“…การกระทำของโจทก์มีพฤติการณ์เข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงการพิจารณาพิพากษาคดีของข้าราชการตุลาการอื่น หรือกระทำการใด ๆ อันเป็นเหตุให้การพิจารณาพิพากษาคดีของข้าราชการตุลาการอื่น ซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาขาดความเป็นอิสระ เพื่อให้โจทก์ได้เปรียบในผลแห่งคดี อันมีลักษณะเป็นการกระทำเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับโจทก์ ซึ่งถือเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ราชการ และเป็นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนและประเพณีปฏิบัติของราชการ อันมีลักษณะต้องห้ามตาม พ.ร.บ.ตุลาการศาลยุติธรรมฯ มาตรา 62 และ 66 ถือเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ตามมาตรา 77 (1) (3) จำเลยจึงมีอำนาจที่จะออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนโจทก์ได้...”
...................................................................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานแล้วว่า ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง มีคำพิพากษาคดีที่นายปรเมษฐ์ โตวิวัฒน์ อธิบดีศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาค 1 ที่ถูกคำสั่งประธานศาลฎีกาย้ายไปช่วยทำงานชั่วคราวในตำแหน่งผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ภาค 1 ระหว่างการสอบสวน เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนางเมทินี ชโลธร ประธานศาลฎีกา เป็นจำเลย กรณีกล่าวหาว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
โดยศาลอาญาคดีทุจริตฯ พิพากษายกฟ้อง คดีรับฟังไม่ได้ว่า จำเลยกระทำความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ จึงไม่เป็นความผิดตามฟ้อง (อ่านประกอบ : )
รายละเอียดเป็นอย่างไร?
สำนักข่าวอิศรา สรุปคำพิพากษาให้ทราบ ดังนี้
ศาลพิเคราะห์แล้วสรุปได้ว่า ขณะเกิดเหตุนายปรเมษฐ์ ดำรงตำแหน่งอธิบดีศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาค 1 ส่วนจำเลยในฐานะประธานกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ประธาน ก.ต.) เป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจปฏิบัติราชการออกคำสั่งสำนักงานศาลยุติธรรมที่ 333/2564 แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ให้สอบสวนเรื่องที่โจทก์ ถูกร้องเรียนกล่าวหาว่า เข้าไปก้าวก่ายหรือแทรกแซงการพิจารณา คดีหมายเลขดำที่ อท. 84/2563 ของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาค 1
ต่อมาเมื่อวันที่ 5 เม.ย. 2564 โจทก์มีหนังสือร้องเรียนขอความเป็นธรรมว่า คณะกรรมการสอบสวนฯ ในชั้นต้นสอบสวนไม่ชอบ แต่วันดังกล่าวจำเลยออกคำสั่งสำนักงานศาลยุติธรรม ที่ 371/2564 ให้โจทก์ไปช่วยทำงานชั่วคราวในตำแหน่งผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ภาค 1 และในวันที่ 19 เม.ย. 2564 จำเลย ออกคำสั่งสำนักงานศาลยุติธรรมที่ 415/2564 แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนให้สอบสวนโจทก์ กรณีถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยร้ายแรง
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 หรือไม่
เห็นว่า การออกคำสั่งสำนักงานสาลยุติธรรม ที่ให้โจทก์ไปช่วยทำงานชั่วคราวในตำแหน่งผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ภาค 1 จำเลยอาศัยอำนาจตามความใน พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 มาตรา 21 ประกอบกับระเบียบคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมว่าด้วยการกำหนดเหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ในการสั่งให้ข้าราชการตุลาการไปช่วยทำงานชั่วคราว พ.ศ. 2550 ข้อ 3 (10) โดยในวรรคสองของมาตรา 21 แห่ง พ.ร.บ.ตุลาการศาลยุติธรรมฯ บัญญัติให้ประธานศาลฎีกามีอำนาจสั่งให้ข้าราชการตุลาการไปช่วยทำงานชั่วคราว ในกรณีที่หากให้ผู้นั้นอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจะกระทบกระเทือนต่อความยุติธรรมในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีของศาลนั้น หรือมีเหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ตามระเบียบที่ ก.ต.กำหนด
เมื่อมีการสั่งในกรณีเช่นนี้แล้ว ให้ประธานศาลฎีกานำเรื่องเข้าขอความเป็นชอบจาก ก.ต. ในการประชุมนัดแรกนับตั้งแต่วันมีคำสั่ง ซึ่งเหตุแห่งการย้ายตามข้อ 3 (10) ของระเบียบ ก.ต.ว่าด้วยการกำหนดเหตุจำเป็นอื่นฯ บัญญัติว่า เป็นการที่ประธานศาลฎีกาเห็นว่าหากจะให้ข้าราชการตุลาการผู้ใดปฏิบัติหน้าที่ในศาลที่ดำรงตำแหน่งต่อไปแล้ว จะเป็นการเสียหายแก่การบริหารราชการศาลยุติธรรม สมควรให้ข้าราชการตุลาการผู้นั้นไปช่วยทำงานชั่วคราวในศาลอื่น
ดังนี้เมื่อกรณีมีเหตุกล่าวหาร้องเรียนโจทก์ โดยผู้เสียหาย และการกล่าวหานั้นมีข้อมูล หรือมีสาระ หรือมีพยานหลักฐานพอที่จะสอบสวน จนมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ตามประกาศ ก.ต. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการสอบสวนข้อเท็จจริงในชั้นต้น กรณีข้าราชการตุลาการถูกกล่าวหาหรือเป็นที่สงสัยว่ากระทำผิดวินัย พ.ศ. 2544 ข้อ 3 ว่า โจทก์เข้าไปก้าวก่ายหรือแทรกแซงการพิจารณา คดีหมายเลขดำที่ อท.84/2563 ของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 ย่อมมีเหตุให้เกิดผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของคู่ความ หากจะให้โจทก์ปฏิบัติหน้าที่ในศาลที่ดำรงตำแหน่งต่อไปจะเป็นการเสียหายต่อราชการศาลยุติธรรม จำเลยจึงมีอำนาจโดยชอบที่จะออกคำสั่งย้ายโจทก์ไปช่วยทำงานชั่วคราวในศาลอื่นได้ โดยไม่จำต้องพิจารณาผลการสอบสวนข้อเท็จจริงในชั้นของคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง หรือการลงมติของ ก.ต. ตามที่โจทก์กล่าวอ้างแต่อย่างใด
โดยเฉพาะเมื่อจำเลยมีคำสั่งแล้ว ได้นำเรื่องเข้าขอความเห็นชอบจาก ก.ต. ในการประชุมวันเดียวกันนั้น ก.ต. ให้ความเห็นชอบกรณีจำเลยมีคำสั่งดังกล่าว เช่นนี้ย่อมมิใช่เป็นการจำเลยใช้อำนาจโยกย้ายโจทก์ตามอำเภอใจเพื่อให้โจทก์เกิดความเสียหาย
ส่วนการออกคำสั่งที่ 415/2564 ตั้งคณะกรรมการสอบสวนโจทก์ จำเลยอาศัยอำนาจตามความใน พ.ร.บ.ตุลาการศาลยุติธรรมฯ มาตรา 69 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า ในกรณีที่การสอบสวนข้อเท็จจริงชั้นต้นปรากฏมีมูลว่า ข้าราชการตุลาการใด กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงที่มีโทษถึงไล่ออก ปลดออก หรือให้ออก ให้ประธานศาลฎีกาแต่งตั้งคณะกรรมการ ประกอบด้วยกรรมการซึ่งเป็นข้าราชการตุลาการและเป็นผู้ซึ่งไม่มีส่วนได้เสีย หรือเกี่ยวข้องในเรื่องนั้นขึ้นอย่างน้อย 3 คนเพื่อทำการสอบสวน และเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามประกาศ ก.ต. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการสอบสวนข้อเท็จจริงในชั้นต้นฯ ข้อ 11 วรรคหนึ่ง
ดังนั้น เมื่อมีรายงานผลการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงในชั้นต้นยืนยันว่า การกระทำของโจทก์มีพฤติการณ์เข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงการพิจารณาพิพากษาคดีของข้าราชการตุลาการอื่น หรือกระทำการใด ๆ อันเป็นเหตุให้การพิจารณาพิพากษาคดีของข้าราชการตุลาการอื่น ซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาขาดความเป็นอิสระ เพื่อให้โจทก์ได้เปรียบในผลแห่งคดี อันมีลักษณะเป็นการกระทำเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับโจทก์ ซึ่งถือเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ราชการ และเป็นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนและประเพณีปฏิบัติของราชการ อันมีลักษณะต้องห้ามตาม พ.ร.บ.ตุลาการศาลยุติธรรมฯ มาตรา 62 และ 66 ถือเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ตามมาตรา 77 (1) (3) จำเลยจึงมีอำนาจที่จะออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนโจทก์ได้
สำหรับที่โจทก์อ้างว่า จำเลยออกคำสั่งดังกล่าว ทั้งที่ทราบว่าคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงในชั้นต้นสอบสวนไม่ชอบนั้น คงเป็นเพียงข้อกล่าวอ้างของโจทก์ โดยเฉพาะเมื่อมีการดำเนินการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ปรากฏรายละเอียดตามรายงานการประชุม วันที่ 30 มี.ค. 2564 และรายงานกระบวนการสอบสวน วันที่ 1 เม.ย. 2564 เป็นลำดับขั้นตอน จนมีรายงานความเห็นตามมติของคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงให้จำเลยทราบ ทั้งผลการพิจารณาหนังสือขอความเป็นธรรมของโจทก์ สำนักงานศาลยุติธรรมยังยืนยันว่า การสอบสวนข้อเท็จจริงในชั้นต้น ของคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง เป็นการดำเนินการโดยชอบตามกฎหมาย ดังนี้การแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนโจทก์จึงกอปรด้วยเหตุผลอันควร มิใช่การใช้อำนาจโดยมิชอบตามาที่โจทก์กล่าวอ้าง
เมื่อการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนโจทก์กรณีถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยร้ายแรงของจำเลย ตามคำสั่งสำนักงานศาลยุติธรรม ที่ 415/2564 ตลอดจนการที่จำเลยมีคำสั่งสำนักงานศาลยุติธรรม ที่ 371/2564 ให้โจทก์ไปช่วยทำงานชั่วคราวในตำแหน่งผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ภาค 1 เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบ ดำเนินการตามขั้นตอน หลักเกณฑ์ ตลอดจนวิธีการสอบสวนตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
คดีรับฟังไม่ได้ว่า จำเลยกระทำความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ จึงไม่เป็นความผิดตามฟ้อง
พิพากษายกฟ้อง
อ่านประกอบ :
ก.ต.ชะลอแต่งตั้งอธิบดีคดีทุจริตฯภ.1 เป็นผู้พิพากษาอาวุโส-เปิดโอกาสให้ชี้แจงก่อน
เบื้องหลัง! ก.ต.ไม่พักราชการ ‘อธิบดีคดีทุจริตฯภ.1’เหตุถูกย้ายแล้ว-ไม่เกี่ยวปมถูกสอบ
แจ้งความสื่อเสนอคลาดเคลื่อน! เลขาศาลฯแจงอีกรอบปมย้ายอธิบดีคดีทุจริตฯภ.1 แทรกแซงคดี
ตั้ง กก.สอบฯแล้ว! ปมย้ายอธิบดีคดีทุจริตฯภาค1 ถูกร้องแทรกแซงคดี-เปิดโอกาสแจงเต็มที่
อ้างหมิ่นผู้พิพากษา! อธิบดีศาลคดีทุจริตฯภาค 1 ฟ้อง‘สุภา’ปมถูกร้องโอนสำนวนคดี
เหตุจำเป็นมิอาจก้าวล่วงได้!ปธ.ศาลฎีกาย้ายด่วนอธิบดีคดีทุจริตฯภาค1 ช่วยงานชั่วคราว
รอคำสั่ง ปธ.ศาลฎีกา! ศาลคดีทุจริตฯภาค1 เลื่อนไต่สวนคดี‘ประหยัด’ฟ้อง‘2 บิ๊กป.ป.ช.-อสส.’
ขอโอนสำนวนเข้าศาลคดีทุจริตกลาง! ป.ป.ช.ร้องขอความเป็นธรรมประธานฎีกา
‘ประหยัด’ฟ้องศาลคดีทุจริตฯ! กล่าวหา‘ปธ.ป.ป.ช.-สุภา-อสส.’ไต่สวนคดียื่นบัญชีเท็จมิชอบ
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/