สธ.เห็นชอบเพิ่มสูตรฉีดวัคซีนไขว้ 'ซิโนแวค-แอสตร้าฯ' เป็นสูตรหลัก 'แอสตร้าฯ-ไฟเซอร์' เริ่มใช้ ต.ค.นี้ ยันมีความปลอดภัย - ทำภูมิคุ้มกันขึ้นสูง พร้อมเผยจัดซื้อ ATK ไม่ต้องอิงองกร์การอนามัยโลก ย้ำเตือนประชาชนจัดหาซื้อเอง ต้องมีภาษาไทยกำกับที่กล่อง
----------------------------------------
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 3 ก.ย.2564 นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะกรรมการอำนวยการศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อโควิด-19 (ศปก.สธ.) ที่มี นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ.เป็นประธาน ที่ประชุมมีการหารือร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ และหน่วยงานต่างๆ มีมติอนุมัติสูตรการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของประเทศไทย โดยอาศัยคำแนะนำจากคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันป้องกันโรค ที่ประชุมเมื่อวันที่ 25 ส.ค. 2564
โดยอิงจากผลการวิจัยในต่างประเทศใหม่ๆ และการศึกษาในประเทศไทย มีข้อมูลน่าสนใจ เช่น การฉีดวัคซีนแนะนำเป็นสูตรไขว้ ขณะนี้แนะนำสูตรวัคซีนไขว้ 2 สูตร คือ 1) วัคซีนซิโนแวค เป็นเข็มแรก ตามด้วยวัคซีนแอสตร้าเซเนก้า เป็นเข็ม 2 ห่างกัน 3-4 สัปดาห์ กลุ่มเป้าหมายอายุ 18 ปีขึ้นไป และ 2) สูตรวัคซีนแอสตร้าฯ เป็นเข็มที่ 1 ตามด้วยวัคซีนไฟเซอร์ เป็นเข็มที่ 2 ห่าง 4-12 สัปดาห์ สำหรับกลุ่มที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป โดยจะมีการใช้อย่างแพร่หลายในเดือน ต.ค.นี้ เมื่อมีวัคซีนไฟเซอร์ที่มีการสั่งซื้อจัดส่งมอบรายเดือนนี้ประมาณ 10 ล้านโดส
"ตอนนี้มีการใช้อยู่บ้างเนื่องจากมีวัคซีนไฟเซอร์เหลือจากการฉีดบุคลากรด่านหน้าไปแล้ว เหลืออยู่จำนวนไม่มาก โรงพยาบาลก็นำมาให้กับประชาชนกลุ่มเสี่ยงคือ ผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัว เป็นกลุ่มที่เคยฉีดวัคซีนแอสตร้าฯ เข็มแรก เมื่อเดือน มิ.ย. และครบกำหนดฉีดเข็ม 2 แล้ว เมื่อมาถึงโรงพยาบาลก็ฉีดไฟเซอร์ได้เลย หากมี และบูสเตอร์โดส สำหรับคนฉีดซิโนแวค 2 เข็ม ให้ฉีดเข็ม 3 ด้วยแอสตร้าเซนเนก้า" นพ.โสภณกล่าว
นพ.โสภณ กล่าวด้วย ที่ประชุมได้หารือถึงกรณีคนที่หายป่วยจากโรคโควิด-19 แล้ว ที่มีจำนวนหลายแสนคน คณะกรรมการฯ มีความเห็นตรงกันว่า หลังจากหายป่วยแล้วอย่างน้อย 1 เดือน และภายใน 3 เดือน ให้ฉีดวัคซีนกระตุ้น 1 เข็ม เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันสูงขึ้น เพื่อป้องกันการติดเชื้อซ้ำด้วยวัคซีนแอสตร้าฯ หรือวัคซีนไฟเซอร์โดยเร็ว ส่วนผู้ที่เคยได้รับวัคซีน 2 เข็ม แต่ยังติดเชื้อและเมื่อหายดีแล้ว ยังไม่ต้องฉีดบูสเตอร์โดส แต่อย่างใด พร้อมกล่าวย้ำว่า ผลการวิจัยวัคซีนสูตรไขว้นั้น มีความปลอดภัยและทำภูมิคุ้มกันขึ้นสูง ที่สำคัญหญิงตั้งครรภ์ก็สามารถฉีดได้
สิ้นปีนี้ จะมีวัคซีนรวม 140 ล้านโดส
นพ.โสภณ กล่าวถึงการนำเข้าวัคซีนในประเทศไทยว่า ในสิ้นปีนี้ จะมีวัคซีนทั้งหมดรวม 140 ล้านโดส แบ่งเป็น แอสตร้าเซนเนก้า 61 ล้านโดส ซิโนแวค 31.5 ล้านโดส ไฟเซอร์ 31.5 ล้านโดส ซิโนฟาร์ม 11 ล้านโดส และโมเดอร์นา 5 ล้านโดส จะทำให้ในสิ้นปีนี้ วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า กับไฟเซอร์ มีมากสุดในประเทศไทย ส่วนกรณีการส่งมอบวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ล่าสุด ทางผู้บริหารแอสตร้าเซนเนก้ายืนยันว่า จะจัดส่งให้ไทยได้ 61 ล้านโดส ตามเอกสารที่ได้มีการเผยแพร่กันก่อนหน้านี้
“ขอให้ประชาชนมั่นใจเรื่องวัคซีน โดยเฉพาะในเดือน ก.ย.นี้ ที่ประเทศไทยจะมีวัคซีนให้ฉีดประมาณ 15 ล้านโดส จาก ซิโนแวค 6 ล้านโดส แอสตร้าเซนเนก้า 7 ล้านโดส และไฟเซอร์ 2 ล้านโดส” นพ.โสภณ กล่าว
ชุดตรวจ ATK สำหรับ ปชช.ทั่วไป ต้องมีภาษาไทยกำกับ
นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลจขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า จากการที่ประเทศไทยมีการเปิดให้ใช้ชุดตรวจโควิด-19 Antigen test kit (ATK) แบบ Home Use ตั้งแต่ 12 ก.ค. 2564 มีการนำมาใช้อย่างจำนวนมากขึ้น โดยมีคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญผลิตภัณฑ์ชุดตรวจน้ำยาที่เกิดข้องกับการวินิจฉัยโควิด-19 เพื่อนำผู้เชี่ยวชาญมาหารือร่วมกัน นำคำแนะนำมาสู่ประชาชนและเป็นนโยบายของ สธ.ต่อไป
ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)มีหน้าที่ตรวจสอบทางคลินิกของชุดเอทีเค ร่วมกับหน่วยวิจัย เช่น รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลังจากนั้นก็จะพิจารณาเอกสาร เพื่อออกใบอนุญาตต่อไป ปัจจุบันอนุญาตชุดตรวจโฮมยูส 45 ราย โดยมีข้อกำหนดว่า ชุดตรวจต้องมีคำอธิบายให้ประชาชนเพื่อนำไปใช้ ที่กล่องจะมีภาษาไทยระบุว่าเป็นการคัดกรองเบื้องต้น 'สำหรับบุคคลทั่วไป' ซึ่งจะต่างจากชนิดสำหรับบุคลากรแพทย์ (Professional Use) ดังนั้น หากชุดตรวจที่ลักลอบนำเข้ามาจะไม่มีภาษาไทย
นพ.สุรโชค กล่าวด้วยว่า เมื่อชุดตรวจ ATK ที่ผ่านการขึ้นทะเบียนกับ อย.แล้ว เมื่อออกสู่ตลาดก็จะมีการเฝ้าระวัง เพื่อดูว่าชุดตรวจที่นำไปใช้มีความถูกต้องหรือดำเนินการตามที่ขึ้นทะเบียนไว้หรือไม่ โดยมีการตรวจสถานที่เก็บผลิตภัณฑ์ เพราะหากเก็บในอุณหภูมิที่อากาศร้อนมากๆๆไม่เหมาะสมอาจจะทำให้เสียได้ มีการโฆษณาที่ผิดกฎหมายหรือไม่ อวดอ้างเกินจริง หรือนำผลิตภัณฑ์ที่ไม่ผ่านการขึ้นทะเบียนไปโฆษณาหรือไม่ และมีการสุ่มเก็บตัวอย่างดูว่าฉลากถูกต้องหรือไม่ รวมทั้ง ตรวจดูว่าคุณภาพยังได้ตามที่ขึ้นทะเบียนหรือไม่ และร่วมมือกับตำรวจในการตรวจสอบ ถ้าพบการกระทำผิดก็ปราบปรามทั้งผู้ผลิตและนำเข้าที่ไม่ถูกกฎหมาย
อย.ต้องกำกับดูแลทั้งก่อน-หลังวางตลาด
ด้าน ศ.ดร.ฉัตรเฉลิม อิศรางกูร ณ อยุธยา คณบดีคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ปัจจัยที่ต้องการเพื่อควบคุมเหตุการณ์ระบาดในวงกว้าง คือ ชุดทดสอบที่รวดเร็ว การให้ผลถูกต้อง มีศักภาพสูงในการใช้งานภาคสนาม ราคาไม่แพง เครื่องมือไม่ซับซ้อน และไม่ต้องใช้บุคลากรที่มีทักษะสูงมากนัก ซึ่งเป็นที่มาของการกำหนดนโยบายใช้ ATK ในไทย
องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้มีการศึกษาว่ามีหลายปัจจัยที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพในการตรวจคัดกรอง ได้แก่ 1) ระยะเวลาในการได้รับเชื้อ กรณีมีประวัติเสี่ยงแล้วเริ่มมีอาการหรือไม่มีอาการ การใช้ ATK เอง ถ้าสามารถตรวจได้ภายใน 7 วันของกหารได้รับเชื้อ เริ่มมีอาการจะพบว่ามีประสิทธิภาพที่สูงมาก
2) กระบวนการเก็บสิ่งส่งตรวจว่ามีคุณภาพมากน้อยแค่ไหน ซึ่งชุดตรวจแบบ Home Use ที่มีการขึ้นทะเบียนกับ อย.เป็นแบบ Nasal Swab หรือเก็บจากโพรงจมูกหรือน้ำลาย เพราะฉะนั้น กระบวนการเก็บที่ถูกต้อง จะต้องศึกษาจากคู่มือรายละเอียดการใช้งานและผู้ประกอบการมีวิดีโอสาธิตที่ประชาชนสามารถศึกษาวิธีการเก็บสิ่งส่งตรวจที่ถูกต้องได้ และถ้าได้รับการฝึกฝนการเก็บสิ่งส่งตรวจก็จะมีคุณภาพมากขึ้น และมีหน่วยตรวจคัดกรองเชิงรุกที่จะมีบุคลากรทางการแพทย์เป็นผู้เก็บให้ โดยขั้นตอนเก็บสิ่งส่งตรวจเป็นสิ่งสำคัญมากในการที่จะได้ผลที่ออกมามีคุณภาพและถูกต้องแม่นยำ
3) ปริมาณเชื้อไวรัสที่มีอยู่ในสิ่งส่งตรวจ ซึ่งตัวอย่างจากโพรงจมูก หลังโพรงจมูกหรือน้ำลาย การที่ประชาชนที่มีความสุ่มเสี่ยง หรือมีโอกาสได้รับเชื้อมาในช่วงแรกก่อนที่จะมีอาการ ก็จะมีปริมาณเชื้อไวรัสที่มากน้อยแตกต่างกัน ยิ่งมีเชื้อไวรัสมากยิ่งทำให้การตรวจคัดกรองพบเจอได้ง่าย แต่ถ้ามีเชื้อไวรัสในร่างกายปริมาณน้อย บางครั้งก็เป็นข้อจำกัดของชุดตรวจที่ไม่สามารถตรวจเจอได้ในช่วงแรก อาจจะทำให้เกิดผลลบปลอมขึ้นได้
