"...สำหรับไทย หากทุกภาคส่วนยังไม่ร่วมมือกัน ยังใช้มาตรการเดิมในการแก้ปัญหา คาดว่าตัวเลขอัตราการฆ่าตัวตายอาจพุ่งสูงสุดในประวัติการเป็น 9.45 คนต่อประชากรแสนคน แต่หากดำเนินตามมาตรการใหม่ได้ อัตราการตายอาจลดลงมาอยู่ที่ 7.35 คนต่อประชากรแสนคน..."
--------------------------------------------
สถานการณ์การระบาดของโควิด ทำให้หลายคนต้องประสบปัญหาทางสังคม เศรษฐกิจ และสาธารณสุข เกิดความเครียดและซึมเศร้า ส่งผลให้ประเทศไทยเผชิญกับปัญหาอัตราการฆ่าตัวตายพุ่งสูงที่สุดในรอบ 10 ปี นับตั้งแต่วิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ขณะที่หลายประเทศในทวีปเอเชีย อาทิ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น รวมถึงไต้หวัน ต่างเผชิญกับปัญหาการฆ่าตัวตายที่เพิ่มขึ้นด้วย (อ่านข่าวประกอบ: พิษโควิดทำอัตราฆ่าตัวตายในไทย พุ่งสูงสุดในรอบ 10 ปี)
การกำหนดยุทธศาสตร์ เพื่อการแก้ปัญหาการฆ่าตัวตายนั้น ควรจะทำอย่างไร? สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้รวบรวมข้อมูลที่น่าสนใจจากงานเสวนาในหัวข้อ การฟื้นฟู ส่งเสริม และป้องกันการฆ่าตัวตาย จากงานประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 20 ประจำปี 2564 ดังนี้
@'เกาหลีใต้'ปรึกษาสุขภาพจิตเพิ่มจาก 3% เป็น 20%
ดร.มินบิ ลี ศูนย์สุขภาพจิต ประเทศเกาหลีใต้ กล่าวว่า หลังจากประสบปัญหาการระบาดระลอกใหญ่ประเทศเกาหลีใต้ เราได้ประสบกับปัญหาซึมเศร้า และการฆ่าตัวตายที่เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน ในปี 2563 ก็พบว่าชาวเกาหลีใต้มีความต้องการที่จะปรึกษาสุขภาพจิตมากขึ้นถึง 20% จากเดิมที่มีเพียง 3%
ในปี 2564 กระทรวงสาธารณสุขจึงได้กำหนดแผนดำเนินงานด้านสุขภาพจิต 5 ปี ฉบับที่ 2 ที่มุ้งเน้นการพัฒนาคุณภาพของประชาชนให้ดีขึ้น ให้เข้าถึงบริการสุขภาพจิตและสามารถใชบริการได้ในเวลาที่ต้องการมากขึ้น นอกจากนั้นยังมีการจัดตั้งศูนย์ภัยพิบัติแห่งชาติสำหรับการแก้ปัญหาสุขภาพจิตในระดับภูมิภาค และจัดตั้งศูนย์สวัสดิการสุขภาพท้องถิ่น เพื่อดูแลผู้ป่วยติดเชื้อโควิด ครอบครัว และผู้ถูกกักกันอีกด้วย
“สำหรับการให้บริการของศูนย์ภัยพิบัติ จะมีการเผยแพร่องค์ความรู้ผ่านการ์ด โบรชัวร์ เว็บไซต์ หรืออาจผ่านสื่อออนไลน์ เช่น แอปพลิเคชัน แชทบอท และคลิปวิดีโอ เป็นต้น พร้อมกับมีบริการให้คำปรึกษาทางไกลหรือผ่านสายด่วน จากผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพจิต ตลอด 24 ชั่วโมง” ดร.มินบิ กล่าว
ดร.มินบิ กล่าวอีกว่า หลังจากมีการให้คำปรึกษาทางไกลหลายๆ ครั้ง แม้จะอยู่ในสถานการณ์ที่เราไม่สามารถสัมผัสหน้าตาหรือตัวตนจริงๆได้ แต่ก็พบว่าความเครียดหรือภาวะซึมเศร้าเหล่านี้ลดลง ดังนั้นเราควรมีการสนับสนุนการให้คำปรึกษาทางไกลในเชิงรุก ให้กับการประชาชนทุกคน ไม่จำกัดแต่เฉพาะผู้ป่วยโควิด รวมถึงการขจัดการเลือกปฏิบัติและการตีตราผู้ติดเชื้อด้วย
(ภาพ: แผนดำเนินงานด้านสุขภาพจิต 5 ปี ฉบับที่ 2)
(ภาพ: การให้บริการของศูนย์ภัยพิบัติ ประเทศเกาหลีใต้)
@ หมอเครียดสูง'ญี่ปุ่น'เร่งขจัดการเลือกปฏิบัติ-ให้ค่าตอบแทนเพิ่ม
ปัญหาทางสุขภาพจิตในช่วงการระบาดของโควิด ไม่เพียงพบในกลุ่มประชาชนทั่วไปเท่านั้น แต่ยังรวมถึงบุคลากรการแพทย์ ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้รักษาอาการป่วยของเราด้วย โดย ดร.ชิโรชิกะ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเทคนิงะ เทนคิไก กล่าวถึงผลการสำรวจสุขภาพจิตของบุคลากรการแพทย์ในประเทศญี่ปุ่นว่า ในการตรวจสอบสุขภาพจิตของบุคลากรการแพทย์ในญี่ปุ่น ผ่านการแจกแบบสอบถามสำรวจความเครียด จำนวน 723 คน และการสัมภาษณ์พูดคุยแบบแชร์ประสบการณ์กัน จำนวน 37 คน พบว่าบุคลากรแพทย์ไม่ต่ำกว่า 30% จากทั้งหมดมีความเครียดสูง ถือว่าเป็นคนที่มีความเครียดอย่างมาก
ดร.ชิโรชิกะ กล่าวอีกว่า หลังจากได้พูดคุยกัน เราพบว่าความเครียดของบุคลากรแพทย์มีสาเหตุมาจาก ความกังวลต่อการติดเชื้อ การไม่ได้รับการพักผ่อนอย่างเพียงพอ การขาดอิสรภาพในการใช้ชีวิตของตนเอง เช่น การไม่สามารถกินอาหารร่วมกับครอบครัว หรือติดต่อกับบุคคลภายนอกได้ รวมถึงการถูกเลือกปฏิบัติเหมือนเชื้อโรค เพราะทำงานใกล้ชิดกับผู้ป่วย และมีหลายคนติดเชื้อจากการดูแลผู้ป่วย ขณะเดียวกันก็รู้สึกการได้รับการปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียมกัน โดยรู้สึกว่าตัวเองปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรคที่เคร่งครัดมาก แต่ในทางกลับกันบุคคลทั่วไปไม่ค่อยให้ความร่วมมือเท่าไร จึงเครียดมาก
จากการวิเคราะห์ผลสำรวจ เพื่อบรรลุฉันทามติ ดร.ชิโรชิกะ จึงให้ข้อเสนอว่า ผู้นำควรจะประกาศอย่างเป็นทางการว่านี่เป็นวิกฤติที่ไม่ใช่ความผิดพลาดของแพทย์ พร้อมขจัดการเลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อ รวมถึงแพทย์ที่ติดเชื้อหรือปฏิบัติหน้าที่ใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อด้วย นอกจากนั้นหัวหน้าแผนกต่างๆควรจะแสดงถึงความห่วงใยโดยอาจโทรหาเจ้าหน้าที่ที่ติดเชื้ออยู่ตลอด และเมื่อเขารักษาหายแล้ว กลับมาปฏิบัติหน้าที่ต่อ อยากให้ขอบคุณเขา รวมถึงอยากให้มีการจ่ายค่าจ้างพิเศษเพิ่มขึ้นเพื่อเป็นการตอบแทนในภาระหน้าที่อันหนักหน่วงท่ามกลางการระบาดของโควิดด้วย
(ภาพ: ฉันทามติที่ได้จากการวิเคราะห์ผลสำรวจของ ดร.ชิโรชิกะ)
(ภาพ: ฉันทามติที่ได้จากการวิเคราะห์ผลสำรวจของ ดร.ชิโรชิกะ)
@ กลยุทธ์ 'ไต้หวัน' ลดอัตราการฆ่าตัวตายช่วงโควิด
สำหรับปัญหาทางสุขภาพจิตของไต้หวันนั้น รศ.เทียนนี วู คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งชาติของประเทศไต้หวัน กล่าวว่า ในช่วงการระบาดของโควิด ปี 2563 ไต้หวันพบความเสี่ยงและอัตราการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยมีผู้ฆ่าตัวตายในช่วงวิกฤติโควิด อยู่ที่ 11 คนต่อประชากรแสนคน ส่วนสาเหตุที่เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยแตก เนื่องจากเรามีศูนย์เฝ้าระวังการฆ่าตัวตายแห่งชาติ ที่มีการรวบรวมสถิติ ข้อมูลพื้นฐานของผู้ฆ่าตัวอย่างแห่งชาติเป็นประจำทุกปี เพื่อนำข้อมูลเหล่านั้นไปปรับใช้เป็นกลยุทธ์ในการป้องกันการฆ่าตัวตายที่ตอบโจทย์มากขึ้น
“สำหรับกลยุทธ์ที่เราใช้ เราใช้ยุทธศาสตร์การป้องกันการฆ่าตัวตายจากบนลงล่าง คือ การนำความรู้ที่เรามีมาคาดการณ์ในสิ่งที่จะเกิดขึ้น และเตรียมแผนรองรับ โดยให้ประชาชนทุกคนที่พบเห็นคนกำลังพยายามฆ่าตัวตายรายงานมาที่ศูนย์เฝ้าระวังการฆ่าตัวตาย จากนั้นศูนย์จะทำการส่งต่อและให้บริการทางสุขภาพจิต นอกจากนั้นยังวางยุทธศาสตร์จากล่างขึ้นบนด้วย คือเราจะส่งเสริมสุขภาพจิตในหลากหลายสถานการณ์ อาทิ ในโรงเรียน ในภาคสาธารณสุข และสื่อมวลชนด้วย” รศ.เทียนนี กล่าว
จากการกำหนดกลยุทธ์ นำมาสู่การปฏิบัติ เราได้จัดโครงการดูแลผู้ป่วยที่รอดชีวิตจากการพยายามฆ่าตัวตาย เพื่อให้บริการติดตามและดูแลให้คำปรึกษาทั้งสำหรับผู้พยายามฆ่าและสมาชิกในครอบครัว, จัดศูนย์สุขภาพชุมชนในทุกเมืองและชานเมือง เพื่อคอยให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตที่ราคาถูก, มอบให้ท้องถิ่นแต่ละพื้นที่ร่วมกันหาแนวทางป้องกันการฆ่าตัวตายที่สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมในแต่ละท้องถิ่น และส่งเสริมการฝึกอบรมด้านสุขภาพจิตให้สื่อมวลชนทั่วประเทศ
นอกจากนั้น ยังมีการออกกฎหมายแบน ‘พาราควอต’ หรือยาฆ่าหญ้า ในปี 2561 ซึ่งเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ชาวไต้หวันนำไปใช้ในการฆ่าตัวตาย แม้จะมีสัดส่วนของผู้ใช้วิธีนี้ไม่เยอะมาก คิดเป็น 12.5% ของวิธีการฆ่าตัวตายทั้งหมด แต่ทำให้การฆ่าตัวตายด้วยการใช้ยาฆ่าหญ้าโดยรวมลดลง
ขณะเดียวกัน เราได้นำเอาประสบการณ์ในการต่อสู้เพื่อควบคุมในโรคซาร์ส และโรคไข้หวัดใหญ่ H1N1 นำมาใช้ในการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิดด้วย อาทิ การให้ข้อมูลความรู้ที่ถูกต้อง และการจัดทำแบบประเมินความเสี่ยงทางสุขภาพจิต แก่ประชาชนผ่านช่องทางออนไลน์ และการให้บริการสุขภาพจิตตั้งแต่การสอบสวนโรค การแยกกักตัวเพื่อรอผลตรวจ ไปจนถึงการกักตัวเมื่อพบติดเชื้อ เพราะหลายคนมักวิตกกังวลกลัวติดเชื้อ กลัวถูกตีตราว่าเป็นตัวเชื้อโรค หรือเครียดสะสมเมื่อต้องแยกกักตัวอยู่คนเดียว
“การดูแลสุขภาพจิตในเชิงรุก มีความจำเป็นมากในช่วงการระบาดของโควิดในการวินิจฉัยผู้ที่มีภาวะซึมเศร้า หรือมีโรคร่วมในจิตเวช นอกจากนั้นการเตรียมพร้อมดูแลประชาชนทั่วไปก็มีความสำคัญเช่นเดียวกัน แต่อาจส่งเสริมการให้ความรู้ผ่านสื่อมวลชน ให้ความช่วยเหลือในการบอกช่องทางการหาข้อมูลต่างๆ และการจัดทำสายด่วนหรือแอปพลิเคชันเพื่อประเมินความเสี่ยงทางสุขภาพจิต สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ประชาชนรู้ตัวว่ามีความเสี่ยงหรือไม่ และแสวงหาทรัพยากรต่างๆมาช่วยเหลือตนเองได้มากขึ้น” รศ.เทียนนี กล่าว
(ภาพ: ข้อเสนอเพื่อการป้องกันการฆ่าตัวตาย)
@ ไทยฆ่าตัวตายพุ่งสูงในรอบ 10 ปี โดยเฉพาะพนักงาน-คนว่างงาน
ส่วนอัตราการฆ่าตัวตายของประเทศไทยนั้น นพ.ณัฐกร จำปาทอง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ กล่าวด้วยว่า ตั้งแต่ประเทศไทยประสบปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง อัตราการฆ่าตัวตายก็เริ่มลดลง กระทั่งเราเผชิญกับปัญหาวิกฤตโควิด อัตราการฆ่าตัวตายจึงกลับมาเพิ่มสูงสุดอีกครั้งในรอบทศวรรษ ในอัตรา 7.37 คนต่อประชากรแสนคน โดยมีปัจจัยทางเศรษฐกิจเป็นสาเหตุสำคัญที่นำไปสู่การฆ่าตัวตาย
