“…ประชาชนที่จะได้รับชุดตรวจ ATK จะต้องเป็นประชาชนกลุ่มเสี่ยง โดยในจุดนี้ สปสช.จะเตรียมการสร้างแบบประเมินความเสี่ยงสอบถามไทม์ไลน์ ให้ประชาชนได้ทำผ่านแอปพลิเคชัน ‘เป๋าตัง’ หากได้รับผลการประเมินมีความเสี่ยง ประชาชนจะสามารถเลือกจุดรับชุดตรวจได้ที่ร้านขายยาใกล้บ้าน จากนั้นเมื่อตรวจหาเชื้อแล้วพบผลเป็นบวก เภสัชกรชุมชนจะประเมินอาการว่าท่านเป็นผู้ป่วยสีเขียว สีเหลือง หรือสีแดง และส่งต่อเข้าสู่ระบบการรักษาต่อไป….”
………………………………………
หลังจากราชกิจจานุเบกษา แพร่ประกาศสภาเภสัชกรรม ที่ 56/2564 กำหนดแนวทางให้เภสัชกรชุมชนเป็นผู้จ่ายชุดตรวจแอนติเจน (Antigen Test Kit : ATK) เพื่อช่วยสนับสนุนให้กลุ่มเสี่ยงตรวจหาเชื้อโควิดด้วยตนเองได้ และให้เป็นผู้แจกยากับผู้ที่ติดเชื้อตามแนวทางกรมการแพทย์ ส่วนผู้พบผลตรวจเป็นลบจะต้องให้คำปรึกษาในการตรวจหาเชื้อโควิดอีกครั้ง และติดตามอาการผู้กักตัวเป็นระยะๆ จนครบระยะกักตัว
มาตรการดังกล่าวเป็นภาพสะท้อนให้เห็นการจัดทำระบบให้ประชาชนเข้าถึงการตรวจ และรักษาโควิดได้ง่ายขึ้น รศ.ดร.ภญ.จิราพร ลิ้มปานนท์ นายกสภาเภสัชกรรม และกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เปิดเผย สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า เนื่องด้วยสถานการณ์ยังมีตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิดจำนวนมาก สปสช. และ อย. จึงเล็งเห็นว่าอยากให้เภสัชกรในร้านขายยาหรือที่เรียกว่า เภสัชกรชุมชน เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ทำให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาได้ง่ายขึ้น การออกประกาศฉบับดังกล่าว จึงเป็นไปพื่อกำหนดแนวทางการดำเนินงานใหม่ให้เภสัชกรชุมชนสามรถแจกชุดตรวจ ATK และจ่ายยาที่จำเป็น โดยเฉพาะยาฟาวิพิราเวียร์ ซึ่งโดยปกติเภสัชกรชุมชนไม่สามารถแจกได้
“เราได้ออกประกาศสภาเภสัชกรรมออกมาก่อนเพื่อรับรองว่า ถ้า สปสช.จัดทำระบบการจ่ายชุดตรวจหาเชื้อให้มีความพร้อม และกรมการแพทย์จัดทำแนวทางการแจกยาไว้อย่างเป็นระบบ เภสัชกรชุมชนจะสามารถเริ่มภารกิจได้ทันที โดยไม่ต้องรอ ซึ่งหากยังไม่มีประกาศนี้เภสัชกรชุมชนจะไม่สามารถทำหน้าที่ได้” รศ.ดร.ภญ.จิราพร กล่าว
สำหรับร้านขายยาที่จะมาช่วยกระจายชุดตรวจ ATK และยา จะต้องเป็นร้านขายยาที่ผ่านการขึ้นทะเบียนอนุญาตขายยาแผนปัจจุบัน (ข.ย.1) ซึ่งกำหนดว่าต้องมีเภสัชกรประจำร้านอยู่ตลอดเวลาอย่างน้อย 8 ชั่วโมงต่อวัน และต้องลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการกับ สปสช.ด้วย ซึ่งปัจจุบันมีร้านขายยาที่เข้าร่วมโครงการแล้วประมาณ 1,500 ร้านทั่วประเทศ และกำลังทยอยเข้ามาเรื่อยๆ ซึ่งสภาเภสัชกรรมจะพยายามประชาสัมพันธ์ให้ร้านขายยาเข้ามาร่วมโครงการให้ได้มากที่สุด
รศ.ดร.ภญ.จิราพร กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ เภสัชกรชุมชน พร้อมที่จะดำเนินการทันที หากได้รับชุดตรวจ ATK ล็อตที่ชนะการประมูล 8.5 ล้านชุด โดยจะเริ่มการทำงานจากพื้นที่สีแดงเข้ม ที่เราจะจัดสรรให้ร้านขายยาที่ลงทะเบียนเรียบร้อยแล้วก่อน หากมีร้านใดสนใจลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการอีก เราจะจัดสรรให้ต่อไป
(รศ.ดร.ภญ.จิราพร ลิ้มปานนท์ นายกสภาเภสัชกรรม และกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.))
@ ประเมินความเสี่ยงผ่านแอปฯ 'เป๋าตัง' รับชุดตรวจร้ายยาใกล้บ้าน
สำหรับประชาชนที่จะได้รับชุดตรวจ ATK จะต้องเป็นประชาชนกลุ่มเสี่ยง เช่น ครอบครัวมีผู้ติดเชื้อ หรือเดินทางไปในสถานที่เสี่ยง รวมไปถึงผู้ที่มีอาการคล้ายโรคโควิด เช่น ไอ มีไข้ เป็นต้น โดยในจุดนี้ สปสช.จะเตรียมการสร้างแบบประเมินความเสี่ยงสอบถามไทม์ไลน์ผ่านแอปพลิเคชัน ‘เป๋าตัง’ หากได้รับผลการประเมินว่ามีความเสี่ยง ประชาชนจะสามารถเลือกจุดรับชุดตรวจได้ที่ร้านขายยาใกล้บ้าน จากนั้นเมื่อตรวจหาเชื้อแล้วพบผลเป็นบวก เภสัชกรชุมชนจะประเมินอาการว่าท่านเป็นผู้ป่วยสีเขียว สีเหลือง หรือสีแดง
หากเป็นผู้ป่วยสีเขียวเภสัชกรชุมชนจะส่งต่อเข้าสู่ระบบการรักษาตัวที่บ้าน Home Isolation หรือการรักษาตัวในชุมชน Community Isolation ซึ่งจะมีเภสัชกรชุมชนเป็นผู้ดูแล คอยโทรสอบถามอาการทุกวัน และจะจัดสรรยาให้ตามแนวทางของกรมการแพทย์ แต่หากเริ่มแสดงอาการก็จะจ่ายยาฟ้าทะลายโจรหรือยาฟาวิพิราเวียร์ให้เลย
หากเป็นผู้ป่วยสีเหลือง และสีแดง เภสัชกรชุมชนจะทำหน้าที่ส่งต่อยังโรงพยาบาลต่อไป
ส่วนกรณีผลตรวจหาเชื้อด้วยชุดตรวจ ATK เป็นลบ เราจะแนะนำให้กลุ่มเสี่ยงตรวจซ้ำอีกครั้งใน 3-5 วัน โดยเภสัชกรชุมชนจะจัดส่งให้ พร้อมให้คำแนะนำในการกักตัวให้ครบ 14 วัน
“แผนงานของเรา สะท้อนให้เห็นว่า เราเองพยายามที่จะทำหลายแนวทางเพื่อช่วยระบบบริการสุขภาพ โดยเราจะไม่ทำแค่จ่ายชุดตรวจ ATK เท่านั้น เพราะหากประชาชนพบผลบวกจะทำอย่างไร จะต้องไปทางไหน คนไข้ไม่รู้จะกระจัดกระจายกันไปหมด ดังนั้นเราจึงพัฒนาแผนให้เป็นระบบครบวงจร โดยให้มีระบบการส่งต่อผู้ป่วยเข้าสู่ระบบการักษาด้วย หลังจากการติดเชื้อ วิธีนี้จะให้ควบคุมสถานการณ์การระบาดภายในประเทศให้ดีขึ้นได้” รศ.ดร.ภญ.จิราพร กล่าว
รศ.ดร.ภญ.จิราพร กล่าวถึงข้อดีของโครงการนี้อีกด้วยว่า เมื่อก่อนหากตรวจคัดกรองเชิงรุก เราจะใช้เพียงวิธีการตรวจหาเชื้อแบบ RT-PCR ซึ่งต้องใช้เวลานานกว่าจะรู้ผล แต่ในปัจจุบันเมื่อมีชุดตรวจ ATK เข้ามา การใช้ชุดตรวจ ATK จะทำให้รู้ผลไวขึ้น ค้นหาผู้ติดเชื้อได้รวดเร็วขึ้น และนำผู้ป่วยเข้าสู่ระบบการรักษาได้ไว ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยควบคุมการระบาด
สำนักข่าวอิศรา ยังได้โทรศัพท์สัมภาษณ์ ร้านขายยา ที่จะทำหน้าที่เป็น เภสัชกรชุมชน ประมาณ 4-5 แห่งในพื้นที่ กทม. พบว่า ทุกคนรู้สึกยินดีที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือประชาชนในวิกฤติโควิด โดยร้านขายยาที่เข้าร่วมโครงการต้องผ่านมาตรฐานการตรวจสอบจาก อย.มาก่อนแล้ว จงจะได้รับใบรับรอง ข.ย.1 ดังนั้นขอให้ประชาชนมั่นใจได้ว่าการแจกจ่ายชุดตรวจ ATK และยานั้นจะมีความปลอดภัย ปฏิบัติตามนโยบายด้านสาธารณสุขแน่นอน
ทั้งนี้ปัจจุบันเนื่องจากอยู่ระหว่างการรอพิจารณาจาก สปสช.ว่าร้านของตนเองจะผ่านเกณฑ์ได้เข้ามาช่วยเหลือประชาชนหรือไม่ และรูปแบบในการทำงานร่วมกับ สปสช.จะเป็นอย่างไร ทำให้ขณะนี้ยังไม่ทราบแผนการดำเนินงานที่ชัดเจน แต่ยืนยันว่ามีสรรพกำลัง และพร้อมที่จะเรียนรู้และปฏิบัติตามแนวทางที่ สปสช.และสภาเภสัชกรรมกำหนด
@ สธ.-สปสช. จัดระบบรองรับการจ่ายชุดตรวจ ATK
จากการรวบรวมข้อมูลจากเฟซบุ๊ก สำนักงานหลักประกันสุขภาพ พบว่า ความคืบหน้าล่าสุด กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ร่วมกับ สปสช. จัดระบบรองรับการจ่ายชุดตรวจ ATK ให้กับประชาชนกลุ่มเสี่ยงตรวจหาเชื้อด้วยตนเองแล้ว กรณีพบผลตรวจหาเชื้อเป็นบวก มีอาการน้อยเข้าสู่ระบบ Home Isolation แต่หากเข้า Community Isolation หรือโรงพยาบาล ซึ่งต้องตรวจหาเชื้อด้วยวิธีมาตรฐาน RT-PCR ซ้ำ เนื่องจากการตรวจด้วย ATK อาจเกิดผลลบบวกปลอมได้ถึง 3-5% จึงได้เตรียม Fast Track RT-PCR เอาไว้ให้คนไข้ เพราะหากไม่มีช่องทางด่วนคนไข้จะมีอาการรุนแรงอยู่ที่บ้าน
ในส่วนของวิธีการรับชุดตรวจนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างหารือว่าจะวางระบบอย่างไรเพื่อไม่ต้องให้กลุ่มเสี่ยงเดินทางมารับที่หน่วยบริการ โดยเน้นหลักการลดการเคลื่อนย้าย จัดส่งให้ผู้ป่วยถึงที่บ้าน แต่อาจส่งไปรษณีย์หรือให้ไรเดอร์ขับไปส่งให้ อย่างไรก็ดีตอนนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปสุดท้าย เพราะชุดตรวจยังยู่ในขั้นตอนการจัดซื้อโดยองค์การเภสัชกรรม (อภ.) จึงยังพอมีเวลาอีกระยะในการคิดวิธีการที่เหมาะสมที่สุด
ทั้งนี้ในกรณีที่มีผลตรวจหาเชื้อโควิดเป็นบวก ประชาชนสามารถขอเข้าสู่ระบบการรักษาอย่างไรได้บ้างนั้น สปสช.แนะนำว่า วิธีที่ง่ายที่สุดคือติดต่อกลับไปยังหน่วยบริการที่ส่งชุดตรวจมาให้ ทางหน่วยบริการจะประสานให้ผู้ป่วยรายนั้นๆเข้าสู่การดูแลแบบ Home Isolation หรืออาจโทรสายด่วน 1330 ต่อ 14 หรือเว็บไซต์ของ สปสช. หรือไลน์ สปสช. เพิ่มเพื่อนที่ @nhso
@ สปสช.จ่ายชดเชยค่าดูแลรักษา-อุปกรณ์การแพทย์ให้
เมื่อเข้าสู่ระบบการการดูแลแบบ Home Isolation หรือ Community Isolation สปสช.จะสนับสนุนอาหาร 3 มื้อ เครื่องวัดอุณหภูมิ เครื่องวัดออกซิเจนในเลือด ยา และมีแพทย์ติดตามอาการผ่านระบบการดูแลผู้ป่วยทางไกลให้ นอกจากนั้นจะจ่ายชดเชยสำหรับการดูแลรักษาให้ แบ่งเป็น ค่าชุดตรวจ ATK ถ้าเป็น Chromatography สปสช.จ่ายตามจริงไม่เกิน 450 บาทต่อครั้ง แต่ถ้าเป็น FIA จ่ายตามจริงไม่เกิน 550 บาทต่อครั้ง และถ้าต้องตรวจยืนยันผลด้วย RT-PCR สปสช.จะจ่ายค่าเก็บ Swab 100 บาทต่อครั้ง ค่าตรวจแล็บ 1,100-1,300 บาทต่อครั้ง และค่าอื่นๆในห้องแล็บ 300 บาทต่อครั้ง ส่วนค่าดูแลการให้บริการผู้ป่วย กรณีหน่วยบริการจัดอาหารให้ผู้ป่วย สปสช.จ่าย 1,000 บาทต่อวัน แต่ถ้าหน่วยบริการไม่ได้จัดอาหารให้หรือมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามาสนับสนุนแล้ว ให้ใช้หลักเกณฑ์ใหม่คือเบิกได้ 600 บาทต่อวัน
นอกจากนี้ในส่วนของค่าอุปกรณ์สำหรับผู้ป่วย เช่น ปรอทวัดไข้ เครื่องวัดระดับออกซิเจน จ่ายตามจริงไม่เกิน 1,100 บาท ค่ายาเฉพาะโควิด-จ่ายตามจริงไม่เกิน 7,200 บาท
กรณีที่ต้องมีการส่งต่อ สปสช.จ่ายค่ารถให้ตามจริง บวกค่าทำความสะอาด 3,700 บาท
กรณีต้องเอกซเรย์ปอด จ่ายในอัตรา 100 บาทต่อครั้ง
ทั้งนี้รายการใหม่ที่เพิ่มขึ้นมาคือค่าออกซิเจนสำหรับผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้ จ่ายในอัตรา 450 บาทต่อวัน
ทั้งนี้ สำหรับการดูแลใน Community Isolation จะมีเพิ่มเติมค่าชุด PPE หรือค่าอื่นๆเพื่อป้องกันการติดเชื้อ จ่ายตามจริงไม่เกิน 740 บาทต่อวัน
ทั้งหมดนี้เป็นแผนการดำเนินงานอย่างครบวงจรร่วมกันของสภาเภสัชกรรมและหน่วยงานด้านสาธารณสุข ที่จะช่วยให้เภสัชกรชุมชนสามารถเป็นผู้จ่ายชุดตรวจ ATK ให้กับกลุ่มเสี่ยง และจ่ายยาให้กับผู้ป่วยโควิดได้ทันที โดยไม่ต้องรอเป็นเวลานาน ช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าสู่ระบบบริการด้านสุขภาพในช่วงวิกฤตโควิดได้ง่ายมากขึ้น นอกจากนั้นช่วยให้ค้นหาผู้ป่วยได้ไว รักษาได้เร็ว หากเป็นไปตามแผน เชื่อว่าเราจะสามารถควบคุมการระบาดได้อย่างรวดเร็ว
ภาพจาก: Freepik
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage