กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เผยโควิด สายพันธุ์เดลตา ระบาดในไทยแล้ว 91.9% กระจาย 76 จังหวัด เว้นสุพรรณบุรี ยังไม่มีรายงานเข้ามา ย้ำการตรวจภูมิไม่จำเป็น WHO ยังไม่ได้กำหนดเป็นมาตรฐาน
------------------------------
ผู้สื่อข่าวรายงาน วันที่ 10 ส.ค.2564 นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงข่าวประเด็น การเฝ้าระวังการระบาด และกลายพันธุ์โควิดในประเทศไทย ว่า ในพื้นที่ กทม. พบสายพันธุ์เดลตา 95.4% อีก 4.6% เป็นสายพันธุ์อัลฟา ส่วนในพื้นที่ต่างจังหวัด พบสายพันธุ์เดลตา 83.2% สายพันธุ์อัลฟา 16% และอีก 1% เป็นสายพันธุ์เบตา
สำหรับภาพรวมของประเทศ พบสายพันธุ์เดลตาระบาดแล้ว 91.9% เป็นข้อบ่งชี้ว่า ผู้ติดเชื้อในประเทศทุกรายเป็นสายพันธุ์เดลตา จะเห็นได้จากกราฟขึ้นมาทุกสัปดาห์ ค่อนข้างเร็ว เนื่องจากสายพันธุ์เดลตา มีอำนาจการแพร่เชื้อได้เร็ว ทำให้ครองพื้นที่ส่วนใหญ่แทนสายพันธุ์เบตา ที่แพร่กระจายได้น้อยกว่า
นพ.ศุภกิจ เปิดเผยว่า เมื่อเจาะลึกการระบาดของสายพันธุ์เดลตา พบว่า มีการระบาดใน 76 จังหวัดทั่วประเทศ รวม กทม.ที่พบการติดเชื้อสายพันธุ์เดลตา ยกเว้นจังหวัดสุพรรณบุรี ที่ยังไม่พบการติดเชื้อสายพันธุ์เดลตา อาจจะยังตรวจไม่เจอ หรือตรวจยังไม่ครบ ทำให้สรุปได้ว่า ทุกจังหวัดเจอสายพันธุ์เดลตา จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้พบผู้ป่วยจำนวนหลักหมื่นรายต่อวัน
"คาดว่าอีกสักระยะ สายพันธุ์เดลตาก็จะเบียดสายพันธุ์อัลฟาจนหมด ยืนยันโควิดสายพันธุ์เดลตา เราพบแล้วในทุกจังหวัดในประเทศไทย ยืนยันว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ยังเฝ้าระวังการกลายพันธุ์อยู่ตลอดเวลา"นายแพทย์ศุภกิจ กล่าว
นพ.ศุภกิจ กล่าวถึงการการติดเชื้อสายพันธุ์เบตา ว่า พบการติดเชื้อในจังหวัดภาคใต้ ถือว่าควบคุมอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวได้ ผู้ติดเชื้อส่วนมากอยู่ในจังหวัดนราธิวาส เป็นจุดพบเชื้อจากการข้ามชายแดนมาจากประเทศมาเลเซีย แต่อำนาจการแพร่เชื้อไม่มาก จึงจำกัดวงการระบาดได้
ส่วนกรณีที่เคยพบการติดเชื้อสายพันธุ์เบตานอกภาคใต้ ที่ จ.บึงกาฬ จำนวน 5 ราย นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ตอนนี้ควบคุมได้แล้ว เช่นเดียวกับการพบที่ กทม. รวม 3 คน ก็รักษาแล้ว ไม่พบผู้ติดเชื้อเพิ่มเติม จึงคิดว่าไม่น่าเป็นปัญหานอกพื้นที่ของภาคใต้ แต่ทั้งนี้จะต้องเฝ้าระวังต่อไปว่าจะแพร่กระจายได้หรือไม่
นพ.ศุภกิจ กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้ในประเทศไทยยังไม่พบการติดเชื้อสายพันธุ์แลมป์ดา แต่ได้มีการติดตามเฝ้าระวังในพื้นที่กักกันและควบคุม และตามแนวรอยต่อชายแดน
นพ.ศุภกิจ กล่าวเตือนถึงการไปตรวจหาภูมิคุ้มกันหลังการฉีดวัคซีน ว่า ไม่มีความจำเป็นต้องตรวจ เพราะจะเสียค่าใช้จ่ายแพง ไม่คุ้ม เพราะเป็นการตรวจภูมิคุ้มกันธรรมดา ไม่ได้บอกว่าเป็นการตรวจภูมิคุ้มกันที่ปกป้องเชื้อโรคได้หรือไม่ หรือ สายพันธุ์ใด จะยิ่งทำให้เกิดความสับสน อีกทั้งแล็บตรวจแต่ละที่ก็มีค่าของตัวเลขแตกต่างกัน และองค์การอนามัยโลกก็ยังไม่ได้กำหนดเป็นมาตรฐานอีกด้วย
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage