แพทย์จุฬาฯ เผยพบป่วยโควิด ‘สายพันธุ์แอฟริกาใต้’ เพิ่ม 2 ราย สะสมรวม 3 ราย ขณะที่อังกฤษเจอไวรัสกลายพันธุ์อีกรอบ พร้อมแนะปชช.เฝ้าติดตามข้อมูล เสนอรัฐให้ออกมาตรการคุมเข้มไม่ให้เชื้อกระจาย หวั่นส่งผลต่อการตอบสนองของวัคซีน
…………………………………………..
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 16 ก.พ. 2564 ผศ.นพ.โอภาส พุทธเจริญ หัวหน้าศูนย์โรคอุบัติใหม่ทางคลินิก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวถึงความน่ากลัวของไวรัสโควิดกลายพันธุ์ ในการเสวนา 'ไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์มีความน่ากลัวแค่ไหน' ว่า ธรรมชาติของไวรัสจะมีการกลายพันธุ์อยู่ตลอดเวลา โดยปกติจะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ 1-2 ตำแหน่งต่อเดือน และปัจจัยที่ทำให้เกิดการกลายพันธุ์จนมีปัญหาคือ 1. ไวรัส 2.สิ่งมีชีวิตที่ไวรัสอาศัยอยู่ และ 3.การรักษาบางอย่างที่บีบคั้นให้ไวรัสกลายพันธุ์ อย่างไรก็ตามขณะนี้ทั่วโลกจับตาไวรัสที่กลายพันธุ์ 3 ตัว ได้แก่ 1. สายพันธุ์ B.1.1.7(GR,G) จากอังกฤษ 2. สายพันธุ์ B.1.351(GH,G) จากแอฟริกาใต้ และ 3. สายพันธุ์ P.1(GR) จากบราซิล
ผศ.นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาในประเทศไทยตรวจเจอสายพันธุ์ B.1.1.7 ในกลุ่มคนที่เดินทางมาจากต่างประเทศ รวม 9 ราย ขณะที่ล่าสุดตรวจเจอไวรัสโควิดที่มีการกลายพันธุ์ B.1.351 จากแอฟริกาใต้ และไทยตรวจเจอรายแรกเป็นนักธุรกิจค้าพลอยชายไทยอายุ 41 ปี ติดเชื้อมาจากแทนซาเนีย โดยพบว่ามีอาการปอดอักเสบรุนแรงที่ด้านขวาล่าง ค่าออกซิเจนในเลือดต่ำลง ปริมาณไวรัสแทบไม่ลดลงหลังรับยาต้านไวรัสที่เรียกว่าฟาวิพิราเวียร์ ขณะเดียวกันภูมิคุ้มกันขึ้นช้ามาก ต้องรักษาแบบประคับประคอง และต้องเปลี่ยนมาให้ยาต้านไวรัสที่เรียกว่าเรมดิซีเวีย อย่างไรก็ตามขณะนี้ผู้ป่วยรายดังกล่าวอาการดีขึ้นแล้วตามลำดับ
“ล่าสุดเราตรวจเจอสายพันธุ์แอฟริกาใต้เพิ่มอีก 2 ราย ที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศ อยู่ระหว่างการรายงานเข้าในระบบ รวมแล้วพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์แอฟริกาใต้แล้ว 3 ราย ซึ่งจะต้องมีมาตรการควบคุมอย่างเข้มงวดไม่ให้สายพันธุ์นี้กระจายต่อไป” ผศ.นพ.โอภาส
ทั้งนี้ จากรายงานข้อมูลสายพันธุ์ B.1.1.7 จากอังกฤษ พบว่ามีความสามารถในการแพร่กระจายได้ง่าย โดยขณะนี้ที่อังกฤษเกิดการกลายพันธุ์ของไวรัสอีกรอบ เป็นนิวเวอร์ชั่น โดยพบความคล้ายคลึงกับสายพันธุ์ที่กลายพันธุ์ที่เจอในแอฟริกาใต้ อย่างไรก็ตามผู้ติดเชื้อในอังกฤษที่เจอการกลายพันธุ์รอบใหม่นี้ ไม่มีประวัติเดินทางไปยังแอฟริกาใต้แต่อย่างใด ดังนั้นจะต้องติดตามการพัฒนาของไวรัสอย่างใกล้ชิด เนื่องจากหากมีการกลายพันธุ์จำนวนมาก อาจส่งผลต่อการตอบสนองของวัคซีน ดังนั้นรัฐจะต้องออกมาตรการในการลดการติดเชื้อในคนสู่คน และป้องกันไม่ให้เกิดการระบาดในชุมชน ก่อนที่จะมีให้วัคซีนป้องกันโรคจนครบ
ข่าวประกอบ :
ความร้ายแรงโควิด'สายพันธุ์แอฟริกาใต้'ติดเชื้อง่าย-ทำประสิทธิภาพวัคซีนลดลง
เปิดไทม์ไลน์ผู้ป่วยโควิดฯพันธ์ุ'แอฟริกาใต้'รายแรกของไทย-ยันยังไม่ระบาดสู่ชุมชน
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage