"...หนึ่งในประเด็นสำคัญที่ คณะกรรมาธิการฯ ได้ขอคำตอบคือ เหตุใดจึงไม่เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการจัดหาวัคซีนทั้งหมดให้ประชาชนรับทราบ ผู้แทนจากสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ได้ชี้แจงว่า สาเหตุที่ไม่ได้มีการเปิดเผยข้อมูลทั้งหมดให้ประชาชนรับทราบ เพื่อป้องกันปัญหา ความไม่แน่นอนของข้อมูล เนื่องจากอยู่ในระหว่างการเจรจา ยังไม่มีความชัดเจน ซึ่งหากมีการสื่อสาร ออกไปอาจทำให้ข้อมูลมีความคลาดเคลื่อน และทำให้ประชาชนเกิดความสับสนหรือเข้าใจผิดได้ ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุขจะเปิดเผยข้อมูลเมื่อมีความคืบหน้าที่ชัดเจนแล้ว..."
---------------------------------------------------
ณ ปัจจุบันประเทศไทย ใช้เงินงบประมาณในการจัดซื้อวัคซีนโควิดไปแล้วเป็นจำนวนเงินเท่าไร? รายละเอียดสัญญาการจัดซื้อวัคซีนโควิดเป็นอย่างไร?
กำลังเริ่มเป็นกระแสเรียกร้องจากคนในสังคมให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดเผยข้อมูลส่วนนี้ให้เกิดความชัดเจนต่อสาธารณะเพื่อความโปร่งใสในการใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดิน อันมีที่มาจากเงินภาษีประชาชน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สืบค้นฐานข้อมูลหน่วยงานราชการ เกี่ยวกับมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในการเสนอเรื่องเพื่อขออนุมัติงบประมาณในการจัดซื้อวัคซีนโควิดของกระทรวงสาธารณสุข พบข้อมูลสำคัญดังต่อไปนี้
@ อนุมัติจัดหา 'แอสตร้าเซนเนก้า-ซิโนแวค' รวม 63.5 ล้านโดส
อนุมัติครั้งที่ 1 แอสตร้าเซนเนก้า 26 ล้านโดส
17 พ.ย.2563 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบโครงการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำหรับประชาชนโดยการจองล่วงหน้าแอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) และการจัดซื้อวัคซีนกับบริษัท AstraZeneca (Thailand) จำกัด และบริษัท AstraZeneca UK จำกัด กรอบวงเงิน 6,049.72 ล้านบาท แบ่งเป็น
1.เงินจัดหาวัคซีนโดยการจองล่วงหน้า วงเงิน 2,379.43 ล้านบาท โดยให้สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ดำเนินโครงการจัดหาวัคซีนป้องสำหรับประชาชน โดยการจองล่วงหน้ากับแอสตร้าเซนเนก้า
2.เงินจัดซื้อวัคซีน ที่ได้จากการจองล่วงหน้า เมื่อคู่สัญญาสามารถจัดหาวัคซีนให้ได้สำเร็จ วงเงิน 1,586.28 ล้านบาท รับผิดชอบโดยกรมควบคุมโรค
3.เงินบริหารจัดการวัคซีน วงเงิน 2,084 ล้านบาท รับผิดชอบโดยกรมควบคุมโรค
ทั้งนี้ ที่ประชุม ครม. อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อจัดหาวัคซีนโควิด โดยการจองล่วงหน้าจากแอสตร้าเซนเนก้า จำนวน 26 ล้านโดส วงเงิน 2,379.43 ล้านบาท
19 ม.ค.2564 ที่ประชุม ครม.อนุมัติ งบประมาณอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จ่ายค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT 7%) วงเงิน 166.53 ล้านบาท ในการจัดหาวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 26 ล้านโดสข้างต้น
นอกจากนั้น ยังส่งผลให้ ครม.ปรับกรอบวงเงินทั้งโครงการ จากเดิม 6,049.72 ล้านบาท เป็น 6,216.25 ล้านบาท เฉพาะในส่วนการจัดหาวัคซีนโดยการจองล่วงหน้า ถูกปรับจากเดิม 2,379.43 ล้านบาท เป็น 2,545.96 ล้านบาท
2 ก.พ.2564 ที่ประชุม ครม.รับทราบรายละเอียดการจัดหาวัคซีนโดยการจองซื้อล่วงหน้าจากแอสตร้าเซนเนก้า ในส่วนของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขโดยอนุมัติ งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 วงเงิน 2,741.33 ล้านบาท ภายใต้โครงการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำหรับประชาชนไทยโดยการจองล่วงหน้า (AstraZeneca)
วงเงินดังกล่าว เป็นส่วนที่นอกเหนือจากการดำเนินการของสถาบันวัคซีนแห่งชาติ เนื่องจากกรมควบคุมโรคมีหน้าที่ในการชำระเงิน 40% ของมูลค่าวัคซีนรวม เมื่อผลิตวัคซีนสำเร็จ และมีการส่งมอบ แบ่งชำระ 5 งวด งวดละ 3 เดือน และดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง
(4 มิ.ย.64 สธ.รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ล็อตแรกที่ผลิตในไทย 1.8 ล้านโดส)
อนุมัติครั้งที่ 2 ซิโนแวค 2 ล้านโดส
5 ม.ค.2564 ที่ประชุม ครม. รับทราบโครงการเตรียมความพร้อมรับมือและแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่ : กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ระยะการระบาดระลอกใหม่ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 และอนุมัติสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จำนวน 2,150.38 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายโครงการเตรียมความพร้อมรับมือและแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่ : กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVD-19) ระยะการระบาตระลอกใหม่ รวมทั้งการจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 และภายใต้โครงการดังกล่าว เป็นค่าจัดหาวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 จำนวน 2 ล้านโดส ของ บริษัท Sinovac Biotech จำกัด เพื่อดำเนินการในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ - เมษายน 2564 ใน 5 จังหวัดควบคุมสูงสุดและเข้มงวด เพื่อลดความรุนแรงและการเสียชีวิต
มติ ครม.วันเดียวกัน ยังได้รับทราบสรุปผลการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด (ศบค.) ครั้งที่ 1/2564 ซึ่งได้รับทราบความคืบหน้าการจัดหาวัคซีน ในส่วนของแอสตร้าเซนเนก้า 61 ล้านโดส
รวมถึงแผนการจัดหาวัคซีนซิโนแวค จาก บริษัท Sinovac Biotech จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตวัคซีนของประเทศจีน เพื่อจัดหาวัคซีนเร่งด่วนให้ได้ภายในไตรมาสแรกของปี 2564 โดยระบุด้วยว่า วัคซีนต้องได้รับอนุญาตขึ้นทะเบียนจากสถาบันอาหารและยา (อย.) ของจีนก่อน โดยจะฉีดคนละ 2 โดส ระยะเวลาห่างกัน 1 เดือน วงเงินงบประมาณรวม 1,228.20 ล้านบาท
อนุมัติครั้งที่ 3 แอสตร้าเซนเนก้า 35 ล้านโดส
2 มี.ค.2564 ที่ประชุม ครม. รับทราบรายละเอียดโครงการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำหรับบริการประชาชน จากแอสตร้าเซนเนก้า เพิ่มเติม 35 ล้านโดส โดยมีกรอบวงเงิน 6,387.28 ล้านบาท โดยให้ใช้ เงินจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
วงเงิน 6,387.28 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าใช้จ่ายในการจัดหาวัคซีน 35 ล้านโดส จำนวน 5,673.67 ล้านบาท (ค่าวัคซีน 5,302.50 ล้านบาท และ ภาษีมูลค่าเพิ่ม 371.17 ล้านบาท) และ ค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ และเตรียมความพร้อมในระดับพื้นที่ 713.61 ล้านบาท
อนุมัติครั้งที่ 4 ซิโนแวค 500,000 โดส
27 เม.ย.2564 ที่ประชุม ครม. รับทราบรายละเอียดโครงการจัดหาวัคซีนจาก บริษัท Sinovac Biotech จำกัด เพิ่มเติม 500,000 โดส กรอบวงเงิน 321.60 ล้านบาท โดยให้ใช้เงินจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
ทั้งนี้หากนับตามมติ ครม. จะพบว่า มีการอนุมัติงบประมาณจัดหาวัคซีนแล้ว 63.5 ล้านโดส จากแอสตร้าเซนเนก้า 61 ล้านโดส และ ซิโนแวค 2.5 ล้านโดส
(นายกรัฐมนตรีชี้แจงค่าใช้จ่ายวัคซีนในการอภิปรายงบประมาณ ปี 2565)
@ ‘บิ๊กตู่’ เคยแจงสภาใช้งบ 16,724 ล้านบาท จัดหาวัคซีน 69.1 ล้านโดส
อย่างไรก็ตามในการอภิปราย ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณประจำปี 2565 ระหว่างวันที่ 31 พ.ค. – 2 มิ.ย.ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เคยชี้แจงตอนหนึ่งว่า ในปีงบประมาณ 2563-2564 ได้เตรียมงบประมาณสำหรับการบริหารวัคซีนโดยเฉพาะ 21,134 ล้านบาท
จำนวนดังกล่าว มีการจัดสรรงบประมาณสำหรับการจัดหาวัคซีนไว้ 2 ยี่ห้อ รวม 69.1 ล้านโดส รวมวงเงินรวม 16,724 ล้านบาท ดังนี้
วัคซีนซิโนแวค 8.1 ล้านโดส วงเงิน 5,059 ล้านบาท จากงบกลาง งบประมาณประจำปี 2564
วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 26 ล้านโดส วงเงิน 5,287 ล้านบาท จากงบกลาง งบประมสาณประจำปี 2564
วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 35 ล้านโดส วงเงิน 6,378 ล้านบาทจากเงินกู้ พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท
(ข่าวประกอบ : น้อยใจ 7 ปีบอกไม่มีอะไรดีขึ้น! 'บิ๊กตู่'ร่ายยาวงบปี 65 'หมอ'ได้น้อยกว่า'กองทัพ'?)
อย่างไรก็ตาม ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา รัฐบาลยังได้มีการปรับเป้าหมายการจัดหาวัคซีนในประเทศไทย จากเดิม ตั้งเป้าจัดหาวัคซีน 100 ล้านโดส เปลี่ยนเป็น 150 ล้านโดส
โดยเมื่อวันที่ 22 มิ.ย.2564 ที่ประชุม ครม. รับทราบสรุปผลการประชุม ศบค. ครั้งที่ 8/2564 ที่เพิ่งประชุมไปเมื่อวันที่ 18 มิ.ย.ที่ผ่านมา รบทราบการเพิ่มกรอบการจัดหาวัคซีนจาก 100 ล้านโดส ภายในปี 2564 เป็น 150 ล้านโดส ภายในปี 150 ล้านโดส
ศบค.รับทราบด้วยว่า ไทยมีการจัดหาหรือดำเนินการเจรจาจองวัคซีนแล้ว 105.5 ล้านโดส แบ่งเป็น แอสตร้าเซนเนก้า 61 ล้านโดส ซิโนแวค 19.5 ล้านโดส ไฟเซอร์ 20 ล้านโดส และจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน 5 ล้านโดส
(สรุปผลการประชุม ศบค.ครั้งที่ 8/2564)
@ รายละเอียดสัญญาการจัดซื้อวัคซีนโควิดเป็นอย่างไร
ที่ผ่านมารัฐบาลยังไม่เคยมีการเปิดเผยรายละเอียดสัญญาการจัดซื้อวัคซีนโควิดอย่างเป็นทางการ ซึ่งอาจมีเหตุผลจากความลับทางการค้า
โดยในการประชุมคณะกรรมาธิการการป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากภัยธรรมชาติและสาธารณภัยของ สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายวุฒิชัย กิตติธเนศวร เป็นประธานคณะกรรมาธิการ เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564 ได้มีการเชิญตัวแทนจากหน่วยงานสาธารณสุขเข้าชี้แจงข้อมูลแผนการจัดซื้อวัคซีนโควิดของประเทศไทย
หนึ่งในประเด็นสำคัญที่ คณะกรรมาธิการฯ ได้ขอคำตอบคือ เหตุใดจึงไม่เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการจัดหาวัคซีนทั้งหมดให้ประชาชนรับทราบ
ผู้แทนจากสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ได้ชี้แจงว่า สาเหตุที่ไม่ได้มีการเปิดเผยข้อมูลทั้งหมดให้ประชาชนรับทราบ เพื่อป้องกันปัญหา ความไม่แน่นอนของข้อมูล เนื่องจากอยู่ในระหว่างการเจรจา ยังไม่มีความชัดเจน ซึ่งหากมีการสื่อสาร ออกไปอาจทำให้ข้อมูลมีความคลาดเคลื่อน และทำให้ประชาชนเกิดความสับสนหรือเข้าใจผิดได้ ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุขจะเปิดเผยข้อมูลเมื่อมีความคืบหน้าที่ชัดเจนแล้ว
ผู้แทนจากสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ยังยืนยันกับคณะกรรมาธิการฯ ว่า ประเทศไทยยังได้เจรจาเพื่อจัดหาวัคซีนจากการตกลงแบบทวิภาคีกับบริษัทอื่น ๆ ควบคู่ไปด้วย เช่น บริษัทแอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด (AstraZeneca) บริษัทซิโนแวค ไบโอเทค จำกัด (Sinovac Biotech) บริษัทโมเดอร์นา อิงค์ (Moderna) บริษัทซิโนฟาร์ม (Sinopharm) เป็นต้น
โดยข้อมูลที่ได้มาจะนำไปประกอบการพิจารณาร่วมกับกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เพื่อประกอบการตัดสินใจต่อไป
สำหรับความคืบหน้าการเจรจากับบริษัทผู้ผลิตวัคซีนแต่ละแห่ง เนื่องจากได้มีการทำสัญญาปกปิดความลับไว้ จึงไม่อาจเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณชนได้ทั้งหมด
ขณะที่ผู้แทนจากกระทรวงสาธารณสุข ได้ตอบข้อซักถามของคณะกรรมาธิการและผู้เข้าร่วมประชุม เรื่องการบริหารจัดการวัคซีน ว่าการตัดสินใจอยู่บนพื้นฐานของความคุ้มค่า มีประสิทธิภาพ และความปลอดภัยของการจัดเก็บเป็นสำคัญ วัคซีนที่มีอยู่ในต่างประเทศจะมีราคาค่อนข้างสูงและจะต้อง เก็บในอุณหภูมิติดลบ 70 องศาเซลเซียส ทำให้การขนส่งเป็นไปด้วยความยากลำบาก เนื่องจากประเทศไทย เป็นประเทศเขตร้อนจึงไม่เหมาะสมกับวัคซีนบางชนิด ซึ่งวัคซีนของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด (AstraZeneca) มีประสิทธิภาพอยู่ที่ 70 เปอร์เซ็นต์ เพราะเชื้อไวรัสตัวนี้มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม อยู่ตลอดเวลาจึงเลือกว่าภูมิคุ้มกันจะอยู่ได้นานเพียงใด จึงไม่ได้ขึ้นอยู่ที่ราคาเพียงอย่างเดียว โดยวัคซีนของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด (AstraZeneca) ได้รับการขึ้นทะเบียนแล้ว ราคาจะอยู่ที่ 3.5 US/โด๊ส สามารถจัดเก็บอุณหภูมิในระดับ +2 ถึง +8 องศาเซลเซียส สำหรับวัคซีนของบริษัทไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด มีประสิทธิภาพ 90 เปอร์เซ็นต์ จะต้องจัดเก็บในอุณหภูมิติดลบ 70 องศาเซลเซียส และบริษัทโมเดอร์นา อิงค์ มีประสิทธิภาพ 95 เปอร์เซ็นต์จัดเก็บในอุณหภูมิติดลบ 2 องศาเซลเซียส ไม่เกิน 6 เดือน
ดังนั้น ประเทศไทยจึงไม่สามารถจัดเก็บได้ เพราะหากการจัดเก็บไม่ดีจะทำให้วัคซีน กลายเป็นน้ำเปล่าทันทีถึงแม้วัคซีนแต่ละชนิดจะมีประสิทธิภาพไม่เท่ากัน แต่ในทางแพทย์ถือว่า ประสิทธิภาพเท่ากัน หากประสิทธิภาพเกิน 50 เปอร์เซ็นต์จะถือว่ายอมรับได้
ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินการติดต่อเจรจากับหลายบริษัทเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ แต่วัคซีนที่จะสามารถใช้กับประชาชนได้ต้องเป็นวัคซีนของบริษัทที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการ อาหารและยา (อย.) เพื่อความปลอดภัยของประชาชน
ทั้งหมดเป็นข้อมูลเกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินงบประมาณจัดซื้อวัคซีนโควิด ของรัฐบาล ที่สำนักข่าวอิศรา พอจะสืบค้นได้ในขณะนี้ ส่วนรายละเอียดเชิงลึกอื่นๆ จะนำมาเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบต่อไป
(หมายเหตุ : ภาพขวดวัคซีนจาก freepik)
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage