
1.แจกผ่านผู้ประสานงานชุมชนฯ เช่น อาสาสมัครสาธารณะสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และ อาสาสมัครสาธารณสุข กทม. (อสส.)
2.หน่วยบริการในพื้นที่สีแดง เช่น ศูนย์บริการสาธารณสุข โรงพยาบาล โรงพยาบาลสุขภาพตำบล คลินิก และร้านขายยาที่เข้าร่วมโครงการ ผ่านแอปพลิเคชัน ‘เป๋าตัง’
ขณะเดียวกันองค์การเภสัชกรรมเปิดเผยด้วยว่าได้ ATK ล็อตแรกมาแล้ว 1.16 ล้านชุด จะตรวจสอบและเร่งส่งหน่วยบริการในพื้นที่ต่างๆ ดังนั้นแล้วแผนการกระจาย ATK จะเป็นอย่างไร? ประชาชนสามารถลงทะเบียนผ่านช่องทางใดได้บ้าง? สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รวบรวมข้อมูลจากการประชุมชี้แจงแนวทางกระจายชุดตรวจ ATK เพื่อแจกจ่ายให้ประชาชน สำหรับหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีรายละเอียดที่น่าสนใจดังนี้
นพ.อภิชาติ รอดสม รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวถึงผลการประชุมแผนกระจาย ATK สำหรับประชาชนกลุ่มเสี่ยงที่มี นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน ว่า คณะกรรมการได้พิจารณาแนวทางการกระจาย ATK แบ่งตามพื้นที่ ประกอบด้วย พื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) มีผู้อำนวยการสำนักอนามัยเป็นผู้บริหารจัดการส่งต่อ ATK ไปยังคลินิกและร้านขายยาที่เข้าร่วมโครงการ และศูนย์บริการสาธารณสุข ที่จะส่งต่อให้ อสม. อสส. ผู้นำชุมชน และจิตอาสาเข้าไปแจกในชุมชนพื้นที่เสี่ยง
ส่วนในปริมณฑและต่างจังหวัด มีสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) และ สปสช.เขต ช่วยกันผู้ดูแลการกระจาย ATK ไปยัง คลินิกและร้านขายยาที่เข้าร่วมโครงการ และโรงพยาบาล ซึ่งรวมหน่วยบริการทั้งหมดนี้ เราจัดส่ง ATK ไม่ต่ำกว่า 1,000 หน่วยบริการ
ซึ่งจะมีแผนจัดสรร คือ เราจะกระจาย ATK จำนวน 8,195,600 ชุดก่อน และสำรองไว้ที่ส่วนกลาง 304,400 ชุด จากนั้นจะกระจายออกไปยังพื้นที่ กทม. จำนวน 2,389,500 ชุด พื้นที่ 12 เขตสุขภาพทั่วประเทศ (ยกเว้น กทม.) จำนวน 5,406,100 ชุด และหน่วยบริการสังกัดกรมอนามัย เพื่อกระจายที่ตลาด จำนวน 400,000 ชุด
สำหรับพื้นที่ กทม. จะจัดสรร ATK ตามกลุ่มประชากรและกลุ่มผู้ให้บริการ ดังนี้
-
กลุ่มตลาดจำนวน 410,000 ชุด
-
กลุ่มขนส่งสาธารณะจำนวน 440,000 ชุด
-
กลุ่มร้านเสริมสวยจำนวน 20,000 ชุด
-
กลุ่มร้านนวด สปา จำนวน 56,000 ชุด
-
กลุ่มครู อาจารย์ จำนวน 300,000 ชุด
-
กลุ่มชุมชนจำนวน 420,000 ชุด
-
สปสช.จัดสรรเอง จำนวน 380,000 ชุด
นพ.อภิชาติ กล่าวเน้นย้ำด้วยว่า ประชาชนกลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับ ATK จะต้องเป็นกลุ่มเสี่ยงตามเงื่อนไขของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขกำหนด อาศัยอยู่ในพื้นที่สีแดงเข้ม พื้นที่สีแดง หรือพื้นที่ที่มีการระบาดเป็นกลุ่มก้อน เช่น กลุ่มเปราะบาง กลุ่มผู้พิการ พระสงฆ์ และกลุ่มโรงเรียนพระปริยัติธรรม กลุ่มชุมชนแออัด และกลุ่มให้บริการสาธารณะ
