'ไทยพาณิชย์-กสิกรไทย-กรุงไทย-กรุงเทพ' นำร่องปรับลดดอกกู้ทั้ง MLR, MOR และ MRR ลง 0.40% ช่วยเหลือลูกหนี้ มีผล 10 เม.ย.นี้ สนองมาตรการแบงก์ชาติลดเงินนำส่งกองทุน FIDF
เมื่อวันที่ 9 เม.ย. นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า จากสถานการณ์ไวรัส COVID-19 ที่ยังคงแพร่ระบาดอย่างรุนแรงและยังไม่สามารถคาดการณ์ระยะเวลาสิ้นสุดได้ ส่งผลให้เศรษฐกิจโดยรวมชะลอตัวแรงจากภาวะชะงักงันในภาคธุรกิจ และเพื่อตอบสนองนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ได้ประกาศมาตรการปรับลดอัตรานำส่งเงินสมทบกองทุนฟื้นฟูฯ (FIDF) ของธนาคารพาณิชย์
ธนาคารฯ ประกาศลดดอกเบี้ยเงินกู้ทุกประเภทลง 0.40% เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบภาระต้นทุนดอกเบี้ยของลูกค้าธนาคารฯ โดยอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทแบบมีระยะเวลา หรือ MLR ปรับลดจาก 5.775% เป็น 5.375% อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินเบิกเกินบัญชี หรือ MOR ปรับลดลงจาก 6.495% เป็น 6.095% และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี หรือ MRR ปรับลดลงจาก 6.745% เป็น 6.345%
ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ใหม่จะมีผลตั้งแต่วันที่ 10 เม.ย.2563 เป็นต้นไป
"ธนาคารหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ภาระดอกเบี้ยที่ลดลงดังกล่าวจะมีส่วนช่วยให้ลูกค้าธุรกิจและลูกค้าสินเชื่อรายย่อยมีต้นทุนทางการเงินที่ลดลง และช่วยให้ลูกค้าสามารถฟันฝ่าวิกฤตนี้ไปได้ในที่สุด อีกทั้งธนาคารฯยังคงมุ่งมั่นในการเพิ่มมาตรการต่างๆอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยเหลือลูกค้าที่ยังคงได้รับผลกระทบ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ลูกค้าและธนาคารฯ สามารถฟันฝ่าวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกัน" นายอาทิตย์กล่าว
ด้านนายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ธนาคารกสิกรไทยพร้อมสนับสนุนกลไกภาครัฐเพื่อช่วยเหลือลูกค้าทุกกลุ่มของธนาคาร โดยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MLR, MOR และ MRR ทันทีอีก 0.40% หลังจากที่ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ไปแล้ว เมื่อวันที่ 24 มี.ค.2563 ทำให้อัตราดอกเบี้ย MLR ปรับลดมาอยู่ที่ระดับ 5.60% MOR และ MRR ปรับลดมาอยู่ที่ระดับ 6.22% และ 6.10% ตามลำดับ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 10 เม.ย.2563 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้จะเป็นอีกหนึ่งมาตรการเพิ่มเติมจากมาตรการอื่น ๆ ที่ธนาคารได้มีการประกาศใช้เพื่อให้ความช่วยเหลือและลดภาระดอกเบี้ยให้กับลูกค้าของธนาคารอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา เพื่อเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของธนาคารในการช่วยดูแล และประคับประคองลูกค้าของธนาคารให้ผ่านพ้นสถานการณ์วิกฤตไปได้
"การปรับลดอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้ ธนาคารปรับลดเฉพาะอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงเท่านั้น ยังไม่ได้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากลงแต่อย่างใด" นายปรีดีกล่าว
ก่อนหน้านี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบให้สถาบันการเงินลดการนำส่งเงินนำส่งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF Free) จาก 0.46% ต่อปีบนฐานเงิน ให้เหลือ 0.23% ต่อปีบนฐานเงินฝาก เป็นระยะเวลา 2 ปี เพื่อให้สถาบันการเงินนำเงินนำส่งที่ลดลงดังกล่าว ไปลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้กับประชาชนและธุรกิจทันที โดย ธปท. คาดหวังว่าธนาคารต่างๆจะลดดอกเบี้ยเงินกู้ลงไม่น้อยกว่า 0.23% และดำเนินการทันที
นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ในฐานะธนาคารพาณิชย์ของรัฐ ธนาคารตระหนักถึงการมีส่วนร่วมในการพยุงเศรษฐกิจ และพร้อมสนับสนุนกลไกของภาครัฐ ในภาวะวิกฤติเศรษฐกิจที่ชะลอตัวอย่างรุนแรงจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ดังนั้น เพื่อเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระและลดต้นทุนทางการเงินของลูกค้าสินเชื่อทั้งภาคธุรกิจและลูกค้ารายย่อย ตลอดจนประชาชนและตอบสนองนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ได้ประกาศมาตรการปรับลดอัตรานำส่งเงินสมทบกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินของธนาคารพาณิชย์ ธนาคารจึงปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงอย่างละ 0.40% ต่อปี โดย MLR เหลืออัตรา 5.375% ต่อปี MOR เหลืออัตรา 6.220 % ต่อปี และ MRR เหลืออัตรา 6.345% ต่อปี โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน 2563 เป็นต้นไป
การปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในครั้งนี้ เป็นอีกหนึ่งมาตรการเพิ่มเติมจากมาตรการอื่น ๆ ที่ธนาคารได้ให้ความช่วยเหลือและลดภาระให้กับลูกค้าอย่างต่อเนื่อง เช่น การพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยนาน 6 เดือน การสนับสนุนสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ โดยธนาคารมีเป้าหมายเพื่อให้ลูกค้าของธนาคารสามารถผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้ รวมทั้งช่วยลดผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ
ด้านนายสุวรรณ แทนสถิตย์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ธนาคารฯประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อ 3 ประเภท ลง 0.40% ทั้ง เอ็มแอลอาร์ (MLR) หรืออัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลา (Minimum Loan Rate) เอ็มโออาร์ (MOR) หรืออัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินเบิกเกินบัญชี (Minimum Overdraft Rate) และเอ็มอาร์อาร์ (MRR) หรืออัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี (Minimum Retail Rate) โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2563
สำหรับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้ เป็นการให้ความช่วยเหลือลูกค้าผู้ประกอบการและประชาชนในเรื่องการลดต้นทุนด้านอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญของต้นทุนการดำเนินธุรกิจและลดภาระของประชาชน เพื่อเสริมศักยภาพในการรับมือกับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19
“ธนาคารมีความมุ่งมั่นที่จะประคับประคองให้ลูกค้าผู้ประกอบการและประชาชนสามารถผ่านช่วงวิกฤตินี้ไปได้ อีกทั้งยังเป็นการช่วยกระตุ้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยภาพรวมในช่วงที่มีความเปราะบางทั้งปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ โดยที่ผ่านมาธนาคารกรุงเทพได้ให้การดูแลและให้ความช่วยเหลือลูกค้าผู้ประกอบการให้มีเงินทุนและสภาพคล่องเพียงพอในการดำเนินธุรกิจและรักษาการจ้างงาน และช่วยเหลือประชาชนในการลดภาระทางการเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสนับสนุนมาตรการของภาครัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)” นายสุวรรณ กล่าว
อ่านประกอบ :
บัณฑูร ล่ำซำ : ‘ล่ำซำ’ คนสุดท้าย อำลา ‘กสิกรไทย’ ท่ามกลางพายุใหญ่ ‘โควิด-19’
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/