ภารกิจสร้างยุทธภัณฑ์ทางการแพทย์ โดยทัพหน้า ‘แพทย์ราชวิถี’ และทัพหลัง ‘เอสซีจี’ ช่วยติดอาวุธ กับ "นวัตกรรมป้องกันโควิด-19 แบบเคลื่อนที่ (Mobile Isolation Unit)"
เป็นเวลากว่า 3 เดือน ที่เชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 ได้ประกาศสงครามกับมนุษย์ การต่อสู้กับสงครามโควิด-19 ดำเนินมาอย่างเข้มข้นและส่งผลกระทบในวงกว้าง สำหรับประเทศไทย สงครามนี้ได้คร่าชีวิตผู้คนไปแล้ว 47 ราย มีผู้ติดเชื้อจากการโจมตีของไวรัสสะสมกว่า 2,792 ราย โดยรักษาหายแล้ว 1,999 ราย และกำลังรักษาอยู่ในโรงพยาบาล 746 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 20 เมษายน 2563)
ยุทธศาสตร์การรบกับเชื้อไวรัสที่ไม่เคยมีใครรู้จักมาก่อนเช่นนี้ แน่นอนว่ากำลังพลที่สำคัญที่สุดคือ “บุคลากรทางการแพทย์” ที่เปรียบเหมือนนักรบทัพหน้า และระหว่างที่ทั่วโลกกำลังรออาวุธทำลายล้างเชื้อไวรัสร้ายนี้ ซึ่งก็คือวัคซีนและยารักษาโรค เอสซีจี ได้ผนึกกำลังกับทีมแพทย์โรงพยาบาลราชวิถี ด้วยการจัดส่งทีมวิศวกรและนักออกแบบมาเป็นทัพหลัง ช่วยปฏิบัติภารกิจสร้างยุทธภัณฑ์ทางการแพทย์ “นวัตกรรมป้องกันโควิด-19 แบบเคลื่อนที่ (Mobile Isolation Unit)”
เสียงจากแม่ทัพใหญ่ จัดสรรกำลังพลอย่างไร ให้พร้อมคว้าชัยเหนือโควิด-19
ในยามสงคราม การเตรียมกองทัพเพื่อรับมือกับภัยคุกคามเป็นปฏิบัติการที่ต้องดำเนินการอย่างรวดเร็วและมีกลยุทธ์ การจัดกองทัพจึงต้องประกอบด้วย แม่ทัพใหญ่ การจัดสรรกำลังพล อาวุธยุทโธปกรณ์ และยุทธศาสตร์ในการทำสงคราม
“ผ่านมา 3 เดือนตั้งแต่โรงพยาบาลราชวิถีมีผู้ป่วยโควิด-19 คนแรก บุคลากรทางการแพทย์ต้องเตรียมพร้อม ทั้งความรู้ความสามารถในการดูแลผู้ป่วย อุปกรณ์ และสถานที่ต่าง ๆ และเนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ บุคลากรทางการแพทย์ย่อมมีความเสี่ยงในการติดเชื้อมากยิ่งขึ้นด้วย เราจึงจัดการหมุนเวียนบุคลากรเพื่อช่วยลดชั่วโมงการทำงานลง เพื่อแพทย์และพยาบาลจะได้ไม่เหนื่อยจนเกินไป ถ้าเจ้าหน้าที่ของเราติดเชื้อ ส่งผลให้ต้องพักงาน เกิดความกังวลใจ หรือหากมีการเจ็บป่วยหรือเสียชีวิต จะบั่นทอนกำลังใจอย่างมาก เราจึงต้องดูแลป้องกันในเชิงรุกอย่างดีที่สุด ดังนั้น อุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง ขอขอบคุณเอสซีจี ที่ช่วยคิดค้นนวัตกรรมป้องกันเชื้อโควิด-19 แบบเคลื่อนที่ หรือ Mobile Isolation Unit โดยเฉพาะห้องตรวจเชื้อความดันลบหรือบวกแบบเคลื่อนที่ ที่ช่วยเป็นเกราะกำบังให้ทีมแพทย์ปฏิบัติงานได้อย่างมั่นใจ
ในปัจจุบัน การรักษาหรือผ่าตัดคนไข้ทั่วไปยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง โดยต้องมีการตรวจคัดกรองเชื้อ (Swab) ทุกครั้งก่อนการผ่าตัดหรือทำหัตถการใด ๆ เพื่อความปลอดภัย ห้องตรวจเชื้อความดันลบหรือบวกแบบเคลื่อนที่ ช่วยให้เราสามารถคัดกรองผู้ป่วยก่อนการผ่าตัดได้เป็นอย่างดี ที่สำคัญคือ ไม่ว่าจะใช้ที่โรงพยาบาลราชวิถีหรือโรงพยาบาลต่างจังหวัดก็สะดวก เพราะน้ำหนักเบา ติดตั้งและเคลื่อนย้ายได้รวดเร็ว ช่วยป้องกันให้บุคลากรทางการแพทย์ปลอดภัย” นายแพทย์สมเกียรติ ลลิตวงศา ผู้อำนวยการ รพ.ราชวิถี กล่าว
Mission Possible ป้องกันเชื้อจากคนไข้สู่บุคลากรทางการแพทย์
แนวคิดของยุทโธปกรณ์ คือ ต้องช่วยแยกสิ่งแวดล้อมของผู้ป่วยที่ติดเชื้อออกจากผู้อื่น เพื่อป้องกันการติดเชื้อ และต้องเป็นอุปกรณ์ที่สะดวกในการติดตั้งและง่ายต่อการใช้งาน หลังจากได้ทดลองใช้นวัตกรรมกลุ่ม Mobile Isolation Unit ที่ออกแบบร่วมกันระหว่างทีมแพทย์จาก 3 โรงพยาบาล ได้แก่ โรงบาลราชวิถี โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน และทีมออกแบบพร้อมด้วยวิศวกรจากธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี ทีมแพทย์ต่างกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า อุปกรณ์เหล่านี้มีความหมายอย่างมาก เพราะช่วยรับมือกับสถานการณ์ด้วยความรวดเร็ว และสามารถรื้อถอนได้เมื่อสถานการณ์กลับมาเป็นปกติ
“ในโรงพยาบาลเราต้องแยกผู้ป่วยติดเชื้อออกจากผู้ป่วยปกติ และลดการปนเปื้อนและติดเชื้อของผู้ป่วยจากการแพร่กระจายเชื้อทางอากาศ (Airborne) ไปยังผู้ป่วยอื่น ๆ นวัตกรรมที่เป็นเกราะป้องกันสำคัญสำหรับพื้นที่อันตราย (Red Zone) คือ ห้องแยกป้องกันเชื้อความดันลบแบบเคลื่อนที่ ที่มีลักษณะเหมือนเต็นท์ เหมาะกับการใช้ในห้องฉุกเฉินหรือไอซียู โดยปกติจะมีคนไข้ราว 5% ที่ป่วยหนักจนต้องเข้าไอซียู การสร้างห้องควบคุมความดันลบเพื่อควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อในเวลาอันรวดเร็วเพื่อรองรับผู้ป่วยหนัก ถือเป็น Mission Impossible เพราะการสร้างห้องความดันลบห้องใหม่จะเสียเวลานานมาก แต่ห้องแยกป้องกันเชื้อความดันลบของเอสซีจี เป็น Mission Possible สามารถติดตั้งได้เองโดยบุคลากรทางการแพทย์ภายในเวลา 1 ชั่วโมง และสามารถปรับให้เป็นห้องความดันลบ (Negative Pressure) ได้ทันที
นอกจากนี้ ยังมี แคปซูลเคลื่อนย้ายผู้ป่วยความดันลบ ที่ช่วยเป็นเกราะป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อขณะขนย้ายผู้ป่วย เพื่อความปลอดภัยของบุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วยอื่น ๆ ที่ไม่ได้ติดเชื้อโควิด-19 เช่น ผู้ป่วยมะเร็ง ผู้ตั้งครรภ์ที่จะมาคลอด ให้สามารถมารักษาและใช้บริการร่วมกันในโรงพยาบาลเดียวกันได้อย่างปลอดภัย” เป็นอีกเสียงของนายแพทย์พีระพัฒน์ มกรพงศ์ หัวหน้างานศัลยกรรมหัวใจและทรวงอกหัวใจ รพ.ราชวิถี
จุดเด่นของนวัตกรรม น้ำหนักเบา สะดวก ติดตั้งง่าย ช่วยลดการใช้ PPE
“Mobile Isolation Unit มีน้ำหนักเบา ขนส่งสะดวก ราคาเหมาะสม ติดตั้งได้ง่าย อย่างที่โรงพยายาลราชวิถี ทีมบุคลากรทางการแพทย์ก็มาร่วมแรงร่วมใจกันติดตั้งเอง แม้แต่หมออายุรกรรม หรือหมอผู้หญิง ก็มาช่วยติดตั้งห้องแยกป้องกันเชื้อความดันลบแบบเคลื่อนที่ ในวอร์ดไอซียู โดยใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง เราไม่ต้องเสียเวลาปรับปรุงวอร์ดใหม่ และสามารถนำไปใช้กับโรงพยาบาลสนามได้ในอนาคต และปัญหาสำคัญในปัจจุบัน คือ อุปกรณ์ความปลอดภัยสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ หรือ PPE เริ่มมีจำนวนไม่เพียงพอต่อความต้องการ นวัตกรรมป้องกันเชื้อโควิด-19 แบบเคลื่อนที่ จึงช่วยลดการใช้อุปกรณ์ PPE ได้มาก และช่วยให้สามารถตรวจคัดกรองผู้ป่วยได้รวดเร็วและจำนวนมากยิ่งขึ้น (Productivity) อีกทั้งยังสามารถขนย้ายอุปกรณ์ได้อย่างรวดเร็วและปลอดภัย” นายแพทย์สมบูรณ์ ทรัพย์วงศ์เจริญ หัวหน้างานศัลยศาสตร์ทั่วไป รพ.ราชวิถี กล่าว
เบื้องหลัง “นวัตกรรมป้องกันเชื้อโควิด-19 แบบเคลื่อนที่” เกราะกำบังที่ตอบโจทย์ทุกการใช้งาน
องคาพยพจากธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี ในภารกิจนี้ ได้แก่ หน่วยงาน Medical and Well-being ผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างสรรค์นวัตกรรมทางการแพทย์ ทีม Design Catalyst ผู้เชี่ยวชาญด้านวัสดุและการออกแบบ ทีมวิศวกรจาก REPCO และนวอินเตอร์เทค ที่เชี่ยวชาญด้านเครื่องกลและหุ่นยนต์ และทีม Texplore ดูแล Supply Chain และการติดตั้ง ได้มาช่วยระดมสมองและสรรพกำลัง ทำงานเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของทีมแพทย์ ภายใต้ความท้าทายเรื่องเวลา และความต้องการใช้ยุทธภัณฑ์ทางการแพทย์ของทั้งประเทศ
“โจทย์สำหรับภารกิจนี้ คือ นวัตกรรมของเราต้องปกป้องคุณหมอไม่ให้ติดเชื้อโรคจากคนไข้ และช่วยให้คุณหมอทำงานได้ดีขึ้น จึงเป็นที่มาของ Mobile Isolation Unit หรือ นวัตกรรมป้องกันเชื้อโควิด-19 แบบเคลื่อนที่ ที่เน้นเรื่อง Mobility คือ น้ำหนักเบา ติดตั้งง่าย เคลื่อนย้ายสะดวก ขนส่งและกระจายสู่ต่างจังหวัดที่มีความต้องการใช้งานได้
ภารกิจนี้มีความท้าทายค่อนข้างสูง อุปกรณ์ทางการแพทย์เหล่านี้ไม่เคยมีก่อน ทีมเอสซีจีต้องเรียนรู้ทุกอย่างในระยะเวลาอันสั้น ต้องทำงานกลมกลืนเป็นทีมเดียวกับทีมแพทย์ และต้องเร่งพัฒนานวัตกรรม ตลอดจนต้องทดสอบให้ผ่าน ความท้าทายแรกจึงอยู่ที่ขั้นตอนการพัฒนาและออกแบบ (Development and Design) ที่มีระยะเวลาสั้นมาก ความท้าทายที่สองคือ มีความต้องการใช้อุปกรณ์เหล่านี้มีสูงมาก ทำอย่างไร เอสซีจีจึงจะ สามารถผลิตนวัตกรรมเหล่านี้ให้ทันและเพียงพอ (Scale Up) ต่อความต้องได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว” ดร.สุรชา อุดมศักดิ์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี ดูแลงานเทคโนโลยีและนวัตกรรม กล่าวปิดท้ายด้วยความมุ่งมั่น
อย่างไรก็ตาม ยังมีโรงพยาบาลทั่วประเทศอีกจำนวนมากที่ต้องการนวัตกรรมเพื่อการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ผู้ที่สนใจอยากร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์ สามารถบริจาคเงินสมทบ “มูลนิธิชัยพัฒนา” ผ่านบัญชี “กองทุนชัยพัฒนาสู้ภัยโควิด 19 (และโรคระบาดต่าง ๆ)” ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาสวนจิตรลดา บัญชีกระแสรายวัน เลขที่บัญชี 067-300487-3 โทร.02-2447-8585 ถึง 8 ต่อ 109 / 121 / 259 หรือร่วมบริจาคผ่าน “สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย” รวมทั้ง “หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย” เพื่อส่งมอบนวัตกรรมต่างๆ ให้โรงพยาบาลที่มีความต้องการ โดยสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่คอลเซ็นเตอร์ โทร. 02-586-2888