"...การฉีดวัคซีนแบบผสมนั้นยังเป็นสิ่งที่สามารถนำไปใช้เพื่อแก้ปัญหาความล่าช้าอันมีที่มาจากประเด็นความขาดแคลนเรื่องอุปทานของวัคซีนได้อีกเช่นกัน ถ้าหากมีสถานการณ์การขาดแคลนวัคซีนชนิดใดชนิดหนึ่งเกิดขึ้นทั่วโลก แทนที่จะหยุดโครงการฉีดวัคซีนชนิดนั้นเอาไว้ก่อน แต่ถ้าหากมีการฉีดวัคซีนแบบผสมแล้ว ก็อาจจะทำให้โครงการฉีดวัคซีนที่ว่านั้นสามารถดำเนินต่อไปได้ ..."
............................
การฉีดวัคซีนผสมสูตร (Mix and Match) กำลังเป็นประเด็นร้อนที่ถูกกล่าวถึงกันอย่างมากในสังคมไทยเวลานี้ หลังจากที่ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 12 ก.ค. 64 ที่ผ่านมา คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติได้แถลงข่าวยืนยันมติว่าจะให้มีการฉีดสลับยี่ห้อจากซิโนแวค เข็มที่ 1 แล้วเข็มที่ 2 เป็นแอสตร้าเซเนกา, วัคซีนจากซิโนแวคเข็มที่ 1 และเข็มที่ 2 แล้วให้บูสเตอร์เข็มที่ 3 เป็นวัคซีนจากแอสตร้าเซเนกา
ขณะที่ พญ.โสมยา สวามีนาธาน หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ขององค์การอนามัยโลก (WHO) ออกมาคัดค้านไม่ให้มีการฉีดวัคซีนผสมสูตรด้วยตัวเอง ส่วนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำว่าควรจะต้องนำข้อมูลของ WHO มาพิจารณาถึงการใช้วัคซีนผสมควบคู่กันไปด้วย
รายงานข่าวการเตือนการผสมวัคซีนขององค์การอนามัยโลก หรือ WHO โดยการให้สัมภาษณ์ของ พญ.โสมยา สวามีนาธาน นั้นเกิดขึ้นหลังจากที่มีกรณีการผสมวัคซีนของบริษัทจอห์นสันแอนด์จอห์นสันและบริษัทไฟเซอร์ที่ประเทศแคนาดา (อ้างอิงวิดีโอจาก WION News)
จากประเด็นข้อโต้แย้งดังกล่าว สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สำรวจข้อมูลรายงานข่าวต่างประเทศเกี่ยวกับการผสมวัคซีน พบว่า เว็บไซต์ข่าว Nature.com ซึ่งเป็นเว็บไซต์ข่าวด้านวิทยาศาสตร์ ได้มีการแพร่บทความเมื่อวันที่ 1 ก.ค. ในชื่อเรื่องว่า Mix-and-match COVID vaccines: the case is growing, but questions remain
มีรายละเอียดสำคัญดังต่อไปนี้
การผสมวัคซีนโควิด-19 นั้นกำลังเกิดขึ้นในหลายกรณีทั่วโลก เนื่องจากมีการพิจารณากันว่านี่จะเป็นวิธีการที่ดีที่จะทำให้กลุ่มประชากรนั้นได้รับการปกป้องจากวัคซีน ในช่วงเวลาที่วัคซีนยังคงมีประเด็นปัญหาในด้านความปลอดภัยจากผลข้างเคียง และยังไม่อาจจะคาดเดาได้ในเรื่องของอุปทานวัคซีนว่าจะมีเพียงพอหรือไม่
โดยวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ส่วนมากนั้น ล้วนแล้วแต่ต้องมีการฉีดเป็นจำนวน 2 โดส แต่ก็มีการศึกษาในหลายกรณีแล้วเช่นกัน ซึ่งผลการศึกษาได้ออกมาในทิศทางที่สนับสนุนการฉีดวัคซีนแบบผสมกันระหว่างวัคซีนจากออกซ์ฟอร์ดและบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า กับวัคซีนจากบริษัทไฟเซอร์และไบโอเอ็นเทค
เนื่องจากการผสมการฉีดทั้ง 2 วัคซีนดังกล่าวนั้นพบว่าสามารถกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันได้คล้ายกัน หรือมากกว่าการฉีดวัคซีนชนิดเดียวกัน 2 โดส
เมื่อวันที่ 1 ก.ค.ที่ผ่านมา ที่ประเทศอังกฤษ มีการแนะนำให้มีการผสมวัคซีนในบางกรณีเช่นกัน เพราะมองว่ามีประสิทธิภาพสูงกว่าชนิดเดียวกัน 2 โดส ส่วนที่ประเทศเยอรมนี ก็มีการประกาศผลการศึกษาที่มีลักษณะออกมาในทิศทางที่คล้าย ๆ กัน
“ประชาชนสามารถที่จะรู้สึกสบายใจได้มากขึ้นเล็กน้อย กับแนวคิดการผสมวัคซีน” นพ. ลีฟ เอริค แซนเดอร์ นักภูมิคุ้มกันวิทยา โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยชาริเต กรุงเบอร์ลินระบุ
ซึ่งผลลัพธ์ที่ประกาศออกมาดังกล่าวนั้น ทำให้เหล่านักวิจัยเริ่มที่จะมีความมั่นใจมากขึ้นว่าการผสมการฉีดวัคซีนอื่น ๆ ที่ยังไม่ได้มีการทดสอบการผสมนั้น ก็น่าจะได้ผลลัพธ์เป็นที่น่าพอใจเช่นเดียวกับกรณีการผสมวัคซีนไฟเซอร์และวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า
แต่อย่างไรก็ตาม ณ เวลานี้ มีวัคซีนอย่างน้อย 16 ชนิดด้วยกันที่ได้รับการอนุมัติมากกว่าแค่หนึ่งประเทศ และการศึกษาเรื่องการผสมวัคซีนจนถึง ณ เวลานี้นั้นก็ยังอยู่ในวงที่แคบมาก ดังนั้น การทดลองในวงที่กว้างขวางมากขึ้น การตรวจในระยะยาวเกี่ยวกับประเด็นเรื่องผลข้างเคียงต่าง ๆ นั้น ถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง ถ้าจะมีการผสมวัคซีนเกิดขึ้น
ข่าวผลการผสมวัคซีนที่กำลังมีการศึกษาเพิ่มเติม (อ้างอิงวิดีโอจากสำนักข่าวซีบีซี)
@การเพิ่มระบบภูมิคุ้มกัน
การผสมและจับคู่วัคซีนนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในหลายพื้นที่ สาเหตุก็มาจากความกังวลในประเด็นเรื่องความปลอดภัยของวัคซีนที่พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดและบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าในเมืองเคมบริดจ์ ซึ่งตามที่ทราบกันแล้วว่าวัคซีนของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้านั้นมีผลข้างเคียงการเกิดลิ่มเลือดกับกลุ่มที่ได้รับการฉีดวัคซีน หรือที่เรียกกันว่าภาวะหลอดเลือดมีลิ่มเลือดควบคู่กับเกล็ดเลือดต่ำ
โดยผลข้างเคียงดังกล่าวมีการรายงานออกมาครั้งแรกในช่วงเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ส่วนผลทำให้ประเทศในทวีปยุโรปบางประเทศได้ตัดสินใจที่จะหยุดการใช้วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าในกลุ่มประชากรบางกลุ่มไป ส่งผลทำให้มีประชาชนจำนวนมากที่ได้รับการฉีดวัคซีนแค่บางส่วน หรือแค่โดสเดียวเท่านั้น เว้นเสียแต่ว่าประชาชนกลุ่มที่ว่านี้จะต้องไปหาวัคซีนโดส 2 ชนิดอื่นมาฉีดแทน
พอมาถึงช่วงเดือน พ.ค. ที่สถาบันสุขภาพคาร์ลอสที่ 3 ในกรุงมาดริด ได้มีการประกาศผลการศึกษาการผสมวัคซีนหรือที่เรียกกับว่าผลการทดลอง CombiVacS ซึ่งผลการศึกษาดังกล่าวนั้นระบุว่าการผสมวัคซีนทำให้เกิดภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงเป็นอย่างยิ่งในกลุ่มประชากรที่มีการฉีดวัคซีนจากบริษัทไฟเซอร์ หลังจากที่ฉีดวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าไปแล้วประมาณ 8-12 สัปดาห์
แต่ผลการศึกษาดังกล่าวไม่ได้มีการเปรียบเทียบกับกรณีผู้ที่ได้รับวัคซีนชนิดเดียวกันแบบ 2 โดส
แต่ผู้ที่เขียนผลการทดลองระบุว่า พบว่าในการศึกษาในห้องแล็บ ผู้ที่ได้รับวัคซีนแบบผสมนั้นสามารถผลิตสารภูมิคุ้มกันหรือแอนติบอดีที่มีต่อไวรัสโควิด-19 ได้เป็นจำนวนสูงถึง 37 เท่า และสามารถผลิตเซลล์ภูมิคุ้มกันไวรัสโควิด-19 แบบเฉพาะเจาะจง หรือที่เรียกกันว่าทีเซลล์ได้สูงกว่า 4 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่ได้รับวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าแค่เพียงโดสเดียวเท่านั้น
พอมาถึงช่วงสิ้นเดือน มิ.ย. ก็มีการรายงานผลลัพธ์เพิ่มเติมที่มีลักษณะคล้าย ๆ กัน ออกมา
โดย นพ. ลีฟ เอริค แซนเดอร์ และผู้ร่วมงาน ได้มีการตรวจสอบข้อมูลของกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ในเยอรมนีจำนวนกว่า 340 คน ที่ได้รับวัคซีนไฟเซอร์จำนวน 2 โดส และกลุ่มที่ได้รับวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าจำนวน 1 โดส และตามด้วยวัคซีนจากไฟเซอร์อีกจำนวน 1 โดส
ซึ่งจากการตรวจสอบผลการทดลองของทั้ง 2 กลุ่มนั้น พบว่าสามารถกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันและสามารถกระตุ้นเซลล์ได้อย่างดีเช่นกัน
ส่วนการศึกษาครั้งที่ 3 นั้นเป็นการศึกษาจากนักวิจัยที่มหาวิทยาลัยซาร์แลนด์ในฮัมบวร์ก ประเทศเยอรมนี พบว่าการผสมวัคซีนนั้นจะดีกว่าในแง่ของการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน เมื่อเทียบกับการฉีดวัคซีนจากแอสตร้าเซนเนก้าจำนวน 2 โดส และผลการศึกษาดังกล่าวยังได้ระบุด้วยเช่นกันว่าการฉีดวัคซีนแบบผสมนั้นอาจจะให้ผลลัพธ์ที่เทียบเท่าหรือว่าดีกว่า กรณีการฉีดวัคซีนจากบริษัทไฟเซอร์จำนวน 2 โดสเสียด้วยซ้ำ
เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. ทีมการศึกษาการทดลองในประเทศอังกฤษที่เรียกกันว่า Com-Cov ได้มีการเผยแพร่รายงานทางออนไลน์เช่นกัน โดยระบุว่ามีการตอบสนองของภูมิคุ้มกันที่ดี เมื่อมีการฉีดวัคซีนทั้งสองชนิด
อย่างไรก็ตาม การทดลองทั้งหมดที่ว่ามานั้น ถือว่ายังมีขนาดเล็กเกินกว่าที่จะทดสอบได้ว่าการผสมวัคซีนจะมีประสิทธิภาพเป็นอย่างไรกันแน่ ในแง่ของการป้องกันไม่ให้ประชาชนมีอาการที่รุนแรงขึ้นจากการรับเชื้อโควิด-19
“ตราบเท่าที่คุณยังไม่มีผลการศึกษาในระยะยาว หรือการติดตามผลใด ๆ ที่มีการคำนวณอัตราด้านประสิทธิภาพ มันก็จะยังเป็นเรื่องยากที่จะพูด” พญ.มาร์ตินา เซสเตอร์ นักภูมิคุ้มกันวิทยา ที่มหาวิทยาลัยซาร์แลนด์กล่าว
พญ.เซสเตอร์กล่าวต่อไปว่าข้อจำกัดอีกประการหนึ่งก็คือว่า จนถึงขณะนี้ยังไม่มีวิธีการที่ง่ายในการที่จะเปรียบเทียบสูตรผสมวัคซีนที่แตกต่างชนิดกันออกไป ในระหว่างที่มีการดำเนินการศึกษาเรื่องการฉีดวัคซีนแบบผสม ซึ่งนี่ก็ทำให้การศึกษาการผสมวัคซีนในวงกว้างนั้นเป็นไปได้ยากขึ้นไปอีก
ณ เวลานี้ อัตราการติดเชื้อลดลงเป็นอย่างยิ่ง หมายความว่าจะต้องมีการเพิ่มจำนวนการศึกษาให้มากยิ่งขึ้นไปอีก เพื่อที่จะตรวจสอบความแตกต่างของอัตราการติดเชื้อที่มีความแตกต่างกันออกไป โดยกระบวนการทดลองวัคซีนแบบผสมเพื่อเปรียบเทียบกับการใช้ยาหลอกนั้นถือว่าเป็นเรื่องที่ขัดต่อหลักจริยธรรมเป็นอย่างยิ่ง
ขณะที่ นพ. ลีฟ เอริค แซนเดอร์ ระบุว่า นี่จึงเป็นเหตุผลสำคัญว่าทำไมถึงต้องมีการดำเนินการทดสอบอย่างเร่งด่วนเกี่ยวกับการผสมวัคซีน เพื่อที่จะดูความสัมพันธ์กับการป้องกันไวรัสโควิด-19
สาเหตุ ก็เพื่อจะทำให้รู้ว่า จะกำหนดรูปแบบกันอย่างไรถึงจะมีความเหมาะสมในการฉีดวัคซีนเพื่อปัองกันการติดเชื้อ
@มุมมองที่แตกต่างกันออกไป
นอกจากนี้ยังมีการมองในมุมที่ว่าจะสามารถใช้ความแตกต่างของวัคซีนและการตอบสนองของภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นในแต่ละวัคซีนมาใช้ในการผสมวัคซีนเพื่อที่จะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันอันก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้หรือไม่
โดย นพ. ลีฟ เอริค แซนเดอร์ กล่าวว่า วัคซีนของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้านั้นจะใช้ไวรัสที่ไม่มีอันตรายอันเรียกว่าอะดีโนไวรัส ในการเป็นพาหะของสารพันธุกรรมของไวรัสโควิด-19 เข้าไปสู่เซลล์ของร่างกายมนุษย์
ซึ่งวัคซีนที่ใช้เทคโนโลยีนี้นั้นพบว่าจะสามารถกระตุ้นเซลล์ทีได้ดีมาก ในขณะที่วัคซีนประเภท mRNA (วัคซีนประเภทที่นำชิ้นส่วนสารพันธุกรรมของเชื้อโควิด- 19 ส่วนที่เกี่ยวข้องกับการสร้างโปรตีนส่วนที่เป็นปุ่มหนามของเชื้อไวรัสมาทำเป็นวัคซีน) อย่างไฟเซอร์นั้นก็มีการพิสูจน์แล้วเช่นกันว่าสามารถกระตุ้นต่อแอนติบอดีได้ดีในระดับที่สูงเป็นพิเศษ
โดย พญ.เซสเตอร์ ระบุว่า ระดับแอนติบอดีที่สูงหลังจากการฉีดวัคซีนโดสที่ 2 นั้นเป็นข้อบ่งชี้ว่าแนวทางการผสมวัคซีนสามารถนำไปใช้ได้จริง
“แอนติบอดีที่เป็นกลางถือว่าเป็นตัวแทนที่ดีที่จะใช้คาดคะเนประสิทธิภาพ เพราะว่ามันจะช่วยในการป้องกันการติดเชื้อไวรัส แต่เซลล์ที โดยเฉพาะเซลล์คิลเลอร์ทีซึ่งเป็นพาหะของโปรตีนที่เรียกกันว่า CD8 นั้นก็จะมีศักยภาพในการป้องกันการป่วยที่รุนแรงจากการติดเชื้อ เพราะการทำงานของมันก็คือการฆ่าเซลล์ที่ถูกทำให้ติดเชื้อไปแล้ว” พญ.เซสเตอร์กล่าว
อนึ่ง ในกระบวนการศึกษาของ Com-Cov นั้น พบว่ามีการตอบสนองที่ค่อนข้างสูงในเรื่องของแอนติบอดี สำหรับผู้ที่ได้รับวัคซีนไฟเซอร์เป็นจำนวน 2 โดส อย่างไรก็ตาม พบการตอบสนองที่สูงมากเช่นกันกับกรณีที่ผู้ที่ฉีดวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าแล้วตามด้วยวัคซีนไฟเซอร์ ซึ่งจากการผสมของวัคซีนดังกล่าวนั้นก็ได้แสดงผลตอบสนองของเซลล์ทีที่ยอดเยี่ยมที่สุด โดยมากเกิน 2 เท่าของผู้ที่ได้รับวัคซีนไฟเซอร์จำนวน 2 โดสไปแล้ว
นพ. ลีฟ เอริค แซนเดอร์ กล่าวสำทับว่า ดังนั้น การผสมวัคซีนระหว่าง mRNA กับอะดีโนไวรัสนั้นอาจจะเรียกได้เป็น 2 สิ่งที่ว่าดีที่สุดในโลก
ขณะที่ พญ.เซสเตอร์และเพื่อนร่วมงานวิจัย ได้พบความแตกต่างของจำนวนเซลล์ทีที่เกิดขึ้น ซึ่งยึดโยงไปถึงชนิดของวัคซีนที่ทำการฉีด
พญ.เซสเตอร์ ระบุว่า การทำความเข้าใจความแตกต่างที่ว่ามานี้นั้นอาจนำไปสู่การออกกลยุทธ์เฉพาะกรณีไปเพื่อที่จะรับมือกับการระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยการผสมวัคซีนที่สามารถกระตุ้นเซลล์ทีได้นั้นอาจจะเป็นสิ่งที่ดีกว่าสำหรับกลุ่มประชาชนที่มีประวัติการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะมาก่อนและยังอยู่ในสภาวะที่จะต้องรับประทานยาซึ่งจะมีฤทธิ์กดภูมิคุ้มกันของร่างกาย
ตัวอย่างเช่น เพราะว่าร่างกายของพวกเขานั้นจะต้องดิ้นรนทุกทางเพื่อที่จะทำให้เกิดการผลิตสารภูมิคุ้มกันขึ้น ดังนั้นจึงถือได้ว่าจากผลการทดลองการผสมวัคซีนที่ว่ามานี้นั้น จะสามารถถูกนำไปใช้หาประโยชน์หลายทางในเชิงการกำหนดยุทธศาสตร์เพื่อรับสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19
@ข้อกังวลเรื่องความปลอดภัย
ณ เวลานี้ยังไม่มีรายงานว่ามีผลข้างเคียงอันรุนแรงจากการผสมวัคซีนปรากฏออกมา
โดยในการศึกษาขั้นต้นของ Com-Cov ที่มีการเผยแพร่ผลออกมาเมื่อวันที่ 5 พ.ค. นั้นพบว่าการผสมวัคซีนจะทำให้เกิดผลข้างเคียงมากกว่าการจัดวัคซีนชนิดเดียวกันให้จำนวน 2 โดส
ในขณะที่ผลการศึกษาจากมหาวิทยาลัยชาริเตและในมหาวิทยาลัยซาร์แลนด์ระบุว่าไม่พบว่ามีผลข้างเคียงจากการผสมวัคซีนเลวร้ายไปมากกว่าการฉีดวัคซีนชนิดเดียวกันจำนวน 2 โดส
พญ.เซสเตอร์กล่าวว่า ประเด็นเรื่องผลข้างเคียงที่ออกมาแตกต่างกันนี้ อาจจะเป็นเพราะว่าช่วงเวลาที่มีการเว้นระยะห่างระหว่างวัคซีน เพราะว่าผู้ที่ทดลองในกระบวนการทดลองของ Com-Cov นั้นมีการรับวัคซีนโดสที่ 2 ไปเป็นระยะเวลาประมาณ 4 สัปดาห์หลังจากที่รับวัคซีนโดสแรก ในขณะที่ผู้ที่เข้ารับการทดลองวัคซีนที่ประเทศเยอรมนีนั้นพบว่ามีการรับวัคซีนโดสที่ 2 ทิ้งระยะเวลาประมาณ 9 สัปดาห์หลังจากที่นับวัคซีนโดสแรกไป และมีรายงานว่าในกลุ่มผู้ทดลองวัคซีนบางรายของ Com-Cov ก็มีกลุ่มที่ได้รับวัคซีนในช่วงเว้นระยะเวลาที่นานขึ้นไปอีก ซึ่งข้อมูลของพวกเขานั้นคาดว่าจะปรากฏออกมาในช่วงเดือน ก.ค.
ขณะที่ นพ. ลีฟ เอริค แซนเดอร์ กล่าวด้วยว่าประเด็นเรื่องความกังวลด้านความปลอดภัยนั้นจะยังคงอยู่แน่นอน เพราะว่าคุณกำลังรวมวัคซีน 2ชนิดเข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งทั้ง 2 ชนิดอาจมีรายละเอียดเกี่ยวกับอาการณ์ไม่พึงประสงค์เป็นเฉพาะของตัวเอง และนั่นก็อาจจะขยายปัญหาเรื่องผลข้างเคียงได้อีกเช่นกัน
โดยในการศึกษา ณ เวลานี้นั้นยังคงอยู่ในวงกลุ่มคนประมาณไม่กี่ร้อยคน นี่หมายความว่ากลุ่มการศึกษาตอนนี้นั้นยังคงอยู่ในวงที่เล็กเกินกว่าที่จะตรวจพบกรณีการไม่พึงประสงค์อันหายาก
อาทิ การเกิดลิ่มเลือด ที่อยู่ในอัตราประมาณ 1 ใน 50,000 คน หลังจากที่ได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าโดสแรก และอยู่ในอัตราประมาณ 1 ใน 1.7 ล้านคน หลังจากที่รับวัคซีนแอสตราเซเนก้าโดสที่สอง ซึ่งอาการดังกล่าวนั้นยังเกิดขึ้นเช่นเดียวกับผู้ที่ได้รับวัคซีนประเภทอะดีโนไวรัสจากบริษัทยาจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน
"ในกระบวนการศึกษาขนาดเล็ก คุณไม่เลือกกรณีผลข้างเคียงจาก 1 ใน 1,000 ราย หรือจากกรณี 1 ใน 50,000 ราย" นายแมทธิว สเนป นักวิจัยวัคซีนของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดผู้ที่ดำเนินการศึกษาของชุด Com-Cov แถลงข่าวเมื่อวันที่ 28 มิ.ย.
@จะเป็นเทรนด์ใหม่หรือไม่
ประเด็นเรื่องผลข้างเคียงอันหายากที่ยังไม่พบเห็น
ณ เวลานี้ ถือเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่นักวิจัยบางคนได้ออกคำแนะนำหนักแน่นว่าในกระบวนการฉีดวัคซีน ณ เวลานี้ ควรจะยังคงยึดหลักการ 2 โดส ยี่ห้อเดียวกันไปก่อน
“ในความคิดของผม คุณน่าจะฉีดวัคซีนที่มันเป็นค่าเริ่มต้นของคุณไป ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่เรารู้ว่ามันได้ผล และมันมีปริมาณที่ระบุชัดเจนอย่างยิ่ง เมื่อจะพูดถึงประเด็นเรื่องความปลอดภัย” นายสเนปกล่าว
แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อปรากฏว่ามีกรณีการระบาดของไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่เกิดขึ้น ผลของการฉีดวัคซีนแบบผสมดังกล่าวนั้นก็อาจจะเป็นสิ่งที่มอบข้อมูลอันจำเป็นอย่างยิ่งต่อฝ่ายที่จะออกนโยบายว่าจะดำเนินการฉีดวัคซีนแบบผสมอย่างไรเพื่อที่จะทำให้ได้การปกป้องที่มากขึ้น
“มันเป็นเรื่องดี ถ้าหากจะมีข้อมูลที่มีความพร้อมในเรื่องนี้” นางฟิโอนา รัสเซล นักวิจัยวัคซีนจากสถาบันวิจัยเด็กเมอร์ด็อคในนครเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลียระบุ
นางรัสเซล กล่าวต่อไปว่า การฉีดวัคซีนแบบผสมนั้นยังเป็นสิ่งที่สามารถนำไปใช้เพื่อแก้ปัญหาความล่าช้าอันมีที่มาจากประเด็นความขาดแคลนเรื่องอุปทานของวัคซีนได้อีกเช่นกัน ถ้าหากมีสถานการณ์การขาดแคลนวัคซีนชนิดใดชนิดหนึ่งเกิดขึ้นทั่วโลก แทนที่จะหยุดโครงการฉีดวัคซีนชนิดนั้นเอาไว้ก่อน แต่ถ้าหากมีการฉีดวัคซีนแบบผสมแล้ว ก็อาจจะทำให้โครงการฉีดวัคซีนที่ว่านั้นสามารถดำเนินต่อไปได้
รายงานข่าวการผสมวัคซีนเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนวัคซีนในประเทศอินเดีย (อ้างอิงวิดีโอจาก NDTV)
ขณะที่นายสเนป กล่าวว่า ถ้าหากให้มีทางเลือก 2 ทางระหว่างการฉีดวัคซีนแบบผสม กับการไม่มีวัคซีนโดส 2 ดังนั้น ทางเลือกที่เหมาะสมที่สุด ก็คือควรจะไปที่การฉีดวัคซีนแบบผสม
ซึ่ง ณ เวลานี้ การศึกษาของ Com-Cov ได้มีการดำเนินการศึกษากับกรณีการใช้วัคซีนผสมชนิดอื่นๆเพิ่มเติมแล้ว โดยได้เริ่มจากผู้ที่ทั้งได้รับวัคซีนโดสแรกเป็นของทั้งแอสตร้าเซนเนก้าและของบริษัทไฟเซอร์ และนอกจากนี้ก็ยังมีการติดตามตรวจสอบผลการศึกษาการใช้วัคซีนของบริษัทโนวาแวกซ์ที่ยังไม่ได้รับการอนุมัติ โดยอยู่ในขั้นตอนการทดลองทางคลินิกในระยะที่ 3 ผสมกับการใช้วัคซีนของบริษัทโมเดอร์น่าที่เริ่มจะมีการอนุมัติการใช้งานแล้วในหลายประเทศ
ขณะที่ในประเทศฟิลิปปินส์เองก็มีการศึกษาวัคซีนแบบผสมเช่นกันระหว่างวัคซีนโคโรนาแวค ของบริษัทซิโนแวค ผสมกับการใช้วัคซีนอีก 6 ชนิด ที่จะมีการดำเนินการฉีดกันจนถึงเดือน พ.ย. 2565
นอกจากนี้ก็ยังมีการศึกษากรณีการใช้วัคซีนผสมจากบริษัทแอสตร้าเซนเนก้ากับวัคซีนสปุตนิกวีของสถาบันกามาลายา ของประเทศรัสเซียด้วยเช่นกัน
เรียบเรียงจาก:https://www.nature.com/articles/d41586-021-01805-2
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage