“…สมมติว่า คนที่เสนอราคามาเป็นอันดับ 2 แต่ถ้าผมต้องการทำให้คุณได้งาน ผมก็ให้คะแนนเทคนิคคุณมากขึ้น และการพิจารณาให้คะแนนเทคนิคที่แบ่งเป็น 5 หัวข้อย่อย เปิดโอกาสให้มีการใช้ดุลพินิจได้ เปิดให้ทำได้ ซึ่งง่ายกว่าการล็อกสเปค และถ้าจะล็อกให้ผู้รับเหมารายใดได้ มันทำได้ง่ายกว่า และคนที่ได้อาจไม่ใช่คนที่เสนอราคาต่ำสุด…”
........................
แม้จะยังอยู่ในช่วงการเปิดขายซองเอกสารระหว่างวันที่ 5 ก.ค. ถึง 7 ต.ค.2564 ก่อนเปิดให้เอกชนยื่นซองประมูลในเดือน 8 ต.ค.2564
แต่ทว่าการเปิดประมูล โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน–ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) ราคากลาง 78,713 ล้านบาท ของ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กำลังถูกจับจ้องจากคนในวงการ 'รับเหมาก่อสร้าง' และจากสังคมอีกครั้ง (อ่านประกอบ : รฟม.เปิดขายซองประมูลรถไฟฟ้าสายสีม่วง 'เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ' 5 ก.ค.-7 ต.ค.นี้)
เนื่องจาก ‘ทีโออาร์’ การเปิดประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ดังกล่าว ซึ่งประกอบด้วย 6 สัญญา ได้แก่
สัญญาที่ 1 งานออกแบบก่อสร้างอุโมงค์ทางวิ่งและสถานีใต้ดิน ช่วงเตาปูน-หอสมุดแห่งชาติ ราคากลาง 18,574.86 ล้านบาท (ไม่รวมค่าเผื่อเหลือเผื่อขาด 845.28 ล้านบาท)
สัญญาที่ 2 งานออกแบบและก่อสร้างอุโมงค์ทางวิ่งและสถานีใต้ดิน ช่วงหอสมุดแห่งชาติ-ผ่านฟ้า ราคากลาง 15,155.06 ล้านบาท (ไม่รวมค่าเผื่อเหลือเผื่อขาด 689.66 ล้านบาท)
สัญญาที่ 3 งานออกแบบและก่อสร้างอุโมงค์ทางวิ่งและสถานีใต้ดิน ช่วงผ่านฟ้า–สะพานพุทธ ราคากลาง 14,452.35 ล้านบาท (ไม่รวมค่าเผื่อเหลือเผื่อขาด 657.16 ล้านบาท)
สัญญาที่ 4 งานออกแบบและก่อสร้างอุโมงค์ทางวิ่งและสถานีใต้ดิน ช่วงสะพานพุทธ-ดาวคะนอง ราคากลาง 14,337.80 ล้านบาท (ไม่รวมค่าเผื่อเหลือเผื่อขาด 652.47 ล้านบาท)
สัญญาที่ 5 งานก่อสร้างโครงสร้างทางวิ่งและสถานียกระดับ ช่วงดาวคะนอง-ครุใน และอาคารจอดแล้วจร ราคากลาง 12,769.20 ล้านบาท (ไม่รวมค่าเผื่อเหลือเผื่อขาด 581.08 ล้านบาท)
สัญญาที่ 6 งานออกแบบและก่อสร้างระบบรางตลอดแนวเส้นทางโครงการ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ และภายในอาคารจอดรถไฟฟ้า (Stabling Yard) ราคากลาง 3,423.89 ล้านบาท (ไม่รวมค่าเผื่อเหลือเผื่อขาด 155.81 ล้านบาท) นั้น
ปรากฏว่า รฟม. กำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกผู้ชนะประมูล ‘งานออกแบบและก่อสร้างอุโมงค์ทางวิ่งและสถานีใต้ดิน’ สัญญาที่ 1-4 และ ‘งานก่อสร้างโครงสร้างทางวิ่งและสถานียกระดับ’ สัญญาที่ 5 เป็นแบบ 'การประเมินค่าประสิทธิภาพต่อราคา (Price Performance)'
@เปิดทีโออาร์ใช้เกณฑ์พิจารณา ‘เทคนิค’ ร่วมกับ ‘ราคา’
โดยข้อกำหนดในทีโออาร์ข้อ 36.3 ของสัญญาที่ 1 ,2 3, และ 4 และข้อกำหนดทีโออาร์ข้อ 25.3 ของสัญญาที่ 5 ระบุชัดเจนว่า จะพิจารณา ซองที่ 2 (ซองเทคนิค) และซองที่ 3 (ซองราคา) ร่วมกัน โดยกำหนดคะแนนซองเทคนิคในสัดส่วน 30 คะแนน และคะแนนซองราคา 70 คะแนน
ขณะที่การพิจารณาซองเทคนิค 30 คะแนน (คิดเป็น 100%) แยกย่อยเป็น 5 หัวข้อ สำหรับสัญญาที่ 1-4 และแยกย่อยเป็น 4 หัวข้อ สำหรับสัญญาที่ 5 โดยมีหัวข้อการพิจารณา
เช่น แนวทางการออกแบบและวิธีการ (Design Approach and Methodology) 35% แนวทางการก่อสร้างและวิธีการ (Construction Approach and Methodology) 35% ข้อเสนอแผนผังองค์กรและบุคลากรหลัก (Propose Organization Chart and Key Staff) 15% และโปรแกรมงาน (Works Programme) 10% เป็นต้น
"ผู้ที่จะผ่านเกณฑ์พิจารณาด้านเทคนิค จะต้องได้คะแนนไม่น้อยกว่า 80% ในแต่ละหัวข้อ และเมื่อรวมคะแนนทุกหัวข้อแล้ว จะต้องได้คะแนนไม่น้อยกว่า 85%" เงื่อนไขทีโออาร์โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) ระบุ
(ทีโออาร์สัญญาที่ 1 โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน–ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก))
(ทีโออาร์สัญญาที่ 5 โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน–ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก))
@ห่วงเปิดช่องล็อก ‘ผู้รับเหมา’-รัฐประหยัดน้อยลง
อย่างไรก็ตาม มีเสียงเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า การที่ รฟม. กำหนดหลักเกณฑ์พิจารณาคัดเลือกผู้ชนะประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) โดยให้พิจารณาคะแนนด้านเทคนิคและคะแนนด้านราคาพร้อมกัน ในสัดส่วน 30 : 70 นั้น
จะทำให้มีการ ‘ล็อก’ ผู้รับเหมาได้ง่าย และผู้รับเหมาที่เสนอราคาต่ำสุดอาจไม่ได้รับการคัดเลือก
“รฟม. เคยใช้เกณฑ์พิจารณาด้านเทคนิคพร้อมกับด้านราคามาก่อน แต่เป็นเวลานานกว่า 20 ปีแล้ว โดยใช้ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางซื่อ หลังจากนั้น รฟม.ไม่ใช้เกณฑ์นี้อีกเลย เพราะรู้ว่าเกณฑ์นี้ ลดความสำคัญของข้อเสนอด้านเทคนิค ไม่เหมาะสมกับโครงการที่มีความซับซ้อน
ดังนั้น ในการประมูลโครงการรถไฟฟ้าต่อมา รฟม. จึงเลือกพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิคก่อน หากสอบผ่านจึงจะพิจารณาข้อเสนอด้านราคา หากสอบตกก็จะไม่พิจารณาข้อเสนอด้านราคา ซึ่งถือว่าเป็นการให้ความสำคัญต่อข้อเสนอด้านเทคนิคอย่างแท้จริง
ทำให้ได้ผู้รับเหมาที่มีความสามารถด้านเทคนิคสูง และคิดราคาค่าก่อสร้างต่ำกว่า” สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ‘ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์-Dr.Samart Ratchapolsitte’ เมื่อวันที่ 27 ก.ค.ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ สามารถ ยังให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) เพิ่มเติมว่า การเปิดประมูลรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) โดยพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิคและข้อเสนอด้านราคาพร้อมกัน จะทำให้ภาครัฐต้องเสียค่าก่อสร้างมากกว่า และมีการล็อกผู้รับเหมาได้ง่าย
“สมมติว่า คนที่เสนอราคามาเป็นอันดับ 2 แต่ถ้าผมต้องการทำให้คุณได้งาน ผมก็ให้คะแนนเทคนิคคุณมากขึ้น และการให้คะแนนเทคนิคที่แบ่งเป็น 5 หัวข้อย่อย ยังเปิดโอกาสให้ใช้ดุลพินิจได้ เปิดให้ทำได้ ซึ่งง่ายกว่าการล็อกสเปค ซึ่งถ้าจะล็อกให้ผู้รับเหมารายใดได้ มันทำได้ง่ายกว่า และคนที่ได้อาจไม่ใช่คนที่เสนอราคาต่ำสุด” สามารถ ระบุ
(ที่มา : สามารถ ราชพลสิทธิ์)
@คาดรับเหมารายใหญ่เพียง 4-5 เจ้า แบ่งงาน 6 สัญญา
สามารถ ประเมินว่า การที่ รฟม. ใช้หลักเกณฑ์การพิจารณาด้านเทคนิคร่วมกับด้านราคา ในการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงฯ จะทำให้มีผู้รับเหมารายใหญ่เพียง 4-5 รายเท่านั้น ที่ได้งานไป
“ผู้รับเหมาที่ทำอุโมงค์ได้มีน้อย และแม้ว่าจะอ้างว่า เป็นการเปิดประกวดราคานานาชาติ (ICB) ให้ผู้รับเหมาต่างชาติเข้ามาจริง แต่ก็ยังมีการกีดกันอยู่ดี เพราะเขาบอกว่าต้องเอาผลงานในประเทศไทย และผู้รับเหมาต่างชาติจะเป็น lead firm (ผู้นำ) ไม่ได้ ต้องแห่ตามขบวนมากับผู้รับเหมาไทย
สุดท้ายผมประเมินว่า การประมูลโครงการนี้น่าจะมีผู้รับเหมารายใหญ่ๆ 4-5 เจ้า แบ่งงานกันใน 6 สัญญา ส่วนบริษัทอื่นๆถ้าจะได้ ต้องตามขบวนแห่ไป และหาก รฟม.บอกว่าทำทุกอย่างตามระเบียบ อ้างว่าทำตามกรมบัญชีกลาง ผมอยากถามว่า แล้วทำไมจึงไม่กำหนดหลักเกณฑ์ที่เหมาะสมกว่า ให้เปิดกว้างกว่า ก็ทำได้ และอยู่ในระเบียบของกรมบัญชีกลางเหมือนกัน” สามารถ กล่าว
ส่วนกรณีที่ รฟม.ระบุว่า เหตุที่ต้องพิจารณาซองเทคนิคและซองราคาพร้อมกัน เพราะการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ มีความซับซ้อน จึงต้องการผู้รับเหมาที่มีความเชี่ยวชาญสูงนั้น สามารถ ระบุว่า สิ่งที่ รฟท.กำลังทำนั้น ย้อนแย้งกับความเป็นจริง เพราะหาก รฟม.เห็นว่าโครงการซับซ้อน ต้องการคนเก่ง เหตุใดจึงกำหนดสัดส่วนคะแนนด้านเทคนิคเพียง 30 คะแนน
“มันย้อนแย้งกัน อย่างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ซึ่งเป็นอุโมงค์แห่งแรกลอดแม่น้ำเจ้าพระยา รฟม.ก็แยกเทคนิคออกมา 100% และกำหนดคะแนนเทคนิคที่ให้ผ่านแค่ 70% เอง แต่ทำไมจึงสร้างสำเร็จดีล่ะ ยิ่งถ้ามาอ้างว่ารถไฟฟ้าสายสีม่วงฯ ต้องสร้างในพื้นที่อ่อนไหว ใต้เกาะรัตนโกสินทร์ ต้องใช้คนเก่ง
แล้วทำไมจึงเอาคะแนนเทคนิคมาพิจารณาแค่ 30% เทคนิคต้องแยกไปเลย 100% แต่นี่คุณ (รฟม.) มาเป็นส่วนหนึ่งของการพิจารณา ให้คะแนนราคา 70 คะแนน ให้เทคนิค 30 คะแนน ถ้าเห็นว่าเทคนิคสำคัญต้องให้ 100% จึงเป็นการอ้างเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้น และผมพูดเรื่องนี้มาตั้งแต่การประมูลสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) แล้ว” สามารถ ระบุ
(สามารถ ราชพลสิทธิ์ ที่มาภาพ : รัฐสภา)
สามารถ ย้ำว่า หาก รฟม.ต้องการได้ผู้รับเหมาที่เก่งและมีประสบการณ์สูง ก็ควรแยกการพิจารณาซองเทคนิคออกมา และกำหนดเกณฑ์คะแนนที่ผ่านให้สูงๆ เช่น ต้องได้คะแนนเทคนิคไม่ต่ำกว่า 85% เมื่อซองเทคนิคผ่านแล้ว จึงจะพิจารณาว่าบริษัทใดเสนอราคาต่ำสุด ก็ได้งานไป
สามารถ กล่าวด้วยว่า การประมูลโครงการขนาดใหญ่ในช่วงที่ผ่านมา เช่น รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน รถไฟฟ้าสายสีเหลือง-สายสีชมพู และรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง-บางแค ต่างก็แยกเทคนิคออกมา 100% ยกเว้นรถไฟฟ้าใต้ดินสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางซื่อ ที่พิจารณาเทคนิคร่วมกับกับราคา แต่นั่นเป็นเมื่อ 20 ปีที่แล้ว
@รฟม.ชี้จำเป็นต้องได้ผู้รับจ้างที่มี ‘สมรรถนะสูง’
ขณะที่ก่อนหน้านี้ รฟม. ออกมาชี้แจงว่า เนื่องจากโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) เป็นโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ที่มีความซับซ้อนและต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการก่อสร้าง
ประกอบกับสภาพพื้นที่เส้นทางโครงการฯ ที่ผ่านเขตชุมชนหนาแน่น พื้นที่ที่มีความอ่อนไหวสูง รวมถึงพื้นที่เกาะกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นต้น จึงมีความจำเป็นที่ต้องได้ผู้รับจ้างที่มีประสบการณ์และมีสมรรถนะสูงเพียงพอสำหรับการก่อสร้าง เพื่อให้สามารถดำเนินงานก่อสร้างให้สำเร็จลุล่วงเป็นไปตามแผนงานได้อย่างมีคุณภาพและความปลอดภัยสูงสุด
รวมทั้งสามารถลดผลกระทบด้านการจราจรและด้านสิ่งแวดล้อมในระหว่างการก่อสร้างให้ได้มากที่สุด และส่งผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด ซึ่งจะเป็นประโยชน์สูงสุดต่อภาครัฐและประชาชนผู้ใช้บริการ
“ในการดำเนินการคัดเลือกผู้รับจ้างก่อสร้างงานโยธา รฟม. ได้ใช้ รูปแบบการประกวดราคานานาชาติ (International Competition Bidding: ICB) โดยกำหนดเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกข้อเสนอของผู้เข้าร่วมประกวดราคา และใช้เกณฑ์ด้านราคาประกอบเกณฑ์เทคนิค
ซึ่งเป็นไปตามพ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 มาตรา 65 และระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ข้อ 83 (2)” รฟม.ชี้แจง
จากนี้คงต้องคิดตามว่า การประมูลรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) มูลค่า 7.8 หมื่นล้าน
จะมีผู้ยื่นซองประมูลกี่ราย การแข่งขันจะเป็นอย่างไร และท้ายที่สุดแล้วรัฐจะประหยัดงบได้เท่าไหร่!
อ่านประกอบ :
รฟม.เปิดขายซองประมูลรถไฟฟ้าสายสีม่วง 'เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ' 5 ก.ค.-7 ต.ค.นี้
แบ่ง 6 สัญญา! รฟม.เปิดฟังความเห็นร่าง TOR สายสีม่วง ‘เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ’ 7.8 หมื่นล.
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/