สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค โดย Conference Board (Consumer Confidence) ซึ่งอาจปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า หลังอัตราเงินเฟ้อชะลอลงต่อเนื่อง ส่วนตลาดแรงงานยังคงแข็งแกร่งอยู่
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า
ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.58 บาทต่อดอลลาร์ 'อ่อนค่าลง' จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.43 บาทต่อดอลลาร์
โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทพลิกกลับมาอ่อนค่าลงต่อเนื่อง (แกว่งตัวในช่วง 34.37-34.56 บาทต่อดอลลาร์) กดดันโดยการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ และโฟลว์ซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว โดยราคาทองคำปรับตัวลดลงตามการปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากรายงานข้อมูลดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการฝั่งสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่ารายงานดัชนี PMI ของฝั่งยุโรป และภาพรวมตลาดการเงินสหรัฐฯ ที่กลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ กลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น โดยดัชนี S&P500 สามารถปิดตลาด +0.40% หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงานและหุ้นกลุ่มการเงินที่ได้แรงหนุนจากรายงานผลประกอบการที่ออกมาดีกว่าคาด อาทิ Chevron +2.0% นอกจากนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังได้แรงหนุนจากการรีบาวด์ของบรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ (Tesla +3.5%, Alphabet +1.3%) หลังการรีบาลานซ์ดัชนี Nasdaq 100 ไม่ได้ส่งผลให้เกิดแรงขายหุ้นเทคฯ ใหญ่อย่างที่ตลาดกังวล
ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 ปรับตัวขึ้นเพียง +0.06% แม้ว่าตลาดหุ้นยุโรปจะได้แรงหนุนจากการรายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนที่ออกมาดีกว่าคาด แต่รายงานข้อมูลดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการที่ลดลงต่อเนื่องและแย่กว่าคาด รวมถึงความไม่แน่นอนของการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ของสเปนหลังการเลือกตั้ง ได้กดดันให้ผู้เล่นในตลาดยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงมากนัก
ในฝั่งตลาดบอนด์ ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินฝั่งสหรัฐฯ รวมถึงรายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการที่ไม่ได้ออกมาเลวร้ายนัก ได้ส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ พลิกกลับมาปรับตัวขึ้นต่อเนื่องใกล้ระดับ 3.90% อีกครั้ง (แกว่งตัวในกรอบ 3.80%-3.88% ในช่วงคืนก่อนหน้า) อนึ่ง เรามองว่า การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ระยะยาวดังกล่าว ถือเป็นสิ่งที่ดี เพราะจะช่วยเปิดโอกาสให้ผู้เล่นในตลาดทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาวในจังหวะที่น่าสนใจมากขึ้น โดยเฉพาะ หากบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นเหนือระดับ 4.00% อีกครั้ง ซึ่งเป็นระดับที่เรามองว่า downside risk จำกัดพอสมควรแล้ว
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ปรับตัวแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หนุนโดยรายงานข้อมูลดัชนี PMI ฝั่งสหรัฐฯ ที่โดยรวม ดูดีกว่ารายงานดัชนี PMI ฝั่งยุโรป ส่งผลให้ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ทยอยปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 101.4 จุด (กรอบการเคลื่อนไหว 101-101.5 จุด ในช่วงคืนที่ผ่านมา) ในส่วนของราคาทองคำ การปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้กดดันให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ส.ค.) ย่อตัวลงสู่ระดับ 1,956 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเรามองว่า ผู้เล่นบางส่วนอาจรอจังหวะราคาทองคำย่อตัวลงในการเข้าซื้อเก็งกำไรระยะสั้น และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าได้บ้าง
สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค โดย Conference Board (Consumer Confidence) ซึ่งอาจปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า หลังอัตราเงินเฟ้อชะลอลงต่อเนื่อง ส่วนตลาดแรงงานยังคงแข็งแกร่งอยู่
ส่วนในฝั่งยุโรป ตลาดจะรอลุ้นรายงานรายงานภาวะสินเชื่อ (Bank Lending Survey) ในไตรมาส 2 ซึ่งเรามองว่า รายงานดังกล่าว จะเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่บรรดาเจ้าหน้าที่ ECB ใช้พิจารณาถึงความจำเป็นในการขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง หลังจากที่ ECB อาจเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย +25bps ในการประชุมวันพฤหัสฯ นี้
นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามรายงานผลประกอบการบรรดาบริษัทจดทะเบียน โดยเฉพาะรายงานจากบริษัทเทคฯ ใหญ่ อาทิ Microsoft, Alphabet เป็นต้น ซึ่งอาจกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงินช่วงนี้ได้ ส่วนในฝั่งไทย เราประเมินว่า ผู้เล่นในตลาดควรติดตามสถานการณ์การเมืองไทย หลังล่าสุดนักลงทุนต่างชาติเริ่มทยอยขายทำกำไรการลงทุนในหุ้นไทยมากขึ้น
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราคงมุมมองเดิมว่า โมเมนตัมการอ่อนค่าของเงินบาทนั้นกลับมา หลังจากที่เราได้ Call จุดกลับตัวของเงินบาท (มอง bottom ระยะสั้นที่ 33.75 บาทต่อดอลลาร์) เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยปัจจัยที่กลับมากดดันค่าเงินบาทนั้น มีทั้งการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์, โฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว และแรงขายสินทรัพย์ไทยจากความกังวลสถานการณ์การเมืองไทย ซึ่งหากปัจจัยกดดันฝั่งอ่อนค่ายังไม่เปลี่ยนแปลง เงินบาทก็มีโอกาสอ่อนค่าต่อ ทดสอบโซนแนวต้าน 34.75 บาทต่อดอลลาร์ ได้
อย่างไรก็ดี เรามองว่า ผู้เล่นต่างชาติบางส่วนที่ยังคงมุมมองเชิงบวกต่อแนวโน้มค่าเงินบาท (มองเงินบาทแข็งค่าขึ้น) อาจรอจังหวะการอ่อนค่าของเงินบาทในการเพิ่มสถานะ Long THB ได้ เช่นเดียวกันกับ ฝั่งผู้ส่งออกที่ต่างก็รอทยอยขายเงินดอลลาร์ หากเงินบาทพลิกกลับมาอ่อนค่าลง ทำให้เราประเมินว่า หากสถานการณ์การเมืองในประเทศไม่ได้ถึงขั้นวิกฤต จนทำให้นักลงทุนต่างชาติเทขายสินทรัพย์ไทยอีกรอบ ค่าเงินบาทก็อาจไม่ได้อ่อนค่าต่อเนื่องรุนแรง
ทั้งนี้ อีกหนึ่งปัจจัยที่ต้องจับตาใกล้ชิดในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม คือ แนวโน้มเงินหยวนของจีน (CNY) ซึ่งจะขึ้นกับมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน โดยจะต้องรอจับตาอย่างใกล้ชิดว่า ทางการจีนจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากน้อยขนาดไหน หลังการประชุม Politburo
เราคงคำแนะนำว่า ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูงจากทั้งปัจจัยการเมืองไทยและบรรยากาศในตลาดการเงินที่อาจพลิกไปมาในช่วงนี้ ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.40-34.70 บาท/ดอลลาร์