"...โดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่ กทม. ที่อยู่ในพื้นที่ที่มีความซับซ้อนของเขตเมือง ไม่สามารถเข้าถึงระบบบริการด้านสุขภาพได้เป็นจำนวนมาก เมื่อเจ็บป่วยไม่สบาย ก็ไม่สามารถออกมาได้ ในขณะที่ทีมช่วยเหลือก็เข้าไปไม่ถึง ในส่วนที่เข้าถึง ก็พบปัญหาที่ซับซ้อน ในทางปฏิบัติไม่ใช่แค่ในมิติของการเข้าไปเพื่อควบคุมโรคเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังมีมิติอื่นๆ เช่น การดูแลรักษา การให้วัคซีนป้องกัน รวมถึงการตรวจหาเชื้อเชิงรุก ถือว่าเป็นการทำงานที่มีความหลากหลาย ดังนั้น ภารกิจของหน่วยใดหน่วยหนึ่ง ไม่สามารถเข้าไปแก้ไขปัญหาให้ประชาชนในชุมชนได้..."
-----------------------
สถานการณ์โควิดที่รุนแรงขึ้น ยอดผู้ติดเสียงพุ่งสูงขึ้น สวนทางกับสถานการณ์เตียงที่ลดน้อยลง กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จึงได้ประกาศมาตรการการรักษาตัวที่บ้าน (Home Isolation) หรือการแยกกักตัวในชุมชน (Community Isolation) สำหรับผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว ไม่มีอาการ หรืออาการน้อย เพื่อลดภาระให้กับบุคลากรสาธารณสุข และเพิ่มจำนวนเตียงสำหรับผู้ป่วยกลุ่มสีเหลืองและสีแดงที่อาการรุนแรงต้องการดูแลจากทีมแพทย์
พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด (ศบค.) เปิดเผยในการแถลงสถานการณ์ประจำวันที่ 12 ก.ค.2564 ว่า ได้มีการจัดทำแผนปฎิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคโควิดเชิงรุก มีการจัดตั้งทีมเคลื่อนเร็วแบบเบ็ดเสร็จ ที่เรียกว่า CCRT (Comprehensive Covid-19 Response Team) โดยมีการแต่งกายด้วยชุด PPE จำนวน 200 ทีม เน้นย้ำดูแลชุมชนทั่วพื้นที่เขต กทม. ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่เขตทั้ง 50 เขต มีเจ้าหน้าที่ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ศปม.) เจ้าหน้าที่ศูนย์บริการสาธารณสุข (ศบส.) เจ้าหน้าที่ สธ. และกรรมการชุมชนอาสาสมัครสาธารสุข (อสส.)
สำหรับบทบาทการทำหน้าที่ คือ จะคัดกรองผู้ป่วยในชุมชน และแยกผู้ป่วยออกจากคนปกติได้อย่างรวดเร็ว โดยพยายามปรับการค้นหาให้ครอบคลุม เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงการตรวจหาเชื้อได้มากขึ้น เมื่อค้นพบว่ามีการติดเชื้อ ก็จะให้ดูแลการรักษาเบื้องต้น โดยการให้ยา ถ้าผู้ป่วยต้องการดูแลรักษาที่อยู่ในระดับสีเขียว ก็จะจัดสรรให้กักตัวอยู่ที่บ้าน หากมีการติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อน ก็จะให้อยู่ในสถานที่พักคอยในชุมชน
อีกทั้ง การค้นหาผู้สัมผัสเสี่ยงสูงและกักกันเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อให้ผู้อื่น เพื่อลดการเดินทางของประชาชนมายังจุดตรวจหาเชื้อ ทำให้ลดความแออัดและโอกาสการแพร่ระบาดของเชื้อโรคได้ รวมถึงเป็นการรักษาพยาบาลขั้นต้นก่อนส่งต่อเข้าระบบการรักษาพยาบาล และเพื่อสื่อสารทำความเข้าใจกับประชาชนเกี่ยวกับโควิด หากมีผู้ป่วยอาการรุนแรงขึ้น อาจะอยู่ในระดับเขียวเข้ม หรือสีเหลือง หรือกลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มที่มีโรคประจำตัวที่มีความเสี่ยงให้อาการแย่ลง ก็จะมีระบบส่งต่อให้ได้รับการดูแลอย่างปลอดภัย
@ ตั้งเป้าขยายผล 188 ทีม ครอบคลุม กทม.
