สำนักงานอัยการสูงสุด แถลงคดี แม่ตั๊ก-ป๋าเบียร์ หลัง ปคบ.ส่งฟ้องแล้ว 5 ข้อหาหนัก ฉ้อโกง-ผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงาว่า เมื่อวันที่ 5 พ.ย. 2567 นายศักดิ์เกษม นิไทรโยค ผู้ตรวจการอัยการและโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยว่า สำนักงานคดีอาญา สำนักงานอัยการสูงสุด ได้รับสำนวนการสอบสวนจากพนักงานสอบสวน กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) คดีระหว่าง นางสาววันวิสา ทองสุข กับพวก ผู้กล่าวหา บริษัท เคทูเอ็น โกลด์ จำกัด โดย นายกานต์พล เรืองอร่าม ผู้ต้องหาที่ 1, นายกานต์พล เรืองอร่าม ผู้ต้องหาที่ 2, นางสาวกรกนก สุวรรณบุตร ผู้ต้องหาที่ 3
ข้อหา “ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน, ร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน, ร่วมกันโฆษณาโดยใช้ข้อความที่เป็นการไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค โดยเจตนาก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพ ปริมาณ หรือสาระสำคัญประการอื่นอันเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ ไม่ว่าจะเป็นของตนเองหรือผู้อื่น โฆษณาหรือใช้ฉลากที่มีข้อความอันเป็นเท็จหรือข้อความที่รู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าอาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดเช่นว่านั้น, ร่วมกันขายสินค้าที่ควบคุมฉลากโดยไม่มีฉลากหรือมีฉลากแต่ฉลากหรือการแสดงฉลากนั้นไม่ถูกต้อง และร่วมกันประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงโดยไม่ได้รับอนุญาต”
เหตุเกิดระหว่างวันที่ 11 สิงหาคม 2563 ถึงวันที่ 23 สิงหาคม 2567 ต่อเนื่องกัน ในท้องที่แขวงบางชัน เขตคลองสามวา กรุงเทพมหานคร และหลายท้องที่ทั่วราชอาณาจักรต่างกรรมต่างวาระกัน
ในชั้นสอบสวนผู้ต้องหาที่ 2 และที่ 3 ถูกควบคุมตัวและฝากขังไว้ตามคำสั่งศาลอาญา โดยจะครบกำหนดฝากขังครั้งที่ 4 ในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2567 โดยพนักงานสอบสวนมีความเห็นควรสั่งฟ้อง ผู้ต้องหา ที่ 1, 2 และ 3 ฐาน“ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน ร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน, ร่วมกันโฆษณาโดยใช้ข้อความที่เป็นการไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค โดยเจตนาก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพ ปริมาณ หรือสาระสำคัญประการอื่นอันเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการไม่ว่าจะเป็นของตนเองหรือผู้อื่น โฆษณาหรือใช้ฉลากที่มีข้อความอันเป็นเท็จหรือข้อความที่รู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าอาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดเช่นว่านั้น, ร่วมกันขายสินค้าที่ควบคุมฉลากโดยไม่มีฉลากหรือมีฉลากแต่ฉลากหรือการแสดงฉลากนั้นไม่ถูกต้อง และร่วมกันประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงโดยไม่ได้รับอนุญาต” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 343, 83, 91 พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พุทธศักราช 2550 มาตรา 14 (1) พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พุทธศักราช 2522 มาตรา 22, 30, 47, 52 พระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พุทธศักราช 2545 มาตรา 27, 47 ที่แก้ไขแล้ว และมีความเห็นควรสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 3 ฐานร่วมกันขายของโดยหลอกลวงด้วยประการใด ๆ ให้ผู้ซื้อหลงเชื่อในแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพ หรือปริมาณ แห่งของนั้นอันเป็นเท็จ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 271
คดีนี้เป็นคดีที่ประชาชนและสื่อมวลชนให้ความสนใจติดตามความคืบหน้า เมื่อพนักงานอัยการที่เกี่ยวข้องพิจารณาสำนวนแล้ว สำนักงานอัยการสูงสุดจะแถลงความคืบหน้าให้ทราบในโอกาสต่อไป