และ 4) คุณภาพของน้ำยาที่ใช้ในการตรวจ การเก็บรักษาและความคงทนของชุดตรวจ แม้ว่าประชาชนจะมีการซื้อATKไปใช้เอง อาจจะมีการเก็บรักษาน้ำยาหรือเก็บในอุณหภูมิเท่าไหร่ เป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพในการตรวจคัดกรองทั้งสิ้น
“ดังนั้นที่ อย.ร่วมหน่วยงานต่างๆ ดำเนินงานคือกำกับดูแลชุดตรวจทั้งก่อนและหลังออกสู่ตลาด จะมี 2 แนวทางหลัก คือ ก่อนออกตลาด จะประเมินมาตรฐานคุณภาพ ความปลอดภัย และหลังออกตลาดแล้ว ก็จะมีกระบวนการติดตามเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์จากการใช้ผลิตภัณฑ์ มีการสุ่มตรวจ ติดตามเอกสาร ข้อร้องเรียนต่างๆ เพื่อสร้างความมั่นใจกับประชาชนว่าสิ่งที่เราผลิตหรือนำเข้ามา จะได้รับการกำกับดูแล ตรวจสอบประเมินคุณภาพต่อเนื่อง” ศ.ฉัตรเฉลิม กล่าว
ศ.ฉัตรเฉลิม กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการประเมินรายงานผลทดสอบด้วยตัวอย่างจริงในประเทศไทย ซึ่งเรามอง 3 ตัวแปรหลัก ได้แก่ 1) ความไวเชิงวินิจฉัยต้องมากกว่าหรือเท่ากับ 90% มีการทดสอบจริงอย่างน้อย 50 ตัวอย่างขึ้นไป เป็นสิ่งที่มุ่งเน้นการตรวจพบผู้ติดเชื้อแล้วมีผลบวก ยิ่งสูงยิ่งดี 2) ความจำเพาะเชิงวินิจฉัย ต้องมากกว่าหรือเท่ากับ 98% อย่างน้อย 100 ตัวอย่าง ซึ่งจะบอกว่าชุดตรวจมีประสิทธิภาพบ่งชี้ว่าผู้ที่ไม่ติดเชื้อ ควรจะได้ผลลบ ไม่ควรเป็นผลบวกปลอม และ 3) ความไม่จำเป็นต้องน้อยกว่าหรือเท่ากับ 10% อย่างน้อย 20 ตัวอย่าง มีความสำคัญว่าชุดตรวจควรมีความจำเพาะตรวจหาเชื้อที่ก่อโรคโควิด-19 ไม่ควรมีปฏิกิริยาบวกในผู้ที่มีการติดเชื้อไวรัสชนิดอื่นๆ ในระบบทางเดินหายใจ ควรจำเพาะแค่โควิด-19 เท่านั้น
เตือนระวังผลตรวจลวง แนะต้องรอเวลา-ตรวจซ้ำ
ขณะที่ ผศ.นพ.กำธร มาลาธรรม นายกสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การที่จะใช้ ATK ตรวจหาเชื้อเจอต้องมีจังหวะที่จะตรวจได้ง่ายสุด คือ จังหวะที่มีเชื้อมากที่สุด คือ ช่วงที่ใกล้จะมีอาการ 1-2 วัน จนกระทั่งมีอาการแล้วประมาณ 4-5วัน ถึง 7 วัน หากเป็นช่วงก่อนหน้านี้หรือเลยช่วงนี้แล้ว โอกาสของการตรวจเจอก็จะน้อยลงๆ
ส่วนคนที่ไม่มีอาการหรือไม่มีการสัมผัสโรคเลย ผลตรวจที่ได้ก็อาจจะมีความน่าเชื่อถือต่ำ หมายความว่า ตรวจแล้วเจอผลบวกทั้งที่แท้จริงแล้วไม่ได้เป็นอะไร เรียกว่าผลบวกปลอม ซึ่งเกิดได้บ่อยในกรณีที่ไม่มีอาการและไม่สัมผัสโรคเลย และกรณีที่ไม่มีอาการ อาจจะพึ่งได้รับเชื้อมา จำนวนเชื้อยังไม่มาก ก็ตรวจไม่เจอ เรียกว่า ผลลบปลอม ทั้งที่จริงแล้วมีเชื้อ ซึ่งการตรวจด้วย ATK กลับไม่เจอเชื้อ ต้องใช้เวลารออีกนิดนึง
เพราะฉะนั้น ATK ถ้าผลตรวจเป็นบวก ก็ต้องดูว่าบวกจริงหรือปลอม ส่วนใหญ่ถ้ามีความเสี่ยงหรือมีอาการส่วนใหญ่จะเป็นบวกจริง แต่ถ้าไม่มีอาการ ไม่มีประวัติสัมผัสโรค อาจจะเป็นบวกจริงหรือปลอมก็ได้ ถ้าผลลบต้องระวัง เพราะถ้าสัมผัสโรคมาแล้วเป็นผลลบต้องระวังว่าเป็นผลลบปอมหรือไม่ ซึ่งต้องระวังมากเนื่องจากอาจจะชะล่าใจไม่ระมัดระวังแล้วเกิดการแพร่โรคได้
“ชุด ATK จะมีประโยชน์สูงสุดในกรณีที่เอาไปตรวจคนที่มีอาการและมีประวัติเสี่ยงสัมผัสโรค เพราะจะแปลผลตรงไปตรงมาพอสมควร ส่วนการใช้เพื่อตรวจคัดกรอง ถ้าอยู่ในสถานที่หรือพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อ ก็มีโอกาสสูงที่จะคัดกรองได้เพราะมีโอกาสที่จะเจอ การมีผลเป็นบวกหรือลบมีความหมายในกรณีเช่นนี้ โดยสถานที่ที่ไม่ใช่โรงพยาบาล แต่มีความเสี่ยงที่ควรใช้ ATK คือ พื้นที่ปิด เช่น ร้านอาหาร ร้านตัดผม พื้นที่ที่ลูกจ้างอยู่หนาแน่นเป็นชุมชน พื้นที่ที่มีลูกจ้างติดเชื้อจะส่งผลให้เกิดผลกระทบเชิงลบแพร่เชื้อต่อไปมาก เช่น ในห้าง ธนาคารสถานที่ทำงานที่ลักษณะให้บริการประชาชน หรือสถานศึกษาต่างๆ โรงเรียน มหาวิทยาลัย เป็นต้น” ผศ.นพ.กำธรกล่าว
ยันซื้อ ATK ไม่ต้องอิงองค์การอนามัยโลก
เมื่อถามว่าชุดตรวจเอทีเค มีความจำเป็นว่า องค์การอนามัยโลกต้องรับรองหรือไม่ นพ.สุรโชค กล่าวว่า อนามัยโลกเป็นหน่วยงานที่จัดซื้อชุดตรวจเพื่อใช้ในบางประเทศ ดังนั้น จะต้องมีการประเมินชุดตรวจคล้ายๆ กับที่ อย.ประเมินสินค้าก่อนเข้าประเทศไทย ดังนั้น อนามัยโลกจะประเมินสินค้าใด ก็ขึ้นอยู่กับว่าสินค้านั้นจะขายให้อนามัยโลกหรือไม่
“สินค้าในโลก ขึ้นทะเบียนกับองค์การอนามัยโลกจำนวนไม่มาก เพราะไม่ได้ซื้อสินค้านี้มากมาย จะเห็นว่าสินค้าที่ขึ้นทะเบียนกับไทยหรือยุโรป ก็ไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับอนามัยโลก เพราะเขามีแหล่งขายอยู่แล้ว รวมถึงอนามัยโลกก็ซื้อไม่มาก ก็มีการขึ้นทะเบียนไม่เยอะ สรุปได้ว่า หากจะนำสินค้าเข้าประเทศนั้น อย.แต่ละประเทศมีหน้าที่ดูมาตรฐาน กฎเกณฑ์ให้เหมาะสมกับประเทศนั้น ส่วนอนามัยโลกก็อยู่ที่เขาซื้อไปใช้ ดังนั้น จะไม่ได้ขึ้นต่อกัน” นพ.สุรโชค กล่าว
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage