“..การทำงานของเรา ไม่ได้ทำเพียงแค่ครั้งเดียวแล้วจบ เราทำมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับการระบาดระลอกที่ 3 ที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยเราได้เตรียมความพร้อมเรื่องของบุคลากรการแพทย์และบุคลากรด่านหน้าต้องเพียงพอ และที่สำคัญต้องดูศักยภาพในการรองรับผู้ป่วยในโรงพยาบาลต่างๆ ด้วย ถ้าหากไม่เพียงพอแล้วจะรับมืออย่างไร เราจะมีแผนรองรับด้วย..”
…………………………………………..
ในช่วงเดือน พ.ค.2564 ที่ผ่านมา ‘อินเดีย’ ต้องเผชิญกับการะบาดระลอกสองอย่างรุนแรง พบผู้ติดเชื้อพุ่งสูงถึง 400,000 รายต่อวัน นอกจากนี้ยังพบการระบาดสายพันธุ์ใหม่ 'เดลต้า' ที่พบการระบาดครั้งแรกในอินเดีย ทำให้สถานการณ์ในอินเดียถูกจับตามองไปทั่วโลก
เช่นเดียวกับไทยที่สถานการณ์การระบาดของสายพันธุ์เดลต้า ลุกลามไปครบทุกจังหวัด โดยข้อมูลศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด (ศบค.) ณ วันที่ 18 ส.ค.2564 ระบุด้วยว่า ภาพรวมของประเทศไทยพบสายพันธุ์เดลต้ามากถึง 78.2% และยังมีแนวโน้มพบผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตสูงอย่างต่อเนื่อง
- ผ่าวิกฤต 'ไวรัสสายพันธุ์เดลต้า' จับสัญญาณโลกเตรียมแผนรับมือโควิดระบาดระลอก 4
- สายพันธุ์เดลตาระบาด 76 จังหวัด เหลือ'สุพรรณบุรี' สธ.คาดมีเชื้อ แต่ยังตรวจไม่เจอ
ดังนั้นแล้วประสบการณ์การต่อสู้ของอินเดียกับสายพันธุ์เดลต้า จึงเป็นสิ่งที่ประเทศไทยควรต้องนำไปศึกษาเช่นเดียวกัน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รวบรวมยุทธวิธีจากบุคลากรการแพทย์ และบุคลากรด่านหน้าของรัฐหรยาณา ประเทศอินเดีย ผ่านงานสัมมนาออนไลน์ ‘การบริหารภาวะวิกฤติโควิด ประสบการณ์ต่อสู้กับสายพันธุ์เดลต้าจากด่านหน้าของอินเดีย’ มีรายละเอียดที่น่าสนใจดังนี้
ผู้แทนกระทรวงสวัสดิการสุขภาพและครอบครัว รัฐหรยาณา ประเทศอินเดีย กล่าวว่า รัฐของเรานั้น อยู่ติดกับเมืองหลวงนิวเดลี เราเผชิญกับการระบาดมาแล้วด้วยกัน 2 ระลอก โดยระลอกแรกเมื่อเดือน มี.ค.2564 พบผู้ติดเชื้อสูงสุดอยู่ที่ 30,000 รายต่อวัน โดยการระบาดใช้เวลา 249 วัน กว่าสถานการณ์จะทะยานขึ้นสู่จุดสูงสุด แต่เมื่อเดือน พ.ค.2564 ที่พบการระบาดระลอกสอง เราพบผู้ติดเชื้อพุ่งแบบก้าวกระโดด ใช้เวลาทะยานขึ้นสู่จู่สูงสุดภายใน 93 วัน มีผู้ป่วยหลักแสนรายต่อวัน ทำให้อุปกรณ์การแพทย์และบุคลากรในการดูแลผู้ป่วยไม่เพียงพอ
อย่างไรก็ตาม อินเดีย เตรียมรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิดมาตั้งแต่ระลอกแรก มุ่งเน้นกับ 6 กิจกรรม
1.ลดจำนวนผู้ติดเชื้อให้ลงลงให้เร็วที่สุด
2.เทรนนิ่งบุคคลากรการแพทย์
3.เพิ่มศักยภาพเครื่องมือหรืออุปกรณ์ต่างๆ ให้บุคลากรการแพทย์ เช่น การสร้างห้องแล็บเพิ่มเพื่อให้บริการเกี่ยวกับเรื่องโควิดโดยตรง
4.ขนส่งอุปกรณ์ เวชภัณฑ์ และยาทางการแพทย์ต่างๆ
5.มีศูนย์ทางสุขภาพที่ตั้งเอาไว้ดูแลเรื่องโควิดเพียงอย่างเดียว และศูนย์ดูแลผู้ป่วยขั้นวิกฤต
6.สร้างแรงผลักดันให้บุคลากรการแพทย์ และบุคลากรด่านหน้าที่ต่างประสบกับความเหนื่อยล้า
“การทำงานของเรา ไม่ได้ทำเพียงแค่ครั้งเดียวแล้วจบ เราทำมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับการระบาดระลอกที่ 3 ที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยเราได้เตรียมความพร้อมเรื่องของบุคลากรการแพทย์และบุคลากรด่านหน้าต้องเพียงพอ และที่สำคัญต้องดูศักยภาพในการรองรับผู้ป่วยในโรงพยาบาลต่างๆ ด้วย ถ้าหากไม่เพียงพอแล้วจะรับมืออย่างไร เราจะมีแผนรองรับด้วย” ผู้แทนกระทรวงสวัสดิการสุขภาพและครอบครัว กล่าว
ผู้แทนกระทรวงสวัสดิการสุขภาพและครอบครัว กล่าวด้วยว่า ในการระบาดระลอกที่ 2 ช่วงนั้น เราเผชิญปัญหาออกซิเจนไม่เพียงพอ เราจึงผนึกกำลังกับโรงพยาบาลในพื้นที่ใกล้เคียงและเครือข่ายต่างๆ ด้วย รวมถึงการสร้างสายด่วน เพื่อขอถังออกซิเจนกับโรงพยาบาลต่างๆได้โดยเฉพาะ นอกจากนั้นยังวางแผนดูแลผู้ป่วยในพื้นที่ห่างไกลด้วย เนื่องจากเราตระหนักว่าหากโควิดแพร่กระจายออกไปอีก เราจะไม่สามารถควบคุมได้ และจะเพิ่มภาระงานให้กับโรงพยาบาลต่างๆ เพิ่มมากขึ้น ส่วนเรื่องการกักตัวที่บ้านนั้น เราจะมีสายด่วนไว้ให้บริการให้คำปรึกษาและให้ความช่วยเหลือเช่นเดียวกัน
สำหรับการเตรียมพร้อมรับมือการระบาดของโควิด รัฐหรยาณา ได้เตรียมสายด่วนบริการสุขภาพ มีรถพยาบาลอีก 6,000 คัน มีเทคโนโลยีการประเมินแบบเรียลไทม์เพื่อตรวจหาการติดเชื้อและค้นหาเตียง และมีการแจกกล่องอุปกรณ์ดูแลผู้ป่วยโควิดด้วย เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับยารักษาที่รวดเร็วมากขึ้น
ขณะเดียวกันได้ฉีดวัคซีน เพื่อป้องกันการป่วยหนักและเสียชีวิตให้กับประชาชนด้วย โดยเริ่มฉีดตั้งแต่วันที่ 16 ม.ค.2564 ที่ผ่านมา ปัจจุบันมีประชากรทั้งบุคลากรการแพทย์ บุคลากรด่านหน้า และประชาชนทั่วไปได้รับวัคซีนแล้วรวมสะสม 14,084,737 โดส
สถานการณ์การระบาดของอินเดียในระลอกที่ 1 และ 2
การเตรียมความพร้อมรับมือการระบาดของโควิดตั้งแต่การระบาดระลอกแรก
@ ผู้ติดเชื้ออินเดียลดลงเร็ว เพราะมาตรการทางสังคมสวมหน้ากาก-ล้างมือ
พญ.วีณา ซิงค์ อธิบดีสาธารณสุขแห่งรัฐหรยาณา ประเทศอินเดีย กล่าวเพิ่มเติมว่า การต่อสู้กับโควิดครั้งนี้เป็นเรื่องของผู้นำที่มีพลวัตทั้งในเรื่องของการเมืองและการบริหาร เรามีผู้นำที่มีความมุ่งมั่นในการบริหารสาธารณสุข มีการจัดให้มีการเฝ้าระวัง มีการอัพเดตข้อมูลข่าวสารตลอดเวลา เละเมื่อมีข้อมูลใดเพิ่มเติมเราจะติดต่อสื่อสารไปยังบุคลากรการแพทย์ และบุคลากรด่านหน้าผ่านระบบออนไลน์โดยเร็ว
นอกจากนั้นฝ่ายบริหารยังสนับสนุนด้านต่างๆ อาทิ การเพิ่มศักยภาพบริการสาธารณสุขระดับที่ 2 เป็นระดับที่ 3 เพื่อให้สามารถรองรับผู้ป่วยอาการหนักได้ การเพิ่มโรงพยาบาลสนาม การจัดหายาและวัคซีน การจัดหาถังออกซิเจน โดยจัดให้มีสถานที่บริการออกซิเจนในชุมชนด้วย และการเพิ่มบุคลากรการแพทย์ บุคลากรด่านหน้า ด้วยการนำนักศึกษาแพทย์ชั้นปีสุดท้าย รวมถึงบุคคลากรด้านสุขภาพ อาทิ วิสัญญีแพทย์ หรือทันตแพทย์ มาเทรนนิ่งเรื่องการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิดผ่านระบบออนไลน์ เพื่อกระจายส่งไปช่วยเหลือผู้ป่วยโควิดในพื้นที่ต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาบุคลากรขาดแคลน ซึ่งทั้งหมดนี้เราได้จัดสรรในการดูแลผู้ป่วยไม่ว่าจะมีเชื้อชาติหรือชนชั้นใดก็ตาม
ทั้งนี้ ยังมีการดำเนินมาตรการทางสังคมควบคู่กับสาธารณสุขด้วย เพื่อให้สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว กล่าวคือ เราจะมีมาตรการให้ผู้ป่วยกักตัวอยู่ที่บ้าน มีคำสั่งให้สวมหน้ากากอนามัย การไม่เข้าร่วมจับกลุ่มผู้อื่น การจัดฉีดวัคซีนอย่างต่อเนื่อง และมาตรการอื่นๆ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด
“สิ่งที่ทำให้อินเดียมียอดผู้ติดเชื้อลดลง คือ มาตรการทางสังคมในการบังคับใช้ให้มีการสวมหน้ากากอนามัย การเว้นระยะห่าง หมั่นล้างมือ การไม่จับกลุ่ม และการฉีดวัคซีน การตรวจคัดกรองเชิงรุก นอกจากนั้นยังมีการฝึกอบรมด้านการแพทย์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นสิ่งที่จะช่วยเราในการควบคุมสถานการณ์ระยะยาว” พญ.วีณา กล่าว
@ ตั้งศูนย์ดูแลผู้ป่วย Long Covid
พญ.วีณา กล่าวอีกว่า นอกจากพบผู้ป่วยโควิดทั่วไปแล้ว ในอินเดียยังพบว่ามีหลายรายที่ประสบกับภาวะ Long Covid คือ ยังมีอาการอ่อนเพลีย และมีความเครียด ซึ่งมาจากไวรัสหรือความกลัวในสิ่งที่ไม่รู้จะเกิดอะไรขึ้น ซึ่งเราได้เปิดหน่วยศูนย์ดูแลผู้ป่วย Long Covid เพื่อบำบัดรักษาผู้มีอาการป่วยหลังติดเชื้อโควิด โดยจะมีการประเมินทางคลินิก การเข้าช่วยเหลือทางด้านจิตวิทยา และการดูแลฟื้นฟู
@ สร้างศูนย์สั่งการวิจัยทางคลินิก
ดร.ดรูวา ชัวดรีย์ ศาสตราจารย์อาวุโส และหัวหน้าแผนกโรคปอด และเวชบำบัดวิกฤต และเจ้าหน้าที่ศูนย์กลางแห่งรัฐหรยาณา ประเทศอินเดีย กล่าวถึงการจัดตั้งศูนย์วิจัยทางคลินิกเพื่อช่วยรัฐบาลในรัฐหรยาณาว่า ศูนย์วิจัยทางคลินิกนี้ได้รับการรับรองจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขแล้ว โดยเราจะทำหน้าที่วิเคราะห์สถานการณ์การระบาดในอนาคต และวางแผนการดูแลผู้ป่วยโควิด หลังจากได้รับผลกระทบจากโควิด
สำหรับสิ่งสำคัญในการให้บริการศูนย์วิจัยทางคลินิก ประกอบด้วย มีความเป็นผู้นำ มีธรรมาภิบาล มีการเตรียมการทั้งหมดให้พร้อม เพื่อไม่ให้เกิดความเสี่ยงต่อผู้ที่มาทดลองทางคลินิก มีการร่วมมือกับยุโรปและจีน รวมถึงการพูดคุยกับสภาวิชาชีพทางการแพทย์ และผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด นอกจากนี้ยังต้องมีการปรับตัวให้ยืดหยุ่น เพราะหลายหน่วยงานอาจมีนวัตกรรมเปลี่ยนแปลงมากมาย พร้อมกับการต้องเติมความต้องการต่างๆของมนุษย์
โดยศูนย์วิจัยทางคลินิกนี้ เรียกว่า ‘ศูนย์สั่งการ’ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน มีหน้าที่ให้บริการด้านการวิจัย ให้บริการด้านโลจิสติกส์ เช่น การขนส่งถังออกซิเจน การบริหารจัดการกับหน่วยงานต่างๆ เช่น การประสานจัดหาบริษัทถังออกซิเจน และการบริหารบุคคล นอกจากนั้นจะมีการอัพเดตข้อมูลข่าวสาร เพื่อครอบคลุมการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิดแบบครบวงจรด้วย
ที่สำคัญการให้บริการห้องฉุกเฉิน เรายังเปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง แม้ว่าจะมีสถานการณ์การระบาดของโควิดก็ตาม โดยใช้หลักการใครมาก่อนได้ก่อน (First come First serve) ในการจองเตียง เนื่องจากผู้ป่วยไม่ได้มีแค่ผู้ป่วยโควิดเพียงอย่างเดียว ต้องให้ผู้ป่วยอื่นได้เตียงด้วย
หน้าที่ของศูนย์สั่งการ
@ ‘ล็อกดาวน์-ฉีดวัคซีน-รักษาเร็ว’ สำคัญทั้งหมด
ต่อประเด็นคำถามว่าปัจจัยใดที่สำคัญที่สุดในการรับมือสถานการณ์โควิด ระหว่างการล็อกดาวน์ การฉีดวัคซีนให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ และการรักษาที่รวดเร็วนั้น ดร.ดรูวา กล่าวว่า ทุกอย่างสำคัญหมดจะต้องมีการล็อกดาวน์ก่อน เพื่อให้สามารถควบคุมารระบาดได้อย่างรวดเร็ว จากนั้นจะให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคโควิดอย่างเคร่งครัด และจะต้องฉีดวัคซีนอย่างต่อเนื่อง
การฉีดวัคซีนของอินเดียที่ประสบความสำเร็จ วัคซีนที่เราใช้ส่วนใหญ่กว่า 85% เป็นวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ซึ่งสิ่งที่เราเห็นคือการติดเชื้อยังมีเยอะอยู่ วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้ามีความแตกต่างจากวัคซีนที่ไทยใช้ คือการมีส่วนผสมให้สามารถรับยาได้ง่าย เพียงเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตามวัคซีนทุกชนิดมีประสิทธิภาพ
@ สิ่งที่อินเดียเรียนรู้จากโควิด
นพ.ดรูวา ชัวร์ดรีย์ ศาสตราจารย์อาวุโสและหัวหน้าแผนกโรคปอดและเวชบำบัดวิกฤต และเป็นเจ้าหน้าที่ศูนย์กลางด่านหน้าเพื่อการจัดการโควิด กล่าวถึงสิ่งที่อินเดียได้เรียนรู้จากโควิดว่า เราต้องเตรียมพร้อมรับมือกับสิ่งต่างๆ ที่ยังมาไม่ถึงตลอด โดยเราจะต้องเตรียมพร้อมอุปกรณ์การแพทย์ เช่น ออกซิเจน และบุคลากรการแพทย์ นอกจากนั้นอุปกรณ์สำหรับการป้องกันโรคของประชาชน คือ หน้ากากอนามัยและวัคซีน ทั้งนี้ในการเปิดใช้งานโรงพยาบาล จะต้องลดบรรยากาศที่แออัดด้วย เนื่องจากอากาศที่แออัด จะทำให้เสี่ยงต่อการระบาดของโควิดได้ ส่วนการรักษานั้น ให้รักษาตามอาการ ที่สำคัญเราจะต้องคอยช่วยเหลือบุคลากรด่านหน้าในการทำงานด้วย ปัญหาของโควิดไม่ได้เกี่ยวพันแค่สุขภาพ แต่ยังเกี่ยวข้องกับปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคม ดังนั้นการดูแลสุขภาพจิตในช่วงนี้ จึงถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญมาก
@ การดูแลผู้ป่วยอาการน้อย-หนัก
นพ.ดรูวา ชัวร์ดรีย์ กล่าวด้วยว่า สำหรับมาตรการดูแลผู้ป่วยกักตัวที่บ้าน หรือ Home Isolation นั้น จะใช้กับผู้ป่วยอาการน้อยที่มีระดับออกซิเจนไม่น้อยกว่า 94% ที่ได้รับการวินิจฉัยให้อยู่บ้านได้ และมีเครื่องไม้เครื่องมือสำหรับการกักตัวที่บ้าน ทั้งนี้หากไม่มีจะส่งตัวไปยังศูนย์กลาง โดยความสำเร็จของ Home Isolation ผู้ป่วยจะต้องอยู่ในห้องระบายอากาศที่ดี จะต้องใส่หน้ากาก 3 ชั้นตลอดเวลา ทำความสะอาดอุปกรณ์ที่ใช้ต่างๆ และพักผ่อนให้เพียงพอ รวมถึงจะได้รับบริการการดูแลรักษาผ่านช่องทางออนไลน์ด้วย
อย่างไรก็ตามยุทธศาสตร์ของการดูแลผู้ป่วยกักตัวที่บ้าน คือ ผู้ป่วยต้องดูแลตัวเองได้ หากผู้ป่วยไม่มีอาการใดๆ จะใช้เวลาเพียง 3 วันร่างกายก็จะเริ่มเป็นปกติ ขณะที่ผู้ป่วยมีการเล็กน้อยจะใช้เวลาประมาณ 10 วัน โดยผู้กักตัวสามารถสังเกตตัวเองได้จากการตรวจเช็คอุณหภูมิร่างกาย และให้เดินภายในห้องเป็นเวลา 6 นาทีเพื่อตรวจเช็คระดับออกซิเจน หากพบว่าต่ำกว่า 94% และมีอาการคลื่นไส้จะต้องส่งไปยังโรงพยาบาล หรือ ห้องไอซียู ต่อไป
ส่วนการดูแลผู้ป่วยอาการหนัก หรือผู้ป่วยที่มีค่าออกซิเจนต่ำกว่า 94% ดร.สุชิลา คะทะเรีย ผู้อำนวยการและหัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ศูนย์การแพทย์ Medanta กล่าวว่า เราจะให้ออกซิเจน และให้ยาเฉพาะทางเพิ่มขึ้นอย่างทันท่วงที และเราจะใช้ยาต้านไวรัสในช่วง 10 วันแรกของผู้ป่วยที่มีอาการหนักเท่านั้น รวมถึงการใช้ยาสเตียรอยด์ด้วยจะต้องดูแลเรื่องอื่นๆควบคู่ด้วย เพื่อป้องกันการติดเชื้ออื่นๆ ได้
ทั้งหมดนี้เป็นประสบการณ์การต่อสู้กับสายพันธุ์เดลต้าจากบุคลากรการแพทย์ และบุคลากรด่านหน้าของรัฐหรยาณา ประเทศอินเดียที่ไม่ได้ดูแลแค่เฉพาะปัญหาทางสุขภาพ ยังรวมถึงปัญหาทางจิตใจ และการวางแผนรับมือระยะยาวสำหรับผู้ประสบปัญหาภาวะลองโควิดอีกด้วย
การดูแลผู้ป่วยกักตัวที่บ้าน
การดูแลผู้ป่วยโควิดตามระดับอาการ
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/