"ในปี 2563 เรายังพบอีกว่าลักษณะของอาชีพที่พบการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นสูง ประกอบด้วย ผู้ประกอบอาชีพพนักงานและคนว่างงานที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ขณะเดียวกันในกลุ่มของเกษตรกรและค้าขาย เพิ่มขึ้นเล็กน้อย หลักฐานตรงนี้ชี้ให้เห็นว่าหลักฐานการฆ่าตัวตาย เป็นปัญหาทางสังคมและเศรษฐกิจ ไม่ใช่ปัญหาทางสาธารณสุขอย่างเดียว" นพ.ณัฐกร กล่าว
นพ.ณัฐกร กล่าวอีกว่า ปรากฏการณ์ในช่วงโควิด ทำให้เราเห็นว่าการจะแก้ปัญหาซับซ้อนนี้ได้จะต้องได้รับความร่วมมือจากหลากหลายภาคส่วน ในเรื่องการสร้างงาน การจัดการหนี้สิน และการสร้างองค์ความรู้สร้างภูมิคุ้มกันทางใจให้กับประชาชน ซึ่งหากทุกภาคส่วนยังไม่ร่วมมือกัน ยังใช้มาตรการเดิมในการแก้ปัญหา คาดว่าตัวเลขอัตราการฆ่าตัวตายอาจพุ่งสูงสุดในประวัติการเป็น 9.45 คนต่อประชากรแสนคน แต่หากดำเนินตามมาตรการใหม่ได้ อัตราการตายอาจลดลงมาอยู่ที่ 7.35 คนต่อประชากรแสนคน
(ภาพ: การคาดการณ์อัตราการฆ่าตัวของประเทศไทย)
โดยในปี 2564 รัฐบาลไทยได้เตรียมพร้อมที่จะจัดตั้งยุทธศาสตร์ป้องกันการฆ่าตัวตายแห่งชาติ เป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งจะเน้นกลุ่มเปราะบางทางสังคมให้สามารถเข้าถึงสวัสดิการทางสังคมในด้านสุขภาพกายและสุขภาพจิตมากขื้น โดยมีการกำหนดยุทธศาสตร์ดังนี้
1.ส่งเสริมความรู้ด้านสวัสดิการสังคมและสุขภาพผ่านสื่อมวลชนในหลายภาคส่วน ไม่จำกัดเฉพาะด้านสุขภาพ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งทางจิตใจให้กับประชาชนกลุ่มเปราะบาง
2.การพัฒนาระบบคัดกรอง สืบค้น และการเฝ้าระวังประชากรฆ่าตัวตายตามความรุนแรงให้ครอบคลุมทุกมิติ
3.สร้างกลไกการป้องกันการฆ่าตัวตายในแต่ละจังหวัด เนื่องจากปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมในแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน
4. การพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรมทำระบบการจัดการข้อมูล เพื่อสนับสนุนการจัดตั้งนโยบายและการตัดสินใจ โดยในปัจจุบันได้มีการแบ่งโซนสีจังหวัดตามความรุนแรงของอัตราการฆ่าตัวตาย แบ่งเป็น สีแดง สีเหลือง และสีเขียว เพื่อจัดลำดับความสำคัญก่อนหลัง ดำเนินการแก้ไขในส่วนที่เร่งด่วนก่อน
ทั้งหมดนี้ต่างเป็นการร่างยุทธศาสตร์จากหลายประเทศ ที่วิเคราะห์ปัญหาทางสุขภาพจิตมาขับเคลื่อน เพื่อการป้องกันการฆ่าตัวตาย โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด แต่ความสำเร็จนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากไม่ได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ดังนั้นหากทุกคนร่วมมือกัน นำความรู้ต่างๆ มาบูรณาการ ประเทศไทยอาจมีอัตราการตายลดลงมามากกว่า 7.35 คนต่อประชากรแสนคนตามที่นักวิชาการชาวไทยได้คาดการณ์ไว้ก็เป็นไปได้
(ภาพ: ยุทธศาสตร์ป้องกันการฆ่าตัวตายแห่งชาติปี 2564 - 2565)
(ภาพ: การแบ่งโซนสีตามความรุนแรงของสถานการณ์การฆ่าตัวตายในประเทศไทย)
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/