ประธาน TDRI ชวนจับตา กทม. นำสายสื่อสารลงดิน หวั่นเอื้อเอกชนผูกขาด 30 ปี สร้างภาระให้ประชาชน
หลังจากมีกระแสว่า กทม.-กสทช. เตรียมนำสายสื่อสารหรือสายเคเบิลต่างๆ ลงดิน เพื่อจัดระเบียบสายสื่อสารในพื้นที่กรุงเทพฯ รวมถึงการรองรับระบบการสื่อสาร 5G ที่ กสทช. ยืนยันจะพัฒนาให้เสร็จสิ้นภายในปี 2563-2564 ที่จะถึงนี้
ล่าสุด (20 มิ.ย.) ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ หรือ TDRI ได้โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ก Somkiat Tangkitvanich Page ระบุว่า การมาของท่อร้อยสายใน กทม. กำลังจะพ่วงมาทั้งข่าวดีเล็กๆ และข่าวร้ายใหญ่ๆ โดยระบุเหตุผลว่า
‘ข่าวดีเล็กๆ’ คือ กทม. มีแผนที่จะลดปัญหาการที่สายเคเบิลต่างๆ แขวนรกหูรกตาอยู่บนเสาไฟฟ้า โดยจะย้ายสายเหล่านั้นลงไปใต้ดิน ให้ไปอยู่ใน ‘ท่อร้อยสาย’ ทำให้กรุงเทพฯ กลายเป็น ‘มหานครไร้สายสื่อสาร’ และเป็น ‘สมาร์ทซิตี้’ ที่มีภูมิทัศน์สบายตาภายในปี 2564
ส่วนเรื่องที่สงสัยว่าจะเป็น ‘ข่าวร้ายใหญ่ๆ’ ที่มาพร้อมกันก็คือ กทม. จะดำเนินการดังกล่าวโดยให้บริษัท กรุงเทพธนาคม ซึ่งเป็นบริษัทลูกของตน ทำสัญญากับผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมรายหนึ่ง ให้เป็นผู้รับเหมาบริการโครงข่ายท่อร้อยสายใต้ดินทั้งหมด โดยให้สิทธิผูกขาดรายเดียวเป็นเวลา 30 ปี
ทั้งหมดนี้หมายความว่า ปัญหาการผูกขาดใหม่กำลังจะเกิดขึ้นในวงการโทรคมนาคมไทย เพิ่มเติมจากการผูกขาดที่มีอยู่มากมายในปัจจุบัน แน่นอนว่าการผูกขาดเหล่านี้จะเพิ่มภาระให้แก่ผู้บริโภค ทั้งประชาชนทั่วไปและภาคธุรกิจ ทำให้ประเทศไทยไม่สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้
ความเสี่ยงอาจเกิดขึ้นในหลายรูปแบบ เช่น ผู้ประกอบการที่ได้สิทธิผูกขาดท่อร้อยสายอาจกีดกันผู้ประกอบการรายอื่นที่เป็นคู่แข่งของตนในตลาดโทรคมนาคมไม่ให้สามารถใช้ท่อได้ โดยอ้างเหตุต่างๆ ทางเทคนิค เช่น สัญญาณรบกวนกัน หรือให้ใช้ได้ แต่คิดค่าบริการแพงๆ หรือให้บริการช้าๆ หรือทำให้สายของคู่แข่งเสียบ่อยๆ จนไม่สามารถแข่งขันได้
ทั้งหมดนี้อาจไม่ใช่เรื่องวิตกกังวลที่เกินจริง หากพิจารณาถึงความหวาดระแวงของผู้ประกอบการแต่ละรายที่มีต่อกัน
แต่เดิมเรื่องนี้ไม่มีปัญหา เพราะผู้ประกอบการโทรคมนาคมทั้งหลายสามารถปักเสาสื่อสารเอง หรือพาดสายของตนบนเสาไฟฟ้าได้ แต่เรื่องที่เคยทำกันได้มานานก็กำลังจะกลายเป็นปัญหาในไม่ช้า เพราะเมื่อมีท่อร้อยสายใต้ดินแล้ว กทม. ก็จะห้ามพาดสายในที่สาธารณะ โดยอ้างเหตุผลด้านความสะอาดและความเป็นระเบียบ ตามกฎหมายรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 ทั้งนี้ผู้ฝ่าฝืนก็จะมีโทษทางกฎหมาย และถูกสั่งให้รื้อถอนได้
เป็นความจริงครับว่า ท่อร้อยสายดังกล่าวเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกที่มีลักษณะ ‘ผูกขาดโดยธรรมชาติ’ เพราะไม่ควรต้องมีการลงทุนซ้ำซ้อนกันหลายท่อ เหมือนกับการไม่ควรต้องมีสายไฟฟ้าหลายสาย หรือท่อน้ำประปาหลายท่อต่อเข้าบ้านแต่ละหลัง
ในต่างประเทศ เทศบาลและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ มักจะเป็นผู้ดำเนินการท่อไร้สายด้วยตนเอง โดยเดินสายไฟเบอร์ไว้เสร็จสรรพในท่อร้อยสาย และเปิดให้ผู้ประกอบการโทรคมนาคมที่ต้องการใช้ สามารถใช้ได้ในราคาที่กำหนด
การดำเนินการของ กทม. ดังกล่าวมาข้างต้นแตกต่างจากในต่างประเทศ และจะสร้างปัญหาด้วย 2 เหตุผลคือ หนึ่ง เป็นการโอนการผูกขาดของรัฐไปให้แก่เอกชน โดยเป็นการโอน 2 ต่อ ต่อแรกคือ โอนจาก กทม. ไปให้กรุงเทพธนาคมที่เป็นบริษัทลูกที่แสวงหาผลกำไร ต่อที่สองคือ โอนจากกรุงเทพธนาคมไปให้แก่เอกชนอีกที แน่นอนว่าเอกชนย่อมมีแรงจูงใจในการทำกำไรมากกว่ารัฐ ซึ่งจะทำให้เกิดการคิดค่าบริการที่แพงกว่า ยิ่งการโอนสิทธิผูกขาดสองต่อ ก็จะยิ่งทำให้มีการบวกกำไรที่สูง 2 ครั้ง ราคาค่าบริการก็จะยิ่งแพงขึ้น
สอง เอกชนที่ได้สิทธิผูกขาดยังเป็นผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม ซึ่งแข่งกับผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมรายอื่นๆ ด้วย จึงเสี่ยงที่จะมีพฤติกรรมกีดกันการแข่งขันของผู้ประกอบการรายอื่น
หากเราปล่อยให้การดำเนินการเช่นนี้เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ อีกไม่นานก็อาจเกิดการผูกขาดแบบเดียวกันทั่วประเทศ เพราะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ เช่น เทศบาล ก็อาจจะทำตามในลักษณะเดียวกัน ถึงเวลานั้น ต้นทุนของบริการโทรคมนาคมทั้งประเทศไทยก็จะสูงขึ้นไปอีก และทำให้เราไม่สามารถแข่งขันใน ‘เศรษฐกิจดิจิทัล’ ได้
ในความเห็นของผม เรื่องนี้มีทางออกง่ายนิดเดียวคือ การทำเหมือนต่างประเทศ นั่นคือ กทม. ควรเป็นผู้ให้บริการท่อร้อยสาย พร้อมไฟเบอร์เสียเอง และให้เอกชนแต่ละรายสามารถมาเช่าใช้ได้อย่างเสมอภาค ในราคาที่เหมาะสม คือสอดคล้องกับต้นทุน ภายใต้การกำกับดูแลของ กสทช.
หาก กทม. ไม่ดำเนินการตามที่เสนอ ประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคก็ควรไปร้องเรียนกับ กสทช. และคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า ซึ่งเป็นองค์กรอิสระที่ตั้งขึ้นใหม่ที่มีหน้าที่ป้องกันไม่ให้เกิดการผูกขาด
ผมหวังว่า แนวคิดเรื่อง ‘สมาร์ทซิตี้’ จะเป็นข่าวดีของประชาชน ไม่ใช่กลายเป็นข่าวร้ายที่มีหน่วยงานรัฐโอนสิทธิผูกขาดให้เอกชน และสร้างต้นทุนให้แก่ประเทศและประชาชน แบบที่เคยเกิดบ่อยๆ ในประเทศไทยนะครับ