ต่อมาวันที่ 19 ก.ค.2564 นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ ที่ปรึกษาระดับกระทรวง (รก.11) นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ และโฆษก สธ. กล่าวว่า การจัดตั้งหน่วยเคลื่อนที่เร็ว CCRT เป็นความร่วมมือระหว่าง สธ.และ กทม. ในการแก้ไขปัญหาผู้ติดเชื้อที่มีอาการรุนแรงตกค้างอยู่บ้านหรือในชุมชนที่ไม่สามารถส่งต่อเพื่อไปรับการรักษายังโรงพยาบาลได้ อีกทั้งหน่วยงานที่เข้าไปดูแล ก็ไม่สามารถเข้าไม่ถึงได้
โดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่ กทม. ที่อยู่ในพื้นที่ที่มีความซับซ้อนของเขตเมือง ไม่สามารถเข้าถึงระบบบริการด้านสุขภาพได้เป็นจำนวนมาก เมื่อเจ็บป่วยไม่สบาย ก็ไม่สามารถออกมาได้ ในขณะที่ทีมช่วยเหลือก็เข้าไปไม่ถึง ในส่วนที่เข้าถึง ก็พบปัญหาที่ซับซ้อน ในทางปฏิบัติไม่ใช่แค่ในมิติของการเข้าไปเพื่อควบคุมโรคเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังมีมิติอื่นๆ เช่น การดูแลรักษา การให้วัคซีนป้องกัน รวมถึงการตรวจหาเชื้อเชิงรุก ถือว่าเป็นการทำงานที่มีความหลากหลาย ดังนั้น ภารกิจของหน่วยใดหน่วยหนึ่ง ไม่สามารถเข้าไปแก้ไขปัญหาให้ประชาชนในชุมชนได้
ทั้งนี้ จะขยายผลเป้าหมายของ CCRT จะนำสู่ 188 ทีม เพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่ กทม. ดำเนินการให้ต่อเนื่องอย่างน้อยอีก 2 เดือน โดย สธ.ให้การสนับสนุนชุดตรวจ ยาที่จากเดิมต้องมารับที่สถานพยาบาล โดย CCRT จะมีแพทย์เข้าไปรักษาผู้ป่วยอาการไม่รุนแรงถึงที่บ้าน พร้อมกับทีมฉีดวัคซีนเชิงรุกที่จะเร่งทำงานกันอย่างเต็มที่
"หากไม่ได้การดำเนินการอะไรเลย ภายใน 7-14 วัน หรือ 1 เดือนข้างหน้า หากกลุ่มเสี่ยงเหล่านี้ติดเชื้อก็จะกลายเป็นผู้ป่วยที่เสี่ยงอาการรุนแรงและเสียชีวิต ดังนั้นการลงพื้นที่ไปเพื่อดูแลกลุ่ม 608 คือ สูงอายุมากกว่า 60 ปี ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และหญิงตั้งครรภ์ แต่วัคซีนไม่ใช่เครื่องมือเดียว การให้ความรู้เรื่องการดูแลสุขภาพ ปฏิบัติตัวเสมือนว่าเป็นคนติดเชื้อแล้ว ความรู้เหล่านี้สามารถทำให้ประชาชนเข้าใจ ทำได้ และเมื่อฉีดัวคซีนแล้วกลุ่มเสี่ยงต่างๆ ก็จะได้รับการปกป้อง" นพ.รุ่งเรือง กล่าว
@ ตั้งเป้าตรวจเชิงรุก 2,016 ชุมชน ภายในเดือน ก.ค.นี้
พญ.ป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กทม. เปิดเผยว่า สำนักอนามัย สำนักงานเขต ศูนย์บริการสาธารณสุขทั้ง 69 แห่ง ได้บูรณาการความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ศปม.) อาสาสมัครสาธารณสุข (อสส.) จิตอาสาพระราชทาน 904 และภาคประชาชน จัดทีมปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาโควิดเชิงรุก Bangkok CCRT ลงพื้นที่ชุมชนในพื้นที่ กทม.ทั้ง 50 เขต ระหว่างวันที่ 15 - 31 ก.ค. 64 โดยทำหน้าที่ ดังนี้
