4 นักวิชาการเผยพิษโควิด ทำอัตราฆ่าตัวตายเพิ่มใน 3 ประเทศ รวมไต้หวัน โดยไทยพุ่งสูงสุดในรอบทศวรรษ ย้ำทุกภาคส่วนต้องร่วมกันแก้ พร้อมแนะให้สร้างองค์ความรู้ให้ประชาชน ส่งเสริมสายด่วนให้คำปรึกษา เพิ่มรายได้พิเศษให้แพทย์ และรณรงค์ให้ลดการตีตราทางสังคมทั้งสำหรับผู้ใกล้ชิดและผู้ติดโควิด
..................................................
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 8 มิ.ย.2564 ดร.มินบิ ลี ศูนย์สุขภาพจิต ประเทศเกาหลีใต้ ร่วมกับ รศ.เทียนนี วู คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งชาติของประเทศไต้หวัน ดร.ชิโรชิกะ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเทคนิงะ เทนคิไก และ นพ.ณัฐกร จำปาทอง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ กล่าวถึงผลกระทบทางสุขภาพจิตในช่วงการระบาดของโควิดในงานเสวนาประเด็น การฟื้นฟู ส่งเสริม และป้องกันการฆ่าตัวตาย โดย ดร.มินบิ กล่าวว่า ในช่วงวิกฤติโควิดภายในประเทศเกาหลีใต้ต่างมีอัตราการฆ่าตัวตาย และซึมเศร้าเพิ่มสูงขึ้น และประชาชนยังต้องการปรึกษาปัญหาทางด้านสุขภาพจิตในช่วงวิกฤติโควิด เพิ่มขึ้นถึง 20% ต่างจากเดิมในปี 2562 ที่มีเพียง 3.8%
ส่วนผลกระทบทางสุขภาพจิตในการระบาดของโควิดในประเทศไทย นพ.ณัฐกร กล่าวว่า อัตราฆ่าตัวตายตั้งแต่ปี 2540-2563 พบว่าตั้งแต่ประเทศไทยประสบปัญหาวิฤษติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง อัตราการฆ่าตัวตายก็เริ่มลดลง กระทั่งเราเผชิญกับปัญหาวิกฤตโควิด อัตราการฆ่าตัวตายจึงกลับมาเพิ่มสูงสุดอีกครั้งในรอบทศวรรษ โดยมีปัจจัยทางเศรษฐกิจเป็นสาเหตุสำคัญที่นำไปสู่การฆ่าตัวตาย
"นอกจากนั้น ในปี 2563 เรายังพบอีกว่าลักษณะของอาชีพที่พบการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นสูง ประกอบด้วย ผู้ประกอบอาชีพพนักงานและคนว่างงานที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ขณะเดียวกันในกลุ่มของเกษตรกรและค้าขาย เพิ่มขึ้นเล็กน้อย หลักฐานตรงนี้ชี้ให้เห็นว่าหลักฐานการฆ่าตัวตาย เป็นปัญหาทางสังคมและเศรษฐกิจ ไม่ใช่ปัญหาทางสาธารณสุขอย่างเดียว" นพ.ณัฐกร กล่าว
ขณะที่สถานการณ์ปัญหาสุขภาพจิตในไต้หวัน รศ.เทียนนี วู กล่าวว่า ในช่วงการระบาดของโควิด ปี 2563 ไต้หวันพบความเสี่ยงและอัตราการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยมีตัวเลขการฆ่าตัวตายอยู่ที่ 11 คนต่อประชากรแสนคน ซึ่งโดยส่วนมากมักเป็นเพศชาย ที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป แต่ปัจจุบันเริ่มมีแนวโน้มการฆ่าตัวตายของผู้มีอายุตั้งแต่ 15-24 ปี มากขึ้น ตั้งแต่ปี 2562 นอกจากนั้นยังพบว่าวิธีการฆ่าตัวตายที่ใช้มากที่สุด 3 ลำดับ คือ การผูกคอตาย การเผาถ่าน และการใช้สารที่เป็นยาฆ่าพิษ เช่น ยาฆ่าแมลง
ด้าน ดร.ชิโรชิกะ กล่าวด้วยว่า จากการตรวจสอบสุขภาพจิตของบุคลากรการแพทย์ในญี่ปุ่น ผ่านการแจกแบบสอบถามสำรวจความเครียด จำนวน 723 คน และจากการสัมภาษณ์พูดคุยแบบแชร์ประสบการณ์กัน จำนวน 37 คน พบว่าบุคลากรแพทย์ไม่ต่ำกว่า 30% จากทั้งหมดมีความเครียดสูง ถือว่าเป็นคนที่มีความเครียดอย่างมาก โดยมีสาเหตุมาจาก ความกังวลต่อการติดเชื้อ การไม่ได้รับการพักผ่อนอย่างเพียงพอ การขาดอิสรภาพในการใช้ชีวิตของตนเอง เช่น การไม่สามารถกินอาหารร่วมกับครอบครัว หรือติดต่อกับบุคคลภายนอกได้ รวมถึงการถูกเลือกปฏิบัติเหมือนเชื้อโรค เพราะทำงานใกล้ชิดกับผู้ป่วย
สามารถสรุปใจความได้ว่า ความเครียด และภาวะซึมเศร้าที่พบมากขึ้นในตัวบุคคลและสังคมทั้งภายในประเทศ และหลายประเทศในเอเซีย ต่างมีความเชื่อมโยงกับการระบาดของโควิด สำหรับแผนการฟื้นฟู ส่งเสริม และการป้องกันการฆ่าตัวตายนั้น จะต้องอาศัยความมีส่วนร่วมจากหลายๆภาคส่วนเพื่อการร่วมกันแก้ไขปัญหาสุขภาพจิตของคนภายในประเทศ โดยต้องมุ่งเน้นให้องค์ความรู้ผ่านสื่อมวลชนและผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น แอปพลิเคชัน เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงองค์ความรู้ได้ง่าย
นอกจากนั้น ยังควรกำหนดนโยบายแก้ปัญหา เพื่อให้เห็นผลในระยะยาว รวมถึงการส่งเสริมสายด่วนปรึกษาสุขภาพจิต เพิ่มรายได้พิเศษให้บุคลากรการแพทย์ และรณรงค์ให้ลดการตีตราทางสังคมทั้งสำหรับผู้ใกล้ชิดและผู้ติดโควิด ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดความเครียด ที่อาจนำไปสู่การฆ่าตัวตายในท้ายที่สุด
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/