เผยผลสำรวจสัปดาห์ที่ 2 หลังผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์ พบว่าคนไทยปฏิบัติตัวป้องกันโควิด-19 น้อยลงอย่างต่อเนื่อง ที่ทำงาน/ร้านตัดผม/ร้านเสริมสวย จัดมาตรการป้องกันลดลง แต่ร้านอาหารแบบนั่งทานทำได้ดีขึ้น
กระทรวงสาธารณสุข โดยสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ร่วมกับองค์การอนามัยโลกสำนักงานภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และสำนักงานสถิติแห่งชาติ ทำการสำรวจผลการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 หลังผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์สัปดาห์ที่ 2 ระหว่างวันที่ 15-21 พ.ค. 2563 โดยมีผู้ตอบแบบสำรวจ 8,622 ราย พบว่า คนไทยมีการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันโควิด-19 น้อยลงอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ผลสำรวจพบว่าการใส่หน้ากากอนามัย/หน้ากากผ้าตลอดเวลา ลดลงจาก 91% ณ สัปดาห์สุดท้ายของเดือน เม.ย. เป็น 87.2% ในระหว่างวันที่ 15-21 พ.ค.
การล้างมือด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ ลดลงจาก 87% ในสัปดาห์สุดท้ายของเดือน เม.ย. เป็น 83.4% ในระหว่างวันที่ 8-14 พ.ค. และเหลือ 79.8% ในระหว่างวันที่ 15-21 พ.ค.
การกินร้อนช้อนตัวเอง ลดลงจาก 86% ในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือน เม.ย. เป็น 82.3% ระหว่างวันที่ 8-14 พ.ค. และเหลือ 79.7% ในระหว่างวันที่ 15-21 พ.ค.
การการรักษาระยะห่าง 1-2 เมตร ลดลงจาก 65% ในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือน เม.ย. เป็น 60.7 % ในระหว่างวันที่ 8-14 พ.ค. และเหลือ 58.7% ในระหว่างวันที่ 15-21 พ.ค.
การระมัดระวังไม่เอามือจับหน้าหรือจมูกปาก ลดลงจาก 63% ในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือน เม.ย. เป็น 52.9 % ในระหว่างวันที่ 8-14 พ.ค. และเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 53.7% ในระหว่างวันที่ 15-21 พ.ค.
ขณะที่การสำรวจการจัดมาตรการตามสถานที่ต่างๆพบว่า ในส่วนของสถานที่ทำงาน มีการพบเห็นมาตรการป้องกันโควิด-19 น้อยลง เช่น การวัดอุณหภูมิร่างกายก่อนเข้าสถานที่ ลดจาก 76.8% ในระหว่างวันที่ 8-14 พ.ค. เหลือ 75.1% ในระหว่างวันที่ 15-21 พ.ค. การจัดให้มีที่ล้างมือหรือเจลแอลกอฮอล์ ลดลงจาก 91.5% เหลือ 89.2% การจัดระยะห่างระหว่างบุคคล ลดลงจาก 50.7% เหลือ 49.1% พนักงานสวมหน้ากาก ลดลงจาก 62.9% เหลือ 60.6% ผู้ใช้บริการต้องสวมหน้ากาก ลดลงจาก 52.7% เหลือ 51.7% และภาพรวมในทุกมาตรการลดลง จาก 65.2% เหลือ 63.5%
เช่นเดียวกับร้านตัดผม/ร้านเสริมสวย ในภาพรวมมีการจัดมาตรการป้องกันโควิด-19 ลดลงจาก 50.8% เหลือ 46.5% แยกรายละเอียดได้ดังนี้ การวัดอุณหภูมิร่างกายก่อนเข้าสถานที่ เพิ่มขึ้นจาก 37.3% ในระหว่างวันที่ 8-14 พ.ค. เป็น 42% ในระหว่างวันที่ 15-21 พ.ค. การจัดให้มีที่ล้างมือหรือเจลแอลกอฮอล์ ลดลงจาก 74.8% เหลือ 71.9% การจัดระยะห่างระหว่างบุคคล ลดลงจาก 43.5% เหลือ 35.7% พนักงานสวมหน้ากาก ลดลงจาก 58.3% เหลือ 49.4% ผู้ใช้บริการต้องสวมหน้ากาก ลดลงจาก 47.6% เหลือ 40.7%
อย่างไรก็ดี ในส่วนของร้านอาหารแบบนั่งทาน พบว่าในภารวมทุกมาตรการดีขึ้น จาก 50.2% ระหว่างวันที่ 8-14 พ.ค. เป็น 51.2% ในระหว่างวันที่ 15-21 พ.ค. โดยหากแยกพิจารณาตามแต่ละมาตรการแล้วมีทั้งส่วนที่ทำได้ดีขึ้นและทำได้น้อยลง เช่น การวัดอุณหภูมิร่างกายก่อนเข้าสถานที่ เพิ่มขึ้นจาก 30.9% เป็น 39.8% การจัดให้มีที่ล้างมือหรือเจลแอลกอฮอล์ เพิ่มขึ้นจาก 74% เป็น 76.8% แต่การจัดระยะห่างระหว่างบุคคล ลดลงจาก 56.1% เหลือ 53.1% พนักงานสวมหน้ากาก ลดลงจาก 56.3% เหลือ 52.3% ผู้ใช้บริการต้องสวมหน้ากาก ลดลงจาก 44.2% เหลือ 41.4%
ทั้งนี้ ผลสำรวจยังพบว่าคนไทยมีการเคลื่อนย้ายเดินทางออกนอกจากหวัดมากขึ้น จาก 26% ในระหว่างวันที่ 8-14 พ.ค. เป็น 28.5% ในระหว่างวันที่ 15-21 พ.ค. โดยมีการรวมกลุ่มทางสังคมเช่น งานบวช งานแต่ง งานสังสรรค์ การประชุมและการเรียนการสอนต่อหน้าเพิ่มขึ้นจาก 11% เป็น 12.7%