"… การฉีดวัคซีนไขว้ ผสมสูตรวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ตามด้วยวัคซีนไฟเซอร์เป็นเข็มที่ 2 ที่ไทยจะเริ่มใช้ในเดือน ต.ค. นี้ เป็นสูตรวัคซีนที่องค์การอนามัยโลกรับรองให้ใช้ในกรณีจำเป็น และใช้กันในหลายประเทศ ซึ่งมีผลวิจัยต่างชี้ออกมาว่าวัคซีนสูตรนี้ปลอดภัย สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันต้านโควิดได้ดี โดยผลวิจัยจากอังกฤษเผยว่าสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้มากกว่าการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม ถึง 6 เท่า…"
วัคซีนสูตรไขว้ หรือวัคซีนสูตรผสม คือการฉีดวัคซีนต่างชนิดกัน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันป้องกันโควิด ซึ่งแนวคิดนี้เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก เนื่องจากมีการพิจารณากันว่าแนวทางนี้จะเป็นวิธีการที่ดีในขณะที่วัคซีนยังมีจำกัด
การฉีดวัคซีนไขว้มีอยู่ด้วยกันหลากหลายสูตร ตามแต่ละประเทศได้กำหนดตามความเหมาะสม โดยเดิมองค์การอนามัยโลก (World Health Organization) ได้ออกมาเตือนเรื่องการฉีดวัคซีนผสมสูตร ว่าถือเป็นแนวโน้มที่อันตราย เพราะยังมีการวิจัยการฉีดวัคซีนไขว้น้อย จนเมื่อวันที่ 9 ส.ค.2564 WHO ได้โพสต์เฟซบุ๊ก World Health Organization (WHO) ระบุว่า สามารถฉีดวัคซีนไฟเซอร์หรือโมเดอร์ หลังจาดฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเข็มแรกได้ในกรณีจำเป็น เพราะพบว่าการฉีดวัคซีนชนิด mRNA อย่างไฟเซอร์หรือโมเดอร์นาเป็นเข็มที่สอง ตามหลังวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า มีความปลอดภัยและสามารถทำได้ ในช่วงที่วัคซีนมีจำกัด
สำหรับประเทศไทย มีการใช้วัคซีนสูตรไขว้ สูตรวัคซีนซิโนแวคเป็นเข็มที่ 1 และวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเป็นเข็มที่ 2 และล่าสุดกำลังจะเริ่มใช้วัคซีนสูตรผสมระหว่างวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้ากับวัคซีนไฟเซอร์ โดย นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยมติที่ประชุมคณะกรรมการอำนวยการศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขกรณีโรคติดเชื้อโควิด (ศปก.สธ.) เมื่อวันที่ 3 ก.ย.2564 ที่ผ่านมา ว่า ที่ประชุมเห็นชอบการเพิ่มสูตรวัคซีนไขว้ เข็มแรกเป็นวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า และเข็มที่ 2 เป็นวัคซีนไฟเซอร์ ซึ่งจะเริ่มใช้ในเดือน ต.ค.นี้ เมื่อวัคซีนไฟเซอร์มีการส่งมอบเดือนนี้ประมาณ 10 ล้านโดส
ดังนั้นแล้วการฉีดวัคซีนโควิดสูตรวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าและวัคซีนไฟเซอร์ ซึ่ง WHO รับรองให้ใช้แล้ว และประเทศไทยจะเริ่มใช้ในเดือน ต.ค.นี้ จะมีประสิทธิภาพอย่างไร? และมีผลการศึกษาวิจัยในต่างประเทศอย่างไรบ้าง? สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้รวบรวมข้อมูลมาจากหลากหลายประเทศ มีรายละเอียดที่น่าสนใจดังนี้
เว็บไซต์ข่าว scroll.in เปิดเผยสาเหตุที่องค์การอนามัยโลกให้การยอมรับการฉีดวัคซีนไขว้ สูตรผสมวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า กับวัคซีนชนิด mRNA อย่างไฟเซอร์หรือโมเดอร์นา ก่อนวัคซีนยี่ห้ออื่นเมื่อต้นเดือน ส.ค.2564 ว่า ขณะนี้มีผลการวิจัยหลายชิ้นที่ชี้ให้เห็นว่าวัคซีนสูตรผสมของวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าและวัคซีนไฟเซอร์เป็นเข็มที่ 2 มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพดี มีรายละเอียดดังนี้
การศึกษาของอังกฤษ ผลการสำรวจจากกลุ่มตัวอย่าง 800 ราย ที่เข้าร่วมการวิจัยฉีดวัคซีนไขว้ผสมระหว่างวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า กับวัคซีนไฟเซอร์ แม้ในตอนแรกกลุ่มตัวอย่างอาจจะไม่เห็นด้วย หรือกลัวเรื่องความเสี่ยงบ้าง แต่ก็ยินยอมที่จะรับวัคซีนไฟเซอร์เป็นเข็มที่ 2 ซึ่งสุดท้ายการวิจัยนี้ผ่านไปได้ด้วยดี เพราะประสิทธิภาพของวัคซีนดี และมีเกิดอาการข้างเคียงจากวัคซีนต่ำ
สอดคล้องกับผลการศึกษาจากสเปน ที่พบว่าสูตรวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า กับวัคซีนไฟเซอร์เป็นเข็มที่ 2 ทำให้เกิดแอนติบอดี (Antibody) หรือภูมิต้านทานโควิดได้ดี สูงกว่าการฉีดวัคซีนชนิดเดียวกัน
นอกจากนั้นยังมีผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร The Lancet เมื่อเดือน พ.ค.2564 ที่ผ่านมา ได้เปิดเผยอีกว่าการฉีดวัคซีนเข็มแรกเป็นวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า และวัคซีนเข็มที่ 2 เป็นวัคซีนไฟเซอร์ สามารถฉีดห่างกันได้ภายใน 4 - 12 สัปดาห์ ช่วยลดระยะเวลาไปได้หลายเท่า หากเทียบกับการรอฉีดวัคซีนสูตรวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม ที่ต้องเว้นระยะห่างถึง 16 สัปดาห์
แคนาดาอนุมัติฉีดไขว้ แก้ปัญหาล่าช้า-เลือดแข็งตัว
เว็บไซต์ข่าว scroll.in เปิดเผยอีกว่า ประเทศที่มีการฉีดวัคซีนไขว้ สูตรผสมระหว่างวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าและวัคซีนไฟเซอร์ เช่น ประเทศแคนาดา หนึ่งในประเทศแรกๆ ที่พยายามแก้ปัญหาการจัดหาวัคซีนโควิด โดยอนุมัติให้ฉีดวัคซีนไขว้ โดยเริ่มแรกอนุมัติให้ผู้ที่ฉีดวัคซีนไฟเซอร์เข็มแรก ให้สามารถรับวัคซีนโมเดอร์นาเป็นเข็มที่ 2 ได้ เพื่อแก้ไขปัญหาวัคซีนไฟเซอร์ล็อต มิ.ย.2564 จำนวน 24 แสนโดสที่มาล่าช้า
จากนั้นเมื่อวันที่ 17 มิ.ย.2564 คณะกรรมการที่ปรึกษาแห่งชาติด้านการสร้างภูมิคุ้มกันของแคนาดาได้แนะนำให้ผู้ที่ได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเป็นเข็มที่ 1 ควรรับวัคซีนไฟเซอร์หรือโมเดอร์นา เป็นเข็มที่ 2 เนื่องจากปัญหาวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าที่อาจทำให้เกิดปัญหาเลือดแข็งตัว ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีจัสติน ทรูโดของแคนาดาก็ได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าตามด้วยโมเดอร์นาเป็นเข็มที่ 2 ด้วย
กระตุ้นภูมิคุ้มกันสูงกว่า 'แอสตร้าฯ' 2 เข็ม
ขณะเดียวกันเว็บไซต์ PHARMACEUTICAL TECHNOLOGY เปิดเผยการศึกษาเบื้องต้นของนักวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดที่เรียกว่า Com-COV (Comparing Covid-19 Vaccine Schedule Combinations) ในเดือน มิ.ย.2564 ด้วยว่า ผลการวิจัยการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเป็นเข็มแรก และไฟเซอร์เป็นเข็มที่ 2 สามารถกระตุ้นแอนติบอดี (Antibody) สร้างภูมิคุ้มกันต้านโควิดได้สูงกว่าฉีดแอสตร้าเซเนก้า 2 เข็ม
โดยศาสตราจารย์แมทธิว สเนป หัวหน้าผู้วิจัยในการทดลอง Com-COV กล่าวว่า การศึกษานี้ เราได้ประเมินการฉีดวัคซีนระหว่าง สูตรแรก คือ วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าทั้ง 2 เข็ม และสูตรที่ 2 คือวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ตามด้วยวัคซีนไฟเซอร์ เพื่อดูว่าวัคซีนเหล่านี้สามารถใช้แทนกันได้ในระดับใด
“ผลการวิจัยแสดงออกมาให้เห็นว่าเมื่อได้รับวัคซีนในช่วงเวลา 4 สัปดาห์ พบว่าการฉีดวัคซีนไขว้ คือ การฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ตามด้วยวัคซีนไฟเซอร์ ทำให้เกิดภูมิคุ้มกันที่สูงกว่าการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าทั้ง 2 เข็ม” ศาสตราจารย์แมทธิว กล่าว
ประสิทธิภาพลดลง 2.5-6 เท่า เมื่อเจอโควิดกลายพันธุ์
นอกจากนั้น เว็บไซต์ PHARMACEUTICAL TECHNOLOGY เปิดเผยผลการศึกษาล่าสุดของทีม Com-COV ในเกาหลีใต้ ก็พบว่าการฉีดวัคซีนไขว้ สามารถสร้างภูมิคุ้มกันต้านโควิดได้ดีกว่าการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าทั้ง 2 เข็ม แต่เมื่อวิเคราะห์ประสิทธิภาพของวัคซีนต่อเชื้อโควิดกลายพันธุ์ พบว่า การฉีดวัคซีนไขว้ระหว่างวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าตามด้วยวัคซีนไฟเซอร์มีประสิทธิต่อสายพันธุ์อัลฟ่า (อังกฤษ) มากทีเดียว แต่สำหรับสายพันธุ์เดลต้า (อินเดีย) แกมม่า (บราซิล) และเบต้า (แอฟริกาใต้) พบว่าประสิทธิภาพของวัคซีนสูตรไขว้นี้จะลดลง 2.5-6 เท่า
นอกจากนี้ยังมีผลการศึกษาจากเยอรมัน พบด้วยว่าการฉีดวัคซีนไขว้ สามารถสร้างภูมิคุ้มกันต้านโควิดได้ดีกว่าการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าทั้ง 2 เข็ม ถึง 6 เท่า
30-40% มีอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีดเข็ม 2 แต่ไม่รุนแรง
เว็บไซต์ PHARMACEUTICAL TECHNOLOGY เปิดเผยถึงอาการไม่พึงประสงค์จากวัคซีนสูตรผสมด้วยว่า นักวิจัย Com-COV พบว่า ผู้ที่ได้รับวัคซีนสูตรผสมวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ตามด้วยวัคซีนไฟเซอร์เป็นเข็มที่ 2 มีผู้ได้รับอาการไม่พึงประสงค์ หลังได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 อยู่ที่ 30-40% ซึ่งมากกว่าผู้ที่ได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าทั้ง 2 เข็ม ที่มีผู้ได้รับอาการไม่พึงประสงค์เพียง 10-20% อาจเนื่องมาจากช่วงระยะเวลาในการฉีดเข็มที่ 2 ของวัคซีนสูตรผสมที่สั้นเพียง 4 สัปดาห์
โดยอาการไม่พึงประสงค์ของวัคซีนสูตรผสมแอสตร้าเซนเนก้า ตามด้วยวัคซีนไฟเซอร์ ได้แก่ มีไข้ หนาวสั่น อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ปวดข้อ ปวดเมื่อย และปวดกล้ามเนื้อ แต่ไม่มีอาการรุนแรงจนต้องรักษาในโรงพยาบาล และส่วนใหญ่เกิดขึ้นภายใน 48 ชั่วโมงหลังการรับวัคซีน และเมื่อติดตามผลข้างเคียงต่อจนถึง 1 เดือน ไม่พบความแตกต่างกันในแต่ละกลุ่ม
อย่างไรก็ตามผลการศึกษาจากนักวิจัย Com-COV เป็นเพียงผลการวิจัยเบื้องต้นและกำลังดำเนินต่อไป การศึกษาหลักๆ ชี้ว่า การฉีดผสมระหว่างแอสตร้าเซนเนก้าและไฟเซอร์มีประสิทธิภาพและค่อนข้างปลอดภัยในการทดลองที่ทำกับกลุ่มคนป่วยค่อนข้างน้อย ถ้าจะให้ผลชัดเจนต้องศึกษาจากประชากรกลุ่มใหญ่ขึ้น
ทางเลือกฉีดวัคซีนใหม่ในหลายประเทศ
ปัจจุบันมีอยู่หลายประเทศที่มีการฉีดวัคซีนไขว้ สูตรวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าตามด้วยวัคซีนไฟเซอร์ โดยเว็บไซต์ สำนักข่าวรอยเตอร์ เปิดเผยรายละเอียดดังนี้
เกาหลีใต้ ทางการเกาหลีใต้ได้เริ่มการฉีดวัคซีนไขว้ สูตรแอสตร้าเซนเนก้าเป็นเข็มแรก และไฟเซอร์เป็นเข็มที่สอง เพราะความล่าช้าในการส่งมอบวัคซีนจากบริษัทผู้ผลิต
เดนมาร์ก สถาบันเซรั่มแห่งรัฐเดนมาร์กเผยผลการศึกษาการฉีดวัคซีนไขว้ สูตรแอสตร้าเซนเนก้าเป็นเข็มแรก และไฟเซอร์ หรือโมเดอร์เป็นเข็มที่สอง จากพลเมืองจำนวนกว่า 100,000 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบุคลากรการแพทย์และผู้สูงอายุ พบว่าวัคซีนสูตรผสมดังกล่าวต่างมีประสิทธิภาพที่ดี และสามารถป้องกันการติดเชื้อโควิดได้ลดลงถึง 88% เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ไม่ได้รับวัคซีน
อย่างไรก็ตามผลวิจัยดังกล่าวยังไม่สามารถสรุปได้ว่า การฉีดวัคซีนไขว้กันจะสามารถป้องกันสายพันธุ์เดลต้า (อินเดีย) ได้ดีหรือแย่เพียงใด และยังไม่ได้ครอบคลุมถึงตัวเลขอัตราการเสียชีวิตและการเข้าโรงพยาบาล
เยอรมนี คณะกรรมการด้านวัคซีนของเยอรมนีแนะนำให้ประชาชนที่รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนเก้าเป็นเข็มแรก ควรรับวัคซีนของไฟเซอร์หรือโมเดอร์นาเป็นเข็มสองเพื่อสู้กับไวรัสสายพันธุ์เดลต้า (อินเดีย) เพราะจะสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้มากกว่าการฉีดแอสตร้าเซนเนก้า 2โดส
เวียดนาม ทางการเวียดนามอนุมัติให้ผู้ที่ฉีดวัคซีนแอสตร้าเซเนก้าเป็นวัคซีนเข็มแรก สามารถเลือกฉีดวัคซีนชนิด mRNA ของไฟเซอร์เป็นเข็มที่ 2 ได้ เพราะวัคซีนโมเดอร์นาไม่สามารถจัดส่งวัคซีนได้ตามกำหนด ทำให้มีปริมาณไม่เพียงพอ
การฉีดวัคซีนไขว้ ผสมสูตรวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ตามด้วยวัคซีนไฟเซอร์เป็นเข็มที่ 2 ที่ไทยจะเริ่มใช้ในเดือน ต.ค. นี้ เป็นสูตรวัคซีนที่องค์การอนามัยโลกรับรองให้ใช้ในกรณีจำเป็น และใช้กันในหลายประเทศ ซึ่งมีผลวิจัยต่างชี้ออกมาว่าวัคซีนสูตรนี้ปลอดภัย สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันต้านโควิดได้ดี โดยผลวิจัยจากอังกฤษเผยว่าสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้มากกว่าการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม ถึง 6 เท่า อย่างไรก็ตามการศึกษานี้ยังเป็นผลเบื้องต้น จึงยังต้องติดตามการผลการใช้วัคซีนสูตรนี้ต่อไป
เรียบเรียงจาก:
https://www.reuters.com/world/middle-east/countries-weigh-mix-match-covid-19-vaccines-2021-05-24/
https://scroll.in/article/1002958/what-do-we-know-so-far-about-mixing-and-matching-covid-19-vaccines
https://www.pharmaceutical-technology.com/features/covid-19-vaccine-mixing-astrazeneca-pfizer/
ภาพจาก: ผู้จัดการออนไลน์
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage