SCB เจาะกลุ่มลูกค้าเวลธ์เสนอขายกองทุน SCBDSHARC1YA ในวันที่ 1 - 9 กันยายนนี้ เน้นลงทุนตราสารหนี้ และสัญญาซื้อขายล่วงหน้าจ่ายผลตอบแทนอ้างอิงราคาทองคำ
ธนาคารไทยพาณิชย์ เตรียมเสนอขายกองทุนเปิดไทยพาณิชย์ Double Structured Complex Return 1 YA ห้ามขายผู้ลงทุนรายย่อย (SCBDSHARC1YA ) ระหว่างวันที่ 1 – 9 กันยายน 2565 เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าเวลธ์ มูลค่าโครงการ 2,000 ล้านบาท อายุ 1 ปี เงินลงทุนขั้นต่ำ 500,000 บาท เน้นลงทุนตราสารหนี้ เงินฝาก ตราสารการเงิน ทั้งในและหรือต่างประเทศ ในสัดส่วน 99.25% ส่วนที่เหลือ 0.75% ลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ที่จ่ายผลตอบแทนอ้างอิงกับราคาทองคำ คาดทิศทางทองคำยังเป็น Sideway ในอีก1 ปีข้างหน้าจากอุปสงค์ธนาคารกลางหลายแห่งทั่วโลกเข้าช้อนซื้อไว้เป็นทุนสำรอง การเคลื่อนไหวในกรอบ Sideway จึงเหมาะที่จะใช้เป็นสินทรัพย์อ้างอิงของกองทุน SCBDSHARC1YA เพื่อสร้างโอกาสรับผลตอบแทนสูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากธนาคาร เพิ่มมูลค่าให้พอร์ตลงทุนในช่วงเสี่ยงต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอย
นายศรชัย สุเนต์ตา ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Investment office and product และผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารฝ่าย CIO office ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ธนาคารจะเสนอขายกองทุนเปิดไทยพาณิชย์ Double Structured Complex Return 1 YA ห้ามขายผู้ลงทุนรายย่อย (SCBDSHARC1YA) ในวันที่ 1 - 9 กันยายน 2565 มูลค่าโครงการ 2,000 ล้านบาท อายุโครงการ 1 ปี เงินลงทุนขั้นต่ำ 500,000 บาท นับเป็นกองทุนที่มีความเสี่ยงสูงหรือซับซ้อน จัดอยู่ในระดับความเสี่ยงปานกลางค่อนข้างสูง (ระดับ5)
กองทุน SCBDSHARC1Y มีนโยบายลงทุนในตราสารหนี้ และ/หรือ เงินฝาก ตราสารทางการเงินที่เสนอขายในประเทศ และ/หรือ ต่างประเทศ รวมทั้งหลักทรัพย์ หรือ ทรัพย์สินอื่น หรือการหาดอกผลโดยวิธีอื่น ที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของสำนักงานก.ล.ต.โดยอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้หรือของผู้ออกตราสารอยู่ในอันดับที่สามารถลงทุนได้ (Investment grade) รวมกันทั้งสิ้นประมาณร้อยละ 99.25 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน ( NAV) โดยมีเป้าหมายให้เงินส่วนนี้เติบโตครอบคลุมเงินต้นกองทุนจะเข้าทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Derivatives) เพื่อป้องกันความเสี่ยง (Hedging) จากอัตราแลกเปลี่ยน ( Foreign Exchange Rate risk ) ทั้งจำนวน
นอกจากนี้ กองทุนจะแบ่งเงินลงทุนประมาณร้อยละ 0.75 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน (NAV) ลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Derivatives ) เช่น สัญญาออปชั่น (Option) ที่มีการจ่ายผลตอบแทนอ้างอิงกับราคาทองคำ Gold spot (XAUUSD) ตามเงื่อนไขการจ่ายผลตอบแทน เพื่อเปิดโอกาสให้กับกองทุนสามารถแสวงหาผลตอบแทนส่วนเพิ่มจากการเปลี่ยนแปลงของราคาทองคำ Gold spot
กองทุน SCBDSHARC1YA สามารถช่วยลดความเสี่ยงจากการขาดทุนของเงินต้น ผ่านการเลือกลงทุนในตราสารหนี้ที่มีคุณภาพ ทั้งตราสารหนี้และเงินฝากของผู้ออกตราสารที่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือระดับ Investment grade ขึ้นไป พร้อมโอกาสรับผลตอบแทนชดเชยใกล้เคียงอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก และโอกาสรับผลตอบแทนจากสัญญาออปชั่น ที่จ่ายผลตอบแทนอ้างอิงกับราคาทองคำ (XAUUSD) สำหรับผลตอบแทนคาดการณ์ของกองทุนสามารถเกิดขึ้นได้จาก 3 กรณีดังนี้
กรณีที่ 1 ) ราคาสินทรัพย์อ้างอิง ณ ทำการวันใดวันหนึ่งตลอดอายุสัญญาออปชั่น ปรับลดลงมากกว่า -10% หรือเพิ่มขึ้นมากกว่า + 10% เมี่อเทียบกับราคาสินทรัพย์ ณ วันเริ่มต้นสัญญา (Knockout) จะได้รับเงินต้นคืนเต็มจำนวนบวกผลตอบแทนชดเชย 0.25% ณ วันครบอายุโครงการ
กรณีที่2) ราคาสินทรัพย์อ้างอิง ณ วันพิจารณาไม่เปลี่ยนแปลง หรือปรับเพิ่มขึ้นไม่เกิน + 10% เมื่อเทียบกับราคาสินทรัพย์ ณ วันเริ่มต้นสัญญา จะได้รับเงินต้นคืนเต็มจำนวนบวกผลตอบแทบจากออปชั่น
กรณีที่ 3) ราคาสินทรัพย์อ้างอิง ณ วัน พิจารณาปรับลดลงไม่เกิน -10% เมื่อเทียบกับราคาสินทรัพย์ ณ วันเริ่มต้นสัญญาจะได้รับเงินต้นคืนเต็มจำนวนบวกผลตอบแทนจากสัญญาออปชั่น(หากราคาสินทรัพย์ติดลบแต่ผลตอบแทนจากสัญญาออปชั่น ยังจ่ายผลตอบแทนเป็นบวก)
ตัวอย่างการคำนวณผลตอบแทนของกองทุน SCBDSHARC1YA สมมติฐานเงินลงทุน 1,000,000 บาท ตัวอย่าง กรณีไม่มีการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยน USD /THB จะได้รับผลตอบแทนดังนี้
1) ราคาสินทรัพย์อ้างอิงปรับขึ้นหรือลดลงเกินกรอบ -10%,+10% = Knockout จะได้รับผลตอบแทนจาก ออปชั่น = 0 % ผลตอบแทนรวม = เงินต้น + ผลตอบแทนชดเชย (1,000,000 + 2,500 บาท )= 1,002,500 บาท
2)ราคาสินทรัพย์อ้างอิงปรับตัวเพิ่มขึ้นไม่เกิน+10% ผลตอบแทนจากออปชั่น = 50% x (ดัชนีอ้างอิง ณ วันที่
พิจารณา หาร ดัชนีอ้างอิง ณ วันเริ่มต้น ลบ 1 เช่น 50% x (1,080 /1,000 -1) x 1,000,000 บาท = 0.04 x 1,000,000 บาท = 40,000 บาท ดังนั้น จะได้รับเงินต้นบวกผลตอบแทนจากออปชั่น = 1,040,000 บาท
3)ราคาสินทรัพย์อ้างอิงปรับตัวลดลงไม่เกิน -10% ผลตอบแทนจากออปชั่น= 50% x (ดัชนีอ้างอิง ณ วันที่ พิจารณา หารดัชนีอ้างอิง ณ วันเริ่มต้นสัญญา - 1 เช่น 50% x (920 /1,000 -1) x 1,000,000 บาท = 0.04 x 1,000,000 = 40,000 บาท ดังนั้น จะได้รับเงินต้นบวกผลตอบแทนจากออปชั่น 1,000,000 + 40,000 บาท = 1,040,000 บาท
ตัวอย่างกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยน USD / THB จะได้รับผลตอบแทนดังนี้
กรณีที่ 1 ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น ณ วันเริ่มต้นสัญญา อยู่ที่ 35 บาทต่อ 1 ดอลล่าร์ และวันที่พิจารณาดัชนี อ้างอิง อยู่ที่ 30 บาทต่อดอลล่าร์ มีวิธีการคำนวณดังนี้ อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันพิจารณาดัชนีอ้างอิงหาร อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันเริ่มต้นสัญญา เช่น ( 30 / 35 = 0.86 ) การเปลี่ยนแปลงของ ดัชนีอ้างอิง ณ วันครบอายุสัญญาหาร ดัชนีอ้างอิง ณ วันเริ่มต้นสัญญา (1,080 / 1,000) -1 = 0.08 ดังนั้น ผลตอบแทน (50% x 0.08 )x 0.86 x1,000,000 = 34,400 บาท โดยจะได้รับผลตอบแทนรวม เงินต้น +ดอกเบี้ย + ออปชั่น = 1,034,400 บาท