ขั้นตอนลงทะเบียนรับ ATK
การรับ ATK สามารถลงทะเบียนขอรับ ATK ได้ผ่าน 2 ช่องทาง ทั้งผ่านผู้ประสานชุมชนหรือด้วยตนเอง อย่างไรก็ตามเบื้องต้นจะต้องมีการลงทะเบียนในแอปพลิเคชัน ‘เป๋าตัง’ ทั้งหมด กล่าวคือในกรณีที่ประชาชนไม่มีสมาร์ทโฟน อสม. อสส. จิตอาสา หรือโรงพยาบาลจะต้องช่วยลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตังให้กับประชาชนด้วย เพื่อให้ข้อมูลถูกจัดเก็บอย่างเป็นระบบในฐานข้อมูลเดียวและสามารถเช็คข้อมูลได้แบบเรียลไทม์
ทีมพัฒนาแอปพลิเคชันเป๋าตัง และระบบรายงานสำหรับหน่วยบริการ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า แอปพลิเคชันเป๋าตัง มีผู้ใช้บริการเกือบ 40 ล้านคน ซึ่งจะช่วยกระจาย ATK ได้อย่างครอบคลุมทั่วประเทศ
สำหรับผู้ที่จะได้รับชุดตรวจ ATK จะต้องทำ ดังนี้
-
-ประเมินความเสี่ยงผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตัง สามารถประเมินได้วันละ 1 ครั้ง
-
-เมื่อผ่านเกณฑ์จะสามารถเลือกหน่วยบริการเพื่อรับชุดตรวจ หรือรับผ่านอาสาสมัคร โดยจะได้รับ ATK 2 ชุด ต่อ 1 สิทธิ์
-
-กรณีผลตรวจเป็นบวก หรือติดเชื้อ ให้ลงทะเบียนผ่านระบบ สปสช. เพื่อเข้าสู่ Home Isolation
-
-กรณีผลตรวจเป็นลบ หรือไม่พบเชื้อทั้ง 2 ครั้ง ให้ติดต่อขอรับชุดตรวจอีก 1 ชุดเพื่อตรวจซ้ำในอีก 10 วันถัดไป
-
-กรณีผลตรวจเป็นบวก หรือติดเชื้อ หากเป็นเป็นกลุ่มเสี่ยงอีก สามารถลงทะเบียนและขอรับชุดตรวจได้อีกครั้งใน 90 วันถัดไป
-
-กรณีชุดตรวจมีปัญหา หรือไม่สามารถแปลผลได้ จะต้องทำการตรวจซ้ำ โดยให้ทำแบบประเมินเพื่อขอรับชุดตรวจอีกครั้งใน 10 วันถัดไป
ทั้งนี้การจะเข้าไปรับ ATK แนะนำประชาชนให้โทรศัพท์สอบถามหน่วยบริการที่เลือกก่อนว่ายังมีชุดตรวจโควิดอยู่หรือไม่ หรือสามารถเข้ารับได้เมื่อไร โดยขอประชาชนกดไปที่ ‘หน่วยบริการใกล้ฉัน’ จะมีชื่อร้านและเบอร์โทรศัพท์ปรากฏ
กรณีประชาชนไม่มีสมาร์ทโฟน 'เจ้าหน้าที่หรือจิตอาสาที่มีรายชื่อ (Whitelist NHSO)' ให้บริการในโครงการนี้ สามารถเปิดใช้งานแอปพลิเคชันเป๋าตังกรอกรายละเอียดและให้ประชาชนยืนยันตัวตน ก่อนประเมินความเสี่ยงตามขั้นตอนของธนาคารกรุงไทยต่อไป และในกรณีที่ต้องการแจ้งผลตรวจโควิด ประชาชนสามารถโทรศัทท์ติดต่อไปแจ้งผลเพื่อเข้ารับการรักษาต่อไปได้
อย่างไรก็ตามระบบนี้จะอัปเดตและเริ่มให้ประชาชนได้ใช้ตั้งแต่วันที่ 16 ก.ย.2564 เวลา 00.00 น. เป็นต้นไป
เงื่อนไขการจ่ายชดเชยหน่วยบริการ
ทีมสายงานบริหารกองทุน สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวถึงหลักเกณฑ์การจ่าย ATK สำหรับหน่วยบริการด้วยว่า การได้รับการจ่ายหรือสนับสนุนค่าใช้จ่ายงบประมาณของรัฐอื่น จะต้องไม่นำข้อมูลมาเบิกซ้ำซ้อนกับ สปสช. กล่าวคือการแจกชุดตรวจที่หน่วยบริการซื้อเอง จะต้องทำช่องทาง ‘E-Claim’ ไม่ใช่ผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตัง เพราะแอปพลิเคชันนี้สร้างขึ้นมาเฉพาะการแจกชุดตรวจที่ได้รับมาจากส่วนกลางเท่านั้น โดยมีแนวทางการจ่ายชดเชย คือ อัตราการจ่ายค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุข สปสช.จะจ่ายค่าใช้จ่ายให้หน่วยบริการเป็นค่าบริการให้คำแนะนำการตรวจ ATK การอ่านผลและการปฏิบัติตัวของประชาชน ในอัตรา 10 บาทต่อชุดตรวจ โดย สปสช.จะเข้าไปเช็คในระบบฐานข้อมูลแอปพลิเคชันเป๋าตังเอง โดยผู้ให้บริการสาธารณสุขไม่ต้องกรอกข้อมูลซ้ำ
อย่างไรก็ตามก่อนการจ่ายชดเชย สปสช.จะมีการตรจสอบข้อมูล ผ่าน 2 ช่องทาง มีรายละเอียดดังนี้
1. หลักฐานการให้บริการเพื่อการตรวจสอบ ATK ที่จ่ายให้ประชาชน กล่าวคือหลักฐานเวชระเบียนหรือหลักฐานการให้บริการที่บันทึกในแพลตฟอร์มแอปพลิเคชันเป๋าตัง โดยจะตรวจข้อมูลทั่วไปของประชาชนที่มารับชุดตรวจ เช่น เลขบัตรประจำตัวประชาชน เบอร์โทรศัพท์ ข้อมูลการประเมินความเสี่ยงของประชาชน และผลการตรวจ ATK รวมถึงการตรวจข้อมูลของหน่วยบริการด้วย ว่ามีทะเบียนการรับ ATK จากองค์การเภสัชกรรมหรือไม่ และได้รับชุดตรวจมาจำนวนเท่าใด
2. การตรวจสอบข้อมูลการใช้บริการ ATK ที่จ่ายให้ประชาชน โดยจะตรวจสอบข้อมูลในบบที่สำนักงานกำหนด ได้แก่ บันทึกการลงทะเบียนของผู้รับ ATK, การบันทึกเบอร์โทรศัพท์ที่สามารถติดต่อประชาชนให้มารับ ATK ได้, การบันทึกข้อบ่งชี้ของประชาชนที่ได้รับ ATK, การตรวจสอบจำนวน ATK ที่ได้แจกตรงกับผลการลงทะเบียน และการตรวจสอบข้อมูลของผู้นำชุมชน กรณีที่ทำหน้าที่ลงทะเบียนแทนประชาชน ทั้งนี้หากหน่วยบริการใช้ระบบ Authentication Code ผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตัง จะมีะบบการตรวจสอบตามเงื่อนไขดังกล่าวข้างต้นอยู่แล้ว อย่างไรก็ตามในกรณีที่พบข้อมูลผิดปกติ สำนักงานจะมีการสอบถามเพิ่มเติมจากหน่วยบริการเอง หรือจากประชาชนที่รับชุดตรวจ
ทั้งหมดนี้เป็นแนวทางการกระจาย ATK ให้ประชาชนสามารถตรวจหาเชื้อโควิดเองที่บ้านได้ จำนวน 8.5 ล้านชุด โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย และสามารถลงทะเบียนได้ผ่าน 2 ช่องทาง ทั้งจากผู้ประสานงานชุมชนและด้วยตนเอง ผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตัง ซึ่งจะเริ่มให้ลงทะเบียนตั้งแต่ 16 ก.ย. เป็นต้นไป
อ่านข่าวประกอบ:
-
แพร่ประกาศให้เภสัชกรชุมชนจ่าย ATK - แจก’ฟ้าทะลายโจร-ฟาวิพิราเวียร์’ทันทีที่ติดโควิด
-
องค์การเภสัชกรรมเผย ATK 1.16 ล้านชุด ส่งเข้าคลังเรียบร้อยแล้ว
-
'เภสัชกรชุมชน'แจก ATK - จ่าย’ฟาวิพิราเวียร์'ระบบรับกลุ่มเสี่ยงโควิดให้เข้าถึงการรักษา
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage