กทม.ทุ่ม 150 ล้านบาท ปั้นสวนสาธารณะบึงหนองบอน พบคนใช้งานแล้ว 4.2 หมื่นคน/เดือน ก่อนระบแผนงานสร้างอุโมงค์ระบายน้ำจากบึงหนองบอน - แม่น้ำเจ้าพระยาเสร็จ ก.ย. 68
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 20 กรกฎาคม 2567 พญ.วันทนีย์ วัฒนะ ปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า โครงการยกระดับสวนสาธารณะบึงหนองบอน ที่มาสำคัญคือ เดิมบึงหนองบอนเป็นพื้นที่แก้มลิงรับน้ำขนาด 5 ล้าน ลบ.ม. มีเนื้อที่กว่า 644 ไร่ ยังไม่ได้พัฒนาเพื่อเป็นสวนสาธารณะอย่างเต็มรูปแบบ แต่มีพื้นที่อยู่ติดกับสวนหลวง ร.9 กรุงเทพมหานครเล็งเห็นว่าพื้นที่รอบบึงสามารถพัฒนาเพื่อให้ประชาชนใช้ประโยชน์ด้านอื่นได้ จึงพัฒนาเป็นที่ออกกำลังกายและเล่นกีฬา มีทางเดิน-วิ่ง ทางปั่นจักรยาน สนามฟุตบอล บาสเก็ตบอล ตะกร้อ ลานออกกำลังกลางแจ้ง และกีฬาทางน้ำ เช่น เรือใบ เรือคายัก วินด์เซิร์ฟ มี Dog Zone ให้ประชาชนนำสุนัขหรือสัตว์เลี้ยงมาเดินเล่นได้ นอกจากนี้ทัศนียภาพทั่วไปยังเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ มีไม้ยืนต้นหลากหลายชนิด บริเวณรอบบึงยังมีนกพื้นถิ่นและนกอพยพหลายสายพันธุ์ จึงเป็นแหล่งศึกษาธรรมชาติที่สำคัญอีกแห่งหนึ่ง
นอกจากลานกีฬาและพื้นที่ออกกำลังกายแล้ว ปัจจุบันภายในสวนสาธารณะบึงหนองบอน ยังมีกิจกรรมกีฬาทางน้ำที่มีหนี่งเดียวในกรุงเทพมหานคร ไม่ว่าจะเป็น เรือใบ เรือคายัก วินด์เซิร์ฟ และยังเป็นที่เดียวในกรุงเทพฯ ที่สามารถสอนให้สมาชิกเล่นกีฬาแต่ละชนิดให้เป็นภายใน 2 ชั่วโมง โดยมีผู้นำกิจกรรมที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเป็นผู้สอน สวนสาธารณะบึงหนองบอนได้รับความนิยมที่จากประชาชนมากขึ้นเรื่อยๆ ที่ผ่านมาพบว่ามีผู้ใช้บริการเดือนละประมาณ 42,000 คน ขณะที่สวนหลวง ร.9 ซึ่งเป็นสวนเก่าแก่ที่อยู่ติดกันมีผู้ใช้บริการค่อนข้างหนาแน่นเดือนละประมาณ 275,000 คน
@ใช้ 150 ล้านบาท ปรับปรุงสวนสาธารณะบึงหนองบอน เสร็จ ธ.ค. 67 นี้
เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 กรุงเทพมหานครได้กำหนดให้โครงการศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติบึงหนองบอน เป็นหนึ่งในโครงการสำคัญที่จัดขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติ อีกทั้งเพื่อสืบสาน รักษา และต่อยอดพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงให้ความสำคัญด้านกีฬา การรักษาสุขภาพ และออกกำลังกาย รวมถึงส่งเสริมความผูกพันระหว่างสมาชิกในครอบครัว โดยใช้งบประมาณโครงการ 150 ล้านบาท มีเนื้องานประกอบด้วย การปรับปรุงประตูทางเข้าหลักทางเดินทางวิ่งทางจักรยาน ก่อสร้างอาคารสุขาและที่ทำการสวน ปรับปรุงศาลาพักคอย 7 หลัง ก่อสร้างลานจอดรถ ลานกิจกรรมอเนกประสงค์ ปรับปรุงสนามกีฬา ก่อสร้างสนามเด็กเล่น ปรับปรุงภูมิทัศน์ ติดตั้งไฟส่องสว่างโดยรอบ ปรับปรุงอาคารน้ำเพื่อชีวิต ปรับปรุงอาคารศูนย์กีฬาทางน้ำ ปรับปรุงพื้นที่บริเวณศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขน้ำท่วม งานป้ายบอกทางอื่น ๆ งานคุรุภัณฑ์ อุปกรณ์กีฬา
ทั้งนี้ คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณ 80% ภายในเดือนธันวาคม 2567 ซึ่งเมื่อโครงการนี้แล้วเสร็จจะเป็นการเชื่อมพื้นที่สวนสาธารณะขนาดใหญ่ 2 แห่ง ได้แก่ สวนหลวง ร.9 และสวนสาธารณะบึงหนองบอน ให้เป็นสวนสาธารณะระดับมหานครที่มีพื้นที่รวมกันกว่า 1,144 ไร่ และเป็นสวนสาธารณะที่มีความสมบูรณ์พร้อมทุกด้าน รวมถึงเป็นการเชื่อมต่อเส้นทางเดิน-วิ่ง ภายในสวนทั้ง 2 แห่ง คือสวนหลวง ร.9 ระยะทาง 5.8 กิโลเมตร สวนสาธารณะบึงหนองบอน ระยะทาง 4.7 กิโลเมตร รวมระยะทางทั้งสิ้น 10.5 กิโลเมตร
นอกจากนี้จะมีการก่อสร้างและปรับปรุงอาคารสถานที่ สิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ตลอดจนการปรับภูมิทัศน์ให้มีความร่มรื่นสวยงาม เตรียมพร้อมให้เป็นสถานที่สำหรับประชาชนมาใช้เล่นกีฬา ออกกำลังกาย พักผ่อนหย่อนใจ และทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้อย่างครบวงจร รวมทั้งการฟื้นฟูระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่สวน ซึ่งประกอบด้วย พืชพรรณไม้หลากหลายชนิด รวมถึงพื้นที่บึงน้ำขนาดใหญ่ที่เป็นแหล่งพักอาศัยของนก แมลง และสัตว์ต่างๆ ให้เป็นแหล่งศึกษาธรรมชาติ และการบริหารจัดการน้ำของเมือง
@เผยอุโมงค์ระบายน้ำ เสร็จ ก.ย. 68
สำหรับบึงน้ำภายในสวนบึงหนองบอน เป็นแก้มลิงบึงหนองบอนตามพระราชดำริเพื่อรองรับน้ำในพื้นที่ มีจำนวน 3 บึง ความลึก 11 เมตร รับน้ำได้ 5 ล้าน ลบ.ม. ขณะนี้กำลังกำลังเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำโดยก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 5 เมตร ความลึกที่ระดับ-30 เมตรเทียบกับระดับน้ําทะเลปานกลาง ความยาว 9.40 กิโลเมตร ลอดใต้คลองหนองบอน คลองตาช้างถนนศรีนครินทร์ ถนนอุดมสุข ซอยอุดมสุข 29 ถนนสุขุมวิท 101/1 คลองบางอ้อ เพื่อให้สามารถเร่งระบายน้ำจากบึงหนองบอนออกและพื้นที่โดยรอบ 85 ตร.กม.ออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยาได้โดยเร็ว
โดยความคืบหน้าโครงการก่อสร้างโครงการอุโมงค์ระบายน้ำจากบึงหนองบอนลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ปัจจุบันอยู่ระหว่างเตรียมงานขุดเจาะอุโมงค์ใหม่จากปล่องรับน้ำคลองหนองบอน (S2) มายังปล่องรับน้ำคลองเคล็ด (S3) ระยะทางประมาณ 2.1 กม. ทั้งนี้ งานขุดเจาะและเก็บความเรียบร้อยภายในอุโมงค์ คาดว่าจะแล้วเสร็จเดือนกันยายน 2568 ส่วนแผนงานโครงการแล้วเสร็จทั้งหมดในเดือนพฤษภาคม 2569 ซึ่งเมื่อโครงการแล้วเสร็จจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำบริเวณที่มีปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่เขตประเวศ เขตสวนหลวง เขตบางนา และเขตพระโขนง