สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีส สรุปสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (Covid-19) ในฝรั่งเศส ดังนี้
1.สถิติวันเสาร์ที่ 2 พ.ค.2563 (เวลา 14.00 น.)
- ยอดผู้ป่วยติดเชื้อจากการตรวจ Test PCR จำนวน 130,979 ราย (เพิ่มขึ้น 794 ราย) ซึ่งรวมข้อมูลผู้ที่พบการติดเชื้อจากการตรวจ test PCR ในบ้านพักคนชราแล้ว แต่ไม่รวมผู้ที่สงสัยว่าติดเชื้อแต่มิได้ทำการตรวจ test
- รักษาอยู่ที่ รพ. 25,827 ราย โดยเป็นผู้ป่วยรายใหม่ 453 ราย นับเป็นวันที่ 18 ติดต่อกันที่มีจำนวนผู้ป่วยรักษาตัวที่ รพ. น้อยลง (60 ราย) และรักษาหายออกจาก รพ. แล้วมากกว่า 50,562 ราย (เพิ่มขึ้น 350 ราย)
- อาการหนัก 3,827 ราย โดยเป็นผู้ป่วยรายใหม่ 64 ราย นับเป็นวันที่ 24 ติดต่อกันที่ยอดรวมของผู้ป่วยอาการหนักลดลงจากวันก่อนหน้า (จำนวน 51 ราย)
- เสียชีวิตที่ รพ. 15,487 ราย (เพิ่มขึ้น 118 ราย) เสียชีวิตที่บ้านพักคนชราและที่ศูนย์การแพทย์สังคม (établissements médico-sociaux) 9,273 ราย (เพิ่มขึ้น 48 ราย)
** รวมผู้เสียชีวิตทั้งหมด 24,760 ราย (เพิ่มขึ้น 166 ราย) **
2. แผนที่ประมวลข้อมูลการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสและข้อมูลอัตราการรักษาผู้ป่วยอาการหนักด้วยโรค covid-19 ที่ รพ. เพื่อประกอบการพิจารณาของรัฐบาลในการกำหนดพื้นที่ สีแดง ? หรือสีเขียว ? ในวันที่ 7 พ.ค.2563 ดังแนบ
3. การขยายเวลาภาวะฉุกเฉิน และมาตรการต่าง ๆ
เมื่อวันที่ 2 พ.ค.2563 ครม.ฝรั่งเศสได้ให้ความเห็นชอบร่าง กม. ภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข (ฉบับแก้ไข) และวุฒิสภาจะพิจารณาร่าง กม.ดังกล่าวในช่วงบ่ายวันที่ 4 พ.ค. ก่อนเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาในวันที่ 5 พ.ค. ทั้งนี้ คาดว่าจะมีการเสนอแก้ไขร่าง กม.ดังกล่าวอีกโดยสภาทั้งสอง โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับระบบข้อมูล contact tracing สรุปสาระสำคัญของร่าง กม.ที่ ครม.ให้ความเห็นชอบ ดังนี้
(1) ขยายระยะเวลาภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขตั้งแต่วันที่ 24 พ.ค.2563 ออกไปอีกสองเดือน จนถึงวันที่ 24 ก.ค.2563 โดยรัฐบาลจะสามารถออก พรก. ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อบริหารจัดการวิกฤติทางสาธารณสุขและเตรียมการดำเนินมาตรการต่าง ๆ ในช่วงการผ่อนปรนมาตรการห้ามออกจากที่พักตั้งแต่วันที่ 11 พ.ค.ได้โดยไม่ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อน
(2) กำหนดให้สามารถมีการกักตัวหรือแยกตัวผู้ที่เดินทางจาก ตปท.เข้าฝรั่งเศสในสถานที่ที่รัฐจัดให้ (state quarantine) ไม่ว่าจะเป็นชาวฝรั่งเศส หรือชาว ตปท. และไม่ว่าจะมีอาการป่วยติดเชื้อไวรัส covid-19 หรือไม่ก็ตาม เป็นเวลา 14 - 30 วัน (อาจมีลักษณะคล้ายกับตอนอพยพชาวฝรั่งเศสกลับจากเมือง Wuhan)โดยหากเป็นผู้ที่ไม่มีอาการป่วยจะถูกกักตัว (quarantine) แต่หากเป็นผู้ที่ตรวจพบว่าติดเชื้อจะถูกแยกตัวรักษา (isolement) หากผู้ใดปฏิเสธมาตรการการกักตัวหรือแยกตัวดังกล่าว ทางการฝรั่งเศสจะปฏิเสธไม่ให้เข้าประเทศและจะส่งตัวกลับไปยังประเทศต้นทาง แต่สามารถยื่นคำร้องคัดค้านต่อผู้พิพากษาด้านสิทธิเสรีภาพและการกักตัว (juge des libertés et de la détention) ได้ภายใน 72 ชม. หรือในกรณีที่ถูกกักตัวหรือแยกตัวเกิน 14 วัน ผู้พิพากษาจะพิจารณากรณีดังกล่าวโดยอัตโนมัติ
ทั้งนี้ จะมีการกำหนดรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับเงื่อนไขต่าง ๆ ของการกักตัวและแยกตัว รวมทั้งการติดตามอาการใน พรก. เพิ่มเติมอีกสองฉบับหลังได้รับความเห็นจากสภาวิทยาศาสตร์ Covid-19 เกี่ยวกับเรื่องนี้
(3) ระบบข้อมูล contact tracing (มิใช่ระบบการเข้าถึงและการเก็บข้อมูลโดย application StopCovid) ซึ่งจะจัดเก็บข้อมูลทั้งด้านการแพทย์และข้อมูลอื่น ๆ ใน 5 ขั้นตอน ดังนี้
- ห้อง lab ที่ทำการตรวจสอบการติดเชื้อ จะจัดเก็บข้อมูลในระบบ SIDEP ซึ่งจะสามารถ identify ได้ว่าผลการตรวจดังกล่าวเป็นของบุคคลใด
- แพทย์ (อิสระและ รพ.) ซึ่งเป็นผู้ให้คำปรึกษาโดยอาจเป็นทั้งก่อนและหลังการตรวจสอบการติดเชื้อ ซึ่งเมื่อตรวจพบว่าติดเชื้อแล้ว แพทย์จะสอบถามรายละเอียดของบุคคลที่ผู้ป่วยได้อยู่ใกล้ชิดด้วยภายใน 48 ชม. ก่อนมีอาการ จนถึง 4 วัน
- สนง.ประกันสุขภาพ (Assurance maladie) จะได้รับข้อมูลเบื้องต้นจากแพทย์ และติดต่อสอบถามผู้ใกล้ชิดต่าง ๆ เพิ่มเติม และให้สามารถไปปรึกษาแพทย์และตรวจสอบการติดเชื้อได้ ซึ่งในชั้นนี้ คาดว่าจะมี จนท. สนง. ประกันสุขภาพปฏิบัติภารกิจนี้ประมาณ 3,000 - 4,000 คน
- สนง.สาธารณสุขประจำแคว้นรวบรวมประมวลข้อมูลเพื่อ identify พื้นที่ในแคว้นที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสฯ
- สนง.สาธารณสุข (Santé publique France) และกรมสาธารณสุข (Direction Générale de la santé) ประมวลข้อมูลภาพรวมทั้งประเทศ
(4) จำกัดการเดินทางไม่ให้เกิน 100 กม. จากที่พัก ยกเว้นกรณีเดินทางไปทำงานหรือมีเหตุจำเป็นทางครอบครัว แต่ไม่ได้ห้ามการเดินทางระหว่างพื้นที่สีเขียวและสีแดง และจะมีการกำหนดรายละเอียดเพิ่มเติมให้ทราบภายในสัปดาห์หน้า
(5) บังคับให้ผู้ใช้ระบบขนส่งมวลชนสวมหน้ากาก หากฝ่าฝืนจะมีโทษปรับ ซึ่งร่าง กม.ได้เพิ่มอำนาจให้ จนท. รปภ. ของระบบขนส่งมวลชนและการรถไฟสามารถออกใบสั่งได้ในกรณีฝ่าฝืน (ยังไม่ได้แจ้งกำหนดอัตราค่าปรับ)
(6) สามารถกำหนดเวลาเปิด - ปิด และจำนวนลูกค้าในร้านค้าและสถานที่ที่มีประชาชนติดต่อใช้บริการได้
นอกจากนี้ ครม.ยังได้ให้ความเห็นชอบต่อ พรก.เกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์ที่ประกอบอาชีพอิสระ เพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ หลังจากที่ต้องสูญเสียรายได้ถึงร้อยละ 80 - 90ในช่วงการบังคับใช้มาตรการห้ามออกจากที่พัก
4. มาตรการปิดพรมแดน Schengen และสต็อกหน้ากากอนามัย
รมว.มหาดไทย และ รมว.สาธารณสุข ได้ตอบคำถามผู้สื่อข่าวหลังการประชุม ครม.ฝรั่งเศสเมื่อวันที่ 2 พ.ค. สรุปได้ ดังนี้
(1) รมว. มหาดไทยย้ำว่า การผ่อนปรนมาตรการห้ามออกจากที่พักในวันที่ 11 พ.ค. นี้ ไม่เกี่ยวกับมาตรการปิดพรมแดน Schengen ทั้งภายในและภายนอกแต่อย่างใด และยังคงมีข้อจำกัดห้ามบุคคลสัญชาตินอกอียูเดินทางเข้าประเทศอยู่ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องมีการหารือในระดับอียูต่อไป
(2) รมว.สาธารณสุขได้ตอบคำถามเกี่ยวกับข้อข้องใจของกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์กรณีที่ผู้ประกอบการ supermarket/ hypermarket รายใหญ่หลายรายประกาศว่ามีหน้ากากอนามัยพร้อมจำหน่ายทั้งที่ก่อนหน้านี้มีภาวะขาดแคลนว่า เป็นหน้ากากอนามัยที่ได้สั่งซื้อ (เป็นจำนวนหลายร้อยล้านชิ้น) มิใช่หน้ากากอนามัยที่มีอยู่ในสต็อกแล้ว ซึ่งในชั้นนี้ ผู้ประกอบการน่าจะมีหน้ากากโดยเฉลี่ยประมาณ 5-10 ล้านชิ้นต่อรายเท่านั้น ทั้งนี้ รัฐบาลฝรั่งเศสยังทยอยได้รับหน้ากากอนามัยที่สั่งซื้อจาก ตปท. เพื่อตอบสนองความต้องการของบุคลากรทางการแพทย์ (ประมาณสัปดาห์ละ 45 ล้านชิ้น) ซึ่งกำลังจะแจกจ่ายเพิ่มเติมให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ในช่วงสุดสัปดาห์นี้ และแจ้งว่า application StopCovid ยังไม่พร้อมใช้ในวันที่ 11 พ.ค. ซึ่งเมื่อพัฒนา application เรียบร้อยแล้ว นายกรัฐมนตรีจะนำเสนอต่อรัฐสภาต่อไป
5. กรณีสัตว์เลี้ยงติดเชื้อไวรัสฯ จากเจ้าของ
โรงเรียนสัตวแพทย์ Alfort (ENVA) เมือง Maisons-Alfort แจ้งว่า ได้พบกรณีแมวติดเชื้อไวรัส covid-19 จากเจ้าของซึ่งป่วยติดเชื้อไวรัสฯ เป็นรายแรกในฝรั่งเศสและเป็นรายที่ 5 ของโลก (ฮ่องกง 1 ราย เบลเยียม 1 ราย และนิวยอร์ก 2 ราย) โดยเป็นการตรวจสอบการติดเชื้อโดยหน่วยพิเศษตรวจหาเชื้อไวรัสฯ (ประกอบด้วย รร. ENVA, สนง. ความปลอดภัยทางสาธารณสุขของอาหาร, สิ่งแวดล้อมและการทำงาน แห่งชาติฝรั่งเศส - Anses, สถาบันวิจัยปฐพีวิทยาแห่งชาติ - Institut national de la recherche agronomique และสถาบัน Pasteur) ซึ่งได้ตรวจการติดเชื้อของแมวและสุนัขที่เจ้าของป่วยติดเชื้อไวรัส covid-19 และต้องสงสัยว่ามีอาการป่วยจากเชื้อไวรัส (มีอาการเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจและระบบย่อยอาหาร) โดยเป็นการเก็บตัวอย่างทางชีวภาพทางจมูกและทางทวารหนัก อย่างไรก็ตาม ในชั้นนี้เชื่อว่าแมวส่วนมากไม่สามารถติดเชื้อไวรัส covid-19 จากมนุษย์ได้ง่ายแม้ว่าเจ้าของจะมีอาการป่วยก็ตาม แต่ขอให้เจ้าของสัตว์เลี้ยงที่ป่วยติดเชื้อไวรัสฯ หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดสัตว์เลี้ยง สวมหน้ากากเมื่อมีสัตว์เลี้ยงอยู่ในบริเวณเดียวกัน และล้างมือทำความสะอาดก่อนสัมผัสสัตว์เลี้ยง เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไปยังสัตว์เลี้ยง