"...สำหรับข้อมูลเอกสารสัญญาวัคซีนของบริษัทซิโนแวคที่องค์การเภสัชกรรมแนบมากับหนังสือตอบกลับนั้น จากการตรวจสอบพบว่า เป็นหนังสือข้อตกลงการสั่งซื้อวัคซีนล่วงหน้า (Advance Purchase Agreement) ระหว่างองค์การเภสัชกรรมกับบริษัท Sinovac Life Scences ลงวันที่ 7 เม.ย. 2564 โดยเป็นการจัดซื้อวัคซีนจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 5 แสนโดส ... ไม่ได้มีการระบุถึงขอบเขตวัคซีนที่จะมีการส่งมอบและกำหนดราคาวัคซีนเอาไว้ ..."
...........................
ประเด็นการเรียกร้องให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดเผยสัญญาการจัดซื้อวัคซีนป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ให้เกิดความชัดเจนต่อสาธารณะเพื่อความโปร่งใสในการใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดิน อันมีที่มาจากเงินภาษีประชาชน
ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้รับการเปิดเผยข้อมูลจากแหล่งข่าวระดับสูงในกระทรวงสาธารณสุข ในส่วนของสัญญาการจัดซื้อวัคซีนโควิดในส่วนของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้ากับรัฐบาลไทย โดยสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ที่มีการลงนามเมื่อวันที่ 12 ม.ค. 2564 ที่ผ่านมา โดยคาดว่าจะเป็นเอกสารชุดเดียวกับที่เปิดเผยให้แก่พรรคก้าวไกลรับทราบ
ทั้งนี้ ในสัญญาดังกล่าวระบุผู้ซื้อคือ กรมควบคุมโรค และมีการกำหนดรายละเอียดว่าจะจ้างประเทศไทยให้เป็นทั้งผู้ที่ผลิตวัคซีนและกำหนดว่าไทยจะต้องเป็นผู้ที่ซื้อวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ในรายละเอียดของสัญญานั้นมีบางส่วนของข้อความที่ถูกปกปิด (อ่านประกอบ : เผยโฉมสัญญาวัคซีนโควิดแอสตร้าเซนเนก้า-ไทย กรมควบคุมโรค ผู้ซื้อ 'ปกปิดราคา')
ล่าสุด ภายหลังจากที่ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา ได้ทำหนังสือถึง องค์การเภสัชกรรม โดยใช้สิทธิ์ตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 ในช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2564 เพื่อขอรายละเอียดการทำสัญญาจัดซื้อวัคซีนโควิด จำนวน 4 ชนิด ได้แก่ 1.วัคซีนจากบริษัทซิโนแวค 2.วัคซีนจากรัฐวิสาหกิจซิโนฟาร์ม,3.วัคซีนจากบริษัทโมเดอร์นา และ4.วัคซีนจากบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า พร้อมเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง
องค์การเภสัชกรรม ได้ส่งหนังสือลงวันที่ 23 ก.ค. 64 ลงนามโดย นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อํานวยการองค์การเภสัชกรรม มายังสำนักข่าวอิศรา เพื่อแจ้งข้อมูลสัญญาการจัดซื้อวัคซีนป้องกันโควิด ให้ทราบ ดังนี้
@ วัคซีนจากบริษัทซิโนแวค
ตามสําเนาสัญญาการจัดซื้อวัคซีน Sinovac (Advance Purchase Agreement) ที่ปิดทับข้อมูลในส่วนที่ต้องห้ามมิให้เปิดเผยตามสัญญารักษาข้อมูลความลับ (Confidentiality Agreement) ของคู่สัญญา
@วัคซีนจากบริษัทโมเดอร์นา
ขณะนี้องค์การเภสัชกรรมอยู่ระหว่างดําเนินการทําสัญญาซื้อขายวัคซีน Moderna กับ บริษัท ซิลลิค ฟาร์มา จํากัด โดยเมื่อได้ลงนามในสัญญาแล้ว จะดําเนินการตามขั้นตอนในการเปิดเผยข้อมูลให้ท่านทราบต่อไป
@วัคซีนจากบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าและจากรัฐวิสาหกิจซิโนฟาร์ม
องค์การเภสัชกรรม ไม่ได้เป็นผู้ดําเนินการจัดซื้อวัคซีนดังกล่าวแต่อย่างใด
(ดูภาพหนังสือตอบกลับประกอบ)
สำหรับข้อมูลเอกสารสัญญาวัคซีนของบริษัทซิโนแวคที่องค์การเภสัชกรรมแนบมากับหนังสือตอบกลับนั้น จากการตรวจสอบพบว่า เป็นหนังสือข้อตกลงการสั่งซื้อวัคซีนล่วงหน้า (Advance Purchase Agreement) ระหว่างองค์การเภสัชกรรมกับบริษัท Sinovac Life Sciences ลงวันที่ 7 เม.ย. 2564 โดยเป็นการจัดซื้อวัคซีนจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 5 แสนโดส (อาจมีความแตกต่างของจำนวนวัคซีนไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์)
อย่างไรก็ตาม ในหนังสือข้อตกลงดังกล่าว ไม่ได้มีการระบุถึงขอบเขตวัคซีนที่จะมีการส่งมอบและกำหนดราคาวัคซีนเอาไว้ (ดูภาพประกอบ)
ขณะที่ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวอิศรา เคยรวบรวมข้อมูลการอนุมัติงบประมาณของรัฐบาลในการจัดซื้อวัคซีนป้องกันโควิด พบว่า มีการจัดซื้อวัคซีนในส่วนของซิโนแวคประมาณ 2.5 ล้านโดส
โดยข้อมูลการจัดซื้อวัคซีนซิโนแวค จำนวน 5 แสนโดส นั้น จากการตรวจสอบพบว่า เมื่อวันที่ 27 เม.ย.2564 ที่ประชุม ครม. รับทราบรายละเอียดโครงการจัดหาวัคซีนจาก บริษัท Sinovac Biotech จำกัด เพิ่มเติม 500,000 โดส กรอบวงเงิน 321.60 ล้านบาท โดยให้ใช้เงินจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
(อ่านประกอบ : เช็กยอด ครม.บิ๊กตู่ อนุมัติซื้อวัคซีนโควิด ไฉนเปิดเผยสัญญาเอกชนไม่ได้?)
เท่ากับว่า ข้อมูลการจัดซื้อวัคซีนซิโนแวคก่อนหน้านั้น จำนวนกว่า 2 ล้านโดส องค์การเภสัชกรรม ไม่ได้ส่งมอบให้อิศรา?
ส่วนรายละเอียดในหนังสือข้อตกลงสั่งซื้อจำนวน 5 แสนโดส อื่น ๆ ที่ได้รับมาแล้ว สำนักข่าวอิศรา อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อมูล และจะนำมาเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบต่อไป
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/