สำหรับวันนี้ ในส่วนรายงานข้อมูลเศรษฐกิจอาจมีไม่มากนัก โดยในฝั่งไทย บรรดานักวิเคราะห์มองว่า ดุลการค้า (Trade Balance) เดือนมิถุนายนอาจขาดดุล -800 ล้านดอลลาร์ หลังยอดการส่งออก (Exports) หดตัวต่อเนื่องกว่า -6.3%y/y ตามการชะลอตัวลงของบรรดาเศรษฐกิจคู่ค้า
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า
ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.45 บาทต่อดอลลาร์ 'แข็งค่าขึ้น' จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.51 บาทต่อดอลลาร์
โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาททยอยแข็งค่าขึ้น (แกว่งตัวในช่วง 34.38-34.57 บาทต่อดอลลาร์) หนุนโดยภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินโดยรวมที่ส่งผลให้ เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงบ้าง ส่วนราคาทองคำก็สามารถรีบาวด์ขึ้นได้เล็กน้อย
ผู้เล่นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงต่อเนื่อง ท่ามกลางความหวังว่า รายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่จะออกมาสดใสและดีกว่าคาด โดยเฉพาะผลประกอบการของบรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ (Nvidia +2.4%, Microsoft +1.7%) ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 สามารถปิดตลาด +0.28% ทั้งนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ไม่ได้ปรับตัวขึ้นร้อนแรงมากนัก เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างก็รอลุ้นผลการประชุมเฟดในวันพฤหัสฯ นี้
ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องกว่า +0.48% นำโดยการปรับตัวขึ้นแรงของหุ้นกลุ่มเหมืองแร่ (Anglo American +4.8%, Rio Tinto +4.2%) ที่ได้รับอานิสงส์จากการที่ทางการจีนส่งสัญญาณพร้อมกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมหลังการประชุม Politburo ได้เสร็จสิ้นลงในวันก่อน อย่างไรก็ดี การปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นยุโรปยังคงถูกจำกัดโดยท่าทีของผู้เล่นในตลาดที่ต่างรอลุ้นผลการประชุมเฟดรวมถึงธนาคารกลางยุโรป (ECB)
ในฝั่งตลาดบอนด์ ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินฝั่งสหรัฐฯ รวมถึงรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดย Conference Board ที่ปรับตัวขึ้นดีกว่าคาดนั้น ได้ส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องใกล้ระดับ 3.90% อีกครั้ง (แกว่งตัวในกรอบ 3.88%-3.93% ในช่วงคืนก่อนหน้า) ซึ่ง เราคงแนะนำให้ นักลงทุนรอจังหวะบอนด์ยีลด์ระยะยาวปรับตัวสูงขึ้น เพื่อทยอยเข้าซื้อ
ทางด้านตลาดค่าเงิน แม้ว่ารายงานข้อมูลเศรษฐกิจฝั่งสหรัฐฯ จะออกมาดีกว่าคาด แต่ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดก็ทำให้ ผู้เล่นในตลาดต่างทยอยลดสถานะการถือครองสินทรัพย์ปลอดภัย อย่าง เงินดอลลาร์ลง ทำให้เงินดอลลาร์ทยอยอ่อนค่าลง เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวลดลงใกล้ระดับ 101.3 จุด (กรอบการเคลื่อนไหว 101.2-101.7 จุด ในช่วงคืนที่ผ่านมา) ในส่วนของราคาทองคำ แม้ว่าตลาดจะเปิดรับความเสี่ยงและบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็ปรับตัวสูงขึ้น แต่การอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ ยังพอช่วยหนุนให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ส.ค.) รีบาวด์ขึ้นเล็กน้อยสู่ระดับ 1,966 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ได้ ทั้งนี้ เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดจะยังไม่ปรับสถานะถือครองทองคำที่ชัดเจน จนกว่าจะรับรู้ผลการประชุมบรรดาธนาคารกลางหลัก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อทั้งทิศทางเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ระยะยาว
สำหรับวันนี้ ในส่วนรายงานข้อมูลเศรษฐกิจอาจมีไม่มากนัก โดยในฝั่งไทย บรรดานักวิเคราะห์มองว่า ดุลการค้า (Trade Balance) เดือนมิถุนายนอาจขาดดุล -800 ล้านดอลลาร์ หลังยอดการส่งออก (Exports) หดตัวต่อเนื่องกว่า -6.3%y/y ตามการชะลอตัวลงของบรรดาเศรษฐกิจคู่ค้า
และนอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน รวมถึงไฮไลท์สำคัญอย่างการประชุม FOMC ของเฟด ที่จะรับรู้ผลการประชุมในช่วงเวลา 01.00 น. ตามเวลาประเทศไทย โดยเรามองว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย +25bps สู่ระดับ 5.25-5.50% ตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาอย่างใกล้ชิดว่า เฟดจะส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่าพร้อมขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง หรือ รอประเมินสถานการณ์ไปก่อน อนึ่ง เราคงมุมมองเดิมว่า การขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือนกรกฎาคมนี้ จะเป็น 'ครั้งสุดท้าย' ของวัฏจักรการขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้ หลังแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ และอัตราเงินเฟ้อชะลอตัวลงมากขึ้น (อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core PCE เดือนมิถุนายน ที่จะรายงานในวันศุกร์นี้ ก็อาจชะลอลงสู่ระดับ 4.2%) อีกทั้งภาวะสินเชื่อ (Credit Condition) ก็ตึงตัวมากขึ้นชัดเจน
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า ท่าทีของผู้เล่นในตลาดที่รอลุ้นผลการประชุม FOMC ของเฟด รวมถึงความไม่แน่นอนของสถานการณ์การเมืองไทย อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้ เงินบาทไม่ได้กลับมาแข็งค่าขึ้นชัดเจน หรือได้รับอานิสงส์น้อยจากการพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นของเงินหยวนจีน (CNY) ในช่วงวันก่อนหน้า หลังทางการจีนส่งสัญญาณพร้อมออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม ทำให้เราคงมองว่า ค่าเงินบาทก็อาจจะยังไม่สามารถกลับมาแข็งค่าขึ้นได้ชัดเจน จนกว่าปัจจัยกดดันฝั่งอ่อนค่าจะเริ่มคลี่คลายลง
อย่างไรก็ดี ควรระวังความผันผวนของเงินบาทในช่วงตลาดทยอยรับรู้ผลการประชุม FOMC ของเฟด โดยเรามองว่า หากเฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายตามคาด พร้อมส่งสัญญาณชัดเจน เดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องตาม Dot Plot ล่าสุด จนทำให้ผู้เล่นในตลาดเริ่มปรับเพิ่มโอกาสการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดในการประชุมครั้งถัดๆ ไป ภาพดังกล่าวก็อาจหนุนให้ เงินดอลลาร์ปรับตัวแข็งค่าขึ้นได้บ้าง (จะแข็งค่าขึ้น มาก หรือ น้อย อาจขึ้นกับ ความชัดเจน/หนักแน่นของเฟด และโอกาสที่ผู้เล่นในตลาดมองสำหรับการขึ้นดอกเบี้ยในอนาคต ซึ่งปัจจุบัน ตลาดให้โอกาสไม่เกิน 36%) แต่ทว่า หากเฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย แต่ไม่ได้ส่งสัญญาณชัดเจนพร้อมขึ้นดอกเบี้ยต่อ หรือ ส่งสัญญาณว่า เฟดจะรอประเมินสถานการณ์ก่อน สำหรับการขึ้นดอกเบี้ยในครั้งถัดไป และผู้เล่นในตลาดปรับลดโอกาสการขึ้นดอกเบี้ยต่อของเฟดลง ในกรณีนี้ เราคาดว่า เงินดอลลาร์จะเผชิญแรงขายทำกำไร (Sell on Fact) กดดันให้เงินดอลลาร์มีโอกาสอ่อนค่าลงต่อและอาจพอได้ลุ้นดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ทดสอบระดับ 100 จุด ได้ไม่ยาก
เราคงคำแนะนำว่า ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูงจากทั้งปัจจัยการเมืองไทยและบรรยากาศในตลาดการเงินที่อาจพลิกไปมาในช่วงนี้ ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.35-34.60 บาท/ดอลลาร์ ในช่วงก่อนรับรู้ผลการประชุม FOMC และคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.20-34.75 บาท/ดอลลาร์ ในช่วงทยอยรับรู้ผลการประชุม FOMC