สภาผู้บริโภคเผย 1 ต.ค. 2566 – 30 ส.ค. 2567 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีปัญหาผู้บริโภค 133 เรื่อง ไม่ได้รับความสะดวกตามสิทธิบริการสุขภาพ-ซื้อสินค้าออนไลน์
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 2 ก.ย. 2567 สภาผู้บริโภคจัดกิจกรรม รู้จักสภาผู้บริโภค “เพื่อนผู้บริโภค” สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ณ โรงแรม ซี.เอส. จังหวัดปัตตานี สื่อสารการทำงานของสภาผู้บริโภค เดินหน้าสร้างความร่วมมือกับภาครัฐ ภาคเอกชน และเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมผลักดันให้เกิดองค์กรสมาชิกให้ครบจังหวัดปลายด้ามขวาน
เพื่อสะท้อนภาพให้เห็นถึงสถานการณ์ปัญหาของผู้บริโภคในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค เผยถึง สถานการณ์เรื่องร้องเรียนในสามจังหวัดชายแดนใต้ ในช่วง 1 ตุลาคม 2566 – 30 สิงหาคม 2567 มีจำนวน 133 เรื่อง ปัญหาผู้บริโภคที่พบมากที่สุดในสามจังหวัดชายแดนใต้เป็นเรื่องของ บริการสุขภาพ เกี่ยวกับการไม่ได้รับความสะดวกตามสิทธิ และเป็นเรื่องสินค้าและบริการ เกี่ยวกับการซื้อสินค้าออนไลน์
ที่ผ่านมาสภาผู้บริโภคได้ร่วมมือและเสนอแนะนโยบายการคุ้มครองผู้บริโภคต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหา เช่น การนำเสนอมาตรการหน่วงเงินก่อนโอน (Delayed Transaction) ในยอดเงินโอนสูงเกิน 1 หมื่นบาท เพื่อให้ธนาคารชะลอการโอนเงินออนไลน์ไว้เป็นเวลา 72 ชั่วโมง ด้านบริการสาธารณะสุขและด้านการศึกษา ที่กำลังผลักดันให้ทุกคนได้รับสิทธิที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ไม่ว่าจะมีผู้บริโภคกี่คนก็ต้องได้สิทธิที่เท่าเทียมกัน และยังผลักดันให้เกิดถนนสำหรับทุกคน หรือ “Road for All” เพื่อพัฒนาเมืองและระบบขนส่งสาธารณะไปด้วยกัน ทำให้เกิดเมืองที่ทุกคนสามารถใช้ชีวิตและพัฒนาร่วมกันได้ มีความเป็นธรรมกับทุกคน สนับสนุนการมีส่วนร่วมของผู้บริโภคทุกจังหวัด
ขณะที่ นางกัลยา เอี่ยวสกุล นายกสมาคมคุ้มครองผู้บริโภคจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า ปัตตานีทำงานแบบบูรณาการ การทำงานร่วมกับหน่วยงานในหลาย ๆ หน่วยงาน รวมถึงเครือข่ายผู้บริโภคในพื้นที่ เพื่อให้เกิดการคุ้มครองผู้บริโภคในพื้นที่ ทั้งนี้ ต้องส่งเสริมให้ผู้บริโภครับรู้ถึงสิทธิ และเท่าทัน มีผู้บริโภคอีกมากมายที่พบปัญหา จะทำอย่างไรให้ผู้บริโภคช่างใจก่อนซื้อ เพื่อไม่ให้โดนหลอกจากภัยออนไลน์ เป็นผู้บริโภคที่ฉลาดซื้อ ฉลาดเลือก และต้องรู้จักวางแผนการใช้จ่าย
ด้านนายรอซีดี เลิศอริยะพงษ์กุล ที่ปรึกษาเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคจังหวัดยะลา เผยว่า ภายใต้สถานการณ์ยุคปัจจุบัน ที่ความสะดวกสบายที่มาพร้อมกับปัญหาผู้บริโภค ในยุคที่ผู้บริโภคเข้าถึงเทคโนโลยีได้ง่านขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการสั่งของออนไลน์ ลงทุนออนไลน์ แต่หัวใจสำคัญนอกจากความสะดวกแล้ว ผู้บริโภคต้องเท่าทันภัยออนไลน์ นอกจากนี้ ด้านประเด็นบริการขนส่งสาธารณะนั้น ต้องยอมรับว่าประชาชนส่วนใหญ่หันมาใช้รถส่วนตัว จักรยานยนต์ จึงมองว่าหากผู้ประกอบมาลงทุนขนส่งสาธารณะอาจไม่คุ้มทุน แต่สิ่งที่ผู้บริโภคชาวยะลาต้องการคือ ความปลอดภัย การที่เดินออกจากบ้านแล้วปกติสุข
“ภายใต้สถานการณ์ที่เป็นอยู่ เราอยู่ในยุคเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนในชีวิตประจำวัน แต่สิ่งที่สำคัญอย่าให้โจรหลอกเราได้ และขอฝากทิ้งไว้ 3 เรื่อง เรื่องแรก ทำอย่างไรให้ผู้บริโภคทุกคนเป็นนักร้อง พบปัญหาก็ร้องเรียนได้ เรื่องที่สอง มีเรื่องที่จะร้อง อย่าปล่อยให้กลายเป็นเรื่องไม่เป็นไร และเรื่องสุดท้าย ต้องมีเรื่องที่จะรวมพลังไปสู่การเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้ ขอให้ใช้ชีวิตบนความจำเป็น อย่าเอาความต้องการเป็นตัวตั้ง” นายรอซีดี กล่าว
นางสิริภา มะดากะกุล ประธานเครือข่ายผู้บริโภคจังหวัดนราธิวาส เผยถึง ปัญหาที่พบคือคนในพื้นที่ส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้สิทธิของตน ซึ่งเป็นเรื่องท้าทายที่จะทำอย่างไรให้ผู้บริโภคตระหนักถึงสิทธิ สำหรับด้านเสียงสะท้อนจากประชาชนในพื้นที่ปัญหาส่วนใหญ่จะมาในรูปแบบสินค้าไม่ปลอดภัยไม่ว่าจะเป็น ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารไม่ปลอดภัย เรื่องผลิตภัณฑ์สุขภาพไม่ปลอดภัย และยังมีเรื่องการทำสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ปัญหาเรื่องมาตรา 41 ผู้บริโภคร้องเรียนเรื่องได้รับความเสียหายการใช้บริการสุขภาพ
“เราพยายามหาเครือข่าย เพื่อให้เป็นกลไกทำงานร่วมกัน เพราะความร่วมมือเป็นสิ่งสำคัญ เราพยายามร่วมบูรณาการการทำงานร่วมกับเครือข่ายอื่น ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เพื่อให้ประชาชนได้รับการคุ้มครองสูงสุด เราต้องสร้างเครือข่าย และหากเราคิดแต่ว่าจะทำอะไรต้องมีงบประมาณจะไม่สามารถพัฒนาการทำงานได้” นางสิริภา กล่าว
ขณะที่ นางเปรมวดี ขวัญเพชร ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. กระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงเรื่องร้องเรียนที่พบ ส่วนใหญ่เป็นปัญหาการติดป้ายราคา ที่ผู้ประกอบการเอาเปรียบผู้บริโภค ด้วยการไม่ติดป้ายราคา ราคาไม่ตรงป้าย สาเหตุที่ผู้บริโภคโดนเอาเปรียบ เพราะขาดความรู้เรื่องสิทธิของตัวเอง ทำให้เกิดปัญหาการถูกละเมิดสิทธิอยู่บ่อยครั้ง ด้านกระทรวงพาณิชย์เมื่อพบปัญหาในเบื้องต้นจะช่วยเจรจาไกล่เกลี่ย หากไกล่เกลี่ยไม่ได้จะดำเนินตามกฎหมายต่อไป สำหรับผู้บริโภคที่พบปัญหา สามารถร้องเรียนมาที่เบอร์สายด่วนกระทรวงพาณิชย์ 1569
“การดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภคในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีความสำคัญและความท้าทาย เนื่องจากสภาพแวดล้อมที่แตกต่างและปัญหาเฉพาะที่ซับซ้อน การมีองค์กรผู้บริโภคในพื้นที่ จะเห็นปัญหาได้ชัดเจนและ เข้าถึงคนในพื้นที่” นางเปรมวดี กล่าว
ด้าน พ.ต.ท.ดร.กฤษนล อุมาจิ รองผู้กำกับสถานีตำรวจภูธรตันหยง จังหวัดนราธิวาส กล่าวถึงปัญหามิจฉาชีพทุกวันนี้ไม่ได้เกิดขึ้นที่แค่ประเทศไทย แต่สิ่งสำคัญคือผู้บริโภคต้องมีวัคซีนในการป้องกันตนเองจากมิจฉาชีพ และได้นำเสนอช่องทางแก้ปัญหาเมื่อได้รับความเสียหาย ในวันที่ 16 กันยายน จะเริ่มมีช่องทางรับแจ้งความใหม่ คือเบอร์ 1441 นอกจากนี้ ยังแจ้งความที่โรงพักในพื้นที่ หรือแจ้งความออนไลน์ สำหรับเอกสารแจ้งความ ได้แก่ ภาพหน้าจอบทสนทนากับมิจฉาชีพ สลิปโอนเงิน
“ต่อไปเราจะเดินหน้าไปด้วยกัน เพื่อสร้างเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภค ร่วมสร้างวัคซีนป้องกันภัยออนไลน์ ให้แก่ผู้บริโภค ตั้งแต่เด็กจนถึงคนแก่ ให้ผู้บริโภครู้ต้องเตรียมรับมือไม่ว่าจะวัยไหน ต้องรู้เท่าทันกลโกงของมิจฉาชีพ และขอแนะนำเว็บไซต์เช็กก่อน https://www.checkgon.com/ สำหรับตรวจสอบมิจฉาชีพ ไม่ว่าจะเป็นเลขบัญชี เบอร์โทรศัพท์ หรือเว็บไซต์ปลอม” พ.ต.ท.ดร.กฤษนล กล่าว
นางสาวบุญยืน ศิริธรรม ประธานสภาผู้บริโภค ได้กล่าวถึง หน้าที่การทำงานของสภาผู้บริโภคกับการคุ้มครองผู้บริโภค ใน 5 ข้อ ได้แก่ 1)รับเรื่องร้องเรียน ไกล่เกลี่ย และดำเนินคดีเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิของผู้บริโภค 2)เสนอแนะนโยบายเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 3)รายงานการละเมิดสิทธิของผู้บริโภค ไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบ 4)สนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดการรวมตัวขององค์กรสมาชิก และ5)เตือนภัยและเผยแพร่ข้อมูลของสินค้าและบริการที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค และได้นำเสนอผลงานเด่นของสภาผู้บริโภค อาทิ รถไฟฟ้าที่สภาผู้บริโภคผลักดันให้มีค่าบริการ 20 บาทตลอดสายจนเกิดขึ้นจริงได้ ด้านขนส่งยังผลักดันให้เกิดบริการขนส่งสาธารณะที่เป็นธรรมในต่างจังหวัด ทุกคนเข้าถึงขนส่งสาธารณะได้ หรือจะเป็นเรื่องค่าไฟต้องแฟร์ ที่สภาผู้บริโภคได้ขับเคลื่อนมาโดยตลอด เพื่อให้ผู้บริโภคได้ค่าไฟที่ราคาเป็นธรรม ที่ไม่ใช่ราคาถูก
"เราเชื่อมั่น อีกไม่นาน สภาผู้บริโภคจะมีสมาชิกปลายด้ามขวาน ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ครบ ปัตตานีมีแล้ว เรายังขาดนราธิวาส และยะลา" นางสาวบุญยืน กล่าว
นอกจากนี้ นางสาววีราภรณ์ ชินวงศ์ ผู้อำนวยการส่วนงานกิจการองค์กรของผู้บริโภค สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สภาผู้บริโภคเป็นองค์กรที่มีความเป็นอิสระ แม้แต่หน่วยงานของรัฐก็ไม่สามารถเข้าแทรกแซงได้ เป็นองค์ที่เกิดจากประชาชน และทำงานโดยประชาชนจริง ๆ หัวใจสำคัญที่ทำให้องค์กรของประชาชนแข็งแรงคือการรวมตัวกัน ประชาชนหนึ่งคนอาจไม่สามารถต่อรองกับกับผู้ประกอบการได้ หากเปรียบประชาชนเหมือนไม้ 1 ก้าน เราสามารถหักไม้หนึ่งก้านได้อย่างง่ายดาย แต่หากไม้แต่ละก้านนั้นรวมกัน นั้นยากที่จะหักได้ ก็หมือนปัญหาผู้บริโภคเมื่อรวมตัวกันย่อมมีความแข็งแรง และพร้อมสู้กับปัญหาได้ นอกจากนี้ ได้แนะนำวิธีการยื่นจดแจ้งเป็นองค์กรของผู้บริโภคให้แก่ผู้เข้าร่วมเวทีครั้งนี้
“อยากเห็นองค์กรผู้บริโภคเข้มแข็งและสามารถช่วยเหลือกันได้อย่างแท้จริง แม้จะมีหน่วยงานของรัฐอยู่แล้ว แต่ปัญหาในพื้นที่ หน่วยงานรัฐอาจเข้าไม่ถึง แต่คนในพื้นที่จะเห็นปัญหาได้อย่างแท้จริง และหากมีองค์กรในพื้นที่ ให้ความช่วยเหลือกัน ยิ่งทำให้ประชาชนได้รับการคุ้มครองในสิทธิของผู้บริโภคมากขึ้น” นางสาววีราภรณ์ กล่าว