กสม.เผยเวทีระดมสมองแก้ปัญหาคนไร้สัญชาติ เข้าไม่ถึงสิทธิพื้นฐาน ชี้ 4 กลุ่ม ‘นักเรียน G / ภิกษุ / คนไทยพลัดถิ่น / คนแก่ไร้สัญชาติ’ เผชิญปัญหาหนัก ก่อนสรุป 4 มาตรการแก้ไข ‘แก้กฎหมาย/สรุปบทเรียน/เร่งรัดการแก้ไข/บูรณาการหน่วยงาน’
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 9 สิงหาคม 2567 นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า ปัญหาสิทธิและสถานะบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติที่ส่งผลให้ประชาชนจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการขั้นพื้นฐานได้ เป็นปัญหาสำคัญที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ให้ความสำคัญมาอย่างต่อเนื่อง
จากตัวเลขของกรมการปกครองเมื่อเดือนตุลาคม 2566 พบว่าประเทศไทยมีบุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทยจำนวน 990,924 คน หรือเกือบ 1 ล้านคน ตั้งแต่ปี 2565 – 2566 ที่ผ่านมา กสม. จึงได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายภาครัฐและภาคประชาสังคมจัดงานสมัชชาสิทธิมนุษยชน เพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาสถานะทางทะเบียนของบุคคลให้บรรลุเป้าหมายการขจัดการไร้รัฐไร้สัญชาติ (Zero Statelessness) และการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยพบข้อจำกัดในการแก้ไขปัญหาที่สำคัญ 2 ประการ ได้แก่ (1) ปัญหาความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับขั้นตอนการขอพิสูจน์หรือแก้ไขสถานะบุคคล ทัศนคติและความเข้าใจที่ถูกต้องของผู้ทรงสิทธิ (rights holder) และผู้มีหน้าที่ (duty bearer) เกี่ยวกับการพิสูจน์สถานะบุคคลโดยใช้ดุลพินิจอย่างเหมาะสม และไม่สร้างภาระเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด และ (2) ปัญหาความล่าช้าของการตรวจพิสูจน์และการกำหนดสถานะบุคคลซึ่งเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน ซึ่งมีขั้นตอนการปฏิบัติงานที่ไม่คล่องตัว บุคลากรไม่เพียงพอ และการสับเปลี่ยนโยกย้ายบุคลากร ทำให้ระบบการทำงานสะดุด และไม่มีการจัดการฝึกอบรม หรือสร้างความชำนาญให้กับผู้ปฏิบัติงาน
เพื่อสนับสนุนให้เกิดการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ผู้ทรงสิทธิ และหน่วยงานที่มีหน้าที่ รวมทั้งเพื่อให้มีการทบทวนกฎหมาย นโยบาย และแนวปฏิบัติที่เหมาะสมกับสถานการณ์การแก้ไขปัญหาการไร้รัฐไร้สัญชาติอย่างต่อเนื่อง เมื่อวันที่ 1 – 2 สิงหาคม 2567 กสม. จึงได้จัดงาน “สมัชชาเครือข่ายในระดับพื้นที่เพื่อพัฒนานโยบายแก้ไขปัญหาสิทธิและสถานะบุคคล” ณ โรงแรมดวงตะวัน อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีภาคส่วนต่าง ๆ กว่า 190 คนเข้าร่วม ประกอบด้วย
(1) กลุ่มบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติ และองค์กรภาคประชาสังคม (2) ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งเป็นภาคีเชิงยุทธศาสตร์ ได้แก่ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย (มท.) กรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และภาคีสนับสนุน ได้แก่ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กรมสอบสวนคดีพิเศษ และสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม (ยธ.)
@4 กลุ่มคนไร้สัญชาติ เข้าไม่ถึงสิทธิพื้นฐาน
ภาคีเครือข่ายที่เข้าร่วมการประชุมสมัชชาเครือข่ายในระดับพื้นที่ได้แลกเปลี่ยนสถานการณ์ปัญหาสิทธิและสถานะของกลุ่มเป้าหมาย 4 กลุ่มหลัก สรุปได้ดังนี้
(1) กลุ่มนักเรียนและนักศึกษาที่มีเลขประจำตัวขึ้นต้นด้วยอักษร G นักเรียนที่ยังไม่มีสถานะบุคคลตามกฎหมาย หรือเลข 13 หลัก ซึ่งต้องมีตัวเลขประจำตัวเพื่อใช้ในระบบการศึกษา แม้ได้รับการกำหนดรหัส G เพื่อได้รับสิทธิทางการศึกษาแล้วแต่ยังมีข้อจำกัดที่ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิในด้านอื่น ๆ ได้ เนื่องจากยังไม่ได้รับการจัดทำสถานะบุคคลตามกฎหมายและการกำหนดเลขประจำตัว 13 หลัก เช่น สิทธิด้านสาธารณสุข เสรีภาพในการเดินทาง การเข้าถึงกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา การเปิดบัญชีธนาคาร และสิทธิในการทำงาน
(2) กลุ่มพระภิกษุและสามเณรที่ไร้รัฐไร้สัญชาติ บุคคลไร้สถานะประสบปัญหาไม่สามารถบรรพชาหรืออุปสมบทได้ เนื่องจากมีกฎมหาเถรสมาคมกำหนดให้พระอุปัชฌาย์ต้องสอบสวนกุลบุตรให้ได้คุณลักษณะว่าเป็นผู้มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตตำบลหรืออำเภอที่จะบวช หรือแม้มีภูมิลำเนาในเขตอื่นก็ต้องปรากฏว่าเป็นคนมีหลักฐาน มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ไม่ใช่คนจรจัด หรือหากบุคคลไร้สถานะได้รับการอุปสมบท พระอุปัชฌาย์ก็ไม่อาจรับรองสถานะ และไม่อาจได้รับสมณศักดิ์ของพระสงฆ์ แม้จะมีคุณสมบัติทางพระธรรมวินัยที่เหมาะสมก็ตาม นอกจากนี้ ปัจจุบันยังไม่พบว่าหน่วยงานใดของรัฐเป็นหลักในการแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลของพระภิกษุและสามเณรอย่างเป็นรูปธรรม
(3) กลุ่มคนไทยพลัดถิ่น แม้รัฐบาลจะแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างโดยปรับปรุงกฎหมาย คือ พระราชบัญญัติสัญชาติไทย (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2555 ให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่น และออกกฎกระทรวงรองรับทำให้คนไทยพลัดถิ่นเป็นบุคคลผู้มีสัญชาติไทยตามกฎหมาย ซึ่งมีผลบังคับใช้กฎหมายมาแล้วกว่าสิบปี แต่กระบวนการยังเป็นไปอย่างล่าช้า และยังมีกลุ่มคนไทยพลัดถิ่นจำนวนมากที่ตกสำรวจ
และ (4) กลุ่มผู้สูงอายุไร้รัฐไร้สัญชาติ ซึ่งจะต้องได้รับการแปลงสัญชาติเป็นไทย แต่หลักเกณฑ์ประการหนึ่งที่เป็นอุปสรรคอย่างมากต่อการเข้าถึงสัญชาติของกลุ่มผู้สูงอายุ คือ การกำหนดให้มีหลักฐานอย่างเฉพาะเจาะจงว่าเป็นคนต่างด้าวเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมายและมีถิ่นที่อยู่ถาวรในราชอาณาจักรไทยตามกฎหมายคนเข้าเมืองมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปีเท่านั้น โดยจะต้องดำเนินการขอและได้รับอนุมัติให้มีสถานะฯ ซึ่งการพิจารณาอนุมัติเป็นรายกรณีเฉพาะตัวเป็นไปอย่างล่าช้า ทำให้กลุ่มบุคคลดังกล่าวซึ่งเป็นกลุ่มบุคคลเปราะบางที่อยู่ในช่วงบั้นปลายของชีวิตไม่อาจเข้าถึงสวัสดิการขั้นพื้นฐานโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้าถึงสิทธิในสุขภาพและการรักษาพยาบาลต่าง ๆ ได้
@วิธีแก้ปัญหาคนไร้สัญชาติ เข้าไม่ถึงสิทธิ์
ทั้งนี้เพื่อให้การแก้ไขปัญหาสิทธิสถานะบุคคลมีความก้าวหน้าในเชิงนโยบายและเกิดผลเป็นรูปธรรม เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2567 สมัชชาเครือข่ายในระดับพื้นที่ จึงได้ประกาศเจตนารมณ์ในการพัฒนานโยบายแก้ไขปัญหาสิทธิและสถานะบุคคล โดยมีสาระสำคัญดังนี้
(1) ให้มีการปรับแก้กฎหมาย และนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาให้สถานะบุคคล เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการปฏิบัติ ตั้งแต่การกำหนดสถานะบุคคล เพื่อให้เข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิทธิทางการศึกษา สิทธิในสุขภาพ (การรักษาพยาบาล) และการบังคับใช้กฎหมายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและบรรลุตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย และร่วมกันขับเคลื่อนให้มีระบบติดตามการบริหารจัดการสถานะบุคคล ตลอดจนผลักดันกฎหมายให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน
(2) การนำบทเรียนการแก้ไขปัญหาบุคคลผู้มีปัญหาสถานะและสิทธิที่ประสบความสำเร็จทั้งในส่วนของกลุ่มนักเรียนและนักศึกษาที่มีเลขประจำตัวขึ้นต้นด้วยอักษร G คนไทยพลัดถิ่น กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้ตกสำรวจหรือถูกจำหน่ายชื่อจากทะเบียน รวมถึงคนไร้รัฐ ไปปรับใช้เพื่อเร่งรัดกระบวนการกำหนดสถานะแก่ผู้ที่ยังมีปัญหาและขจัดความไร้รัฐให้หมดไป (zero statelessness) ร่วมกับภาคีเครือข่าย
(3) เร่งรัดการแก้ไขปัญหาสิทธิและสถานะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเปราะบาง เด็กและเยาวชน และผู้สูงอายุ โดยหากเป็นกรณีชนกลุ่มน้อย ขอให้พิจารณาโดยใช้เงื่อนไขคนที่อาศัยอยู่นาน ผสมกลมกลืน และทำประโยชน์ให้ประเทศชาติ และพิจารณาแยกออกจากคนต่างด้าวทั่วไป เพื่อมิให้ปะปน หรือทำให้เสียเวลาเนื่องจากความไม่ไว้ใจต่าง ๆ และเพิ่มเติมกลไกหรือจำนวนผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะจำนวนบุคลากรทางทะเบียนในบางพื้นที่ (อำเภอ) ให้เพียงพอควบคู่กับการทำงานกับอาสาสมัครที่มีอยู่
(4) ส่งเสริมสนับสนุนการบูรณาการการทำงานเพื่อจัดการปัญหาสถานะบุคคลร่วมกันทั้งองค์กรภาครัฐ องค์กรภาคประชาสังคม สถาบันนักวิชาการ และภาคีเครือข่าย ดำเนินกิจกรรมร่วมกัน เช่น จัดห้องทะเบียน คลินิกกฎหมาย และการตรวจ DNA เคลื่อนที่ เป็นต้น และ (5) จัดทำแผนระดับชาติที่ชัดเจนในการแก้ไขปัญหาสิทธิและสถานะบุคคล โดยลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็น และบูรณาการความร่วมมือทั้งในพื้นที่ และระหว่างพื้นที่กรณีที่มีการเคลื่อนย้ายข้ามไปมา
“เรื่องสิทธิและสถานะบุคคล ทำให้เห็นความรุนแรงของปัญหาในสองระดับ คือ ระดับโครงสร้างของกฎหมายและนโยบายที่ไม่เอื้อหรือเป็นอุปสรรคในการรับรองความเป็นคน และระดับวัฒนธรรม คือ ทัศนคติต่อการแก้ไขหรือมองเห็นปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน จากการให้ความสำคัญกับเลข 13 หลักมากกว่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิมนุษยชนที่คนทุกคนพึงมี ซึ่งเป็นปัญหาที่ กสม. และภาคีเครือข่ายจะร่วมมือกันผลักดันให้มีการแก้ไขเชิงรูปธรรม ทั้งในแง่การดำเนินงานของกลไกในประเทศที่ยังยึดถือระเบียบปฏิบัติที่แข็งตัว โดยไม่เชื่อมโยงกับมาตรฐานระหว่างประเทศ และการใช้ดุลพินิจ อนุมัติ อนุญาตมากกว่ากฎหมายกำหนด ซึ่งเป็นการเพิ่มภาระในการพิสูจน์สถานะของประชาชน ทั้งนี้ กสม. จะเป็นหน่วยงานกลางในการประสานงานแบบทางการเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายและแนวปฏิบัติต่อไป” นายวสันต์ กล่าว
วสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
ที่มาภาพปก: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)