กรณีที่ 2 ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง ณ วันเริ่มต้นสัญญา อยู่ที่ 35 บาทต่อดอลล่าร์ และวันที่พิจารณาดัชนีอ้างอิง อยู่ที่ 40 บาทต่อดอลล่าร์ โดยคำนวณดังนี้ อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันพิจารณาดัชนีอ้างอิง หาร อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันเริ่มต้นสัญญา เช่น (40 / 35 = 1.14) การเปลี่ยนแปลงของดัชนีอ้างอิง ณ วันที่พิจารณา หาร ดัชนีอ้างอิง ณ วันเริ่มต้นสัญญา (1,080 / 1,000) -1 = 0.08 ผลตอบแทน (50% x 0.08 )x 1.14 x1,000,000 = 45,600 บาท จะได้รับผลตอบแทนรวมเงินต้น + ดอกเบี้ย+ ออปชั่น = 1,045,600 บาท
สำหรับทิศทางของราคาทองคำ ที่ใช้เป็นสินทรัพย์อ้างอิงในการลงทุนนี้ มองว่ามีทิศทางเป็น Sideway ในอีก 1 ปีข้างหน้า หลังมีอุปสงค์ต่อทองคำจากธนาคารกลางหลายแหล่งในโลกเข้าช้อนซื้อทองคำเพื่อใช้เป็นทุนสำรองในยามที่ราคาทองคำอ่อนค่าลงจากแรงกดดันของอัตราดอกเบี้ยสหรัฐที่ยังปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น และมองว่ากระแสการดำเนินการเช่นนี้จะมีอยู่ต่อไปจนถึงปีหน้า ท่ามกลางความไม่แน่นอนและความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังคงอยู่ การเคลื่อนไหวในกรอบ Sideway นี้จึงเหมาะสมที่จะใช้เป็นสินทรัพย์อ้างอิงสำหรับการลงทุนใน กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ Double Structured Complex Return 1 YA ที่จะสามารถสร้างผลตอบแทนให้กับลูกค้าได้แม้ในยามที่ความเคลื่อนไหวของราคาทองคำเป็น Sideway
นายศรชัย กล่าวต่อไปว่า แนวโน้มทิศทางค่าเงินบาท ในระยะสั้น เงินบาทยังเผชิญแรงกดดันด้านอ่อนค่า เช่นเดียวกับสกุลเงินอื่นในภูมิภาค โดยคาดว่าค่าเงินบาทจะอยู่ในช่วง 35.5 – 36.5 ต่อดอลล่าร์สหรัฐ เนื่องจาก การเร่งดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวดของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งผลให้ส่วนอัตราดอกเบี้ย ( Rate differential ) ระหว่าง US และประเทศต่างๆปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง รวมทั้งความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยของโลก และสงครามรัสเซียที่กระทบกลุ่มยุโรปรุนแรง ส่งผลให้นักลงทุนปิดรับความเสี่ยง และเข้าลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัยมากขึ้น ด้านประเทศไทย ดุลบัญชีเดินสะพัดยังขาดดุลอยู่ในไตรมาส 3 จากราคาพลังงานที่สูง ส่งผลให้มูลค่าการนำเข้าปรับสูงขึ้น นอกจากนี้ เงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่เศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัวมากนัก ถือเป็นอีกปัจจัยที่กดดันค่าเงินบาท แต่อย่างไรก็ตาม ค่าเงินบาทจะไม่อ่อนค่าอีกมากนัก เนื่องจากนักลงทุนได้ Price -in ความเสี่ยงภาวะเศรษฐกิจโลกถกถอยไปมากแล้ว อีกทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย ยังดูแลความผันผวนของค่าเงินบาทผ่านการใช้เงินทุนสำรอง
ทั้งนี้ ค่าเงินบาท ในช่วงไตรมาส 4 มีแนวโน้มกลับมาแข็งค่าขึ้นในกรอบ 35-36 บาท ต่อดอลล่าร์สหรัฐ จากเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ซึ่งจะช่วยกระตุ้น Portfolio flow จากนักลงทุนต่างชาติ ทางด้านดุลบัญชีเดินสะพัดมีแนวโน้มกลับมาเกินดุล จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเพิ่มขึ้น ประกอบกับราคาน้ำมัน และค่าระวางเรือที่มีแนวโน้มลดลง และการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของเฟดมีแนวโน้มช้าลงในไตรมาส 4