1. สำรวจชุมชนเพื่อค้นหากลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค และหญิงตั้งครรภ์
2. ให้บริการตรวจคัดกรองค้นหาผู้ติดเชื้อโควิดในชุมชน ด้วยชุดตรวจ Antigen Test Kit (ATK)
3. ให้การรักษาพยาบาลเบื้องต้นก่อนส่งต่อเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล โดยการจ่ายยาสมุนไพรฟ้าทะลายโจร และให้คำแนะนำในการแยกกักที่บ้าน และมอบชุดอุปกรณ์สำหรับผู้ป่วยที่สามารถกักตัวที่บ้านได้ สำหรับผู้ที่ไม่สามารถกักตัวที่บ้านได้ ทีมจะนำผู้ป่วยนำส่งศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อ
4. ดำเนินการกักกันผู้สัมผัสเสี่ยงสูงที่บ้าน และมอบชุดอุปกรณ์ Home Quarantine หรือส่งเข้า Local Quarantine ตามความเหมาะสม
5. ให้บริการฉีดวัคซีนกับกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค หญิงตั้งครรภ์
6. สื่อสารทำความเข้าใจ ให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับโรคโควิด ตลอดจนการปฏิบัติตนให้ห่างไกลจากโรค
นอกจากนี้ สำนักอนามัยจะเพิ่มจำนวนทีม CCRT โดยศูนย์บริการสาธารณสุขทั้ง 69 แห่ง จะจัดทีมเพิ่มแห่งละ 2 ทีม และทีมเพิ่มเติมจากภาคีเครือข่าย โดยตั้งเป้าหมายการตรวจคัดกรองเชิงรุกค้นหาผู้ติดเชื้อให้ครบ 2,016 ชุมชน ภายในเดือน ก.ค.นี้ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค รวมทั้งลดจำนวนผู้ป่วยตกค้างภายในชุมชนและนำส่งผู้ป่วยเข้าสู่ระบบการรักษาให้ได้มากที่สุด
@ ลงชุมชนแล้วกว่า 1,317 แห่ง
สำหรับผลการดำเนินงาน Bangkok CCRT ระหว่างวันที่ 15 - 24 ก.ค. 64 ลงพื้นที่ชุมชนแล้ว 1,317 แห่ง มีประชาชนเข้ารับบริการแล้ว 57,767 ราย ให้บริการฉีดวัคซีนแล้ว 42,080 ราย สำหรับกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว และหญิงตั้งครรภ์ ให้บริการตรวจหาเชื้อด้วยชุด ATK แล้ว 8,126 ราย แบ่งเป็น ไม่พบเชื้อ 7,165 ราย และพบเชื้อ 961 ราย ได้นำส่งโรงพยาบาลเพื่อรับการรักษา 25 ราย นำส่งศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อ 10 ราย และให้การดูแลแยกกักตัวที่บ้าน 926 ราย พร้อมมอบชุดกักตัว ประกอบด้วยยาฟ้าทะลายโจร ยาลดไข้ ยาแก้ไอ และยาละลายเสมหะให้แก่ผู้ที่แยกกักตัวที่บ้านได้ใช้ในการดูแลตนเอง และในวันที่ 25 ก.ค.2564 จะลงพื้นที่ชุมชนอีก 55 แห่ง
ทั้งหมดนี้ คือความร่วมมือแก้ปัญหาในสถานการณ์โควิดเชิงรุกให้ครอบคลุมทุกมิติระหว่าง สธ.และ กทม. จะต้องติดตามต่อไปว่า กทม.จะส่งทีม CCRT เข้าตรวจหาเชื้อเชิงรุกได้ครอบคลุมทุกชุมชนตามที่ตั้งเป้าไว้หรือไม่
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage