“…หาก ‘กลุ่มกัลฟ์’ ปิดดีลซื้อหุ้น INTUCH และ ADVANC ได้สำเร็จ จะเป็นครั้งแรกในรอบ 15 ปี ที่ INTUCH หรือเดิมชื่อ บมจ.ชินคอร์ปอเรชั่น (ชินคอร์ป) เจ้าของค่ายโทรศัพท์มือถือ AIS และดาวเทียมไทยคม กลับมาอยู่ในมือกลุ่มทุนไทย หลังจาก ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ขายหุ้นชินคอร์ปให้กับกลุ่มเทมาเส็กโฮลดิงส์ เมื่อวันที่ 23 ม.ค.2549…”
.....................
“สิงเทล (Singtel หรือ Singapore Telecommunications) เห็นว่าคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ AIS ต่ำกว่ามูลค่ายุติธรรมของ AIS อย่างมีนัยสำคัญ...สิงเทลจึงไม่มีความตั้งใจจะตอบรับคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ดังกล่าว”
เป็นส่วนหนึ่งเนื้อหาในแถลงการณ์ของ ‘สิงเทล’ บริษัทด้านโทรคมนาคมของสิงคโปร์ ซึ่งมีผู้ถือหุ้นใหญ่ คือ กลุ่มเทมาเส็กโฮลดิงส์ หรือกองทุนเพื่อการลงทุนของรัฐบาลสิงคโปร์ ที่แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ เมื่อวันศุกร์ที่ 30 ก.ค.ที่ผ่านมา ปฏิเสธการขายหุ้น AIS ให้กับ บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) (อ่านประกอบ : 'สิงเทล' ปฏิเสธข้อเสนอ 'กัลฟ์' ขายหุ้นเอไอเอสแสน ล.-ย้ำชัดอยากมีส่วนร่วม 5 G ไทย)
ทั้งนี้ สิงเทล ถือหุ้นใน บมจ.อินทัช โฮลดิ้งส์ (INTUCH) คิดเป็นสัดส่วน 21% ของหุ้นทั้งหมด ผ่าน SINGTEL GLOBAL INVESTMENT PTE. LTD. และถือหุ้นใน บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) คิดเป็นสัดส่วน 23.32 ของหุ้นทั้งหมด ผ่าน SINGTEL STRATEGIC INVESTMENTS PTE LTD.
การเข้าซื้อหุ้น INTUCH ที่ราคาหุ้นละ 65 บาท ในสัดส่วน 81.07% ของหุ้นทั้งหมด และหุ้น ADVANC ที่ราคาหุ้นละ 120.93 บาท ในสัดส่วน 100% ของหุ้นทั้งหมด มูลค่ารวม 5.34 แสนล้านบาท ของ บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ ผู้ผลิตไฟฟ้าชั้นนำของไทย กำลังผลิต 6,409 เมกะวัตต์ (ปี 2563) นั้น
นับว่าเป็น ‘อภิมหาดีล’ ของ ‘กลุ่มกัลฟ์’ ที่มี ‘สารัชถ์ รัตนาวะดี’ อภิมหาเศรษฐีอันดับ 5 ของไทย (จัดอันดับล่าสุดปี 2564) เป็นทั้งผู้ถือหุ้นใหญ่ (สัดส่วน 35.55%) และ 'ซีอีโอ' ในการขับเคลื่อนกลุ่มกัลฟ์ไปสู่การเป็น ‘Digital Infrastructure’ อีกทั้งยังเป็นการลงทุนที่จะสร้าง ‘กระแสเงินสด’ ให้กับกลุ่มกัลฟ์ไปในตัว
ที่สำคัญหาก ‘กลุ่มกัลฟ์’ ปิดดีลซื้อหุ้น INTUCH และ ADVANC ได้สำเร็จ
จะเป็นครั้งแรกในรอบ 15 ปี ที่ INTUCH หรือเดิมชื่อ บมจ.ชินคอร์ปอเรชั่น (ชินคอร์ป) เจ้าของค่ายโทรศัพท์มือถือ AIS (บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส) และกิจการดาวเทียมไทยคม (บมจ.ไทยคม) กลับมาอยู่ในมือกลุ่มทุนไทย หลังจาก ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ขายหุ้นชินคอร์ปให้กับกลุ่มเทมาเส็กโฮลดิงส์ เมื่อวันที่ 23 ม.ค.2549
(สารัชถ์ รัตนาวะดี)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอลำดับเวลาและสรุปเหตุการณ์ในการเข้าซื้อหุ้น บมจ.อินทัช โฮลดิ้งส์ (INTUCH) และบมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) ของ บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ ดังนี้
22 มิ.ย.2563 ปรากฏชื่อ บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ เป็นผู้ถือหุ้นใน INTUCH ครั้งแรก โดยกลุ่มกัลฟ์เป็นผู้หุ้นใหญ่อันดับ 4 ในสัดส่วน 4.59% ของหุ้นทั้งหมด
ผู้บริหารกัลฟ์ฯ ให้สัมภาษณ์กับสื่อว่า การเข้าซื้อหุ้นสามัญ INTUCH ในครั้งนี้ เป็นเพียงการบริหารเงินสด (Cash Flow) ขณะที่การลงทุนดังกล่าวยังเป็นการกระจายความเสี่ยงของธุรกิจ และบริษัทฯจะได้รับผลตอบแทนเป็นเงินปันผลในอัตราเฉลี่ยปีละ 4-5%
28 ส.ค.2563 บมจ.กัลฟ์ฯ แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯว่า คณะกรรมการบริษัทฯ มีมติอนุมัติให้บริษัทฯ ลงทุนหุ้นสามัญใน INTUCH ได้ไม่เกิน 10% ของหุ้นทั้งหมด ภายในวงเงิน 19,000 ล้านบาท โดย ณ วันที่ 21 ส.ค.2563 กัลฟ์ถือหุ้นใน INTUCH คิดเป็นสัดส่วน 7.99% ของหุ้นทั้งหมด
6 ต.ค.2563 บมจ.กัลฟ์ แจ้งว่า ณ วันที่ 6 ต.ค.2563 บริษัทฯได้เข้าซื้อหุ้นสามัญใน INTUCH เป็นจำนวน 320,650,943 หุ้น หรือคิดเป็นสัดส่วน 10.00% ของหุ้นทั้งหมด
30 ธ.ค.2563 บมจ.กัลฟ์ฯ แจ้งว่า คณะกรรมการบริษัทฯ เมื่อวันที่ 6 ต.ค.2563 ,30 พ.ย.2563 และ29 ธ.ค.2563 มีมติให้บริษัทฯ ลงทุนหุ้นสามัญใน INTUCH เพิ่มอีกไม่เกิน 5% ภายในวงเงินลงทุน 8,920 ล้านบาท ซึ่งการลงทุนดังกล่าว จะทำให้กัลฟ์ถือหุ้น INTUCH คิดเป็นสัดส่วนไม่เกิน 15%
29 ม.ค. และ 18 มี.ค.2564 คณะกรรมการบริษัท กัลฟ์ฯ มีมติเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในหุ้นสามัญ INTUCH จากจำนวนไม่เกิน 15% ของหุ้นทั้งหมด เป็นไม่เกิน 19% ของหุ้นทั้งหมด วงเงินลงทุนไม่เกิน 7,710 ล้านบาท โดย ณ วันที่ 16 เม.ย.2564 บริษัทฯ ถือหุ้น INTUCH ในสัดส่วน 18.93% ของหุ้นทั้งหมด
18 เม.ย.2564 คณะกรรมการบริษัท กัลฟ์ อนุมัติลงทุนในหุ้นสามัญของ INTUCH ทั้งหมด หรือไม่เกิน 81.07% ของหุ้นทั้งหมด โดยการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์โดยสมัครใจแบบมีเงื่อนไขก่อนทำคำเสนอซื้อ (Conditional Voluntary Tender Offer) ในราคาหุ้นละ 65 บาท โดยการซื้อขายผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ ในราคาที่มีการซื้อขายในตลาด
“การลงทุนดังกล่าวเป็นการลงทุนในธุรกิจที่มีเสถียรภาพและสร้างกระแสเงินสด ประกอบกับเพิ่มศักยภาพจากการเปลี่ยนผ่านธุรกิจไปสู่ยุคดิจิทัล (digitalization) และเพิ่มมูลค่าจากการที่สามารถใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานเดิมที่มีอยู่ร่วมกับโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล
ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้พิจารณาสำหรับการลงทุนดังกล่าว ดังนี้
-INTUCH เป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่น โดยมีการลงทุนในหลากหลายธุรกิจ รวมถึงธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม 5G เทคโนโลยี และการลงทุนในธุรกิจอื่นๆ
-INTUCH เป็นบริษัทที่มีผลประกอบการที่ดีและมีความสามารถในการสร้างผลตอบแทนในรูปเงินปันผลได้อย่างสม่ำเสมอ โดย INTUCH มีเป้าหมายที่จะสร้างผลตอบแทนให้ผู้ถือหุ้นในอัตราที่มากกว่าผลตอบแทนของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ อย่างน้อยร้อยละ 2
-INTUCH มีการลงทุนในธุรกิจ Start-ups เช่น Fin Tech Health Tech Robotic Ed Tech และ e-commerce ซึ่งสามารถสร้างการเติบโตได้ในอนาคต” สารสนเทศรายการได้มาซึ่งสินทรัพย์ของ บมจ.กัลฟ์ฯ เกี่ยวกับการลงทุนในหุ้นสามัญใน INTUCH เมื่อวันที่ 19 เม.ย.2564 ระบุ
บมจ.กัลฟ์ฯ ยังแจ้งว่า ในกรณีที่ผลของการทำข้อเสนอซื้อหลักทรัพย์ INTUCH และทำให้บริษัทฯได้หุ้น INTUCH ตั้งแต่ 50% ขึ้นไป บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องทำข้อเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของ ADVANC ตามหลักเกณฑ์ของ Chain Principle โดยจะเริ่มทำเสนอซื้อภายหลังการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ INTUCH เสร็จสิ้น
อย่างไรก็ตาม กัลฟ์ ระบุว่า ไม่มีความประสงค์จะทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดใน บมจ.ไทยคม (THAICOM) และอยู่ระหว่างเตรียมการหารือกับ สำนักงาน ก.ล.ต. ขอผ่อนผันการทำหน้าที่ในการทำข้อเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของ ADVANC ตามหลักเกณฑ์ของ Chain Principle
18 พ.ค. และ 28 พ.ค.2564 บมจ.กัลฟ์ฯ แจ้งมติคณะกรรมการบริษัทฯและรายละเอียดในการลงทุนในหุ้นสามัญทั้งหมดของ INTUCH ในสัดส่วน 81.07% ของหุ้นทั้งหมด และการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ของ ADVANC ในสัดส่วน 100% ของหุ้นทั้งหมด
28 มิ.ย.2564 บมจ.กัลฟ์ฯ ยื่นคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ของ INTUCH ที่ราคาหุ้นละไม่เกิน 65 บาท โดยไม่รวมหุ้น INTUCH ที่บริษัทฯถืออยู่ 18.93% ของหุ้นทั้งหมด (16 มิ.ย.2564) ระยะเวลารับซื้อตามคำเสนอซื้อ 25 วันทำการ หรือตั้งแต่ 29 มิ.ย.-4 ส.ค.2564
พร้อมทั้งยื่นคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ของ ADVANC ที่ราคาหุ้นละไม่เกิน 120.93 บาท คิดเป็นสัดส่วน 100% ของหุ้นทั้งหมด ระยะเวลารับซื้อตามคำเสนอซื้อ 31 วันทำการ หรือตั้งแต่ 29 มิ.ย.-13 ส.ค.2564
ทั้งนี้ บมจ.กัลฟ์ฯ ได้รับการผ่อนผัน โดยไม่ต้องทำข้อเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของ THAICOM ตามหลักเกณฑ์ Chain Principle
29 ก.ค.2564 บมจ.กัลฟ์ฯ รายงานผลการเสนอซื้อหลักทรัพย์ INTUCH และ ADVANC พบว่า ตั้งแต่ 29 มิ.ย.-27 ก.ค.2564 ในกรณีหุ้น NTUCH มีผู้แสดงเจตนาขายคิดเป็นสัดส่วน 9.92% เมื่อรวมกับหุ้นเดิมที่บริษัทฯถืออยู่ จะทำให้บริษัทฯ มีหุ้น NTUCH คิดเป็นสัดส่วน 28.85% ของหุ้นทั้งหมด ส่วนกรณีหุ้น ADVANC ยังไม่มีผู้แสดงเจตนาขาย
ทั้งหมดนี้เป็นเส้นทางการเข้าเทกโอเวอร์กิจการ ‘อินทัช-เอไอเอส’ ของกลุ่มกัลฟ์!
อ่านประกอบ :
'บอร์ดกัลฟ์' อนุมัติซื้อหุ้น 'INTUCH' เพิ่มเป็นไม่เกิน 15%-คาดใช้เงิน 8.9 พันล.
'สิงเทล' ปฏิเสธข้อเสนอ 'กัลฟ์' ขายหุ้นเอไอเอสแสน ล.-ย้ำชัดอยากมีส่วนร่วม 5 G ไทย
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/