ครม.เห็นชอบ ร่างแผนพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2564 – 2570 เน้น 7 ยุทธศาสตร์พัฒนาเด็กเล็กรอบด้าน 'เก่ง ดี มีสุข' ลดความเหลื่อมล้ำ เข้าถึงบริการสุขภาพ การศึกษา สวัสดิการสังคม
..........................
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 2564 นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบ ร่างแผนพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2564 - 2570 มุ่งพัฒนาเด็กปฐมวัย ซึ่งเป็นช่วงวัยที่สำคัญที่สุดของกระบวนการพัฒนาเด็กให้เป็นเด็ก 'เก่ง ดี มีสุข' โดยให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) นำร่างแผนพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2564 – 2570 เป็นกรอบแนวทางและเป้าหมายร่วมในการพัฒนาคุณภาพ การบริการ ดูแล พัฒนาและจัดการศึกษาสำหรับเด็กปฐมวัยให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อให้เด็กปฐมวัยทุกคนได้รับการพัฒนาอย่างรอบด้านเต็มตามศักยภาพ เป็นพื้นฐานของความเป็นพลเมืองคุณภาพ
ร่างแผนพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2564 – 2570 ประกอบด้วย 7 ยุทธศาสตร์ ดังนี้
1. การจัดการและการให้บริการแก่เด็กปฐมวัย เช่น สร้างกลไกความร่วมมือในการดูแลและพัฒนาเด็กปฐมวัยตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา จัดให้มีระบบการสำรวจ คัดกรอง และวินิจฉัยเพื่อหาภาวะความต้องการพิเศษหรือด้อยโอกาส เป็นต้น
2. การพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งให้กับสถาบันครอบครัวในการอบรมเลี้ยงดูเด็กปฐมวัย เช่น ขับเคลื่อนพระราชบัญญัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 จัดหรือสนับสนุนให้มีบริการรับเลี้ยงและพัฒนาเด็กทารกวัยเตาะแตะในชุมชนหรือสถานประกอบการ เป็นต้น
3. การพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการให้บริการพัฒนาเด็กปฐมวัย เช่น ส่งเสริมและสนับสนุนทรัพยากรให้สถานพัฒนาเด็กปฐมวัยทุกแห่งอย่างเพียงพอ สร้างระบบพัฒนาสมรรถนะบุคลากรและผู้ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลและพัฒนาเด็กปฐมวัย เป็นต้น
4. การพัฒนาระบบและกลไกการบูรณาการสารสนเทศเด็กปฐมวัยและการนำไปใช้ประโยชน์ เช่น วิเคราะห์และออกแบบโครงสร้างฐานข้อมูลรายบุคคลและสารสนเทศเด็กปฐมวัยที่สำคัญ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปใช้ในการวางแผน ติดตาม และประเมินผลการพัฒนาเด็กปฐมวัยอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นต้น
5. การจัดทำและปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบที่เกี่ยวกับเด็กปฐมวัยและการดำเนินการตามกฎหมาย เช่น รวบรวม จัดทำ ปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย กฎระเบียบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเด็กปฐมวัยให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันเพื่อลดความซ้ำซ้อน และให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติการพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2562 และมาตรฐานสากล เป็นต้น
6. การวิจัยพัฒนาและเผยแพร่องค์ความรู้ เช่น วิเคราะห์และสังเคราะห์งานวิจัยที่เกี่ยวกับการพัฒนาเด็กปฐมวัยพัฒนาระบบการจัดการความรู้ด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัยในมิติต่าง ๆ เป็นต้น
7. การบริหารจัดการ การสร้างกลไกการประสานการดำเนินงานและการติดตามประเมินผล เช่น พัฒนาระบบการบริหารจัดการการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเด็กปฐมวัยอย่างมีประสิทธิภาพ สร้างกลไกการประสานงานด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัย เป็นต้น
นายอนุชา กล่าวย้ำว่า ร่างแผนพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2564 - 2570 ที่กระทรวงศึกษาธิการได้เสนอมานี้ เพื่อกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ในการพัฒนาเด็กปฐมวัยของประเทศให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เชื่อมโยงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินงานร่วมกันในลักษณะบูรณาการ เพื่อให้เด็กปฐมวัยทุกคนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ได้รับการพัฒนาอย่างรอบด้านอย่างมีคุณภาพ ตามศักยภาพ ตามวัยและต่อเนื่อง และสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพ การศึกษา และสวัสดิการสังคมได้อย่างเท่าเทียมกันด้วย
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage